TAF Editorial วิพากษ์ข้อเสนอของพิธา ยุบรวม สป.-บก.ทท. ลดกำลังพล ทบ.

ส.ส. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณและการบริหารกองทัพ ซึ่ง TAF เห็นว่ามีความน่าสนใจที่จะนำมาถกเถียงกันครับ


  1. ยุบรวมสำนักปลัดกลาโหมและกองบัญชาการกองทัพไทย

คุณพิธาให้ความเห็นว่า กองบัญชาการกองทัพไทยและสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มีหน่วยงานด้านการบริหาร ธุรการ การเงิน กฎหมาย ซ้ำซ้อนเช่น กรมการเงินกลาโหม-กรมการเงินทหาร สำนักงานตรวจสอบภายในกลาโหม-สำนักงานตรวจสอบภายในทหาร กรมพระธรรมนูญ-สำนักงานพระธรรมนูญ กรรมสรรพกำลังกลาโหม-กรมกำลังพลทหาร และยังกล่าวอีกว่า กองบัญชาการกองทัพไทยโดยภารกิจแล้วถ้าหากเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ อเมริกา ก็คงเทียบได้กับ Joint Forces Command ที่มีหน้าที่อำนวยการปฏิบัติการร่วมเช่นเดียวกัน ซึ่งในปี 2011 หลังจากวิกฤติ Hamburger Crisis สหรัฐอเมริกาก็ได้ปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมและได้ยุบ Joint Forces Command ไปด้วยเหตุผลทางงบประมาณ นี่แสดงให้เห็นว่าการการยุบและควบรวมกองกำลังไม่ใช่เรื่องที่แปลกหรือเกินความเป็นไปได้แต่อย่างใด และหากประเทศไทยยุบกองบัญชาการกองทัพไทยซึ่งมีความซ้ำซ้อนกับสำนักปลัดกระทรวงฯ ก็จะช่วยให้ประเทศประหยัดงบประมาณไปได้ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี

TAF มีความเห็นว่าจริง ๆ แล้วทั้งสองหน่วยงานนี้มีภารกิจที่แตกต่างกัน โดยสำนักปลัดกลาโหมก็ทำหน้าที่คล้าย ๆ กับสำนักงานปลัดของกระทรวงอื่น ๆ นั่นก็คือการเป็นฝ่ายเลขาธิการให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วนกองบัญชาการกองทัพไทย โดยกฎหมายแล้วทำหน้าที่คล้ายกับหน่วยเสนาธิการร่วมของกองทัพไทย

การจะยุบทั้งสองหน่วยนั้นมีความเป็นไปได้ โดยเราสามารถรวมภารกิจของทั้งสองหน่วยเข้ามาเป็นหน่วยเดียวกันโดยที่ไม่กระทบการดำเนินงานได้ เช่นเราสามารถยุบสำนักปลัดกลาโหม แล้วให้กองบัญชาการกองทัพไทยทำหน้าที่เป็นเลขาธิการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้เช่นกัน ในส่วนของงานด้านอื่น ๆ ก็สามารถอยู่ภายใต้กองบัญชาการกองทัพไทยได้ เช่นงานด้านกำลังพล ด้านพระธรรมนูญ ด้านการวิจัย ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หรือด้านอื่น ๆ และยกเลิกตำแหน่งต่าง ๆ ที่ซ้ำซ้อนออกไป ซึ่งน่าจะสามารถลดกำลังพลและงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก

แต่จะไม่ยุบรวมก็ได้ เพียงแต่เราต้องยอมรับว่า ในปัจจุบัน กระทรวงกลาโหมมีบุคลากรและหน่วยงานมากเกินไปในทุก ๆ หน่วยของกระทรวง สำนักปลัดกลาโหมและกองบัญชาการกองทัพไทยก็เช่นเดียวกัน ซึ่งยังไงในระยะยาวควรและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดจำนวนบุคลากรและหน่วยงานลง โดยปิดอัตราของผู้ที่เกษียณอายุแล้ว หรือยกเลิกและยุบรวมบางหน่วยงานที่ไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพโดยตรง หรือซ้ำซ้อนกับกระทรวงอื่น หรือแม้แต่การยุบหรือปิดหน่วยงานบางหน่วยงานลง

ซึ่งเราก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องยาก เพราะหน่วยงานราชการมักจะหน่วยอัตรากำลัง ซึ่งมักจะแปรมาเป็นงบประมาณที่ได้รับ และประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและระบบงานของราชการของไทยก็ยังไม่ค่อยดี ทำให้เราต้องใช้คนมากเกินไปและใช้เวลานานเกินไปในการทำงาน ยังไม่รวมถึงผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการที่มีอัตรา กำลังคน และหน่วยงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ดีว่าต้องแก้แต่ไม่มีใครต้องการแก้


  1. กองทัพบกมีกำลังพล 260,000 คน แต่มีเพียง 53,000 คนที่ปฏิบัติงานชายแดนและสนับสนุน กอ.รมน.

คุณพิธาให้ความเห็นว่า บประมาณด้านบุคลากรของกองทัพบก ซึ่งเป็นงบประมาณถึง 60% ของงบประมาณกองทัพบก และเมื่อพิจารณาของทั้งกระทรวงกลาโหมแล้วคิดเป็น 52% ยิ่งงบกลาโหมในวันนี้มีสัดส่วนงบบุคลากรมาก ศักยภาพทางการทหารในอนาคต 30 ปีข้างหน้าจะยิ่งน้อยลง
เพราะงบประมาณในการป้องกันประเทศจะถูกเบียดบังด้วยงบการรักษาพยาบาล งบสวัสดิการ และงบบำเน็จบำนาญของทหารที่สูงอายุมากขึ้น หากงบทหารในวันนี้มีสัดส่วนงบบุคลากรน้อย ก็จะแสดงให้เห็นว่ากองทัพจะมีศักยภาพมากในอนาคต ตัวอย่างคือประเทศสหรัฐอเมริกาที่ 25% จีนที่ 31% และรัสเซียที่ 46%

ปัจจุบันมีกำลังพลที่ปฏิบัติงานชายแดนและสนับสนุน กอ.รมน. เพียง 53,000 คน กองทัพบกต้องปรับโครงสร้างบุคลากรให้เหมาะสมมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องลดกำลังพลเหลือ 53,000 คน โดยกองทัพบกมี ส่วนการรบและส่วนสนับสนุนการรบ 160,000 นาย และกำลังพลราว 100,000 นายของกองทัพบกทำภารกิจ เช่น สารบรรณ การเงิน กฎหมาย สวัสดิการ ส่งกำลังบำรุง งานสัสดี ระดมพล ฯลฯ ซึ่งเป็นงานที่อาจจะใช้ข้าราชการพลเรือนกลาโหมหรือภาคเอกชนทดแทนได้

โดยกระทรวงกลาโหมมีแผนแม่บทการปฏิรูปการบริหารจัดการและปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงกลาโหม 2560-2569 เพื่อที่จะ ปรับลดอัตรากำลังพล ปรับปรุงโครงสร้างหน่วยรบ ยุบ ควบรวม หน่วยที่ไม่จำเป็น และปรับโอนงานให้เอกชน จึงได้ถวงถามความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผน

TAF เห็นว่า เช่นเดียวกันกับข้อที่ 1. คือกองทัพมีกำลังพลมากเกินไป ซึ่งประเทศไทยไม่ได้มีภัยคุกคามมากขนาดที่ควรจะมีกำลังพลมากขนาดนั้น และไทยก็ไม่ได้มีบทบาทและหน้าที่ในเวทีโลกที่จะใช้กำลังพลไปแสดงบทบาทหรือช่วยเหลือสนับสนุนการรักษาความมั่นคงในระดับนานาชาติเท่าไหร่นัก การที่ประเทศไทยมีกำลังพลมากเป็นอันดับ Top 20 ของโลก สะท้อนให้เห็นว่าเรามีกำลังพลมากเกินไป ยิ่งบอกว่าจำนวนกำลังพลในหน่วยรบจริง ๆ นั้นมีน้อยกว่านั้น ก็ยิ่งตอกย้ำว่าเรามีกำลังพลมากเกินไป เพราะมีหน่วยสนับสนุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรบมากเกินไปนั่นเอง

ในทางกลับกัน เรามักจะได้ยินทหารและกองทัพบ่นว่า มีคนไม่พอกับการทำงาน มีภารกิจมากจนล้นมือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความรู้สึกของพวกเราที่คิดว่า ทำไมการมีทหารหลายแสนคนจึงยังไม่เพียงพออีก

เราเชื่อว่าปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะกองทัพทำหน้าที่ที่ไม่ควรต้องทำมากเกินไปนั่นเอง เช่นงานด้านการพัฒนา งานด้านการรักษาความมั่นคงภายใน งานด้านการบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ ที่ในบางงานกองทัพตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อรองรับงานเหล่านั้นโดยเฉพาะ ทั้ง ๆ ที่หน้าที่ของกองทัพควรจะเป็นเพียงการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นส่วนย่อยของความมั่นคงเท่านั้น งานด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การป้องกันประเทศควรจะเป็นงานที่ทำเป็นครั้งคราว หรือทำเมื่อมีหน่วยงานราชการอื่นขอรับการสนับสนุนเท่านั้น

ถ้าตัดงานที่ไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพ หรืองานที่กองทัพเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของกองทัพ และลดขนาดของงานสนับสนุน (Back Office) ต่าง ๆ ลง หรือผ่องถ่ายงานด้วยการว่าจ้างให้เอกชนทำ ก็จะลดจำนวนกำลังพลลงได้


TAF เห็นว่าปัญหากำลังพลและความต้องการกำลงพลที่มากเกินไปของกองทัพนั้นเป็นระเบิดเวลาที่ใช้เวลาแก้ไขนานเกินไป และแก้ไขได้สำเร็จน้อยเกินไป ในภาวะที่อัตราการเกิดน้อย ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำและมีแรงงานน้อย เช่นจำนวนทหารเกณฑ์ที่ปี ๆ หนึ่งกองทัพมีความต้องการมากถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ชายไทยที่มีอายุ 21 ปีของทั้งประเทศ สะท้อนว่ากองทัพเป็นผู้จ้างงานหลักและรายใหญ่มากของประเทศ แต่ทำให้เกิดผลต่อการเติบโตของประเทศได้น้อย และเกิดการแย่งชิงแรงงานกับภาคเอกชนโดยไม่ตั้งใจ แม้ว่าอายุการใช้งานแรงงานจะสั้นแค่ 6 เดือน – 2 ปีก็ตาม

ไม่ว่าอย่างไรกองทัพก็ต้องลดขนาดลง นี่คือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการดำเนินงานตามแผนแม่บทการปฏิรูปการบริหารจัดการและปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงกลาโหม 2560-2569 ต้องมีความต่อเนื่องและจริงจัง ไม่ทำหน้าที่มากเกินและเยอะเกิน แต่ให้มุ่งเน้นที่ Core Business คือการป้องกันประเทศเท่านั้น เพื่อให้กองทัพมีขนาดเล็กลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

โพสนี้ในหน้าเพจของเรา

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.