เมื่อวานนี้มีเหตุการณ์ที่เครื่องบินของกองทัพอากาศจีนรุกล้ำน่านฟ้าของมาเลเซียจนส่งผลให้มาเลเซียต้องส่งเครื่องบินรบขึ้นสกัดกั้นบริเวณนอกชายฝังรัฐซาราวัค
กองทัพอากาศมาเลเซียแถลงว่า เรดาร์ของกองทัพตรวจพบกลุ่มอากาศยานของกองทัพปลดปล่อยประชนชนจีนจำนวน 16 ลำในเขตน่านน้ำมาเลเซีย และเข้ามาใกล้ยังเขตน่านฟ้าที่เป็นอธิปไตยของมาเลเซีย โดยเครื่องบินบินเกาะกลุ่มทางยุทธวิธีห่างกันราว 111 กิโลเมตร ที่ความสูงระหว่าง 23,000 – 27,000 ฟุต ที่ความเร็ว 290 น็อต โดยเดินทางมาจากเขตควบคุมการจราจรทางอากาศของสิงคโปร์ก่อนที่จะเข้าสู่น่านฟ้าเหนือน่านน้ำมาเลเซีย
หลังจากตรวจพบ กองทัพอากาศมาเลเซียได้ส่งเครื่องบินโจมตี Hawk 208 เมื่อเวลา 13.33 น. ตามเวลาท้องถิ่น จากฐานทัพอากาศลาตวนขึ้นสกัดกั้น โดยเรดาร์ของกองทัพอากาศมาเลเซียยังคงตรวจจับอากาศยานอย่างต่อเนื่อง Hawk 208 ได้บินเข้าหาหมู่บินของจีนเพื่อพิสูจน์ทราบด้วยสายตา ซึ่งยืนยันว่าเป็นเครื่องบินลำเลียงแบบ Il-76 และ Y-20 ซึ่งเป็นเครื่องบินลำเลียงทางยุทธศาสตร์และสามารถปฏิบัติภารกิจได้หลากหลาย
กองทัพอากาศมาเลเซียกล่าวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่ออธิปไตยของมาเลเซียและนิรภัยการบิน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซียกล่าวว่าจะเรียกทูตจีนประจำมาเลเซียเข้าพบเพื่อขอคำชี้แจงและประท้วง เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของมาเลเซีย
ส่วนทางการจีนแถลงตอบโต้ว่ากิจกรรมการบินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการบินปกติที่ไม่ได้มุ่งเป้าหมายไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง และเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนั้นโฆษกของสถานทูตจีนประจำมาเลเซียยังแถลงว่า อากาศยานของกองทัพจีนนั้นใช้สิทธิ์บินเหนือน่านฟ้าของตน โดยระหว่างการฝึกนั้น เครื่องบินของกองทัพจีนได้ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดและไม่ได้ล่วงล้ำน่านฟ้าของประเทศอื่น จีนและมาเลเซียเป็นมิตรที่ดีต่อกัน และจะยังคงมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคต่อไป
เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจท่าทีของทั้งสองฝ่ายดี ๆ แล้วเราจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นครับ
อย่างที่ปรากฎในรูปนั้น เส้นทางการบินของหมู่บินของจีนอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งของมาเลเซีย ซึ่งแน่นอนว่าอยู่เหนือเขตเศรษฐกิจจำเพาะของมาเลเซีย และใกล้กับทะเลอาณาเขตและน่านฟ้าของมาเลเซีย มาเลเซียจึงถึงว่าจีนรุกล้ำอธิปไตยของตน
แต่จากตำแหน่งเดียวกัน จีนอ้างแผ่นที่ 9 เส้น ซึ่งลากมาชิดชายฝั่งของมาเลเซีย และกล่าวว่าตำแหน่งนี้อยู่ในเขตอธิปไตยของจีน และเป็นทะเลอาณาเขตของจีน ดังนั้นจีนจึงถือว่านี่คือน่านฟ้าของตน จึงกล่าวว่าเครื่องบินจีนไม่ได้รุกล้ำน่านฟ้าของมาเลเซีย
ซึ่งเหตุการณ์นี้คล้ายกับที่เรือประมงและเรือยามฝั่งของจีนเข้ามาจอดบริเวณเกาะของฟิลิปปินส์ ซึ่งฟิลิปปินส์ส่งอากาศยานและเรือรบเข้าสกัดกั้น แต่จีนก็แถลงว่าไม่มีเรือประมงและเรือยามฝั่งของจีนอยู่ในเขตน่านน้ำฟิลิปปินส์ นั่นเป็นเพราะจีนถือว่าน่านน้ำตรงนั้นเป็นของจีน แม้ว่ามันแทบจะติดกับชายฝั่งของฟิลิปปินส์ก็ตาม
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากการอ้างสิทธิ์ตามแผนที่ 9 เส้นหรือ 9-Dash Lines ที่จีนลากยาวมาจากแผ่นดินใหญ่จรดชายฝั่งฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และเวียดนาม และอ้างว่าพื้นที่ตรงนั้นส่วนใหญ่คือทะเลอาณาเขตของตน (ไม่ใช่เขตเศรษฐกิจจำเพาะด้วยซ้ำ) ดังนั้นจีนจะถือสิทธิ์ในการควบคุมการเดินเรือและอากาศยานในพื้นที่
แต่แผนที่นี้ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เพราะไม่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทางทะเลหรือ UNCLOS 1982 และฟิลิปปินส์เคยยื่นฟ้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการถาวรทางทะเล เพื่อให้ตีความว่าการอ้างสิทธิ์ตามแผนที่ 9 เส้นของจีนถูกกฎหมายหรือไม่ แต่จีนซึ่งให้สัตยาบัญต่อ UNCLOS 1982 แล้วนั้นคว่ำบาตรไม่มาสู้คดี ศาลจึงตัดสินให้ฟิลิปปินส์ชนะคดี และให้แผนที่ 9 เส้นนั้นไม่ถือว่าถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่จีนไม่ยอมรับคำตัดสินดังกล่าว และยืนยันที่จะอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ทั้งหมดต่อไป
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวิเคราะห์จากการจัดกำลังของจีนในครั้งนี้จะพบว่าเป็นหมู่บินของเครื่องบินลำเลียงสองแบบคือ Il-76 และ Y-20 ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องบินลำเลียงทางยุทธศาสตร์ของจีนทั้งสิ้น หมู่บิน 11 ลำนี้สามารถเคลื่อนย้ายกำลังทางส่งทางอากาศได้ 2 กองพัน หรืออาจจะจัดเป็น 1 กองพันพร้อมส่วนสนับสนุนเช่นยานเกราะหรือปืนใหญ่ ซึ่งการเดินทางไกลในลักษณะของการบินหมู่ทางยุทธวิธีแบบนี้ อาจเป็นการทดสอบหลักนิยมหรือยุทธวิธีในการส่งทางอากาศในการส่งกำลังทางอากาศของจีนเพื่อเข้ายึดครองดินแดนหรือเกาะต่าง ๆ ในพื้นที่ขัดแย้งเหนือทะเลจีนใต้ในอนาคต และความบังเอิญอีกอย่างหนึ่งก็คือหมู่บินดังกล่าวบินเข้ามาในช่วงที่มาเลเซียประกาศล็อคดาวน์ทั่วประเทศ และเป็นช่วงใกล้กับวันกองทัพอากาศมาเลเซีย ซึ่งถ้าไม่ใช่ความบังเอิญ ก็อาจจะเป็นการวางแผนล่วงหน้าที่จีนคาดว่ากำลังทางอากาศของมาเลเซียน่าจะมีความพร้อมต่ำสุดในการสกัดกั้น จึงเลือกที่จะทำการฝึกในช่วงเวลานี้
พื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้คือเรื่องละเอียดอ่อน แม้สถานการณ์จะห่างไกลจากการเกิดสงคราม แต่ก็ถือได้ว่ามักจะเกิดสถานการณ์ไม่ปกติระหว่างจีนและประเทศในอาเซียนอยู่เสมอ และนี่ไม่น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายแน่นอน
สมาชิกที่สนใจสามารถร่วมพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นนี้ได้ที่โพส https://www.facebook.com/groups/thaiarmedforce/permalink/2971689366409067/