ท่ามกลางชัยชนะของกลุ่มตาลีบันที่สามารถเอาชนะกองทัพอัฟกานิสถานได้อย่างรวดเร็วเกินคาด ส่งผลให้ชาติตะวันตกต้องปรับแผนอพยพอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการพาชาวอัฟกานิสถานที่เคยทำงานกับชาติตะวันตกออกจากประเทศ เนื่องจากเกรงว่าคนเหล่านี้จะตกเป็นเป้าสังหารของตาลีบันเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
สหรัฐอเมริกาซึ่งบุกอัฟกานิสถานเมื่อ 20 ปีก่อนนั้นมีพลเมืองอเมริกันและชาวอัฟกานิสถานที่ทำงานด้วยอยู่จำนวนมาก ซึ่งก่อนที่ตาลีบันจะบุกกรุงคาบูลสำเร็จ ได้อพยพชาวอัฟกานิสถานไปยังสหรัฐอเมริกาแล้วราว 2,000 คน แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สหรัฐอเมริกาต้องวางแผนการอพยพอย่างเร่งด่วน และปรับแผนใหม่ทั้งหมด เนื่องจากความผิดพลาดหนึ่งของสหรัฐคือการปิดฐานทัพอากาศก่อนจะอพยพคนออกได้ทัน ทำให้ต้องใช้พื้นที่ท่าอากาศยานกรุงคาบูลเป็นจุดอพยพ ซึ่งถือเป็นจุดสุดท้ายที่ยังถูกควบคุมโดยทหารสหรัฐอยู่

การเริ่มปฏิบัติการ
โดยสหรัฐได้เจรจากับการ์ตาร์ในการขอให้ประเทศการ์ตาร์เป็นจุดพักคอยสำหรับผู้อพยพที่อพยพออกมาจากอัฟกานิสถาน และเจรจากับแกนนำตาลีบันในการ์ตาร์ขอให้รับรองความปลอดภัยและห้ามยุ่งกับกองกำลงสหรัฐที่ดูแลพื้นที่ท่าอากาศยานคาบูลอยู่ รวมถึงเข้าควบคุมการจัดการจราจรทางอากาศของอัฟกานิสถานทั้งประเทศ และประกาศให้น่านฟ้าอัฟกานิสถานเป็นเขตปฏิบัติการทางทหารจนถึงอย่างน้อยวันที่ 18 สิงหาคม ซึ่งอย่างที่เราเห็นกันไปคือ มีขาวอัฟกานิสถานจำนวนมากเดินทางมาที่ท่าอากาศยานคาบูล และส่วนใหญ่ลงไปยังพื้นที่ปฏิบัติการบินจนทำให้เกิดความวุ่นวายและความไม่ปลอดภัยขึ้น ซึ่งทหารสหรัฐต้องใช้เวลาอยู่นานกว่าจะจัดระเบียบได้
จากจำนวนทหารสหรัฐ 1 พันคนที่ยังเหลืออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ออกคำสั่งฉุกเฉินให้กองพลส่งทางอากาศที่ 82 และหน่วยนาวิกโยธินเคลื่อนกำลังเข้าไปยังอัฟกานิสถานในทันทีเพื่อดูแลการอพยพ โดยภายในสองวันทำให้จำนวนทหารสหรัฐในอัฟกานิสถานเพิ่มขึ้นเป็น 7 พันนาย และสหรัฐกำลังเพิ่มขีดความสามารถในการอพยพให้ได้สูงสุดวันละ 5 พันคน หรือเทียบกับเที่ยวบิน C-17 จำนวนราว 10 เที่ยวบิน
TAF รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ flightradar24.com ซึ่งรับข้อมูลจากระบบติดตามอากาศยานอัตโนมัติ ADS-B ที่ติดตั้งอยู่บนอากาศยานทุกลำว่ามีอากาศยานใดบ้างที่ปฏิบัติภารกิจ และวิเคราะห์ภารกิจของเครื่องบินแต่ละแบบของกองทัพสหรัฐว่าทำอะไรบ้าง

สหรัฐใช้อากาศยานใดในภารกิจอพยพคนออกจากอัฟกานิสถาน
กองทัพสหรัฐมีขีดความสามารถในการเคลื่อนย้ายกำลังทางยุทธศาสตร์ได้อย่างน้อย 1 กองพลทั่วโลกภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งภารกิจนี้ทำให้มีทั้ง C-17 และ C-5 เดินทางมายังอัฟกานิสถานเพื่อนำส่งกำลังพลเพิ่มเติมอีก 6 พันนายพร้อมยุทโธปกรณ์ได้อย่างรวดเร็ว
เครื่องบินหลักที่ทำหน้าที่ลงจอดและอพยพคนคือเครื่องบินลำเลียงแบบ C-17 ซึ่งปฏิบัติการจากฐานทัพอากาศสหรัฐโดยรอบ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากฐานทัพอากาศ Al Udeid ในการ์ตาร์ โดยในระหว่างทางจะมีเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศแบบ KC-135 และ KC-10 เคยวนรอสำหรับเติมเชื้อเพลิง เนื่องจากสนามบินปลายทางอาจจะไม่มีขีดความสามารถในการเติมเชื้อเพลิงได้ในตอนนี้
การบินเข้าสู่อัฟกานิสถานจากการ์ตาร์นั้นจะบินสู่อ่าวเปอร์เซียร์ ตัดผ่านประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออกสู่ประเทศโอมาน เลี้ยวซ้ายเข้าไปในปากีสถานและเข้าสู่ทางใต้ของอัฟกานิสถานก่อนจะหักเลี้ยวขึ้นไปยังกรุงคาบูลต่อไป ขากลับจะบินแบบเดียวกัน ซึ่งสามารถขอรับการเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศได้จาก KC-135 และ KC-10 ที่จะบินอยู่ในบริเวณอ่าวโอมานตลอดเวลา

การรวบรวมข่าวกรองและการจัดการเที่ยวบิน
เนื่องจากกองทัพสหรัฐเข้าควบคุมการจัดการจราจรทางอากาศของอัฟกานิสถาน แต่คาดว่าจะใช้งานระบบเรดาร์ภาคพื้นดินได้เพียงในท่าอากาศยานคาบูล ทำให้เราคาดว่าน่าจะมีอากาศยานควบคุมและแจ้งเตือนแบบ E-2 บินเหนือน่านฟ้าอัฟกานิสถาน แม้จะไม่ปรากฎข้อมูลใน ADS-B ก็ตาม
สำหรับการติดต่อสื่อสารและการควบคุมและสั่งการปฏิบัติการภาคพื้นดินในการดูแลรักษาความเรียบร้อยของการอพยพ ซึ่งต้องใช้การประสานงานกับหน่วยภาคพื้นดิน จึงมีอากาศยานแบบ E-11A ทำหน้าที่เป็น Battlefield Airborne Communications Node ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อทั้งเสียงและข้อมูลจากทางภาคพื้นดินและภาคอากาศเข้าด้วยกัน
นอกจากนั้นกองทัพสหรัฐยังมีเครื่องบินข่าวกรองทางสัญญาณ RC-135W Rivet Joint บินอยู่เหนือกรุงคาบูล ซึ่งตัวอากาศยานนั้นมีขีดความสามารถในการตรวจจับ ระบุตัว และระบุตำแหน่งของสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้ในการดักรับข้อมูลข่าวกรองเหนือกรุงคาบูล และสามารถส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยข่าวกรองหรือกองกำลังของสหรัฐในพื้นที่ได้ เนื่องจากกองกำลังสหรัฐต้องดูแลความปลอดภัยโดยรอบของท่าอากาศยานคาบูล

การควบคุมการปฏิบัติการ
โดยรวมแล้ว คาดว่าปฏิบัติการทางอากาศในลักษณะนี้จะยังคงอยู่ แต่ยังไม่พบอากาศยานใดที่มีขีดความสามารถในการโจมตีอยู่ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งตามข้อมูลแล้วในบริเวณใกล้เคียงนั้นมีกองเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Ronald Reagan อยู่ในแถบอ่าวเอเดนซึ่งเป็นจุดที่ใกล้ที่สุด แต่คาดว่าน่าจะไม่มีเหตุการณ์ใดที่ทำให้ต้องมีการใช้กำลังทางอากาศ
แต่ในห้วงอากาศ ปรากฎอากาศยานแบบ AC-130J และ AC-130W ซึ่งเป็นเครื่องบินลำเลียงที่ติดปืนโจมตีขนาดหนักสำหรับโจมตีภาคพื้นดินบินวนอยู่เป็นบางครั้ง คาดว่าจะเพื่อรับมือในกรณีที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งขั้นรุนแรงจนต้องเรียกการสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด
คาดว่าปฏิบัติการทางอากาศทั้งหมดถูกควบคุมจากศูนย์ปฏิบัติการทางอากาศและอวกาศของสหรัฐในฐานทัพอากาศ Al Udeid ในการ์ตาร์ซึ่งโดยปกติแล้วจะรับหน้าที่ควบคุมปฏิบัติการทางอากาศในแถบตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในอิรัก ซีเรีย และอัฟกานิสถาน