อภิปรายไม่ไว้วางใจ: ส.ส. น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ พรรคเพื่อไทย เรื่องการยกเลิก Purchase and Development ของกองทัพอากาศ

TAF สรุปการอภิปรายไม่ไว้วางใจบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ โดยเฉพาะการจัดหายุทโธปกรณ์ที่น่าสนใจของ ส.ส.คนต่าง ๆ และการชี้แจงของผู้เกี่ยวข้อง โดยในตอนนี้เป็นการอภิปรายของ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ จาก พรรคเพื่อไทย ครับ


กองทัพอากาศ เรื่องการยกเลิก Purchase and Development และการไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย

  • ที่ผ่านมา #กระทรวงกลาโหม ชอบซื้ออาวุธแบบซื้อมาขายไป คนไทยและอุตสาหกรรมไทยไม่ได้อะไร เช่น กองทัพเรือซื้อ MALE UAV 3 ระบบ จากจีน กองทัพเรือได้ของ ประเทศจีนได้เงิน แล้วประเทศไทยได้อะไร
  • ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการถูกจำกัดความลับ เช่น F-16 ที่ไทยไม่ใช่สมาชิก NATO แต่เมื่อมีการฝึกร่วมเช่นการฝึกระหว่างสหรัฐ สิงคโปร์ และไทย ในตอนบรรยายสรุปหลังบิน ตอนแรกก็ให้ไทยบรรยายสรุปร่วมกัน แต่พอเข้าถึงชั้นความลับหรือสิทธิ์การใช้งานที่ไทยไม่ได้รับอนุญาต เขาก็เชิญนักบินไทยออกจากห้อง แม้ว่าจะฝึกในประเทศไทย ตรงนี้คือ Pain Point ที่อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศและกองทัพอากาศทราบและพยายามแก้ไขมาโดยตลอด
  • ที่ผ่านมา กองทัพอากาศจึงพยายามหาเส้นทางใหม่ในการจัดหายุทโธปกรณ์เพื่อปลดแอก โดยมีข้อแม้ว่า ถ้ากองทัพอากาศจะจัดซื้ออะไร จะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศไทยเพื่อให้สามารถต่อยอดเทคโนโลยีด้วยฝีมือคนไทยในอนาคต
  • สิ่งที่ต้องชมเชยก็คือ เมื่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศ ก็มีนโยบายในการสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วยอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึง S-Curve 11 คืออุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ผู้บัญชาการกองทัพต่าง ๆ ก็ต้องสนองนโยบายด้วยความเต็มใจ โดยเฉพาะกองทัพอากาศที่ริเริ่มโครงการแบบนี้มาก่อน พอรัฐบาลมีนโยบายเช่นนี้ ก็สามารถต่อยอดความสำเร็จได้ดีกว่าคนอื่น เพื่อให้บริษัทต่างชาติมาจ้างบริษัทไทยมาทำงานด้วย ที่ผ่านมาไม่ว่าใครเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศก็จะทำเช่นนี้ เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการเข้าถึงเทคโนโลยี และบริษัทอาวุธต่างชาติก็จะต้องมาใช้ Local Content หรือวัสดุในประเทศ ซึ่งเข้าหลักไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ เงินทองที่จะต้องให้ต่างชาติก็จะหมุนเวียนในไทย ทำให้ข้อกล่าวหาว่าเปลี่ยนเงินเบาบางลงเพราะเงินบางส่วนอยู่ในประเทศ
  • การจัดซื้อในประเทศไทยคือการจัดซื้อโดยคำนึงถึงโอกาส ของเหมือนกัน มีอะไหล่ มีการซ่อมบำรุง ฝึกอบรมเหมือนกัน แต่จัดซื้อจากต่างประเทศคือการจัดซื้อโดยละทิ้งโอกาส โดยเฉพาะการประเคนเงินที่หายากไปจ่ายให้กับต่างประเทศทั้งสิ้น และทิ้งโอกาสในการพัฒนาและเป็นเจ้าของเทคโนโลยี
  • ที่ผ่านมากองทัพอากาศมีการจัดทำสมุดปกขาวเพื่อบอกประชาชนว่าสิบปีข้างหน้ากองทัพอากาศจะมีทิศทางใด เป็นเอกสารที่ดีมาก มีการกำหนดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การใช้ Local Content ซึ่งสอดคล้องกับ S-Curve 11 ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ และได้รับคำชมจากรัฐสภาและคณะกรรมาธิการงบประมาณว่าเป็นตัวอย่างให้กับหน่วยงานราชการอื่นในการปฏิบัติราชการ และอนุมัติงบประมาณให้
  • กองทัพอากาศไมได้จัดซื้ออาวุธมั่ว ๆ แต่ระบบอาวุธต้องเชื่อมโยงข้อมูลและพูดภาษาเดียวกัน คือต้องมี Link ที่เป็นของประเทศไทย
  • แต่ผู้บัญชาการทหารอากาศท่านปัจจุบันไปลงนามให้ปรับปรุง TOR ที่ถูกพิจารณาและอนุมัติมาแล้วผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ซึ่งผ่านการพิจารณาของรัฐบาลและรัฐสภา งบประมาณนั้นไม่ใช่สิทธิ์ขาดของกองทัพอากาศที่จะทำอะไรได้ตามอำเภอใจ
  • กองทัพอากาศมีโครงการจัดหา 9 โครงการในปี 2564 กรรมาธิการงบประมาณก็เชื่อตามที่กองทัพอากาศบอกว่าจะมีการจ้างงานในประเทศ จึงไม่ได้ตัดโครงการออก แต่เมื่อได้เงินไปแล้วกลับไปออกคำสั่งรื้อโครงการแทบทุกโครงการโดยเอาข้อบังคับที่ต้องจ้างคนไทยออกไป แต่จะเน้นอภิปรายที่สามโครงการคือโครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องกันทางอากาศระยะที่ 7 โครงการพัฒนาการป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ และโครงการจัดหาทดแทนวิทยุพื้นดิน-อากาศ
  • การรื้อโครงการของ #ผู้บัญชาการทหารอากาศ นั้นสามารถทำได้ถ้าเป็นไปตามระเบียบและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ทำได้อย่างจำกัด ซึ่งบุคลากรกองทัพอากาศก็ปรับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ผู้บัญชาการทหารอากาศตีกลับให้ไปแก้ไขใหม่ ซึ่งคณะกรรมการปรับปรุง TOR ของกองทัพอากาศมาให้ข้อมูลกับกรรมาธิการงบประมาณว่า ฝ่ายเสธ.ของผู้บัญชาการทหารอากาศเข้ามาสั่งการให้แก้มากขึ้น ซึ่งฝ่ายเสธ.คนนี้เป็นทหารอากาศนอกหน่วยแต่มาช่วยราชการที่กองทัพอากาศ ใครส่งมาก็ไม่รู้ แต่มาสั่งการปรับปรุง TOR ซึ่งขัดกับกฏหมายชัดเจน
  • กรมยุทธการทหารอากาศได้ทำหนังสือไปถามสำนักงานพระธรรมนูญทหารอากาศ ซึ่งได้ท้วงติงว่า การเปลี่ยนแปลง TOR นั้น ตรวจสอบแล้วว่า ในขั้นตอนการเตรียมการจัดหา แม้ยังไม่ได้เกิดสิทธิ์กับบุคคลภายนอก แต่การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์เดิมอันเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งผ่านการพิจารณาของสำนักงบประมาณ กรรมาธิการงบประมาณที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น กองทัพอากาศยังไม่เคยทำมาก่อน จึงควรเสนอให้คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐเพื่อพิจารณาแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป
  • แต่ฝ่ายเสธ.ผู้บัญชาการทหารอากาศบอกว่า ไม่จำเป็นต้องไปสอบถามตามคำแนะนำของสำนักงานพระธรรมนูญทหารอากาศ เพราะตนเองโทรไปสอบถามแล้วยืนยันว่าทำได้ และให้เร่งรัดเสนอหนังสือแก้ไข TOR ให้ผู้บัญชาการทหารอากาศโดยเร็ว หากล่าช้าจะมีความผิด ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องยอมฝ่ายเสธ.ของผู้บัญชาการทหารอากาศ แต่ก็เขียนในรายงานว่าผู้บัญชาการทหารอากาศสั่งให้เขาทำเขาไม่ได้ตัดสินใจทำเอง ซึ่งผู้บัญชาการทหารอากาศก็เซ็นอย่างรวดเร็วและอนุมัติโครงการในเวลาสองวันเท่านั้น
  • การเปลี่ยนแปลง TOR มีการตัดหลักการ Purchase and Development ทั้งบางส่วนหรือทั้งหมด และตัดโอกาสที่กองทัพอากาศจะพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีที่กองทัพอากาศจะพัฒนาเอง และไปเปิดประตูให้ต่างชาติเข้ามายึดอำนาจในส่วนนี้ต่อไป เหมือนเป็นการสมคบคิดให้ต่างชาติเข้ามาถือไพ่เหนือกว่ากองทัพ
  • กระทรวงกลาโหมก็นิ่งเฉยจนกองทัพอากาศเปิดซองได้ผู้ชนะแล้ว 1 โครงการคือโครงการจัดซื้อวิทยุพื้นดิน-อากาศที่ตัดหลักการ Purchase and Development ออกทั้งหมด คือแม้จะใช้งบน้อยลง โดยผู้ชนะเสนอราคา 400 ล้านบาท แต่เป็นการลดสเปคไม่ได้ลดราคากลาง เพราะมีการตัด #SECOS ออก ซึ่ง SECOS มีราคากลางประมาณ 500 ล้านบาท และทั้ง ๆ ที่ขายซองไป 900 ล้านด้วยซ้ำ ซึ่งไม่ใช่การประหยัดงบ แต่เป็นการลดสเปคที่ได้ของคุณภาพต่ำลง ส่งผลต่อการเตรียมพร้อม ทำให้บุคลากรกองทัพรับความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น แต่ก็ไม่ยอมลดงบประมาณที่ยังเป็นภาระต่อภาษีประชาชน
  • ขอดักไว้ก่อนว่ารัฐมนตรีจะมาชี้แจงว่าการจัดหาแบบ Purchase and Development จะเอื้อให้เอกชนบางรายและอาจเป็นช่องทางให้มีการทุจริต จริง ๆ แล้วตรงข้ามด้วยซ้ำ เพราะการซื้อกับบริษัทไทยภายในประเทศนั้นมีมาตรการและกลไกในการป้องกันการล็อคสเปค และการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของคนไทยจริง ๆ เป็นไปตามแผนแม่บทย่อยอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศตามยุทธศาสตร์ 20 ปี ระบุไว้ชัดว่าต้องมีมาตรฐานสนับสนุนที่เอื้อให้มีการลงทุนและสร้างฐานการผลิตในประเทศไทย แต่เมื่อทำแบบนี้ ต้องถามกลับว่ากระทรวงกลาโหมจะยังดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติที่ตนเองเขียนขึ้นมาหรือไม่
  • การตรวจสอบ #อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ของไทยเพื่อป้องกันการทุจริตและการผูกขาดนั้นจริง ๆ ง่ายกว่าด้วยซ้ำ เพราะสามารถตรวจสอบงบการเงินได้จากกระทรวงพาณิชย์ หรือจะเดินทางไปดูสถานประกอบการก็ทำได้ง่ายเพราะอยู่ในประเทศไทย กองทัพอากาศสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ แก้ไข หรือปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามที่ต้องการ และมีคณะกรรมการป้องกันการทุจริตมากมายที่ให้เข้ามาสังเกตุการณ์ได้ แต่เหตุใดจึงไม่ใช้กลไกที่มีอยู่ แต่กลับมาอ้างว่าจะมีการล็อคสเปค ข้อเสียในการซื้อจากอุตสาหกรรมของไทยนั้น ถ้าจะมีก็คือ ไม่ได้เดินทางไปฝึกยังต่างประเทศเท่านั้น
  • ถ้าทำกันแบบนี้ ทั้งปีทั้งชาติก็จะต้องพึ่งพาการจัดซื้อจากต่างประเทศไปตลอด เหมือนเป็นการทุจริตโดยขัดขาไม่ให้เกิดสินค้าที่ผลิตในประเทศ ยังเป็นการร่วมมือจัดซื้อจัดจ้างสินค้าจากต่างประเทศที่ไม่มีมาตรการและกลไกมาตรวจสอบว่าโปร่งใสหรือมีค่านายหน้าหรือไม่ แบบที่กระทรวงกลาโหมชอบมาบังคับให้เหล่าทัพซื้อไปทิ้ง เช่นเรือเหาะที่บินไม่ขึ้น เครื่องตรวจระเบิดที่ใช้งานไม่ได้ ปืนที่ยิงแล้วลำกล้องแตก หรือรถเกราะที่ไปรบไม่ได้ เป็นต้น

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.