จากโพสที่ผ่านมา ซึ่งอ้างอิงการสนทนาใน Clubhouse ของเรา (ท่านที่สนใจ ย้อนไปอ่านหรือฟังได้ที่ https://www.facebook.com/thaiarmedforce/posts/319432799646259)
คำตอบคือ ณ ตอนนี้เรายังไม่ทราบครับ หลักฐานที่มี แค่พอเชื่อได้ว่าอาจจะเกิดขึ้น แต่ยังสรุปแน่ชัดไม่ได้ว่าเกิดขึ้นแน่นอนหรือไม่
ทั้งนี้ หลักฐานดังกล่าวมาจากการอภิปรายในสภา ซึ่งมาตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อครั้งก่อน เรื่อยมาถึงการอภิปรายงบประมาณ 2565 ในครั้งนี้ อันนี้อาจจะเป็นความผิดของ TAF เองที่พลาดเรื่องนี้ไปตั้งแต่เมื่อครั้งอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงไม่ได้นำเสนอมาก่อน แต่ประโยชน์อีกด้านก็คือ พอมาถึงการอภิปรายในครั้งนี้ เราก็ไดเห็นข้อมูลมากขึ้นที่ “อาจจะชี้ได้ว่า” เรื่องดังกล่าวน่าจะมีมูล แม้จะยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนก็ตาม
หลักฐานแรกคือจดหมายของผู้บัญชาการทหารเรือท่านก่อนคือ พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ ที่มีถึงนายสู จ้านปิน รองผู้อำนวยการของ SASTIND (State Administration for Science, Technology and Industry for National Defense) ซึ่งเป็นหน่วยงานพลเรือนของจีนที่ทำหน้าที่ดูแลด้านนโยบาย กฎหมาย และกฎระเบียบเกี่ยวกับงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ ซึ่งรวมถึงการวิจัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการควบคุมการส่งออกอาวุธของจีนด้วย จดหมายนี้ลงวันที่ 24 กันยายน 2563 หลักจากกองทัพเรือทราบแน่ชัดว่าโครงการจัดหาเรือดำน้ำถูกถอดออกจากโครงการจัดหาในปีงบประมาณ 2564
จดหมายจากกองทัพเรือไทยนี้แจ้งข่าวสองเรื่องก็คือเรื่องการจัดหาเรือดำน้ำ S26T ลำที่สองและสาม และการจัดหาเรือยกพลขึ้นบก Type-071E ของกองทัพเรือ
โดยจดหมายเล่าให้ฟังว่าเนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณจากภาวะโควิด-19 ทำให้กองทัพเรือยังไม่สามารถจัดหาเรือดำน้ำ S26T ลำที่สองและสามอย่างที่ตั้งใจไว้ได้ เพราะรัฐบาลมีการดึงงบประมาณกลับไปช่วยสถานการณ์โควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม เนื้อความของจดหมายนี้มีส่วนที่น่าสนในคือ



“It is still eligible for the Royal Thai Navy to sign an agreement to acquire the second and third submarines because the second and third submarines acquisition project has already been included on the list in the annual budget expenditure act 2020”
(กองทัพเรือไทยยังอาจลงนามในสัญญาจัดหาเรือดำน้ำลำที่สองและสาม เพราะโครงการจัดหาเรือดำน้ำลำที่สองและสามนั้นได้ถูกบรรจุเอาไว้ในพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 แล้ว)
ซึ่งหมายถึงว่า โครงการนี้รัฐสภาได้อนุมัติให้บรรจุไว้ในพ.ร.บ. งบประมาณในปี 2563 แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการลงนามจัดหา ก็เกิดภาวะโควิด-19 และถูกดึงงบประมาณกลับไปตามพ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 กองทัพเรือจึงเสนอขอบรรจุโครงการเข้าไปใหม่ในปี 2564 แต่สุดท้ายก็ถูกถอดออกจาก พ.ร.บ. งบประมาณ 2564 กองทัพเรือจึงกลับมาใช้หลักการที่ว่าในเมื่อโครงการถูกบรรจุเอาไว้ใน พ.ร.บ. งบประมาณ 2563 แล้ว ก็ควรจะยังสามารถลงนามได้ เพราะยังไม่เกิน 2 ปีนับจากที่พ.ร.บ. งบประมาณ 2563 มีผลบังคับใช้
พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ปีงบ 2563 กองทัพเรือได้เงินจากรัฐมาซื้อ แต่ยังไม่ทันซื้อ รัฐเอาเงินคืน กองทัพเรือเลยขอซื้อใหม่ในปี 2564 แต่ไม่ผ่านสภา เลยจะใช้พ.ร.บ. งบ 2563 มาอ้างอิงเพื่อลงนามในสัญญาเลย แล้วให้รัฐบาลจัดหางบมาให้ในปี 2565 เป็นต้นไปแทน
มีข้อความอีกส่วนหนึ่งที่ระบุว่า กองทัพเรือจะต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อลงนามในสัญญาให้ได้ภายใน 30 กันยายน 2563 เพื่อให้ผูกพันการจัดหาเรือดำน้ำ S26T ลำที่สองและสามให้ได้ เพื่อให้เกิดข้อผูกพันทางกฎหมายที่กองทัพเรือจะได้ซื้อเรือดำน้ำ (โดยอ้างจากพ.ร.บ. งบ 2563 ที่ถูกดึงเงินคืนไปแล้ว) เพราะถ้าไม่สามารถลงนามได้ (ทั้งที่แม้จะลงนามแล้วก็ไม่มีงบประมาณก็ตาม) ก็อาจทำให้โครงการล้มเหลวได้ โดยขอให้ทูตของจีนประจำประเทศไทยมาเป็นตัวแทนลงนามกับกองทัพเรือ
ทั้งหมดนี้คือวิธีและเทคนิคด้านงบประมาณ ถ้าท่านใดไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไรนะครับ ค่อย ๆ อ่านช้า ๆ อีกครั้ง แต่สรุปคร่าว ๆ อีกรอบก็คือ แม้ปี 2563 จะถูกดึงเงินกลับ ปี 2564 จะไม่ได้บรรจุในงบประมาณ แต่กองทัพเรือใช้แนวคิดว่า โครงการเคยผ่านสภามาเป็นกฎหมายแล้ว ย่อมต้องลงนามซื้อได้แม้จะยังไม่มีเงินก็ตาม โดยเปรียบเสมือนใช้เงินในอนาคตมาซื้อแทน
ถามว่าทำได้ไหม ก็ต้องบอกว่าในทางงบประมาณถือว่า “ทำได้” และ “ไม่ผิดกฎหมาย” ครับ ตามเหตุผลที่ว่าไปข้างต้น
ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า “ไม่เหมาะสม” แน่นอน
เพราะจะสังเกตุว่า น้อยครั้งมากที่จะมีหน่วยงานราชการใช้เทคนิคนี้ (เซ็นก่อนทั้งที่เงินไม่มี) ในการเซ็นโครงการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2563 เมื่อรัฐบาลต้องการเงินคืน ทุกเหล่าทัพก็ยินยอมคืนเงินแต่โดยดี โดยยกเลิกแผนการจัดซื้อจัดจ้างไปเลย (เช่นกองทัพอากาศยกเลิกแผนการจัดซื้อเครื่องบินฝึก T-50TH จำนวนสองลำ) และนำโครงการที่ยังจัดหาไม่สำเร็จมาขอจัดหาใหม่ในปี 2564 ซึ่งถ้ารัฐบาลและสภาอนุมัติ ก็ดำเนินการจัดหาต่อไป (เช่นที่กองทัพอากาศขอดำเนินการจัดหา T-50TH จำนวนสองลำในปี 2564 นี้) รวมถึงตัวกองทัพเรือเองก็ยกเลิกโครงการอื่น ๆ ไปทั้งหมดเช่นกัน ยกเว้นโครงการเรือดำน้ำ ถ้าเหตุการณ์ตามเอกสารนี้เกิดขึ้นจริง
ดังนั้นจริง ๆ แล้ว สิ่งที่กองทัพเรือควรทำ เหมือนที่ทำกับโครงการอื่น และเหมือนที่เหล่าทัพอื่นดำเนินการ ก็คือในเมื่อรัฐบาลดึงเงินกลับ ก็ควรยกเลิกการจัดหา และมาขอรัฐบาลและสภาอนุมัติใหม่ ถ้าได้รับอนุมัติค่อยจัดหา ไม่ใช่ใช้เทคนิคนี้ในการจัดหา เพราะจะทำให้ในอนาคตรัฐบาลต้องหาเงินมาจ่ายให้กองทัพเรือ ทั้งที่เคยเรียกเงินคืนไปแล้ว และทั้งที่รัฐบาลพยายามตัดลดงบกลาโหมเพื่อนำไปฟื้นฟูโควิด
ดังนั้นทั้งหมดนี้ถ้าเกิดขึ้นจริง ก็แปลว่ากองทัพเรือลงนามจัดหาเรือดำน้ำ S26T ลำที่สองและสามแล้วเรียบร้อย แต่ยังไม่มีเงินจ่าย โดยใช้การรอเงินในอนาคตคือปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไปมาจ่ายแทน
ทั้งนี้ แค่เพียงเอกสารนี้ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า กองทัพเรือใช้เทคนิคนี้ลงนามซื้อเรือดำน้ำ S26T ลำที่สองและสามแล้ว
เราจึงต้องพิจารณาหลักฐานอื่นเพิ่มเติม ในกรณีนี้คือ รายการงบผูกพันข้ามปี ในปีงบประมาณ 2565 ของกระทรวงกลาโหม ที่เปิดเผยผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ของสภา (มีเผยแพร่ที่ https://www.bb.go.th/topic-detail.php?id=13015&mid=544&catID=1358)

รายการงบผูกพันข้ามปีนี้ ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือ จำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระสำหรับโครงการจัดซื้อ ซึ่งหน่วยงานราชการทุกหน่วยงานจะเปิดเผยว่า ในอีก 4 ปีข้ามหน้า จะมีรายการผ่อนจ่ายอีกเท่าไหร่
ตามตารางนี้จะสังเกตุได้ว่างบประมาณผูกพันส่วนมากของทุกหน่วยงานยกเว้นกองทัพเรือ จะเหลือผ่อนจ่าไม่มากแล้วในปี 67 และจะผ่อนจ่ายหมดไม่เกินปี 68 (แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเลิกจ่ายนับตั้งแต่ปี 68 ต่อไปตลอดกาล เพราะในปี 65 ถ้าผูกพันงบประมาณสำเร็จ ก็จะนำตัวเลขมาเติมใหม่ แต่อันนั้นคือเรื่องในอนาคต)
แต่ข้อสังเกตุก็คือ งบประมาณผูกพันของกองทัพเรือ นอกจากจะไม่ค่อย ๆ ลดลงแล้ว แต่กลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะในปี 68 ที่กองทัพอากาศและสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมไม่มีภาระผ่อนจ่ายแล้ว และกองทัพบกและกองบัญชาการกองทัพไทยเหลือภาระผ่อนจ่ายเพียง 94 ล้านและ 208 ลานตามลำดับนั้น กองทัพเรือกลับมีภาระผ่อนจ่ายถึง 13,757 ล้านบาท
รวม 4 ปี กองทัพบกจะมีภาระงบประมาณต้องผ่อนจ่าย 19, 878 ล้านบาท กองทัพอากาศ 23,802 ล้านบาท แต่กองทัพเรือมีสูงถึง 37,849 ล้านบาท หรือคิดเป็น 46% ของงบซื้ออาวุธ 3 เหล่าทัพ
ดังนั้นแปลว่ากองทัพเรือต้องมีภาระงบประมาณจำนวนมากในการจ่ายในอนาคต ซึ่งดูแล้วมีไม่กี่โครงการที่จะทำให้เกิดภาระงบประมาณขนาดนี้ และตัวเลขก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่สองและสามที่ต้องใช้งบประมาณราว 22,500 ล้านบาท รวมกับงบของเรือลำแรกในส่วนที่ยังไม่ได้ชำระ
ซึ่งนี่คือเงินในอนาคตที่ไม่ว่าประเทศไทยจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น รัฐบาลต้องหาเงินมาจ่ายให้ได้ ยกเว้นแต่จะเจรจาขอให้ผู้ผลิตช่วยเหลือหรือยกเลิก เช่นเมื่อครั้งที่กองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F/A-18 เมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ต้องขอให้กองทัพสหรัฐซื้อใบจองไปแทน
แม้ทั้งหมดนี้ก็ยังสรุปไม่ได้โดยแน่ชัดว่า กองทัพเรือใช้เทคนิคลงนามจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่สองและสามไปแล้ว แต่ก็ถือได้ว่ามีมูล และเชื่อได้ว่าต้องมีการดำเนินการบางอย่าง ซึ่งควรช่วยกันหาข้อมูลมาเพื่อความกระจ่างกันต่อไป
ถ้าทุกอย่างนี้เป็นจริง คือกองทัพเรือใช้เทคนิคงบประมาณ สามารถจัดหาเรือดำน้ำทั้งที่ถูกดึงงบประมาณคืนไปแล้ว และไม่ได้ถูกอนุมัติในงบปีต่อมาได้สำเร็จ
แม้มันจะไม่ผิดกฎหมาย แต่น่าจะถือว่าเป็นการเสียมารยาท อย่างหนึ่งคือเหมือนเป็นการข้ามหน้าข้ามตารัฐบาลที่กำลังต้องการนำเงินไปฟื้นฟูประเทศจากวิกฤตเศรษฐกิจ ข้ามหน้าข้ามตากระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพอื่นที่พร้อมใจกันคืนงบประมาณเมื่อรัฐบาลเรียกคืน และยอมที่จะยกเลิกการจัดซื้อไปเสนอขอจัดซื้อใหม่ให้รัฐบาลและสภาพิจารณาอีกครั้ง และเป็นการดึงเงินในอนาคตมาใช้ เซ็นซื้อทั้งที่ในเวลาที่เซ็นนั้น กองทัพเรือไม่เหลือเงินแม้แต่บาทเดียว ซึ่งจะสร้างปัญหาให้การจัดซื้ออาวุธในอนาคตของกองทัพเรือที่จะไม่เหลืองบประมาณให้ทำอย่างอื่น และเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องหาเงินมาจ่ายให้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ซึ่งมันจะเป็น Moral Hazard ได้ในอนาคต
เมื่อครั้งที่มีการแถลงข่าวชี้แจงโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำในปี 63 โฆษกกองทัพเรือในขณะนั้นได้ตอบคำถามว่าทำไมจึงยังต้องการเดินหน้าจัดหาเรือดำน้ำว่า “ก็รัฐบาลกู้เงินมาแล้ว (เพื่อใช้ในการฟื้นฟูประเทศ) ก็ควรให้กองทัพเรือซื้อเรือดำน้ำ”
ดังนั้น ทั้งหมดนี้แม้ยังชี้ชัดแบบมั่นใจไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจริง กองทัพเรือและกระทรวงกลาโหมก็ยังไม่ได้ชี้แจง รวมถึงเรายังต้องการหลักฐานที่มากกว่านี้เพื่อเปลี่ยนจากการ “เชื่อได้ว่า” เป็น “ข้อเท็จจริงปรากฎว่า” กองทัพเรือลงนามซื้อเรือดำน้ำ S26T ลำที่สองและสามแล้ว
แต่ที่พูดได้ก็คือ ถ้าทั้งหมดนี้เป็นความจริง แม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่เหมาะสมครับ
ปล. ในจดหมายนี้ยังระบุว่า ขอการสนับสนุนให้กองทัพเรือจีนติดอาวุธให้เรือยกพลขึ้นบก Type-071E ฟรีด้วย ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาว่ากันต่อไปในบทความหน้าครับ
โพสนี้ใน Facebook ของเรา
จดหมายฉบับเต็มดาวน์โหลดมาจาก
One thought on “กองทัพเรือ แอบเซ็นสั่งซื้อเรือดำน้ำลำที่สองและสาม โดยใช้เงินในอนาคตจริงหรือ?”