เกาะโลซิน พื้นที่ JDA และ MoU ไทยมาเลเซีย – ปิดประตูความขัดแย้ง? ไทยกับมาเลเซียต่อ MoU หลังปี 2572

เกาะโลซินเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ปลายสุดของแผ่นดินไทย เป็นเกาะที่มีแต่หินลอยขึ้นมาเหนือทะเลนิดหน่อยดูแล้วไม่น่าจะมีอะไรสำคัญ แต่เจ้าเกาะนี้มันทำให้เราได้ดินแดนในทะเลเพิ่มขึ้นเยอะทีเดียวครับ

ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลหรือ United Nations Convention on the Law of the Sea ที่เราเรียกกันว่า #UNCLOS นั้น กำหนดว่าเกาะคืออะไรก็ตามที่โผล่ขึ้นมาเหนือทะเลตามธรรมชาติ และเมื่อมีเกาะ ก็จะต้องมีไหล่ทวีป ซึ่งจะสามารถกำหนดอาณาเขตทางทะเลของรัฐชายฝั่งได้ พอเราค้นพบเกาะโลซินซึ่งห่างจากชายฝั่ง #ปัตตานี ไป 72 กิโลเมตร ก็เท่ากับว่าทะเลอาณาเขตของไทยขยายออกไปอีกจำนวนมาก เพราะผืนทะเลหลังเกาะก็จะกลายเป็นน่านน้ำภายใน และจากเกาะโลซินเราก็สามารถวัดออกไปได้อีกถึง 200 ไมล์ทะเลที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย ทั้งนี้ถ้าดูตามรูปจะพบว่า ทะเลภายในของไทยในฝั่งอ่าวไทยนั้นกว้างกว่าฝั่งอันดานันมาก เพราะพื้นที่อ่าวไทยส่วนใหญ่เป็นไหล่ทวีปนั้นเอง

ซึ่งน่านน้ำตรงนี้ทับซ้อนกับ #มาเลเซีย มาเลเซียก็ไม่ยอม คุยกันไม่รู้เรื่อง แต่ละฝ่ายแข่งกันขับเรือประมงของอีกฝ่ายออกไป (ไทยจะโดนเยอะหน่อยเพราะเรือประมงเยอะกว่ามาก) เอาเรือรบมาวิ่งเผชิญหน้ากัน ไม่มีใครยอมกันทั้งทางกฎหมายและการวางกำลัง บรรยากาศค่อนข้างตึงเครียดตั้งแต่ช่วงปี 2515 เป็นต้นมา ยิ่งตอนนั้นบริษัท #Esso สำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่

พอมันร้อนมาก ๆ เข้าทั้งสองฝ่ายก็รู้สึกไม่ไหว ฝ่ายมาเลเซียเลยเสนอว่า ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่อง งั้นเราเลิกคุยกัน แต่ดูดก๊าซมาใช้ร่วมกันดีกว่า ไทยก็เห็นดีเห็นงามด้วย ทั้งสองฝ่ายจึงประชุมกันและตกลงกันได้ที่ #เชียงใหม่ เกิดเป็นบันทึกความเข้าใจร่วมเพื่อพัฒนาพื้นที่ร่วมกันระหว่างไทยและมาเลเซีย และทำให้เกิดพื้นที่ Joint Development Area หรือ #JDA ขึ้นมา โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า จะพักเรื่องอาณาเขตกันไว้ก่อนไม่สนใจ แต่จะร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ ทั้งสองฝ่ายก่อตั้งบริษัท Malaysia-Thailand Joint Authority (MTJA) ซึ่งถือหุ้นฝ่ายละ 50% (PTT และ Petronas) และแบ่งปันผลประโยชน์กันฝ่ายละ 50% โดย MoU นี้มีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่ปี 2522
หลังจากนั้นทุกอย่างก็สงบลง เรากับมาเลเซียก็ดูดก๊าฐมาใช้กันสบาย JDA กลายเป็นกรณีศึกษาระดับโลกที่สองประเทศแม้จะยังตกลงกันไม่ได้แต่ก็ร่วมมือกันพัฒนาประเทศด้วยกันได้ อะไร ๆ ก็ดูเหมือนจะแฮปปี้


แต่เมื่อปี 2525 หลังจากนั้นอีกนิดเดียว สหประชาชาติได้ออก #UNCLOS1982 ขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากกระประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล แต่คราวนี้มีการกำหนดนิยามของเกาะใหม่ โดยอะไรที่ถือว่าเป็นเกาะนั้นต้องหมายถึง “แผ่นดินที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาโดยธรรมชาติ ซึ่งมีพื้นที่มากพอที่จะสามารถดำรงชีวิตและเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้” โดยไทยได้ให้สัตยาบันต่อ UNCLOS 1982 แล้วในปี 2554

ตรงนี้แหละครับที่งานเข้า เพราะโลซินเป็นแค่กองหินที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ไม่มีต้นไม้งอกสักต้นเดียวด้วยซ้ำ ดูสภาพแล้วไม่น่าจะดำรงชีวิตและเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ซ้ำร้าย MoU ระหว่างไทยและมาเลเซียกำลังจะหมดอายุลงในปี 2572 หรือในอีก 9 ปีนี้เท่านั้น ซึ่งตอนนั้น ไทยกับมาเลเซียก็ต้องมาเริ่มอ้างสิทธิ์กันใหม่ แต่กฎหมายมันเปลี่ยนซะแล้ว

การเปลี่ยนนิยามของกฎหมายนั้น จะไม่ได้ทำให้เกาะโลซินกลายเป็นของมาเลเซีย เพราะมาเลเซียก็ไม่ได้อ้างสิทธิ์มาถึงตรงนี้ และโลซินยังอยู่ในน่าน้ำของไทยล้าน% ความเป็นเจ้าของเกาะโลซินของไทยไม่มีปัญหาแน่นอน แต่ที่มีปัญหาคือ เขตเศรษฐกิจจำเพาะที่วัดออกจากเกาะโลซินต่างหาก
ถ้าโลซินไม่ใช่เกาะจริง ๆ เส้นฐานและน่านน้ำภายในของไทยจะต้องถอยลงไปค่อนข้างมาก และอาจทำให้พื้นที่ JDA นั้นไม่ใช่ JDA อีกต่อไป เพราะไทยอาจไม่สามารถอ้างสิทธิ์ในพื้นที่นั้นได้ ในภาพที่สามนั้น กะประมาณการคร่าว ๆ ของพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิ์นั้นเป็นไปตามเส้นสีแดง และพื้นที่ที่ไทยจะเหลืออยู่ถ้าโลซินไม่ใช่เกาะตามเส้นสีเหลือง โดยจุดที่ปักหมุดนั้นคือเกาะโลซิน สีชมพูคือพื้นที่ที่อาจจะเสียไป (แผนภาพนี้ไม่ตรงสัดส่วนและไม่สามารถใช้อ้างอิงได้ เส้นที่ลากนั้นลากเพื่อให้เห็นภาพเท่านั้นไม่ใช่เส้นจริงของข้อตกลงใด ๆ)


ดังนั้นหนึ่งในข้อกังวลของคนไทยหลายคนก็คือปัญหาที่ว่าหลังปี 2572 เป็นต้นไป MoU ระหว่างไทยกับมาเลเซียที่เป็นต้นกำเนิดของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียหรือ JDA ซึ่งเกิดขึ้นมาจากพื้นที่ทับซ้อนของน่านน้ำระหว่างสองประเทศที่ตกลงกันไม่ได้จนมีการเอากำลังทหารมาเผชิญหน้ากันและสถานการณ์ร้อนแรง แต่ทั้งสองประเทศหาทางออกได้ว่างั้นแบ่งปันผลประโยชน์กันคนละครึ่ง และช่วยกันพัฒนาพื้นที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ นำมาสู่ MoU ประวัติศาสตร์ที่เป็นกรณีศึกษาระดับโลกของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

แต่เมื่อค้นกลับไปดูจะพบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาและอนุมัติให้ประเทศไทยให้คำรับรองการมีผลบังคับใช้ต่อไปของบันทึกความเข้าใจราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรร่วมเพื่อแสวงประโยชน์จากทรัพยากรระหว่างในพื้นดินใต้ทะเล ในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีปของประเทศทั้งสองในอ่าวไทย (MoU) 1979

ซึ่งเนื้อหาคร่าว ๆ คือทั้งสองประเทศประชุมกันแล้ว เห็นว่าต่อให้หลังปี 2572 ก็ยังคงจะตกลงกันไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นจะขอใช้งานเงื่อนไขใน MoU เดิมที่ว่า ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ ก็จะให้ MoU มีผลบังคับใช้ต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียให้การรับรองแล้ว และรัฐบาลไทยก็ใช้การรับรองไปแล้วเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 รูปในโพสนี้คือรูปจากไฟล์ของมติครม. ของไทยดังกล่าวครับ สามารถค้นได้ที่ https://resolution.soc.go.th/

ดังนั้นจึงถือว่า ทั้งสองประเทศให้การรับรองแล้วว่า MoU จะมีผลบังคับใช้ต่อไปเรื่อย ๆ หลังปี 2572 แบบยังไม่มีวันหมดอายุ ตราบใดที่ยังตกลงกันไม่ได้ (อนุมานว่าถ้าอยากได้พื้นที่นี้ไปเรื่อย ๆ ไทยก็อย่าเข้าสู่สถานการณ์ที่จะทำให้ตกลงกันได้)

ซึ่งก็น่าจะช่วยปิดประตูความขัดแย้งระหว่างไทยและมาเลเซียไปได้มาก รวมถึงคาดการณ์ว่าไทยกับมาเลเซียน่าจะร่วมมือกันพัฒนาและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ JDA นี้ต่อไปได้อีกนานครับ

ท่านที่สนใจสามารถร่วมพูดคุยในประเด็นนี้ต่อได้ที่ https://www.facebook.com/groups/thaiarmedforce/posts/3008733279371342

บทความนี้ในเพจของเรา

อ่านเพิ่มเติม

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.