เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวว่ากองทัพเรือได้เริ่มโครงการจัดหายานเกราะล้อยาง 8×8 จำนวน 2 คัน ซึ่งมีบริษัทที่สืบราคากลางเป็นบริษัทในไทย และเมื่อพิจารณาจาก TOR แล้วก็พบว่าบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด น่าจะเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกจากข้อกำหนดที่รถ R600 น่าจะมีคุณสมบัติตรงกับ TOR มากที่สุด
วันนี้เราจึงนำบทความเก่าที่ TAF เคยไปสัมภาษณ์วิศวกรผู้ออกแบบ R600 ที่งาน Defense and Security มาบอกเล่ากันอีกครั้งเพื่อรับทราบถึงแนวคิดในการออกแบบ R600 ซึ่งกำลังจะเป็นยานเกราะ 8×8 ของคนไทยแบบแรกที่กองทัพไทยจัดหาเข้าประจำการครับ
หัวหน้าแผนกวิจัยและพัฒนาของ Panus กล่าวกับ ThaiArmedForce.com ว่า ทางบริษัทได้มีนโยบายที่จะเข้าร่วมงาน Defense and Security 2019 เป็นครั้งแรก จึงพยายามเร่งมือพัฒนาต้นแบบยานเกราะทั้งสองจนเสร็จทันเปิดตัวในงาน
“เรามีประสบการณ์จากการทำยานเกราะ Phantom ซึ่งเป็นรถ MRAP และกองทัพเรือจัดซื้อไปใช้งานในสามจังหวัดชายแดนใต้แล้วจำนวนสองคัน จึงเป็นแรงบันดาลให้เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนายานเกราะล้อยางเพื่อเข้าสู่ตลาด โดยสาเหตุที่ทำให้มีขนาดใหญ่ก็มาจากความต้องการที่จะทำให้รถ R600 อยู่ในคลาสที่ยังไม่มีคู่แข่งในตลาด และแปลงมาจากความต้องการของนาวิกโยธิน ซึ่งสุดท้ายแล้วเราต้องการให้มันสามารถทดแทน AAV ได้ในระยะยาว” หัวหน้าแผนกวิจัยและพัฒนาของ Panus กล่าว
R600 สามารถทำการเลี้ยวได้ทั้ง 8 ล้อ ใช้ช่วงกล่าวแบบ Hydropneumatic สามารถยุบตัวขึ้นลงได้ และติดตั้ง Waterjet ซึ่งทำความเร็วในน้ำได้ดีเทียบเท่ารถ AAV โดย Waterjet นั้นบริษัทต่างประเทศเป็นผู้ให้คำแนะนำในการเลือก โดยทาง Panus ได้ส่งสเปกของรถไปเพื่อคำนวณขนาดของระบบ Waterjet ที่เหมาะสม ส่วนถังน้ำมันนั้นเป็นแบบอุดรอยรั่วได้เองเมื่อถูกยิง โครงรถนั้นใช้การสั่งแผ่นเหล็กมาแล้วขึ้นเป็นรูปร่างชิ้นส่วนตามที่ต้องการ เช่นเดียวกับแผ่นเกราะเสริมที่สั่งเข้ามาแล้วตัดเป็นชิ้นตามแบบที่ทำไว้
“สาเหตุที่รถมีขนาดใหญ่เพราะต้องการการทรงตัวในน้ำได้ดี รถใหญ่ขึ้น ปริมาตรมากขึ้น ลอยตัวได้ดีขึ้น โจทย์นี้มาก่อนอย่างอื่น พอคันใหญ่ก็เลยจุคนได้เยอะตามเป็นผลพลอยได้ และทำเป็นล้อยางเนื่องจากล้อยางทำความเร็วได้เร็วกว่า ประหยัดกว่า แม้ว่าระบบล้อยางจะกินพื้นที่ในตัวรถมากกว่าแบบสายพานก็ตาม จึงทำให้ยังเป็นข้อจำกัดที่ใต้ท้องรถยังไม่มีรูปทรงวี แต่ก็สามารถติดเสริมได้ในอนาคต”
หัวหน้าแผนกวิจัยและพัฒนาของ Panus เพิ่มเติมว่าเมื่อเทียบกับ AAV แล้ว ตัวรถ AAV มีความสูงกว่า แต่ R600 จะคล่องตัวกว่าและสึกหรอน้อยกว่าด้วยความที่เป็นรถล้อยางเมื่อเทียบกับรถสายพาน และได้ออกแบบแผ่นกันคลื่นด้านหน้าเป็นแบบเลื่อนขึ้นลง แทนที่จะเป็นแบบพับได้เหมือนรถทั่วไป ซึ่งทำให้มีพื้นที่สำหรับแผ่นกันคลื่นมากกว่า การทรงตัวในน้ำจึงดีกว่า
“ในส่วนของกระจกหน้านั้น เราเห็นว่ายานเกราะในปัจจุบันมีทัศนวิสัยที่ค่อนข้างจำกัด เราจึงต้องการให้ยานเกราะของเรามีทัศนวิสัยดีที่สุด ซึ่งตัวแผ่นกระจกนั้นจะกันกระสุนได้ในระดับเดียวกับตัวรถ คือ กันกระสุนขนาด 5.56 มม. ได้ และถ้าตัวรถมีการเพิ่มเกราะเพื่อกันกระสุนขนาดใหญ่ขึ้นเช่น 7.62 มม. เราก็จะติดตั้งกระจกที่มีระดับการป้องกันในระดับเดียวกับตัวรถ หรือลูกค้าสามารถเลือกเปลี่ยนกระจกให้เป็นแบบเล็กเหมือนยานเกราะทั่วไปก็ได้เช่นกัน”
ตัวรถจะถูกออกแบบโดยเน้นที่แคร่รถเป็นสำคัญ ทำให้สามารถเปลี่ยนโมดูลด้านหลังได้ตามภารกิจที่ต้องการ โดยใน Defense and Security 2019 นี้ ทาง Panus ได้นำโมดูลรุ่นบังคับการมาจัดแสดง ซึ่งมีระบบกล้องตรวจการณ์ ระบบสื่อสาร และระบบจัดการสนามรบ (Battlefield Management System) ของบริษัท R V Connex ซึ่งเป็นพันธมิตรของ Panus ติดตั้งอยู่ด้วย นอกจากนั้น ยังสามารถติดตั้งโมดูลรุ่นพยาบาล หรือโมดูลสำหรับปืน 30 มม. หรือ 105 มม. หรือแม้แต่จรวดพื้นสู่พื้นหรือพื้นสู่อากาศต่อสู้อากาศยานได้อีกด้วย
“แต่ถ้าระบบอาวุธที่ติดนั้นมีขนาดใหญ่ การปฏิบัติการในน้ำก็อาจจะมีข้อจำกัด ไม่สามารถใช้ในทะเลได้ แต่ยังสามารถข้ามลำน้ำได้ ซึ่งต้องแล้วแต่ลูกค้าว่ามีความสนใจในการใช้งานในลักษณะใด เพราะถ้าติดป้อมปืนขนาดใหญ่ การลงน้ำก็ไม่เหมาะสม ดังนั้นในรุ่นสะเทินน้ำสะเทินบกสำหรับนาวิกโยธินจะเน้นการติดตั้งป้อมปืนแบบรีโมทมากกว่า เพื่อให้ตัวรถมีน้ำหนักไม่มากเกินไป แต่โดยรวมแล้ว เราออกแบบมาตามความต้องการตั้งต้นของนาวิกโยธินเป็นสำคัญ เราได้รับความร่วมมือจากหน่วยนาวิกโยธินในการปรับการออกแบบจากแบบขั้นต้น ก่อนจะลงมือสร้างเป็นรถคันต้นแบบออกมา แต่ทั้งนี้ก็สามารถปรับให้ตอบสนองต่อความต้องการของกองทัพบกได้เช่นกัน”
หัวหน้าแผนกวิจัยและพัฒนาของ Panus เสริมว่า “เราคิดว่า R600 เป็นยานเกราะในคลาสใหม่ ซึ่งจะแตกต่างจากยานเกราะ 8×8 หรือ MRAP อื่นๆ จึงทำให้ไม่ใช่คู่แข่งโดยตรงของ First Win ของชัยเสรีหรือ AAPC ของ DTI เพราะ R600 มีขนาดใหญ่กว่าค่อนข้างมาก”
ทำให้ประเทศไทยมียานเกราะหลายโครงการที่ตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกัน คือ R600 สามารถใช้งานร่วมกับหรือทดแทน AAV ได้ในการยกพลขึ้นบกระลอกแรก AAPC สามารถใช้งานสำหรับการยกพลขึ้นบกระลอกสอง หรือ First Win ซึ่งเป็น MRAP 4×4 ที่คล่องตัว เหมาะกับการใช้งานในเมืองหรือการต่อต้านการก่อการร้ายมากกว่ารถ 8×8 ที่มีขนาดใหญ่และสิ้นเปลืองกว่า กองทัพไทยจึงสามารถที่จะเลือกสนับสนุนบริษัทของคนไทยได้ในหลายโครงการถ้าต้องการ
ซึ่งก่อนหน้านี้พนัสได้นำ R600 เข้ารับการรับรองมาตรฐานยุทโธปกรณ์และได้ผ่านการทดสอบแล้ว ซึ่งทำให้ถือว่า R600 มีคุณสมบัติและมีมาตรฐานเหมาะสมในการใช้งานในกองทัพไทยได้ ซึ่งการจัดหายานเกราะ R600 ของกองทัพเรือในครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและควรสนับสนุน เพราะแม้ประเทศจะมีวิกฤตเศรษฐกิจ แต่การจัดหายานเกระาหรืออาวุธที่ผลิตในประเทศไทย ก็จะทำให้เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการใช้ และเป็นการรักษาหรือสร้างตำแหน่งงาน รวมถึงเงินส่วนหนึ่งก็จะหมุนเวียนอยู่ในประเทศไทย ต่างจากการจัดหาอาวุธจากต่างประเทศซึ่งไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย และในภาวะวิกฤตที่รัฐต้องกู้เงินมาจำนวนมากแบบนี้ก็ไม่ควรจะดำเนินการจัดหา
ดังนั้น TAF ก็หวังว่าโครงการนี้จะผ่านไปได้ด้วยดี และขอเอาใจช่วยผู้ประกอบการไทยทุกคนครับ