จากกรณีที่มีการแผยแพร่ภาพการรับมอบยานเกราะ VN16 ของกองทัพเรือจำนวนสามคัน ทำให้มีการตั้งคำถามและวิจารณ์ในวงกว้างว่ามีความเหมาะสมหรือจำเป็นเพียงใดที่กองทัพเรือจะต้องจัดหายานเกราะในช่วงเวลานี้
วันนี้ กองทัพเรือมีคำชี้แจงออกมาแล้ว ซึ่งกล่าวโดยสรุปก็คือเป็นการจัดหาตามแผนการเสริมสร้างกำลังกองทัพตามความจำเป็น โดยดำเนินการในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกระบวนการจัดซื้อเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ นอกนั้นคือรายละเอียดของคุณสมบัติของยานเกราะซึ่งเราเคยได้นำเสนอไปแล้ว
หลังจากฟังคำแถลงแล้ว TAF มีความเห็นดังนี้
- ขอบคุณที่กองทัพเรือแถลงชี้แจง ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนท่าทีในระดับหนึ่ง หลังจากที่ผ่านมากองทัพเรือจะไม่ชี้แจงถ้าไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์จนถึงที่สุดจริง ๆ อย่างกรณีเรือดำน้ำ เพราะกองทัพเรือถือนโยบายไม่จัดหายุทโธปกรณ์ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ของผู้บัญชาการทหารเรือคนก่อน ซึ่งจริง ๆ แล้วถือเป็นนโยบายที่พิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวและส่งผลเสียต่อกองทัพเรือเองมาหลายครั้ง ไม่เป็นไปในแนวทางของ Open Government Data ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลและเป็นบรรทัดฐานของการปฏิบัติราชการในทุกวันนี้ รวมถึงยังเป็นเหล่าทัพและหน่วยงานเดียวที่ไม่ชี้แจงให้ประชาชนผู้เสียภาษีรับทราบโดยยกเงื่อนไขว่าเป็นความลับทางทหาร การเปลี่ยนท่าทีนี้ถึงถือว่าถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ซึ่งต้องชื่นชมทั้งโฆษกกองทัพเรือและผู้บัญชาการทหารเรือท่านปัจจุบัน
- ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า วิกฤตที่สำคัฐที่สุดของประเทศคือวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย และรัฐบาลต้องกู้เงินมหาศาลกว่า 1 ล้านล้านบาทมาใช้ในการรับมือกับวิกฤตในครั้งนี้ และแม้ว่าจะมีการปรับลดงบประมาณลงบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทุกครั้งเมื่อกองทัพและกระทรวงกลาโหมจัดหายุทโธปกรณ์ เพราะการจัดหายุทโธปกรณ์ส่วนมากเป็นการจัดหาจากต่างประเทศ ไม่เกิดประโยชน์และไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจที่กำลังวิกฤตของชาติ ดังนั้นการจัดหายุทโธปกรณ์จึงควรจะมีความสำคัญเป็นลำดับหลังในตอนนี้ และต้องทำการจัดหาเฉพาะที่จำเป็นสูงสุดเท่านั้น
- ซึ่งกองทัพเรือก็ได้ชี้แจงแล้วว่า การจัดหาในครั้งนี้มีความจำเป็น แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ชี้แจงต่อว่า ความจำเป็นเหล่านั้นคืออะไร เพราะการกล่าวแค่ว่าจำเป็นจึงต้องจัดซื้อนั้น เอาเข้าจริงแล้ว แทบทุกอย่างที่หน่วยงานราชการจัดหา ตั้งแต่ดินสอไปจนถึงเครื่องบิน ล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นทั้งสิ้น แต่ความจำเป็นนั้นเป็นพียงแค่ความจำเป็นของหน่วยงาน ความจำเป็นของประเทศชาติ ความจำเป็นของประชาชน หรือความจำเป็นต่อความอยู่รอดและชีวิตของประชาชน ซึ่งต้องมาพิจารณากันอีกที การที่ชี้แจงแค่ว่าการจัดซื้อในครั้งนี้มีความจำเป็นจึงไม่เพียงพอ เพราะประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีไม่ทราบถึงเหตุผลของความจำเป็นนั้นแต่อย่างใด
- การจัดหายานเกราะ ไม่ว่าจะเป็น VN16 ของกองทัพเรือ VN1 หรือ Stryker ของกองทัพบก ก็ล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นทั้งสิ้น แต่ความจำเป็นนั้นคือความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่าความจำเป็นอื่นเช่น การรับมือวิกฤตโควิด-19 การฉีดวัคซีน หรือการช่วยเหลือคนตกงานหรือไม่ ซึ่งในเมื่อกองทัพเรือยังไม่ได้อธิบาย เราก็ยังไม่ทราบถึงความจำเป็นนั้น เพราะตามความเห็นเรา เรายังไม่เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนจนต้องเร่งรีบจัดหามาใช้งาน ซึ่งเป็นการจัดหาจากต่างประเทศ ที่ประเทศไทยไม่ได้อะไรนอกจากการจ่ายเงินและรับยานเกราะมาใช้งาน ซึ่งต่างจากกรณีที่เป็นการจัดหาจากในประเทศที่อาจพูดได้ว่ามีความจำเป็นในการรักษาตำแหน่งงานและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศ
- ซึ่งในความเห็นของ TAF เองนั้น เห็นว่าและแน่นอนว่าการจัดหายานเกราะ VN16 ในครั้งนี้เป็นการจัดหาก่อนการเกิดวิกฤตโควิด-19 ในปีงบประมาณ 63 เพราะไม่ได้ถูกเรียกคืนงบประมาณ เหตุผลนี้จึงฟังขึ้น แต่ในปี 2564 นี้ กองทัพเรือก็มีการจัดหายานเกราะ VN16 อีก 6 คัน มูลค่า 819 ล้านบาท ภายใต้โครงการซื้อยานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก ระยะที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 นี้ ซึ่งทำให้เราอยากเรียกร้องให้กองทัพเรือชี้แจงเพิ่มเติมว่า การจัดหายานเกราะในล็อตที่สองจำนวน 6 คันนั้น มีความจำเป็นเพียงใด และด้วยเหตุผลใดครับ
สามารถอ่านคำชี้แจงฉบับเต็มของกองทัพเรือได้ด้านล่างครับ
โฆษกกองทัพเรือชี้เแจง กรณีการจัดหารถถังเข้าประจำการในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
วันนี้ (1 มิถุนายน 2564) พลเรือเอก เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า ตามที่ มีการกล่าวถึงการจัดส่งรถถังมายังประเทศไทย ในการพิจารณางบประมาณ 2565 ของรัฐบาล เมื่อ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นั้น
กองทัพเรือขอชี้แจงว่า กองทัพเรือ ได้จัดหา ยานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก แบบ ZTD 05A หรือ VN 16 จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโครงการซื้อยานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก ระยะที่ 1 จำนวน 3 คัน วงเงิน 398,143,400 บาท ในปีงบประมาณ 2563 เพื่อทดแทนรถถังหลัก Type 69-II ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ทั้งนี้ยานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก VN16 จะเข้าประจำการ ในกองพันรถสะเทินน้ำสะเทินบก กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
สำหรับ ยานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก VN16 ออกแบบและผลิตโดย China North Industries Corporation (NORINCO) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรมความมั่นคงของจีน โดย VN 16 เป็นรถถังเบาสะเทินน้ำสะเทินบก มีน้ำหนักประมาณ 26.5 ตัน ติดตั้งปืนใหญ่รถถังขนาด 105 มม. เกราะทำด้วยอลูมิเนียมอัลลอย มีความเร็วบนถนน 65 กม./ชม. ความเร็วในน้ำ 25 กม./ชม.
โฆษกกองทัพเรือ ยืนยันว่า การจัดหายานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก แบบ VN 16 นั้น เป็นการจัดหาในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งเป็นไปตามแผนการเสริมสร้างกำลังกองทัพเท่าที่มีความจำเป็น เพื่อดูแลความมั่นคงในส่วนที่กองทัพเรือรับผิดชอบ โดยดำเนินการในห้วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัส COVID – 19 ทั้งนี้ กองทัพเรือ มุ่งมั่นในการเป็นกองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ เป็นที่พึ่งของประชาชนและบริหารจัดการด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งกระบวนการจัดหายุทโธปกรณ์เป็นไประเบียบราชการทุกประการ
สำนักงานโฆษกกองทัพเรือ