TAF Talk #70 – จำลองการรบ FTC-2000G กัมพูชา vs. ทร.-ทอ.ไทย

ที่ผ่านมาในกลุ่มของ TAF ที่เฟสบุ๊คมักจะมีสมาชิกมาสอบถามหรือสนทนาเกี่ยวกับเครื่องบินขับไล่ FTC-2000G ของกองทัพอากาศกัมพูชาที่มีข่าวว่ากำลังจะได้รับมอบเข้าประจำการเร็ว ๆ นี้ แอดมินไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะอะไรถึงมีการพูดถึงกันมากในช่วงนี้ และจริง ๆ เราเคยพูดถึงเครื่องบินแบบนี้ไปแล้วใน TAF ASEAN Insight ตอนที่ 3 ซึ่งท่านที่สนใจสามารถเข้าไปชมได้ที่นี่ แต่ในเมื่อหลายท่านสอบถามกันเข้ามา เราจึงอยากจะมาพูดถึงประเด็นนี้กันอีกครั้ง โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่ากองทัพอากาศไทยควรจะปรับตัวอย่างไรกับการจัดหาในครั้งนี้

สเปค

อย่างแรกคือเราขออธิบายคุณสมบัติคร่าว ๆ ของ FTC-2000G ก่อน โดย FTC-2000G เป็นเครื่องบินขับไล่เบาที่จีนพัฒนามาจากเครื่องบินฝึก โดยเน้นจับตลาดส่งออกสำหรับประเทศที่ต้องการเครื่องบินขับไล่ที่มีประสิทธิภาพดีในระดับหนึ่งแต่มีราคาถูกมากโดยเฉพาะ โดยข้อมูลบางแหล่งบอกว่ามีราคาแค่ครึ่งหนึ่งของ FA-50 ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่โจมตีเบาของเกาหลีใต้ หรือมีราคาถูกกว่า F-16 ถึง 6 เท่า และถึงเลือกออปชั่นให้มีประสิทธิภาพสูงสุดก็มีราคาใกล้เคียงกับ FA-50 แต่มีขีดความสามารถสูงกว่า โดยสามารถติดตั้งเรดาร์ AESA อย่าง LKF-601E ได้ และใช้ร่วมกับจรวดอากาศสู่อากาศพิสัยกลางแบบ PL-12 BVRAAM ที่ติดตั้งไปได้ 2-4 นัด หรือถ้าต้องการลดค่าใช้จ่ายก็สามารถเลือกรุ่นที่ราคาถูกลงได้ทั้ง MSA ปกติ หรือ PESA (เหมือนกับที่ติดตั้งใน บ. L-15B) นอกจากนั้นยังติดตั้งอาวุธอากาศสู่พื้นได้หลายรายการและสามารถใช้ได้หลายภารกิจเช่น จรวดต่อต้านเรดาร์ CM-102 จรวดอากาศสู่พื้น C-704KD จรวดต่อต้านเรือผิวน้ำ C-705K ระเบิดนำวิถี / ระเบิดร่อนนำวิถี FT series

ดุลยภาพทางทหารระหว่างสองประเทศ

ตอนนี้ไทยกับกัมพูชายังไม่มีความขัดแย้งที่จะส่งผลให้เกิดสงคราม การปะทะกันตามแนวชายแดนในกรณีปราสาทพระวิหารนั้นเป็นการปะทะแบบจำกัดเขต และกระบวนการปักปันเขตแดนนั้นดำเนินการอยู่ ดังนั้นผลกระทบต่อไทยในปัจจุบันอาจค่อนข้างจำกัด แต่ผลกระทบต่อลาวน่าจะมีมากกว่าเพราะกัมพูชากับลาวเพิ่งมีข้อขัดแย้งด้านดินแดนกันไปไม่นานนี้ และการจัดหา FTC-2000G อาจเป็นไปเพื่อตอบโต้โดยตรงต่อการจัดหา Yak-130 ของลาว

ผลกระทบต่อไทยนั้นขึ้นอยู่กับว่ากัมพูชาจะจัดหาอุปกรณ์ใดติดตั้งกับ FTC-2000G โดยเฉพาะสองปัจจัยสำคัญคือระบบเรดาร์และอาวุธปล่อยภาคพื้นดิน ณ ตอนนี้เราเชื่อว่ากัมพูชาน่าจะจัดหา FTC-2000G ที่ติดตั้งเรดาร์ PESA รวมถึงน่าจะจัดหาระเบิดนำวิถี และอาจรวมถึงจรวดอากาศสู่พื้นแบบ C-704KD ซึ่งทั้งหมดนี้ดูแล้วน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่าสำหรับกัมพูชาที่มีงบประมาณกลาโหมต่อปีราว 1.2 พันล้านเหรียญหรือราว 3.7 หมื่นล้านบาท เทียบคร่าว ๆ คืองบประมาณกลาโหมของกัมพูชาทั้งประเทศพอ ๆ กับงบประมาณที่กองทัพอากาศไทยใช้ในการจัดหา Gripen เพียง 1 ฝูงเท่านั้น ดังนั้นการจัดหา FTC-2000G ที่มีสเปคขนาดกลางพร้อมอาวุธในงบประมาณต่อลำที่ราว 15 ล้านเหรียญ น่าจะมีพอความเป็นไปได้

ผลกระทบต่อกองทัพเรือไทย

ผลกระทบที่สำคัญต่อไทยถ้าจะมีก็คือในกรณีที่กองทัพอากาศกัมพูชาเลือกจัดหาจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำ C-705K (หรือจีนอาจมอบให้ฟรี) ซึ่งจะทำให้กองทัพเรือไทยต้องเพิ่มภัยคุกคามทางอากาศเข้าไปในการพิจารณาถ้าจำเป็นต้องมีการใช้กำลังกับกัมพูชาในอนาคต เช่นในกรณีการเผาสถานทูตไทยและการอพยพคนไทยจากกัมพูชาที่กองทัพเรือไทยส่งกองเรือเข้าไปกดดันและเป็นทางเลือกในการอพยพคนไทย ซึ่งในตอนนั้นไม่มีภัยคุกคามทางอากาศ และกองทัพเรือไทยจัดกองเรือที่ประกอบด้วยเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย เรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงสู้ไพรี เรือหลวงศรีราชา และเรือ ต.82 เพื่อคุ้มกับเรือหลวงจักรีนฤเบศร ซึ่งในกองเรือนี้มีเรือที่มีขีดความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศได้สองลำ แต่ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากกัมพูชาได้รับมอบ FTC-2000G ก็มีความจำเป็นที่กองทัพเรือไทยต้องใช้เรือรบหรือเรือคุ้มกันที่มีขีดความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศสูงขึ้นในระดับหนึ่ง เช่น เรือหลวงภูมิพล เรือหลวงตากสิน/นเรศวร หรือเรือหลวงสุโขทัย/รัตนโกสินทร์ อย่างน้อย 2 – 3 ลำจึงจะเพียงพอในการป้องกันตนเอง

ถ้ากัมพูชาใช้ FTC-2000G จำนวน 6 ลำยิงจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำ C-705K ลำละสองนัด รวม 12 นัด (ซึ่งเชื่อว่าเป็นจำนวนสูงสุดที่กัมพูชาจะมีงบประมาณในการจัดหาได้) เพื่อสร้าง Saturation Attack เพื่อทำให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศของเรือเป้าหมายมีงานล้นมือจนไม่สามารถทำลายเป้าได้ทั้งหมด โดยเรือหลวงภูมิพลติดตั้งจรวดพื้นสู่อากาศแบบ RIM-162 ESSM Block II ซึ่งสามารถทำการยิงพร้อมกันได้ 2 นัด เช่นเดียวกับเรือหลวงนเรศวร/ตากสินที่ใช้จรวดแบบเดียวกันและทำการยิงได้ครั้งละ 2 นัดเช่นกัน ส่วนเรือหลวงสุโขทัย/รัตนโกสินทร์ ทำการยิง Aspide ได้ครั้งละ 1 นัด นั่นคือในกรณีที่ต้องจัดกองเรือปฏิบัติการ กองทัพเรือไทยควรใช้เรือหลวงสุโขทัย/รัตนโกสินทร์ 2 ลำ ใช้เรือ เรือหลวงภูมิพล เรือหลวงตากสิน/นเรศวร อย่างน้อย 2 ลำ ก็น่าจะเพียงพอในการรับมือการโจมตีทางอากาศ ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า ESSM และ Aspide สามารถทำลายจรวด C-705K ได้ภายในการยิงครั้งเดียวเป็นส่วนใหญ่ โดยสมมุติให้การยิง ESSM และ Aspide ระลอกแรกจำนวน 6 นัด ทำลาย C-705K ได้ 5 นัด การยิงระลอกที่สองทำลาย C-705K ได้อีก 4 นัด และให้ระบบป้องกันตนเองทั้งระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์และระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Mk.15 Phalanx Block-1B ที่ในกรณีนี้มีติดตั้งอยู่บนเรือหลวงภูมิพลลำเดียวทำลายหรือก่อกวนจรวดจนใช้การไม่ได้อีก 1 – 2 นัด และยอมรับความเสียงในการให้ C-705K ยิงถูกเป้าหมายอีก 1 นัด ซึ่งไม่น่าจะทำให้เรือจมได้ ก็ถือว่ากองเรือสามารถรอดพ้นต่อการถูกทำลายได้

ผลกระทบต่อกองทัพอากาศไทย

ผลกระทบต่อกองทัพอากาศไทยจะมีเพิ่มขึ้นบ้าง แต่โดยรวมแล้วจะไม่เด่นชัดเหมือนกับผลกระทบต่อกองทัพเรือไทย

แม้ FTC-2000G เป็นเครื่องบินขับไล่เบา แต่ก็ติดตั้งระบบเรดาร์และระบบอาวุธที่มีขีดความสามารถสูง ในสมมุติฐานของเราในบทความนี้กำหนดให้กัมพูชาจัดหาเรดาร์ PESA มาใช้งานกับ FTC-2000G เท่านั้น แต่ถึงแม้กัมพูชาจะจัดหาเรดาร์ AESA เข้ามาใช้งานอย่างเรดาร์ LKF-601E รุ่นส่งออก ซึ่งตามหน้ากระดาษแล้วถือว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเรดาร์ทุกแบบบนเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศไทย ซึ่งเรดาร์ LKF-601E ทำงานในย่าน X-Band สามารถตรวจจับเครื่องบินขับไล่ได้ราว 170 กิโลเมตร ติดตามเป้าหมายได้ 15 เป้าหมายต่อเนื่อง และทำการยิงได้ 4 เป้าหมายพร้อมกัน ซึ่งทำให้ FTC-2000G ของกองทัพอากาศกัมพูชาจำนวน 6 ลำสามารถทำการยิง PL-12 ต่อเป้าหมายที่เป็นเครื่องบินขับไล่ได้พร้อมกัน 24 เป้าหมาย

แต่ช่องว่างสำคัญก็คือระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่โดยธรรมชาติของเครื่องบินขับไล่แบบเบานั้นจะมีติดตั้งน้อย โดยปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่ามีการติดตั้งระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์แบบใดบน FTC-2000G ซึ่งจะทำให้เป็นข้อเสียเปรียบในสงครามทางอากาศในปัจจุบันที่เครื่องบินขับไล่ของเผชิญกับสภาวะสงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่ซับซ้อน ประกอบกับช่วงกว่า 10 ปีหลังของกองทัพอากาศไทย มีการปรับปรุงขีดความสามารถด้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์ไปค่อนข้างมาก จากที่ถูกละเลยมานาน ขีดความสามารถนี้จะลดความได้เปรียบของระบบเรดาร์และระบบ Avionic ของ FTC-2000G ได้ในระดับหนึ่ง

ปัจจุบันกองทัพอากาศไทยมีเครื่องบินขับไล่ที่มีระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยหลายแบบ เช่นระบบ EWS-39 บน Gripen ที่มีขีดความสามารถในการรบกวนสัญญาณของเรดาร์เครื่องบินขับไล่และจรวดนำวิถีด้วยเรดาร์ สำหรับ F-16A/B eMLU ของฝูงบิน 403 นั้นติดตั้งระบบจัดการสงครามอิเล็กทรอนิกส์แบบ ALQ-213 แต่ยังไม่แน่ชัดว่าได้จัดหาโมดูลหรือระบบย่อยใดมาเพิ่มเติมบ้าง ในส่วนของ F-5TH นั้นติดตั้งกระเปาะมาตรการต่อต้านทางอิเล็กทรอนิกส์ แบบ Sky Shield ซึ่งเราเคยกล่าวถึงไปแล้วในคลิปที่ปรากฎอยู่ที่มุมด้านขวานี้

นอกจากนั้นสิ่งที่เครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศไทยมีแต่ FTC-2000G ไม่น่าจะมีก็คือระบบ Datalink ที่ F-16 ติดตั้ง Link-16 และ Gripen และ F-5TH ติดตั้ง CDL-39/Link-T เพื่อใช้งาน แม้ระบบ Datalink จะไม่ได้เพิ่มขีดความสามารถของอาวุธหรือระบบตรวจจับของเครื่องบิน แต่ระบบจะช่วยเพิ่มทางเลือกในแง่ยุทธวิธีและการใช้อาวุธ รวมถึงความตระหนักรู้สถานการณ์ที่มากกว่าเครื่องบินที่ไม่มีระบบนี้ ซึ่งถึงเป็นขีดความสามารถที่มองไม่เห็น และยังมีระบบสนับสนุนอย่างเครื่องบินแจ้งเตือนล่วงหน้า Saab 340 AEW ที่สามารถปิดช่องว่างในการตรวจจับของระบบเรดาร์ภาคพื้นดินได้

นอกจากนั้นกองทัพอากาศไทยยังมีความได้เปรียบด้านจำนวน โดยเชื่อว่ากัมพูชาจะจัดหา FTC-2000G ราว 6 – 8 ลำ เปรียบเทียบกับกองทัพอากาศไทยที่มีเครื่องบินขับไล่ที่มีขีดความสามารถในการใช้อาวุธอากาศสู่อากาศพิสัยกลางจำนวน 56 ลำ ประกอบไปด้วย Gripen จำนวน 11 ลำ F-16A/B eMLU จำนวน 18 ลำ F-16ADF จำนวน 13 ลำ และ F-5TH จำนวน 14 ลำ คิดความพร้อมรบที่ราว 50% จะได้เครื่องบินที่พร้อมทำการรบ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งที่ 28 ลำ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่า FTC-2000G ราว 4 – 5 เท่า

เนื่องจากเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำ F-5TH ไปรับมือกับ FTC-2000G เพียงอย่างเดียว เพราะแม้ F-5TH จะประจำการที่จังหวัดอุบลราชธานี แต่ในการรบจริง กองทัพอากาศสามารถวางกำลังเครื่องบินขับไล่จากฝูงบินอื่นมายังฝูงบินที่ใกล้เคียงได้ทั้งกองบิน 21 และกองบิน 1 และสามารถใช้เครื่องบินที่ดีที่สุดในการรับมือได้ ดังนั้นเมื่อเทียบประสิทธิภาพแบบตัวต่อตัวระหว่างเครื่องบินที่ดีที่สุดของทั้งสองประเทศคือ Gripen และ FTC-2000G แล้ว แม้จะไม่ง่าย แต่ Gripen และ F-16 eMLU ก็มีความได้เปรียบในด้านประสิทธิภาพโดยรวมค่อนข้างมาก ยังไม่นับจำนวนที่เหนือกว่า และระบบสนับสนุนที่ดีกว่า จึงเชื่อว่าเมื่อมองภาพรวมแล้ว กองทัพอากาศไทยมีความได้เปรียบกองทัพอากาศกัมพูชาค่อนข้างมากทีเดียว

โพสที่เกี่ยวข้อง

รวมทุกประเด็นเกี่ยวกับ FTC-2000G ของกัมพูชา

https://www.facebook.com/groups/thaiarmedforce/permalink/2946925692218768/

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.