ก่อนวันสุดท้ายของปีงบประมาณที่ผ่านมา ผู้บัญชาการทหารอากาศคนก่อนคือพลอากาศเอกแอร์บูล สุทธิวรรณ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนเกษียณอายุเกี่ยวกับโครงการพัฒนาการป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ หรือ GBAD เพื่อประจำการในกองบิน 4 ตาลี ว่ามีการจัดหาจรวดจากอิสราเอลเข้าประจำการแล้ว ซึ่งโครงการนี้เป็นการจัดหาอาวุธปล่อยพื้นสู่อากาศพิสัยใกล้เข้าประจำการในกองทัพอากาศ มูลค่า 940 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในสามโครงการที่ถูกวิจารณ์จากหลายฝ่าย เนื่องจากมีการตัดหลักการ Purchase and Development ออกไป ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลเพียงเท่านี้ เราเชื่อว่าระบบจรวดนั้นจะเป็น SPYDER-SR ของอิสราเอล วันนี้้เราจะเล่าความเป็นมา ปัญหาของโครงการ และทำความรู้จัก SPYDER-SR ครับ
การตัดหลักการ Purchase and Development ออกจาก TOR การจัดซื้อนั้นเป็นการตัดข้อความที่ว่า “ต้องเชื่อมต่อข้อมูลจากระบบเชื่อมโยงทางยุทธวิธีของกองทัพอากาศ” และ “การจัดหาพร้อมการพัฒนาที่ระบุให้บริษัทอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยเป็นผู้ยื่นข้อเสนอ” ซึ่งทำให้ระบบอาวุธปล่อยที่เสนอให้กองทัพอากาศนั้นไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับระบบ Datalink ของกองทัพอากาศ และไม่จำเป็นต้องมีบริษัทไทยเป็นผู้ร่วมทำงานในการบูราการณ์ระบบหรือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบ นั้นคือสามารถขายอาวุธปล่อยอย่างเดียวโดยกองทัพอากาศก็จ่ายเงินซื้ออาวุธอย่างเดียวได้เลย ไม่ต้องมีการให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยมีส่วนร่วม
TAF เคยแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ของผู้บัญชาการทหารอากาศคนที่แล้ว เพราะการให้คนไทยมีส่วนร่วม การจ้างคนไทยพัฒนา และการให้อุตสาหกรรมของไทยได้มีส่วนในการรับงานจากกองทัพจะเป็นข้ออ้างที่ดีในการจัดหาอาวุธในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ เนื่องจากงบประมาณบางส่วนจะทำให้เกิดการจ้างงานคนไทยที่ใช้ทักษะสูง และทำให้งบประมาณทางทหารมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศด้วย และเป็นแนวทางที่ฝ่ายการเมืองก็สนับสนุน โดยคณะกรรมมาธิการงบประมาณทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลก็เห็นชอบกับโครงการของกองทัพอากาศและให้งบประมาณเพราะเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ซึ่งเป็นหน้าที่ของกองทัพและรัฐบาลตามที่กำหนดในยุทธศาสตร์ชาติที่กองทัพร่างมาเองกับมือ
ซึ่งถ้าใครที่ยังมีความคิดล้าหลังและบอกว่างบประมาณทางทหารควรใช้ให้เกิดประโยชน์แก่กับทหารคนเดียว ไม่ต้องสนใจประเทศหรือเศรษฐกิจ ก็ควรจะตัดงบประมาณทหารไปให้โครงการหรือหน่วยงานที่สามารถใช้งบประมาณเป็นประโยชน์ทั้งต่อหน่วยงานตนเองและต่อเศรษฐกิจของชาติได้ดีกว่า
โครงการนี้ของกองทัพอากาศมีการทำราคากลาง ออก TOR และยกเลิกการจัดซื้อถึง 4 ครั้ง โดยให้เหตุผลเช่น TOR มีความผิดพลาด หรือไม่เปิดกว้างให้บริษัทบางบริษัทเข้าร่วมประมูลโดยอ้างว่ากองทัพอากาศไม่ได้เชิญมายื่น จนสุดท้ายมีการเปลี่ยนจากคัดเลือกเป็นการจัดหาแบบเฉพาะเจาะจงเลย และพยายามรีบให้มีการประกาศการจัดหาให้ได้ก่อนวันที่ 30 กันยายน ทั้งที่สามารถกันเหลื่อมงบประมาณไปดำเนินการจัดหาต่อได้อีกระยะในเดือนตุลาคม แม้จะผ่านปีงบประมาณไปแล้วก็ตาม ประกอบกับการทักท้วงถึงความไม่ชอบมาพากลจากหลายฝ่าย ซึ่งทำให้น่าสนใจว่า สุดท้ายแล้วโครงการจะลงนามจัดหาเลย หรือผู้บัญชาการทหารอากาศคนใหม่จะมารื้ออีกรอบ เพราะถ้าลงนามไปแล้วและพบว่าผิดกฎหมาย คนลงนามก็ต้องมีความผิดตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเพียงประโยคเดียวของผู้บัญชาการทหารอากาศคนก่อนที่ระบุว่า จรวดที่จะจัดหาเป็นจรวดจากอิสราเอลซึ่งผ่านการรบมาแล้ว ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากงบประมาณ 940 ล้านบาท ก็ทำให้เชื่อได้ว่าน่าจะเป็นระบบ SPYDER-SR ของ Rafael ประเทศอิสราเอลนั่นเอง
SPYDER มีทั้งหมด 4 รุ่น โดยแบ่งตามระยะยิงคือ SR ระยะยิงไกลสุดราว 20 กิโลเมตร ER ระยะยิงไกลสุดราว 40 กิโลเมตร MR ระยะยิงไกลสุดราว 60 กิโลเมตร และ LR ระยะยิงไกลสุดราว 80 กิโลเมตร สำหรับรุ่นที่คาดว่าจะเป็นของกองทัพอากาศคือรุ่น SR นั้น สามารถยิงจรวดออกจากรถบรรทุกซึ่งมีตัวเลือกเป็นรถหลากหลายยี่ห้อเช่น Benz, MAN, Scania, หรือ Dongfeng
ตัวแท่นยิงทำให้สามารถยิงจรวดได้แบบ 360 องศา และสามารถทำการยิงได้ทั้งแบบเลือกเป้าหมายก่อนหรือ Lock on before launch (LOBL) หรือเลือกเป้าหมายหลังยิงแล้วหรือ Lock on after launch (LOAL) เพื่อเพิ่มความอ่อนตัวในการตอบสนองต่อภัยคุกคามที่เข้ามาหลังจากที่เป้าหมายนั้นถูกจัดให้เป็นภัยคุกคามแล้ว นอกจากนั้นระบบยังมีขีดความสามารถในการป้องกันการรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์ สามารถใช้เรดาร์ในการตรวจจับเป้าหมาย และสามารถติดตั้งกล้อง EO/IR เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจจับได้ รวมถึงสามารถเชือมต่อกับระบบควบคุมและบังคับบัญชาและระบบสงครามเครือข่ายได้ ซึ่งในกรณีของกองทัพอากาศอาจไม่มีการเชื่อมต่อตามสาเหตุที่ได้กล่าวไปข้างต้น
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือจรวดที่ใช้ เนื่องจาก SPYDER สามารถใช้จรวดแบบ Python-5 และ I-Derby ซึ่งเป็นทั้งจรวดแบบนำวิถีด้วยความร้อนและจรวดแบบนำวิถีด้วยเรดาร์แบบ Active Homing ซึ่งจรวดทั้งสองแบบนั้นมีใช้งานในกองทัพอากาศไทยอยู่แล้ว โดยติดตั้งกับเครื่องบินขับไล่ F-5TH ที่กำลังปรับปรุงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยในแง่ของการลดแบบจรวดและเพิ่มความง่ายในการซ่อมบำรุงได้
หลังจากนี้ต้องติดตามต่อไปว่า จรวดที่กองทัพอากาศเลือกแบบนั้นจะเป็นจรวดแบบ SPYDER-SR หรือไม่ รวมถึงโครงการจัดหาจะสามารถดำเนินการได้สำเร็จลุล่วงหรือไม่ และที่สำคัญก็คือการยกเลิกนโยบาย Purchase and Development นั้นจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการทหารอากาศแล้ว
อ่านเพิ่มเติม
UPDATE: ทอ.เตรียมซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศระยะใกล้ งบ 940 ล้านบาท
https://thaiarmedforce.com/2020/12/18/rtaf-to-by-short-range-air-defense/
กองทัพอากาศ กับการยกเลิก P&D ทำให้โปร่งใส หรือก้าวถอยหลังกันแน่?
https://thaiarmedforce.com/2021/09/20/taf-editorial-rtaf-cnc-canceled-the-purchase-and-development/
สรุปดราม่ากองทัพอากาศ ยกเลิก P&D เอกชนผูกขาดเจ้าเดียว
https://thaiarmedforce.com/2021/06/22/rtaf-pd-and-incident/
สำหรับท่านที่สนใจ สามารถพูดคุยในโพสต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการ GBAD นี้ได้ที่
https://www.facebook.com/groups/thaiarmedforce/posts/3063965170514819
https://www.facebook.com/groups/thaiarmedforce/posts/3060121334232536/
https://www.facebook.com/groups/thaiarmedforce/posts/3064372200474116/
One thought on “กองทัพอากาศอาจเลือกแบบจรวด SPYDER-SR และดราม่ายกเลิก P&D ในโครงการ GBAD”