ทางเลือกเครื่องบินทดแทน หลังปลดประจำการ F-16ADF ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

จาก TAF MilTalk ใน Clubhouse ของเราเมื่อสัปดาห์ก่อนที่พูดถึงการรวมฝูงบิน 102 กับ 103 และอนาคตของเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศ ที่แท้จริงแล้วต้องมีโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ทดแทน F-16ADF ในปี 2566 แต่จากภาวะงบประมาณในปัจจุบัน เชื่อว่ารัฐบาลไม่น่าจะสามารถจัดหางบประมาณมาให้กองทัพอากาศดำเนินการได้อย่างแน่นอน ทำให้มีความเสี่ยงที่กองทัพอากาศจะต้องดำเนินการจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่กองทัพอากาศอาจต้องลดฝูงบินขับไล่ลงจาก 5 ฝูงเหลือ 4 ฝูง

TAF จึงลองวิเคราะห์และหาทางเลือกว่า จะมีทางเลือกใดที่จะดำเนินการเพื่อทดแทนการขาดหายไปของ F-16ADF ได้บ้าง ทั้งทางเลือกที่ต้องใช้งบประมาณสูงหรืองบประมาณที่ต่ำลงมาครับ


F-16ADF นั้นก็คือ F-16A/B Block 15 ที่ทำการปรับปรุงมาใช้ในภารกิจป้องกันภัยทางอากาศสำหรับ Air National Guard ของสหรัฐ และใช้ในการบินสกัดกั้นเครื่องบินทิ้งระเบิดและ Cruise Missile ต่าง ๆ โดยการปรับปรุงในตอนนั้นเป็นการติดตั้งวิทยุ AN/ARC-200HF/SSB พร้อมโมดูล Have Quick II และระบบพิสูจน์ฝ่าย APX-109 รวมถึงมีการปรับปรุงเรดาร์ APG-66 ให้เป็น APG-66A เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ Look down/Shoot-down ซึ่งหมายถึงการให้เรดาร์ตรวจจับเป้าหมายด้านล่างของตัวเครื่องเพื่อยิงจรวดได้ นอกจากนั้นยังมีการปรับปรุงให้สามารถตรวจจับเป้าหมายขนาดเล็กและส่งคลื่นเรดาร์ต่อเนื่องสำหรับการยิงจรวด AIM-7 และก็สามารถใช้งาน AIM-120 AMRAAM ได้ โดยสหรัฐปรับปรุงทั้งหมด 271 ลำแต่ภายหลังจากการสิ้นสุดสงครามเย็น ทำให้สหรัฐยกเลิกการใช้งาน F-16ADF และเก็บไว้ในทะเลทรายในสภาพที่สามารถนำกลับมาใช้งานได้

สำหรับประเทศไทยเองเคยสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ F/A-18 จากสหรัฐอเมริกาจำนวน 8 ลำ และจ่ายเงินไปบางส่วนแล้ว แต่เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ทำให้รัฐบาลไทยเจรจาเพื่อขอยกเลิกคำสั่งซื้อ ซึ่งเจรจาไม่สำเร็จและต้องจ่ายค่าปรับจำนวนมากพอ ๆ กับราคาเครื่องบิน ทำให้รัฐบาลไทยในสมัยนั้นขอความช่วยเหลือไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อขอให้รัฐบาลสหรัฐซื้อสัญญาของ F/A-18 ทั้ง 8 ลำไปแทน ซึ่งรัฐบาลสหรัฐยอมให้ความช่วยเหลือ และรัฐบาลไทยจึงใช้เงินบางส่วนที่จ่ายไปแล้วและเงินบางส่วนที่ฝากไว้กับรัฐบาลสหรัฐเพื่อซื้ออะไหล่ F-16 รวบรวมมาจัดหา F-16ADF เข้าประจำการ โดยจัดหารุ่น A 1 ที่นั่งจำนวน 15 ลำ และรุ่น B 2 ที่นั่งจำนวน 1 ลำ พร้อมทั้ง F-16 ที่ใช้ทำการบินไม่ได้แล้วอีก 2 ลำเพื่อนำมาแยกชิ้นส่วนเป็นอะไหล่ ซึ่งถือเป็นเครื่องบินขับไล่รุ่นแรกของไทยที่สามารถทำการยิงจรวดอากาศสู่อากาศพิสัยกลางแบบ AIM-120 AMRAAM ได้


F-16ADF เข้าประจำการในฝูงบิน 102 กองบิน 1 โคราชเรื่อยมาจนถึงเวลาเกือบ 20 ปีในการประจำการแล้ว ซึ่งการรวมฝูง 102 และ 103 นั้นทำให้ฝูง 102 จะไม่มีเครื่องเข้าประจำการ และอาจจะทำการปรับอัตราของฝูง 102 ไปจัดตั้งเป็นโรงเรียนฝึกการใช้อาวุธทางอากาศหรือ Fighter Weapon School ที่กองทัพอากาศส่งนักบินของแต่ละฝูงบินจำนวนหนึ่งไปเรียนที่ International Test Pilots School ประเทศแคนาดาเพื่อกลับมาเป็นครูการบินในด้านการใช้อาวุธทางอากาศสำหรับเครื่องบินแต่ละแบบนั้นเอง

ทางด้านอากาศยานทดแทนนั้น กองทัพอากาศวางแผนที่จะเปิดโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ทดแทน F-16ADF ในปี 2566 และ 2568 เฟสละ 6 ลำ รวมทั้งหมด 12 ลำ ซึ่งเป็นอัตราของฝูงบินของกองทัพอากาศในปัจจุบันที่ลดจำนวนลงจาก 16 ลำ แต่จากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ทำให้กองทัพอากาศถูกตัดลดงบประมาณเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการที่จะต้องเกิดขึ้นก่อนคือโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130J ทดแทน C-130H จำนวน 12 ลำ ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ และน่าจะดำเนินการไม่ได้ไปอีกพักใหญ่ทีเดียว ทำให้โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ตามแผน และไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน


ทางออกนั้นมีหลายทาง แต่ทางออกที่เป็นไปได้มีอยู่ไม่กี่ทาง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาตามความเป็นจริง โดยทางออกก็มีเช่น

  1. ต้องเลือกระหว่างการจัดหา C-130J หรือเครื่องบินขับไล่ทดแทน F-16ADF

เนื่องจากงบประมาณของโครงการทั้งสองใกล้เคียงกันคือราว 4 หมื่นล้านบาท แต่กองทัพอากาศคงไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรวม 8 หมื่นล้านบาทภายใน 6 – 7 ปี เพื่อดำเนินโครงการทั้งสองโครงการพร้อมกันแน่นอน ดังนั้นกองทัพอากาศอาจจะต้องเลือกสักโครงการ ซึ่งถ้าเลือกเครื่องบินขับไล่ทดแทน F-16ADF ก็จะทำให้กองทัพอากาศจะไม่มีเครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ แต่ถ้าเลือกจัดหา C-130J กองทัพอากาศก็จะต้องลดอัตราฝูงบินขับไล่ลงเหลือ 4 ฝูงเท่านั้น

  1. ยอมลดประสิทธิภาพของเครื่องบินด้วยการจัดหาเครื่องบินขับไล่เบาทดแทน F-16ADF

ทางเลือกนี้น่าจะใช้งบประมาณน้อยกว่า คือราว 1 – 1.5 หมื่นล้านบาท สำหรับเครื่องบินขับไล่เบาจำนวน 12 ลำเพื่อทดแทน F-16ADF ซึ่งแน่นอนว่าประสิทธิภาพจะต่ำกว่าการจัดหาเครื่องบินขับไล่แท้ ๆ เข้าประจำการทดแทน แต่งบประมาณที่ใช้จะน้อยกว่ามาก ตัวอย่างเช่นจัดหา F/A-50 ใน Block ที่ใช้จรวดอากาศสู่อากาศพิสัยกลางได้ ซึ่ง F/A-50 มีเรดาร์ EL/M-2032 ของอิสราเอลใช้งาน และยังมีขีดความสามารถนการโจมตีภาคพื้นดินได้ในระดับหนึ่ง แม้จะขาดขีดความสามารถด้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์ไปก็ตาม แต่สุดท้ายก็จะทำให้กองทัพอากาศมีเครื่องบินขับไล่ 5 ฝูงได้เช่นเดิม

  1. จัดหาเครื่องบินมือสองมาใช้งาน

เช่น F-16C/D Block 32 ที่สหรัฐปลดประจำการแล้ว ซึ่งมีอายุใกล้เคียงกับ F-16A/B Block 15 ของฝูง 103 แต่มีความทันสมัยกว่ามากและเข้าใกล้ F-16AM/BM ของฝูง 403 ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้ากองทัพอากาศเลือกการปรับปรุงโครงสร้างเช่น การเปลี่ยนปีกของเครื่อง และการปรับปรุงอุปกรณ์บางรายการให้มีความทันสมัยขึ้น ก็น่าจะใช้งานได้ดีและมีขีดความสามารถสูงกว่าเครื่องบินขับไล่เบา และสามารถใช้งานไปได้อีกราว 15 – 20 ปี เช่นกัน

  1. ไม่ทำอะไรเลย ปลดประจำการ และยุบฝูงบิน รวมถึงลดอัตราฝูงบินขับไล่เหลือ 4 ฝูงบิน

ซึ่งเป็นทางเลือกที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่ก็จะลดขีดความสามารถของกองทัพอากาศลงค่อนข้างมาก และในภาพรวมจะทำให้กองทัพอากาศมีขีดความสามารถต่ำกว่ากองทัพอากาศเมียนมาร์ ซึ่งกองทัพอากาศสามารถลดผลกระทบได้ด้วยการปรับปรุงเครื่องบินขับไล่ที่เหลืออยู่ หรือจัดหาอาวุธที่ทันสมัยเข้ามาใช้งานกับเครื่องบินขับไล่ที่กองทัพอากาศมีอยู่ เพราะในปัจจุบันกองทัพอากาศมีอาวุธอากาศสู่อากาศที่สำคัญอย่าง AIM-120 AMRAAM น้อยมาก และมีแต่ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์อย่าง GBU-10/12 ใช้งานเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีขีดความสามารถค่อนข้างต่ำ โดยอาจจัดหาระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์รุ่นใหม่ หรือจรวดร่อนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและทำให้การมีเครื่องบินขับไล่น้อยก็จะเหมือนมีเครื่องบินขับไล่มาก


ทั้งนี้ทางเลือกทั้งหมดต้องพิจารณาตามสภาพงบประมาณ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีภาระจำประมาณมาก จัดเก็บรายได้ได้น้อย และต้องทำงบประมาณขาดดุลหลายแสนล้านบาท รวมถึงภาระหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงจนต้องขยายกรอบการก่อหนี้ไปเป็น 70% ของ GDP ก็น่าจะแสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องยากมากที่กองทัพอากาศจะได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากในตอนนี้และในอีกหลายปีข้างหน้า ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่ากองทัพอากาศจะปรับตัวอย่างไรต่อไป

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.