รู้จักกับจรวดของปาเลสไตน์ เครื่องมือของคนตัวเล็กเพื่อสู้คนตัวใหญ่

เราได้รู้จักกับระบบป้องกันภัยทางอากาศ Iron Dome กันไปแล้วว่าทำงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพถึง 90% (ท่านใดยังไม่ได้อ่าน อ่านได้ในลิงก์ท้ายบทความครับ) วันนี้ เรามารู้จักกับอาวุธที่ Iron Dome ต้องจัดการก็คือจรวดของกลุ่มฮามาสที่ระดมยิงใส่อิสราเอล ซึ่งนับจนถึงตอนนี้ก็มีกว่า 2 พันนัดแล้ว ซึ่งกลุ่มตีดอาวุธชาวปาเลสไตน์มีขีดความสามารถในการผลิตและประกอบจรวดได้หลายชนิด และพัฒนาเทคนิคและวิธีการในการผลิตและยิงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการยิงจรวดจนทำให้การยิงจรวดเข้าใส่อิสราเอลเป็นวิธีการที่สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของอิสราเอล รวมถึงให้ผลทางจิตวิทยาได้เป็นอย่างมาก


จรวดชนิดต่าง ๆ ของกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์

Qassem เป็นจรวดที่ผลิตง่าย ๆ ยิงง่าย ๆ ความแม่นยำไม่สูง แต่ให้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี เพราะชุมชนยาวยิวในอิสราเอลนั้นอยู่กันค่อนข้างหนาแน่น ยิงตกไปตรงไหนก็โดน จรวดแบบนี้ตั้งชื่อตาม Izz ad-Din al-Qassam ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาชาวซีเรียที่เป็นแกนนำในการต่อต้านการปกครองของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส รวมถึงต่อต้านขบวนการ Zionist ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และเป็นผู้นำทางทหารของกลุ่มฮามาสมาตั้งแต่ต้น

จรวด Qassem มีหลายรุ่น มีระยะยิงไม่กี่สิบกิโลเมตร เช่นรุ่น Qassem 1 มีระยิงราว 5 กิโลเมตร Qassem 2 ระยะยิงราว 10 กิโลเมตร และ Qassem 3 ระยิงราว 15 กิโลเมตร ส่วนมากแล้วจะทำการผลิตในฉนวนกาซ่าและบางส่วนเขตเวสแบงค์ มีความแม่นยำไม่สูง โดยตัวจรวดมีดินขับซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่จะเผาไหม้ในเวลาไม่กี่วินาทีเพื่อส่งตัวจรวดออกไป ซึ่งจรวดจะเดินทางเป็นวิถีโค้งคล้ายปืนใหญ่ไปตกในพื้นที่ที่ต้องการ

นอกจากนั้นยังมีอีกหลายกลุ่มที่ผลิตจรวดอีกหลายแบบ และมีระยะยิงและอำนาจการทำลายล้างสูงขึ้น เช่นจรวด al-Quds ของกลุ่มอิสลามจีฮัดปาเลสไตน์ และเรายังเชื่อว่าอิหร่านยังสนับสนุนจรวดอีกหลายแบบ ทั้งแบบผลิตให้ทั้งนัด รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจรวดให้ชาวปาเลสไตน์อีกด้วยเช่น จรวด M-75 ซึ่งเป็นการผลิตตามแบบของจรวด Fajr-5 ของอิหร่านที่มีขนาดใหญ่ ระยะยิงไกลถึง 75 กิโลเมตร ดินระเบิด 175 กิโลกรัม สามารถยิงถึงกรุงเทลอาวีฟได้จากฉนวนกาซ่า นอกจากนั้นยังมีจรวดที่ลอกแบบจากจรวด BM-21 Grad ของโซเวียตซึ่งมีระยะยิงไกล 40 กิโลเมตร จรวดแบบนี้เราอาจจะคุ้นเคยกันดีเมื่อครั้งความขังแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาเกิดขึ่นในปี 2554 ที่ฝ่ายกัมพูชายิงจรวดแบบนี้เพื่อสู้กับปืนใหญ่ของฝ่ายไทย

เทคโนโลยีจรวดจากจีนก็เป็นสิ่งที่ชาวปาเลสไตน์นำมาใช้ในการผลิตจรวด โดยเฉพาะจรวดแบบ WS-1B ที่มีขนาดใหญ่และมีระยะยิงไกลถึง 180 กิโลเมตร มีขนาดลำกล้อง 302 มิลลิเมตร ซึ่งเทคโนโลยีจรวดแบบนี้ชาวปาเลสไตน์ได้มาจากซีเรียที่มีการจัดหาเทคโนโลยีจรวดจากประเทศจีน และก็เป็นเทคโนโลยีจรวดแบบเดียวกับที่ประเทศไทยซื้อจากจีนนำมาผลิตในชื่อ DTI-1 เช่นกัน โดยปาเลสไตน์ทำการผลิตในชื่อ R-160 ซึ่งตัว R สื่อถึง Abdel-Aziz Rantisi ผู้นำระดับสูงของฮามาสที่ถูกอิสราเอลสังหารในปี 2004

ฮามาสและกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ ยังมีการพัฒนาจรวดเพื่อต่อยอดและปรับปรุงอำนาจการทำลายล้างให้สูงขึ้น เช่นจรวดรุ่นล่าสุดคือ A-120 ที่มีระยะยิงไกลถึง 120 กิโลเมตรที่ปรับปรุงมาจาก R-160 โดยในครั้งนี้ปาเลสไตน์ทำการยิงจรวด A-120 จากฉนวนกาซ่าเข้าใส่เมืองเยรูซาเล็มหลายนัดเช่นกัน โดยตัว A มาจากชื่อของ Ra’ed Al-Attar ผู้นำกองพล Rafah ในกาซ่า และเป็นผู้ดูแลเครือข่ายอุโมงค์ในกาซ่าและการยิงจรวดเข้าใส่อิสราเอลหลายครั้ง โดยเขาถูกสังหารในปี 2014 เข่นกัน

แท่นยิงจรวด A-120 ซึ่งเป็นจรวดขนาด 302 มิลลิมเตรที่มีขนาดใหญ่และมีพิสัยการยิงไกล 120 กิโลเมตร

ศูนย์วิจัย ประกอบ และผลิตจรวดในกาซ่า

เดิมทีชาวปาเลสไตน์จะลักลอบขนจรวดทั้งนัดจากประเทศที่ให้การช่วยเหลือเข้ามายังฉนวนกาซ่าผ่านชายแดนอิยิปต์ หรืออาจขนมาเป็นชิ้นส่วนและนำมาทำการประกอบรวมเข้าด้วยกันก่อนทำการยิง แต่ในช่วงหลัง รัฐบาลอิยิปต์ทำการตรวจตราชายแดนกาซ่า-อิยิปต์มากขึ้น ทำให้การขนส่งจรวดขนาดใหญ่ผ่านชายแดนแทบเป็นไปไม่ได้ กลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์จึงทำการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตจรวดขึ้นในฉนวนกาซ่าเอง และเน้นไปที่การลักลอบนำชิ้นส่วนจรวดเข้ามายังฉนวนกาซ่าเพื่อประกอบให้เป็นจรวดครบนัด

กลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ได้รับการสนับสนุนจากหลายชาติที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจรวดให้ โดยเฉพาะอิหร่านที่ถ่ายทอดทั้งเทคโนโลยีการผลิตและเทคนิคการใช้งานจนขีดความสามารถของกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะเทคนิคในการหาชิ้นส่วนโลหะ การขึ้นรูปโลหะเพื่อให้ได้จรวดที่มีคุณภาพ การหาสารเคมีเพื่อนำมาทำดินขับที่จะเป็นตัวผลักดันจรวดขึ้นไปบนฟ้า และการลับลอกหาดินระเบิดแบบต่าง ๆ เช่น TNT หรือ C4 มาเพื่อเป็นหัวรบของจรวดแบบต่าง ๆ โดยเน้นในการประยุกต์ใช้เครื่องมือและเครื่องกลที่มีใช้งานทั่วไปในโรงงานมาทำการผลิตจรวดที่มีคุณภาพสูง

ต้นทุนของการผลิตจรวดของปาเลสไตน์ก็มีราคาถูก จรวด Qassem ขนาดเล็กนั้นมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ราว 2 – 3 หมื่นบาทต่อนัดเท่านั้น จรวดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่าง R-160 หรือ M-302 ก็มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่หลักแสนบาทหรือหลักล้านบาทต้น ๆ ซึ่งถือว่าอยู๋ในวิสัยของกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ที่จะนำเงินสนับสนุนจากหลายประเทศมาใช้จ่ายเพื่อจัดหาวัตถุดิบในการผลิตได้เป็นจำนวนมาก

กลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ยังลงทุนวิจัยจรวดเพื่อต่อยอดความรู้ที่ได้เพื่อมาปรับปรุงอาวุธของตนให้ทันสมัยขึ้น โดยปรับปรุงเทคนิคการบรรจุดินขับจรวด เพิ่มขนาดและความรุนแรงของหัวรบ รวมถึงออกแบบจรวดแบบใหม่ด้วยตนเอง ทำให้ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา กลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์สามารถก้าวข้ามจากการยิงจรวดนัดสองนัดที่ระยะยิงราว 10 กิโลเมตร มาเป็นการยิงจรวดทีละ 130-150 นัดภายใน 5 นาทีเพื่อทำให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Iron Dome ของอิสราเอลป้องกันไม่ทันและทำให้แน่ใจว่าแม้ว่าจรวดส่วนใหญ่จะถูกสกัดได้ แต่จะมีจรวดบางส่วนตกลงในเขตของอิสราเอลแน่นอน

ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าในการปะทะครั้งนี้ กลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ยิงจรวดเข้าใส่อิสราเอลมากกว่า 2 พันนัดแล้วในรอบไม่กี่วัน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าจรวดในลักษณะคล้ายที่ประเทศไทยมีหลายเท่า น่าจะเป็นตัวชี้วัดศักยภาพการผลิตจรวดของกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ได้เป็นอย่างดี


วิธีการยิง

กลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์จะระบุเป้าหมายที่ตังการ และทำการนัดแนะกองกำลังเพื่อวางกำลังจรวดตามจำนวนที่กำหนด โดยมักจะทำการยิงจากที่ว่างในเมือง หรือบนหลังคาอาคาร วางจรวดให้หันไปในทิศทางที่ต้องการ ลากสายชนวนจุดดินขับที่มักจะเป็นการจุดด้วยไฟฟ้ามารวมกันเพื่อทำการยิงได้ทีละหลาย ๆ นัด โดยแท่นยิงมักจะเป็นแท่นยิงอย่างง่าย ๆ ในลักษณะที่เป็นแท่นยิงสามขาที่คำนวณมุมยิงให้จรวดโค้งไปตกยังจุดที่ต้องการ โดยทำการยิงได้แท่นยิงละ 1 นัด หรือถ้าแน่ใจว่าไม่มีทหารอิสราเอลคอยตรวจตราอยู่ทั้งบนพื้นดินและบนฟ้า ก็จะนำเช่นยิงที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้บรรจุและยิงจรวดได้ทีละหลาย ๆ นัดในการยิงครั้งเดียว

หลังจากทำการยิงจรวดเสร็จสิ้นในเวลาไม่กี่นาที กำลังพลทั้งหมดก็จะสลายตัวและหลบหนีไปตามเครือข่ายอุโมงค์หรือบ้านเรือนของตนอย่างรวดเร็ว เพราะกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ทราบดีว่าอิสราเอลสามารถคำนวณจุดที่ตั้งยิงจรวดได้จากวิถีของจรวดที่ยิงออกไป และมักจะทำการยิงโจมตีตอบโต้ด้วยปืนใหญ่หรือการทิ้งระเบิดจากอากาศยานได้ด้วยระยะเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน

ภาพโฆษณาชวนเชื่อแสดงการยิงจรวดของกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์

การตอบโต้จากอิสราเอล

อิสราเอลก็ทราบดีถึงขีดความสามารถในการใช้จรวดและการผลิตจรวดของกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ จึงเน้นไปที่การป้องกันตนเองด้วยการวางกำลังระบบป้องกันภัยทางอากาศ Iron Dome เหนือเป้าหมายที่คาดว่ากลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์จะยิงเข้าใส่ นอกจากนั้นยังทำการคำนวณกลับเพื่อส่งเครื่องบินรบหรือปืนใหญ่ยิงทำลายแท่นยิงและจุดที่ตั้งยิงของกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์อีกด้วย

อิสราเอลยังเน้นที่การหาข่าวและการลาดตระเวนตรวจตราเพื่อค้นหาโรงงานผลิตจรวดที่กระจายตัวอยู่ในฉนวนกาซ่า โดยใช้อากาศยานไร้นักบินติดตามบุคคลและรถเป้าหมายที่เป็นรถขนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจรวด และจรวดที่ผลิตเสร็จแล้วเข้าออกโรงงาน เมื่อทราบตำแหน่งที่แน่ชัดก็จะส่งเครื่องบินรบบินทิ้งระเบิดในโรงงานเหล่านั้นเพื่อทำลายขีดความสามารถของการผลิตจรวดของกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ให้ได้มากที่สุด แต่กลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ก็มีการปรับตัวด้วยการขนย้ายชิ้นส่วนจรวดใต้ดิน และกระจายโรงงานผลิตไปทั่วฉนวนกาซ่าเพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีให้น้อยที่สุดอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม


“รู้จักการทำงานของ Iron Dome”

https://thaiarmedforce.com/2021/05/15/how-iron-dome-work/


สงวนลิขสิทธิ์ข้อเขียน ห้ามคัดลอก ดัดแปลง หรือนำไปทำคลิปเป็นอันขาด

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.