กองทัพบกเตรียมซื้อจรวดต่อสู้รถถัง FGM-184 Javelin 50 แท่นยิง งบ 2.6 พันล้านบาท

สำนักงานเพื่อความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคงหรือ DSCA ได้แจ้งต่อสภาคองเกรสถึงความเป็นไปได้ในการขายจรวดต่อต้านรถถัง FGM-184 Javelin จำนวน 300 นัด พร้อมแท่นยิง 50 นัด รวมถึงการฝึก การสนับสนุน เจ้าหน้าที่สนับสนุนในประเทศ อะไหล่ และการฝึกที่เกี่ยวข้องให้กับประเทศไทย โดยมีมูลค่าราว 83.5 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 2,672 ล้านบาท

DSCA แจ้งว่าการขายในครั้งนี้จะสนับสนุนนโยบายด้านการต่างประเทศและวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาในการเพิ่มขีดความสามารถและความมั่นคงของพันธมิตรสำคัญนอกนาโต้ (Major Non-NATO Ally) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย Javelin จะทดแทนปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังขนาด 106 มม. ของกองทัพบกไทยซึ่งจัดหามาจากการโครงการช่วยเหลือทางทหารในยุคเวียดนาม การขายในครั้งนี้จะช่วยทำให้กองทัพบกไทยมีความทันสมัยและเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อสู้รถถังแบบเบาและรักษาขีดความสามารถด้านกำลังรบ รวมถึงเพิ่มการเข้ากันได้กับกองทัพสหรัฐในระหว่างการปฏิบัติภารกิจและการฝึก และประเทศไทยคือพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่ช่วยส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาค

การขายนี้จะช่วยเพิ่มขีดความขีดความสามารถของประเทศไทยในการตอบสนองภัยคุกคามปัจจุบันและอนาคด้วยการเพิ่มขีดความสามารุด้านการป้องกันประเทศในระยะยาวเพื่อป้องกันอธิปไตยและบูรณภาพดินแดน ประเทศไทยจะมีความสามารถในการใช้ยุทโธปกรณ์นี้ในกองทัพไทย และจะไม่เปลี่ยนดุลยภาพทางทหารในภูมิภาค

โดยคู่สัญญาหลักคือกิจการร่วมค้า Javelin ของ Raytheon และ Lockheed Martin และสัญญานี้ไม่มีการชดเชยทางการค้า (Offset) ซึ่งข้อตกลง Offset ใด ๆ นั้นจะเกิดขึ้นจากการเจรจาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

Notification to Congress ของการขาย Javelin ให้กับกองทัพบกไทย

การขายจรวดต่อสู้รถถัง FGM-184 Javelin เกิดขึ้นหลังจากการขายยานเกราะล้อยาง Stryker RTA ICV ให้กับกองทัพไทย และอาจจะตามมาด้วยการขายปืนใหญ่ขนาด 155 มม. แบบ M777 ซึ่งทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายทั้งสหรัฐและฝ่ายไทยเอง โดยกองทัพบกไทยที่ผ่านมาเน้นซื้ออาวุธจากจีนที่มีราคาถูกกว่า และสหรัฐมักมีข้อกำหนดในการขายอาวุธให้กับหลาย ๆ ประเทศ แต่ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีทรัมป์ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบายโดยตัดสินใจขายยานเกราะ Stryker ให้กับกองทัพบกไทยที่เริ่มกลับมาจัดหาอาวุธจากสหรัฐอีกครั้ง

ทั้งนี้ กองทัพบกไทยใช้งานปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังขนาด 106 มม. มาหลายปี และที่ผ่านมามีการจัดหาจรวดต่อสู้รถถังแบบ Spike MR เข้าประจำการในกองทัพบกไทยมาระยะหนึ่งแล้ว การจัดหา FGM-184 Javelin ซึ่งเป็นจรวดชนิดเดียวกันทำให้กองทัพบกไทยมีจรวดต่อสู้รถถังถึงสองแบบเข้าประจำการ

Javelin มีใช้งานในหลายประเทศ โดยเฉพาะที่เราจะเห็นในบทบาทการรบในตะวันออกกลางทั้งอิรักและอัฟกานิสถาน ในอาเซียนเองมีอินโดนีเซียที่จัดหา FGM-184 Javelin จำนวน 25 แท่นยิงและจรวด 189 นัด

Javelin เป็นจรวดที่มีขนาดเบา สามารถใช้ทหารราบไม่กี่นายในการบรรทุกไปได้ นำวิถีด้วยอินฟราเรด และสามารถที่จะยิงแล้วลืมหรือ Fire an Forget ได้ ซึ่งหมายถึงเมื่อยิงไปแล้ว กำลังพลสามารถหลบหนีออกจากจุดยิงได้ทันที และจรวดจะนำทางตัวเองเข้าสู่เป้าหมาย ต่างกับการนำวิถีด้วยเส้นลวดที่กำลังพลต้องเอาศูนย์เล็งทาบที่เป้าหมายอยู่ตลอดเวลาจนจรวดกระทำเป้า

ในการทำลายรถถัง จรวดสามารถบินจากมุมสูงเป็นแนวโค้งและตกลงเหนือเป้าหมายด้านบนก่อนที่จะจุดระเบิดเพื่อส่งแรงระเบิดลงมาจากด้านบนซึ่งเป็นจุดที่มีเกราะป้องกันตนเองน้อย และดินระเบิดถูกออกแบบมาเพื่อทำลายเกราะเสริมสมัยใหม่ และมีกรวยไฟที่เกิดขึ้นจากการยิงด้านหลังน้อย ซึ่งทำให้การยิงปลอดภัยมากกว่าอาวุธแบบอื่น

แต่ข้อเสียคือราคาที่ค่อนข้างแพงมาก โดยตัวจรวดมีราคถึงราวลูกละ 5.6 ล้านบาท วัดตามราคาที่กองทัพสหรัฐซื้อ ซึ่งถ้าเทียบราคานี้กับจำนวนการจัดหาของกองทัพบกไทยที่ 300 นัด จะทำให้มีสัดส่วนของราคาจรวดถึง 1,681 ล้านบาท จากงบประมาณสูงสุดที่เป็นไปได้ในการจัดหาราว 2,672 ล้านบาท

สำหรับเหตุผลในการจัดหาครั้งนี้คือทดแทนปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังขนาด 106 มม. ถ้าจัดในหมวดอาวุธหนักของกองร้อยสนับสนุนการรบของกองพันทหารราบ ซึ่งจะมีปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง 106 มม. 3 ชุดในหมวดต่อ 1 กองพันทหารราบ หรือ 9 ชุดต่อ 1 กรมทหารราบ ถ้าจัดหา Javelin มาทั้งหมด 50 ชุดและทดแทนปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง 106 มม. จะบรรจุได้ 5 กรมทหารราบ และที่เหลือน่าจะประจำการในศูนย์การทหารราบสำหรับการฝึกศึกษาราว 3 ระบบ และกรมสรรพาวุธทหารบกราว 2 ระบบ

หรืออาจจะเป็นการจัดลงในกรมทหารราบที่ 112 ซึ่งจัดในลักษณะกองพลน้อยชุดรบหรือ Stryker Brigade Combat Team (SBCT) ที่แต่ละหมู่ทหารราบจะมี Javelin เป็นอาวุธเสริม 1 แท่นยิง ซึ่งทำให้แต่ละหมวดจะมี 3 แท่นยิง และ SBCT 1 หน่วยจะต้องมี Javelin ทั้งหมด 81 แท่น ซึ่งถ้าจัดแบบนี้ ก็ทำให้อาจต้องมีการจัดหาเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 36 แท่นยิง

หรือถ้าพิจารณาการจัด Spike MR นั้น กองทัพบกจัดลงในหมวดปืนโจมตี กองร้อยลาดตระเวนเฝ้าตรวจของกรมทหารราบ ในกองพลทหารราบที่ 6 ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สำหรับ Javelin นั้นยังไม่แน่ชัดว่าหน่วยกองทัพบกจะลงในหน่วยใด แต่คาดว่าอาจจะประจำการในตำแหน่งเดียวกันกับ Spike MR ในกองพลอื่น ซึ่งสามารถกระจายลงไปได้ทั่วกองทัพบกเพราะมีกองร้อยลาดตระเวนเฝ้าตรวจไม่มาก และจัดลงได้ถึง 12 กรมทหารราบ ส่วนระดับกองพันนั้นก็อาจจะใช้งานปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังต่อไป หรือว่าถ้ากองทัพบกจะโฟกัสการพัฒนาเป็นหน่วยไป โดยให้หน่วยหนึ่ง ๆ มีความสมบูรณ์ทั้งหมด ก็อาจจะจัด Javelin ลงทั้งในระดับกรมและระดับกองพันทหารราบ ซึ่งใช้ทั้งหมด 13 ชุดยิง อยู่ในกองร้อยลาดตระเวนเฝ้าตรวจ 4 ชุด และในกองร้อยสนับสนุนการรบประจำกองพันอีก 3 ชุด ซึ่งในกรณีนี้ก็จะสามารถจัดลงได้ราว 3 กรมทหารราบ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จำนวน 50 แท่นยิงนี้ เป็นจำนวนสูงสุดที่จะจัดหาได้ในรอบนี้เท่านั้น และยังไม่เป็นสัญญาอย่างเป็นทางการ จำนวนการจัดหาจริงอาจเป็นเท่านี้หรือต่ำกว่านี้ก็ได้

โพสนี้ในเพจของเรา

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.