อธิบายง่าย ๆ และทำความเข้าใจ ทำไมอัฟกานิสถาน ถึงเกิดสงคราม – สรุปจากคลับเฮ้าส์ของ TAF

จากกรณีที่ Youtuber ท่านหนึ่งของไทย (#IRoamAlone) ได้เดินทางไปเที่ยวที่ประเทศ #อัฟกานิสถาน เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาใน TAF MilTalk ครั้งที่ 32 ใน #Clubhouse ของเรา เราได้เชิญคุณปั๊บ พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์ นักเขียนชื่อดังจากเพจ The Wild Chronicles – ประวัติศาสตร์ ข่าวต่างประเทศ ท่องเที่ยวที่แปลก ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านประวัติศาสตร์สมัยใหม่ การต่างประเทศ สงคราม และความขัดแย้ง มาให้ความรู้ว่า จริง ๆ แล้วประเทศอัฟกานิสถานมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร สงครามที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร มีใครเป็นใครบ้างในความขัดแย้งนี้ ตาลีบันคือใคร และทำไมอัฟกานิสถานถึงได้ชื่อว่า Graveyard of Empires หรือสุสานของจักรวรรดิต่าง ๆ

ซึ่งการสนทนาในวันนี้ได้ความรู้และได้ข้อมูลที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก รวมถึงมีผู้ฟังหลายท่านยกมือขึ้นมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อมูลที่หลากหลาย เราขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้งครับ

วันนี้ เราจึงขอสรุปประเด็นง่าย ๆ ในส่วนที่ว่า เกิดอะไรขึ้นในอัฟกานิสถาน และสงครามในอัฟกานิสถานมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรครับ


  1. อัฟกานิสถานเป็นประเทศพิเศษ มีภูเขาสลับซับซ้อน จริง ๆ มหาอำจายหลายประเทศสามารถตีรัฐบาลแตกได้ง่าย แต่ยึดทั้งประเทศได้ยาก และและการพัฒนาประเทศก็ทำได้ยากเช่นกัน เนื่องจากภูเขาสูงทำให้การเข้าถึงยากลำบาก ความเจริญและการพัฒนาจึงเข้าถึงยาก และทำให้ผู้คนมักอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนในลักษณะชนเผ่าที่เชื่อฟังหัวหน้าเผ่า ไม่ได้มีความรู้สึกร่วมกันในฐานะประเทศมากนัก แต่ในอีกด้าน ภูมิประเทศแบบนี้ทำให้ผู้คนค่อนข้างแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ แม้แต่ช่วงแรก ๆ ของตาลีบันที่ทำสงครามยึดอัฟกานิสถานนั้นก็ยึดได้ไม่หมด
  2. อัฟกานิสถานเคยมีกษัตริย์มาก่อน ชื่อราชวงศ์บารัคไซ ซึ่งเคยรบกับอังกฤษมาก่อน แม้ในช่วงแรกจะรบชนะ แต่สุดท้ายก็แพ้และตกเป็นเมืองขึ้น ราชวงศ์นี้ค่อนข้างมีการคอรัปชั่นเยอะ ทำให้ประชาชนไม่ชอบ จนทำให้เกิดกบฎโค่นล่มราชวงศ์ในปี 1973 โดยกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์อัฟกานิสถาน และได้นูร์ มูฮัมหมัด ตะรากี นักสังคมนิยมขึ้นมาเป็นผู้นำ และเริ่มโน้มเอียงไปทางโซเวียต แต่ผู้นำก็ทะเลาะกันจนเกิดการแตกกันเอง เริ่มมีการกดขี่ชาวบ้านจนประชาชนเริ่มต่อต้าน มีการฆ่ากันไปมาจนได้ผู้นำคนใหม่คือ ฮาฟิซุลลาห์ อามิน ที่มีแนวคิดชาตินิยมและไม่ชอบโซเวียต ทำให้โซเวียตตัดสินใจส่งทหารเข้ามาในอัฟกานิสถาน ซึ่งก็ใช้เวลา 3 วันเท่านั้นก็ยึดรัฐบาลได้สำเร็จ
  3. โซเวียตเข้ามาก็ฆ่าฮาฟิซุลลาห์ อามิน ตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้น และคงกำลังไว้ค้ำยันรัฐบาลอัฟกานิสถาน ตอนนั้นโซเวียตก็ค่อนข้างให้ความสนใจกับอิหร่านเนื่องจากมีการปฏิวัติอิสลามอิหร่าน ล้มราชวงศ์ที่นิยมตะวันตกมาเป็นรัฐบาลอิสลามที่ต่อต้านสหรัฐอเมริกา ทำให้ชาวมุสลิมทั่วตะวันออกกลางมีความรู้สึกร่วมและมองว่าไม่จำเป็นต้องให้กษัตริย์ที่ค่อนข้างกดขี่และร่ำรวยอยู่กลุ่มเดียวปกครอง ชาวบ้านก็สามารถปกครองได้ จึงเกิดกระแสอยากจะปกครองตัวเองโดยการใช้กฎหมายอิสลามแทนกษัตริย์ตะวันออกกลางบ้าง
  4. โซเวียตจึงมีความกังวลในกระแสนี้ จึงเอากองทัพไปประชิดชายแดนอิหร่าน และยึดอัฟกานิสถานเอาไว้หลายปีเพื่อสร้างอิทธิพลของตนเอง แต่โซเวียตคาดการณ์ผิดเพราะเกิดกลุ่มมูจาฮีดีนหรือกลุ่มผู้ต่อสู้เพื่อศาสนาซึ่งรวบรวมคนที่ต่อต้านโซเวียตที่ปกครองค่อนข้างโหดร้ายและผิดหลักอิสลามขึ้นมาต่อต้าน สหรัฐอเมริกาก็เห็นโอกาสในการปิดล้อมโซเวียตและการดึงโซเวียตเพื่อรบในสงครามตัวแทนหลาย ๆ อัน เพื่อให้โซเวียตจนลงและให้โซเวียตพังจากภายใน เช่นเดียวกับที่สหรัฐต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจและความนิยมจากสงครามเวียดนาม จึงสนับสนุนกลุ่มมูจาฮีดีนในอัฟกานิสฐานเพื่อโค่นล้มโซเวียต

  1. กระแสในอัฟกานิสถานทำให้เกิดกระแสญิฮาดสากลที่มองว่าจริง ๆ แล้วมุสลิมนั้นยิ่งใหญ่ แต่ที่ผ่านมาแตกคอกันจนถูกประเทศอื่นปกครอง การรวมเป็นหนึ่ง เป็นเรือนร่างเดียวกันจะนำพามุสลิมพ้นจากการกดขี่และกลับมายิ่งใหญ่ได้ ซึ่งเป็นการบิดเบือนหลักศาสนามาเพื่อผลทางการเมือง แต่ก็ทำให้ญิฮาดเรียกร้องให้มุสลิมรวมกันและเข้าไปช่วยเหลือมุสลิมด้วยกันเองจนสำเร็จ ในกรณีนี้คือในอัฟกานิสถาน ซึ่งทำให้โซเวียตต้องทำการปราบปรามอย่างรุนแรง แต่ก็ไม่สามารถรบชนะได้ แม้จะยกทัพเข้าไปในหุบเข้าก็ไม่สามารถตีนักรบมูจาฮีดีนให้แตกได้ ซึ่งมูจาฮีดินในอัฟกานิสทานก็ทำให้เกิดอุซามะฮ์ บิน ลาดินขึ้น เพราะเขาเดินทางเข้ามาช่วยอัฟกานิสถานรบกับโซเวียต ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็สนับสนุนเขาเช่นกัน
  2. สงครามในอัฟกานิสถานทำให้โซเวียตจนลงมากและสูญเสียมาก จนประธานาธิบดีมิคาเอล กอบาชอฟตัดสินใจถอนทัพโซเวียตออกจากอัฟกานิสถานในปี 1989 ซึ่งหลังจากนั้นก็เกิดสงครามกันเองระหว่างกลุ่มต่าง ๆ แม้รัฐบาลอัฟกานิสกานก็สามารถเอาชนะได้ในช่วงแรก หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 รัฐบาลก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากโซเวียต รัฐบาลอัฟกานิสถานจึงยอมถอยและเชิญผู้นำกลุ่มมูจาฮีดินมาเป็นประธานาธิบดี แต่หลังจากนั้นมูจาฮีดินก็แตกกันเป็นหลายก๊กและสู้รบกันเองอีก จนทำให้อัฟกานิสถานในยุคนี้กลายเป็นยุคขุนศึกกลุ่มต่าง ๆ รบกันเอง
  3. กลุ่มตาลีบันเกิดขึ้นในปี 1994 โดยมูฮัมหมัด โอมาร์ ที่ทนการกดขี่ โดยเฉพาะประเพณีการข่มขืนเด็กชายไม่ไหว และมองว่าการปกครองของรัฐบาลอัฟกานิสถานนั้นมีการกดขี่ การเอาเปรียบประชาชน และปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม จึงก่อตั้งกลุ่มที่นิยมอิสลามอย่างเคร่งครัดซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนค่อนข้างมาก เนื่องจากประชาชนเบื่อหน่ายรัฐบาล โดยตาลีบันเริ่มจากเมืองกันดาฮา และยึด 12 จังหวัดภาคใต้อย่างรวดเร็วโดยแทบไม่ต้องรบ เพราะตาลีบันดีกับชาวบ้านมากกว่าพวกขุนศึกมูจาฮีดีน และทำให้ตาลีบันสามารถรบจนยึดอัฟกานิสถานส่วนใหญ่ได้
  4. แต่เมื่อปกครองประเทศแล้ว ตาลีบันมีแนวคิดเคร่งศาสนาอิสลามและชาตินิยมสูง แต่ค่อนข้างเอาใจชาติพันธุ์บางชาติพันธุ์มากเกินไป ตาลีบันใช้กฎที่เคร่งครัด ห้ามมีโรงหนัง ห้ามมีสิ่งบันเทิง ห้ามติดรูปที่บ้าน ผู้หญิงเป็นพลเมืองชั้นสองที่ห้ามมีบทบาททางสังคม กดขี่มุสลิมชีอะห์ที่เป็นนิกายตรงข้าม เลือกปฏิบัติกับผู้นับถือศาสนาอื่นที่ต้องติดสัญลักษณ์ระบุศาสนาไม่ต่างจากชาวยิวในยุคสงครามโลก และมีตำรวจศาสนาคอยปราบปราม ทำให้ประชาชนก็เริ่มไม่สนับสนุนตาลีบันอีก

  1. ส่วนในอีกด้านหนึ่ง อุซามะฮ์ บิน ลาดิน ที่เคยรบชนะอัฟกานิสถานมา ก็เดินทางไปทุกที่เพื่อปลดปล่อยมุสลิมถูกกดขี่ และสร้างกลุ่มอัลกออิดะฮ์ที่สู้เพื่อมุสลิม และเริ่มต่อต้านสหรัฐเพราะมองว่าสหรัฐจริง ๆ แล้วเป็นผู้ร้ายของโลก และสนับสนุนอิสราเอลมากดขี่มุสลิม จึงมีแนวคิดที่จะสร้างประเทศอิสลามขึ้นมาใหม่ ด้วยการทำลายเศรษฐกิจอเมริกาเพื่อให้อเมริกาล่มสลาย เหมือนที่เศรษฐกิจโซเวียตล่มสลาย และทำให้สหรัฐอเมริกาต้องถอนตัวออกจากตะวันออกกลาง ซึ่งวิธีที่ใช้คือการก่อการร้ายที่ลงทุนน้อย แต่ได้ผลทางจิตวิทยาสูง และทำได้ในหลายพื้นที่ เพื่อให้อเมริกาแบ่งกำลังหลายฝ่ายเข้ามาจัดการกลุ่มอัลกออิดะฮ์จนเศรษฐกิจพังพินาศ และจะฉวยโอกาสในการสร้างรัฐอิสลามขึ้นมาหลังจากนั้น โดยมีเหตุการณ์ 911 หรือการจี้เครื่องบินเพื่อพุ่งจนตึก World Trade Center และเพนตากอนเป็นเสมือนหมุดหมายเริ่มต้น และหลังจากนั้นอเมริกาก็ต้องสู้รบในหลายสมรภูมิอย่างที่อุซามะฮ์ บิน ลาดินคิดจริง ๆ
  2. กลับมาในอัฟกานิสถาน ตาลีบันก็ปกครองประเทศได้ไม่หมด โดยเฉพาะทางเหนือที่มีพันธมิตรฝ่ายเหนือที่นำโดย อาหมัด ชาห์ มาซูด หรือ “ราชสีห์แห่งปัญจศิระ” ที่มีนโยบายเอียงข้างประชาธิปไตย ต่อต้านตาลีบัน และกำลังเดินสายขอการสนับสนุนจากชาติตะวันตก ทำให้ถูกกลุ่มอุซามะฮ์ บิน ลาดินของอุซามะฮ์ บิน ลาดินสังหาร และตาลีบันให้ที่พักพิงกับอัลกออิดะฮ์ เมื่อเกิดกรณี 911 ทำให้อเมริกามาทำสงครามโค่นล่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน ซึ่งก็ใช้เวลาไม่นานในการโค่นตาลีบันจนตาลีบันต้องล่าถอยเข้าไปในหุบเขา และอเมริกาก็ตั้งนายฮามิด คาร์ไซขึ้นมาปกครองประเทศแทน
  3. อเมริกาก็พยายามพัฒนาประเทศอัฟกานิสถานในแบบอเมริกา มีการวางโครงสร้างการเมือง การเลือกตั้ง การศึกษา แต่อเมริกายังขาดความเข้าใจประชาชน รัฐบาลที่อเมริกาตั้งมีการคอรัปชั่นเยอะ และมีการกดขี่ประชาชนทำให้ประชาชนไม่ค่อยสนับสนุน เมื่อสหรัฐอเมริกาปรับนโยบายก็พยายามซื้อใจหัวหน้าชนเผ่าต่าง ๆ แต่กลับกันก็ทำให้กลายเป็นเสริมกำลังให้พวกหัวหน้าเผ่าให้เข้มแข็งขึ้นมาทัดเทียมรัฐบาล ดังนั้น แทนที่จะเกิดการรวมชาติกลับกลายเป็นแบ่งแยกกันและไม่มีใครเชื่อมั่นรัฐบาลกลาง พอสหรัฐอเมริกาไปทำสงครามยึดอิรักจากความกลัวว่าซัดดัมจะให้ที่อยู่กับพวกผู้ก่อการร้าย และปกครองด้วยความไม่เข้าใจประชาชนและวัฒนธรรมอีก ซึ่งทั้งสองสมรภูมิ สหรัญอเมริกาก็ไม่ประสบความสำเร็จ และเริ่มคิดว่าไม่คุ้มที่จะทำสงครามต่อไป
  4. อเมริกาเริ่มคิดว่าไม่อยากลงทุนกับทั้งสองสมรภูมิ จึงเริ่มมีการถอนทหารออกจากทั้งอิรักและอัฟกานิสถาน แต่ก็ยังพยายามช่วยรัฐบาลในการปกครองประเทศเพื่อรักษาอิทธิพลของตน โดยเฉพาะอัฟกานิสถาน และเจรจากับตาลีบันว่ายินดีจะถอนทหารสหรัฐออกไปแลกกับการห้ามตาลีบันว่าไม่ให้ที่พักพิงกับกลุ่มก่อการร้ายอีก ซึ่งตาลีบันก็ตกลง และหลังจากที่สหรัฐอเมริกาสังหารอุซามะฮ์ บิน ลาดินได้สำเร็จ ก็เริ่มลดกำลังและถอนทหารออกไป
  5. ในปัจจุบัน แม้ว่าตาลีบันอาจจะไม่ได้ยึดครองประเทศได้ในท้ายที่สุด แต่ก็น่าจะสามารถเอาชนะรัฐบาลได้ภายใน 6 เดือน แต่ตอนนี้ตาลีบันก็คิดว่าถ้าตัวเองยังมีภาพลักษณ์เป็นการหนุนกลุ่มก่อการร้ายก็จะอยู่ได้ไม่นานอีก เพราะอาจมีมหาอำนาจชาติอื่นเข้ามาโจมตีโค่นล่มตนเองอีก จึงพยายามปรับตัวเอง เจรจากับอเมริกาและรัสเซียว่าจะไม่ยอมให้อัฟกานิสถานเป็นแหล่งเพาะพันธุ์กลุ่มก่อการร้ายที่จะทำอันตรายกับมหาอำนาจ และโฆษกของตาลีบันด้วยการเดินทางไปเยือนจีน และชิญจีนเข้ามาลงทุนในอัฟกานิสถาน เพื่อให้อัฟกานิสถานเจริญจากเงินทุนจีน โดยการันตีว่าจะดูแลจีนอย่างดี ซึ่งเป็นการเสมือนขอสวามิภักดิ์จีน และจีนก็ตอบรับ เพราะจีนสามารถเข้าถึงแหล่งแร่ Rare Earth และทำให้อัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในเส้นทางการค้าของจีนได้ รวมถึงสามารถดึงอัฟกานิสถานมารวมกับปากีสถานเพื่อปิดล้อมอินเดียได้อีกด้วย

  1. สถานการณ์ตอนนี้คือตาลีบันกำลังได้เปรียบ อเมริกาไม่ได้ให้ความสำคัญกับอัฟกานิสถานแล้วเพราะไปสนใจสมรภูมิอื่น ตาลีบันไปสวามิภักดิ์จีน แต่แม้ว่าตาลีบันจะชนะก็อาจจะไม่ได้จบการรบ เพราะอัฟกานิสถานก็ยังมีขุนศึกจำนวนมากที่ยังน่าจะยังมีการรบพุ่งกันอยู่ แต่ต้องจับตาดูว่า จีนจะเข้าไปมีบทบาทในอัฟกานิสถานมากน้อยแค่ไหน และจะผิดพลาดจนเหมือนกับจักรวรรดิอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะโซเวียตและสหรัฐหรือไม่

ท่านที่สนใจอยากฟังการสนทนาแบบเต็ม สามารถตามไปฟังได้ที่

โพสนี้ในเพจของเรา

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.