สำหรับกองทัพอากาศในปีงบประมาณที่กำลังจะผ่านไปนั้น ต้องบอกว่าเป็นปีที่เงียบเชียบ ทั้งในแง่ของโครงการจัดซื้อจัดหาที่ไม่ได้มีโครงการขนาดใหญ่มากนัก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการเดิม รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ก็ไม่ได้มีมากนอกจากการสนับสนุนการแก้ปัญหาโควิดเพราะว่ายังติดภาวะนั่นแหละ
แต่เมื่อมองจากภายนอกเข้ามายังกองทัพอากาศแล้ว ต้องบอกว่าค่อนข้างร้อน แม้จะไม่ได้ร้อนในระดับเป็น Talk of the Town แบบกองทัพเรือที่อกหักกับการจัดหาเรือดำน้ำอีกครั้ง แต่ก็ต้องบอกว่า เป็นเรื่องที่นาน ๆ ทีจะเกิดขึ้นกับกองทัพอากาศ
เพราะนอกจากบัตรสนเท่ห์ที่ออกสื่อหลายฉบับ การพดคุยในแวดวงภาครัฐและเอกชน ไปจนถึงแวดวงการเมือง ที่ต้องบอกว่ามีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างสอบถามข้อมูลกันค่อนข้างมาก ไล่ไปจนถึงถูกนำไปอภิปรายงบประมาณ หรือแม้แต่อภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากประเด็นเดียวก็คือ การยกเลิกนโยบาย Purchase and Development ของ ผู้บัญชาการทหารอากาศ คนปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนใหม่ในสิ้นเดือนนี้แล้ว
นโยบาย Purchase and Development คือหลักการของกองทัพอากาศที่ต้องการจัดหาอาวุธจากต่างประเทศที่มาพร้อมกับโอกาสในกาารพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเองในประเทศ ทั้งในส่วนของการพัฒนาโดยกองทัพอากาศเอง และการพัฒนาโดยเอกชนในประเทศ เพื่อส่งเสริม อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ของไทย สร้างงานและสร้างเศรษฐกิจด้านการป้องกันประเทศ โดยเป็นหลักการที่กองทัพอากาศยึดถือมาเป็นเวลากว่าสิบปี (ในอดีตอาจจะใช้ชื่ออื่น แต่ปัจจุบันใช้ชื่อนี้) ตัวอย่างโครงการที่อ้างอิงหลักการนี้ก็เช่น โครงการจัดหาเครื่องบินฝึก/โจมตี T-6/AT-6 ของกองทัพอากาศ ที่ให้เอกชนในประเทศผลิตชิ้นส่วน 40% และทำการประกอบขั้นสุดท้ายในประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อติดตั้ง Link-TH ที่เป็นระบบ Datalink ของไทยเข้าไปบนเครื่องบิน รวมถึงอาวุธอื่น ๆ ที่กองทัพอากาศเลือกเองด้วย นอกจากนั้นก็มีโครงการที่ดำเนินการอยู่คือโครงการปรับปรุงเครื่องบินโจมตี Alpha Jet และเครื่องบินขับไล่ F-5TH อีกด้วย
แต่ปัญหาก็คือ มีข่าวว่าผู้บัญชาการทหารอากาศยกเลิกแนวคิดนี้ไปแล้ว โดยตอนมารับตำแหน่งก็มีการรื้อใหญ่หลายโครงการ โดยเฉพาะ 3 โครงการหลักที่มีเอกสารออกมาให้เห็นกันจะ ๆ ว่ามีการตัดทอนเงื่อนไขที่ระบบต่าง ๆ ต้องเชื่อมโยงกับระบบของกองทัพอากาศได้ หรือต้องให้เอกชนในประเทศเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งโฆษกกองทัพอากาศชี้แจงว่า การรื้อทั้งหมดทำเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของกองทัพอากาศ และยืนยันว่าทำถูกต้องตามกระบวนการ และจะไม่ชี้แจงอะไรอีก แต่นั้นก็เท่ากับยอมรับว่า มีการรื้อใหญ่และยกเลิก Purchase and Development จริง
ฝ่ายสนับสนุน Purchase and Development มองว่า นโยบายนี้เป็นยุทธศาสตร์ของกองทัพอากาศที่ดำเนินมาเป็นเวลากว่าสิบปี เพื่อต้องการให้ไทยปลดแอกจากการถูกผู้ผลิตอาวุธต่างชาติควบคุม ด้วยการบังคับให้ต่างชาติต้องหาเอกชนไทยมาร่วมในการรับเทคโนโลยีและรับงานจากกองทัพอากาศ เพื่อให้พึ่งพาตนเองได้ และเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ โดยผลงานที่เห็นได้ชัดคือโครงการปรับปรุงอากาศยานต่าง ๆ ที่ประเทศไทยทำได้ในระดับที่ไม่เคยทำได้มาก่อน คือรื้อเหลือแต่โครงและปรับปรุงให้ทันสมัยจนกลับมาบินได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน Au-23A เครื่องบิน Alpha Jet เครื่องบิน F-5 หรือระบบ Datalink แบบ Link-TH ที่เป็นระบบที่คนไทยควบคุม 100% ไม่ต้องขออนุญาตสวีเดนหรือสหรัฐอเมริกาแบบ Gripen TDL หรือ Link-16 ตามลำดับ
ส่วนฝ่ายคัดค้าน Purchase and Development ซึ่งออกบัตรสนเท่ห์มาชี้แจงเหมือนกัน ก็บอกว่านโยบายนี้ทำให้เอกชนไทยผูกขาด ไม่เกิดการแข่งขัน และให้กองทัพอากาศรับเทคโนโลยีแทนที่จะเป็นเอกชน เพราะกองทัพอากาศได้แค่สิทธิ์การใช้งานเทคโนโลยีแต่ได้เป็นเจ้าของ พร้อมทั้งบอกว่า Link-TH ที่ฝ่ายสนับสนุน Purchase and Development ยกมานั้นจริง ๆ แล้วไม่มีอยู่จริง
เอาเป็นว่าเราเรียบเรียงดราม่านี้มาแล้ว ตามไปอ่านกันได้ที่
“สรุปดราม่ากองทัพอากาศ ยกเลิก P&D เอกชนผูกขาดเจ้าเดียว”
TAF คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของมุมมอง แต่ถ้าจะให้มองมุมหนึ่งก็คือ ประเทศไทยตอนนี้ถูกผูกคอด้วย ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ร่างสมัยรัฐบาลทหารออกมาเป็นพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ 2560 ซึ่งกำหนดให้ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ต้องดำเนินการตามนี้ ห้ามคิดนอกกรอบ
ยุทธศาสตร์ชาตินี้ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 13 ตุลาคม 2561 ซึ่งในยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน กำหนดให้รัฐบาลมีหน้าที่ต้องสร้างอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศและพัฒนาสู่การส่งออกต่อไป
ขึ้นต้นด้วยคำว่า อุตสาหกรรม มันก็ชัดเจนว่าต้องมีภาคเอกชนเข้ามาเป็นตัวนำ หรืออย่างน้อยก็ต้องเข้ามาร่วมมือ เพราะหน่วยงานราชการที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ จะทำมาค้าขายหรือทำการผลิตในเชิงพาณิชย์ก็คงจะยาก และบางทีก็เป็นไปไม่ได้เพราะกฎหมายห้าม เนื่องจากจะถือเป็นการแข่งขันกับเอกชน
ปัญหาก็คือ แล้วกองทัพอากาศตัดเอกชนไทยออกทำไม?
ถ้ากองทัพอากาศบอกว่าอยากได้รับเทคโนโลยีเอง กองทัพอากาศก็แค่เขียน TOR ว่า ขอให้ทั้งกองทัพอากาศและภาคเอกชนไทยร่วมรับถ่ายทอดเทคโนโลยี และมีสิทธิ์ในการใช้เทคโนโลยีเสมอเหมือนกันก็ใช้ได้แล้ว แต่พอกองทัพอากาศเขียนว่าเอาเทคโนโลยีเก็บไว้เอง คำถามคือ กองทัพอากาศก็ไม่สามารถไปดำเนินการอะไรที่ทำให้เกิดอุตสาหกรรมได้ ไม่สามารถต่อยอดไปเป็นอุตสาหกรรมส่งออกได้แน่นอน และถึงทำได้ กองทัพอากาศก็ไม่ควรทำ เพราะกองทัพอากาศไม่ใช่หน่วยงานเชิงพาณิชย์ ด้วยกลไกหลาย ๆ อย่างไม่สามารถดำเนินการได้อย่างคล่องแคล่วแน่นอน
แค่คำถามง่าย ๆ คือ ถ้าต้องส่งออก กองทัพอากาศจะไปยื่นประมูลยังไง จะรับเงินยังไง จะออกใบเสนอราคายังไง จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วหรือยังก็ไม่รู้ แค่นี้ก็จบแล้ว เพราะทำไม่ได้ พอจะบอกว่าเดี๋ยวจะถ่ายทอดให้เอกชนเอง ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่ากองทัพอากาศจะทำอย่างที่พูด
และถ้ากองทัพหรือราชการไทยทำอุตสาหกรรมหรือวิจัยอะไรแล้วเจริญ แปลว่ามันต้องเจริญไปนานแล้ว อย่างน้อยก็ 40 – 50 ปี ตั้งแต่แต่ละกองทัพตั้งหน่วยวิจัยเหล่าทัพขึ้นมา หรือตั้งแต่กลาโหมตั้งกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมขึ้นมา แต่ผลงานที่ผ่านมา มันก็เห็นได้ชัดว่า แทบไม่มีผลงานการวิจัยใดสามารถเข้าประจำการได้ และเกือบทั้งหมดแทบไม่มีการผลิตในเชิงพาณิชย์ใด ๆ เลย
ก็ถ้ามันเห็นชัดว่าล้มเหลว และผู้บริหารกองทัพอากาศที่ผ่านมาหลายก็แก้ปัญหาตรงนี้ไปแล้ว นั่นคือการให้กองทัพอากาศและเอกชนร่วมมือกัน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นสิบปี และเป็นผลงานที่กองทัพอากาศเอาไปโฆษณาได้ว่าเราใช้งบประมาณคุ้มค่า และเราช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชาติ จนนักการเมืองไม่ตัดงบกองทัพอากาศ แม้แต่ฝ่ายค้านยังชมกลางสภา แต่มาวันนี้กลับบอกว่าไม่เอาแล้ว ย้อนกลับไปเหมือนอดีต หรือแม้แต่สมัยซื้อเครื่องบิน Gripen คือส่งคนไปเรียน รับเทคโนโลยีมาบางส่วน แล้วแทบไม่เกิดอะไรขึ้นเลย
อ้อ จริง ๆ จะบอกไม่เกิดเลยก็ไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีที่ได้จากสวีเดนก็นำมาพัฒนา Link-T ซึ่งยังมีเทคโนโลยีของสวีเดนอยู่ และกลายมาเป็น Link-TH ที่เป็นคนไทย 100% ทำให้ไทยเป็นไม่กี่ชาติในโลกที่มีเทคโนโลยีนี้ในมือ แต่พอดีว่ามีคน Link-TH ไม่มีจริง เลยไม่รู้จะว่ายังไง
ถ้ากองทัพอากาศกลัวเอกชนผูกขาด มีคำถามคือ ทำไมพอเป็นคนไทยกลัวผูกขาด แต่พอฝรั่งผูกขาดบ้างกลับไม่รู้สึกอะไร แล้วถ้ากลัวไม่มีการแข่งขัน เพราะกลัวว่าบริษัทชื่อย่อสี่พยางค์จะรับงานแค่บริษัทเดียว สิ่งที่จะทำได้แบบฉลาด ๆ ก็คือ คุณต้องปั้นบริษัทมาแข่ง หาบริษัทคนไทยคนอื่น ส่งเสริมให้มีศักยภาพแข่งขันได้ แล้วให้คนไทยมาแข่งกันเอง ใครดีกว่าก็เอางานไป แบบนี้จะยิ่งดีเข้าไปใหญ่ สร้างงานเพิ่ม สร้างอุตสาหกรรมเพิ่ม สร้างงานแข่งขันให้เกิดการพัฒนา ลดความเสี่ยง ฟังเหตุผลอะไรก็ดีทั้งนั้น แบบที่ประเทศไทยตอนนี้มีสองบริษัทแล้วที่ผลิตยานเกราะได้เองคือ ชัยเสรี และ พนัส แอสเซมบลี และอย่างที่กองทัพเรือทำคือ ให้สัญญากับทั้งสองบริษัท ชัยเสรีได้สัญญารถ First Win 4×4 พนัสได้สัญญารถ R600 8×8 แฮปปี้กันทุกฝ่าย ได้งานกันทุกคน คนไทยล้วน ๆ ด้วย เอาซะ TAF เกรงใจไม่อยากจะแซะกองทัพเรือเรื่องเรือดำน้ำเลย เพราะช็อตนี้ทำดีจริง
ย้ำว่าไม่ต้องเป็นเอกชนเจ้าดังก็ได้ถ้าไม่ชอบ แต่มันควรเป็นคนไทย เอกชนไทยเจ้าไหนก็ได้ที่มีศักยภาพจริงเข้ามาร่วม
และจริง ๆ ที่ TAF สงสัยก็คือ ทำไมพอเป็นคนไทยถึงรังเกียจกันจัง กลัวคนไทยจะหาผลประโยชน์ กลัวคนไทยจะรวย กลัวจะมีบริษัทคนไทยเติบโตขึ้นมา กลัวคนไทยจะมาหากินกับกองทัพ แต่กองทัพสามารถหอบเงินสดไปให้ฝรั่งเป็นหมื่น ๆ ล้าน ได้กลับมาแต่อาวุธโดยไม่เห็นจะรู้สึกอะไร
ทั้ง ๆ ที่ไม่ว่าสหรัฐอเมริกาหรือสวีเดนที่กองทัพอากาศไทยเป็นลูกค้าชั้นดี ก็ Bias สนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศด้วยกันทั้งนั้น แบบ Lockheed Martin, Boeing, หรือ Northrop Grumman ของสหรัฐก็วนเวียนหากินกับเพนตากอน หรือแบบ Saab ที่แทบจะผูกขาดรับสัมปทานสามเหล่าทัพของสวีเดนอยู่คนเดียว เพราะรัฐบาลและกองทัพสหรัฐและสวีเดนรู้ว่า การเลี้ยงบริษัทเหล่านั้นไว้ นอกจากจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศ ด้วยศักยภาพของเอกชน มันพัฒนาได้เร็วและไว และสร้างรายได้ให้กับประเทศได้จำนวนมาก เช่นผลิตเครื่องบิน F-16 หรือ Gripen มาขายประเทศโลกที่สามซื้อเอาไปใช้ในราคาฝูงละสี่หมื่นล้านบาท เป็นต้น
ทั้งที่กฎหมายไทย ทั้งที่พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ก็เปิดโอกาสให้หน่วยงานราชการเอื้อประโยชน์ให้คนไทยได้เต็มที่ไม่ผิดกฎหมาย ทั้งที่ประเทศไทยก็ไม่ได้เข้าร่วมกับอนุสัญญาบางฉบับขององค์การการค้าโลกที่ห้ามกำหนดให้มี Local Content และทั้งที่ประเทศไทยก็ไม่ได้เข้าร่วมกับเขตการค้าเสรีใดที่ห้ามเรียกร้อง Offset แบบ CPTPP
และทั้งที่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศคือ SCurve ที่ 11 ของรัฐบาล ลุงตู่ ที่ต้องการสร้างไทยให้เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาวุธเพื่อหาเงินเข้าประเทศแทนที่จะเอาแต่ซื้อเขาอย่างเดียว ทั้งที่มียุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้ว่าต้องทำตาม และคนร่างก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็กองทัพนั่นเอง
พอถามก็บอกว่า งบกลาโหม กระทรวงกลาโหมหรือกองทัพ ไม่มีหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถ้ายังคิดไม่เหมือนประเทศที่กำลังจะเจริญและเจริญแล้วที่เขาใช้งบกองทัพมาช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศแบบนั้น ก็ต้องบอกว่า สมควรตัดงบ ซื้ออาวุธ ให้หมด และเอาไปให้กระทรวงอื่นที่เขาประกาศว่าจะใช้งบเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ เช่นกระทรวงคมนาคมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง ดีกว่าเยอะ
ดังนั้นหนึ่งปีที่ผ่านมาจึงเป็นหนึ่งปีที่งงงวยว่าสรุปแล้วกองทัพอากาศโยนนโยบายที่ตนเองยึดถือและส่งต่อกันมาอย่างต่อเนื่องทิ้งไปทำไม มีอะไรมากกว่านั้นหรือไม่ ใครขัดผลประโยชน์ใครหรือเปล่า อันนั้นเราก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าคนออกมาแฉมีเอกสารที่ชัดเจนมาก แต่กองทัพอากาศบอกไม่มีนโยบายชี้แจง แต่บอกแค่ให้มั่นใจ พอไม่ชี้แจงก็เลยไม่รู้ว่าจะมั่นใจได้อย่างไร เพราะอีกฝั่งเขาเอกสารครบ เหตุผลครบถ้วนสมบูรณ์ ถ้าคนอื่นจะเชื่ออีกฝั่งไม่เชื่อกองทัพอากาศ ก็ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด
ซึ่งต้องจับตาว่า 1 ตุลาคม เปลี่ยนผู้บัญชาการทหารอากาศแล้ว การรื้อใหญ่จะยังดำเนินการต่อเนื่องหรือไม่ แต่เราว่านาทีนี้ แม้แต่กองทัพอากาศที่เราเคยเชื่อว่ามียุทธศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจน ก็ต้องบอกว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้แล้ว แม้ว่ามันจะขัดกับยุทธศาสตร์ชาติก็ตาม
ก็เช่นเดิม หวังว่า TAF จะเป็นฝ่ายผิด เพราะถ้าเราเป็นฝ่ายถูก แปลว่าบอกลาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติและ S-Curve ที่ 11 กลับไปสู่ยุคใช้งบทำวิจัยโดยไม่ได้อะไรแบบราชการสมัยก่อนได้เลย