ผบ.ทอ.เปรย อยากได้ F-35 แต่ไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ TAF วิเคราะห์ความเป็นไปได้

วันนี้ผู้บัญชาการทหารอากาศคนใหม่คือ พลอากาศเอกนภาเดช ธูปะเตมีย์ ได้จัดกิจกรรมแถลงนโยบายแก่กำลังพล รวมถึงมีการประกาศตั้งคณะกรรมการใหม่หลายคณะกรรมการ เพื่อดำเนินงานในอีก 1 ปีข้างหน้านี้ และในโอกาสนี้ผู้บัญชาการทหารอากาศได้จัดการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ซึ่งผู้บัญชาการทหารอากาศได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการจัดหาเครื่องบินขับไล่ โดยระบุไปเลยว่าสนใจ F-35 แต่ต้องดูงบประมาณและการสนับสนุนของประชาชน ซึ่งผู้บัญชาการทหารอากาศบอกว่าคงไม่ใช่เร็ว ๆ นี้แน่นอน จะเป็นยังไงบ้าง TAF จะมาไล่เรียงกันครับ


ผู้บัญชาการทหารอากาศเล่าว่า 4 – 5 ปีก่อนคุณพ่อคือ พลอากาศเอกประพันธ์ ธูปะเตมีย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ บอกว่ากองทัพอากาศน่าจะคิดถึงการมีเครื่องที่ดีขึ้นในปัจจุบัน เครื่องบินที่น่าสนใจคือ F-35 ถ้ามีงบประมาณที่จะดูแลได้ ถ้าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและประชาชน โดยบอกว่าเครื่องบินของกองทัพอากาศในปัจจุบันมันก็ทันสมัยในยุคนี้ แต่ผ่านไปอีกไม่กี่ปีก็จะล้าสมัย ก็ควรจะคิดว่าจะจัดหาเครื่องบินที่ทันสมัยมากขึ้นตั้งแต่ตอนนี้ แต่ก็เกรงว่าถ้าเราเสนอขึ้นไป ผู้ที่ไม่เข้าใจก็จะเกิดการต่อต้าน ซึ่งจะส่งผลให้รวนกันไปหมด แต่เชื่อว่ายุคนี้อาจจะเป็นยุคเริ่มคิด คงยังไม่ได้จัดหา แต่นายทหารอากาศท่านอื่นที่จะมาเป็นแทนก็อาจมีจังหวะที่ดีที่จะเสนอความคิดในยุคที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและได้งบประมาณเพียงพอที่จะมีเครื่องบินที่ก้าวข้ามยุคสมัยไปใช้ได้อีกนานหลายสิบปี

ผู้บัญชาการทหารอากาศก็เล่าถึงการจัดหาเครื่องบินสมัยคุณพ่อซึ่งผลลัพธ์คือการจัดหา F-16A/B เป็นประเทศแรกในภูมิภาค แต่ตรงนี้เราจะมาเล่าให้ฟังในแง่ประวัติศาสตร์อีกครั้ง แต่เราจะไปทำความรู้จักและวิเคราะห์เครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 อย่าง F-35 ที่ผู้บัญชาการทหารอากาศสนใจว่าเป็นอย่างไร และมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

TAF เคยเล่าและวิเคราะห์เกี่ยวกับโอกาสของ F-35 ในกองทัพอากาศไทยมาแล้วในคลิปนี้ ทุกท่านสามารถย้อนกลับไปฟังได้ที่


F-35 คือเครื่องบินยุคที่ 5 แบบแรกที่ประเทศผู้ผลิตเสนอขายให้กับลูกค้าต่างชาติ ซึ่ง F-35 คือโครงการร่วมพัฒนาของหลายประเทศที่ร่วมมือพัฒนาเครื่องบินยุคที่ 5 ทดแทนเครื่องบินยุคที่ 4 และ 4.5 หลายแบบ โดยในภูมิภาคอาเซียนนั้นมีสิงคโปร์ที่จัดหา F-35 จำนวน 12 ลำ โดยเป็นการลงนามจัดหาแล้ว 4 ลำ และมีออปชั่นอีก 8 ลำ ซึ่งคาดว่าสิงคโปร์จะได้รับมอบในปี 2026 หรืออีก 5 ปีนับจากนี้ โดยราคาที่ระบุในเอกสารแจ้งการขายอาวุธต่อคองเกรสระบุไว้ที่ราคาลำละ 230 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นราคาขั้นสูง โดยเชื่อว่าการจัดหาจริงราคาจะต่ำกว่านี้มาก แต่น่าจะอยู่ในระดับราคาราว 140 – 180 ล้านเหรียญ

ที่ผ่านมา กองทัพอากาศยังไม่เคยแสดงความจำนงค์ในการจัดหาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 หรือ F-35 ภายในเร็ว ๆ นี้ โดย Lockheed Martin ได้เสนอ F-16 Block 70 หรือ F-16V ให้กับกองทัพอากาศไทยพิจารณา เนื่องจากมองว่ามีความเหมาะสมกับกองทัพอากาศไทยมากกว่าทั้งในแง่ความคุ้นเคย และที่สำคัญคืองบประมาณที่ต้องมีมากกว่านี้

จริง ๆ แล้วกองทัพอากาศไทยมีโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ทดแทน F-16ADF ที่จะเริ่มโครงการในราวปี 2023-24 สำหรับล็อตที่ 1 และ 2025 – 26 สำหรับล็อตที่ 2 ล็อตละ 6 ลำ เพื่อรับมอบในราวปี 2028- 2032 แต่จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด ทำให้ TAF คาดการณ์ว่างบประมาณทางทหารจะไม่กลับมาสู่จุดเดิมอย่างน้อยจนถึงปี 2570 อย่างแน่นอน ซึ่งจะปิดโอกาศในการจัดหาเครื่องบินขับไล่เข้ามาทดแทน F-16ADF


ปัญหาของ F-35 กับกองทัพอากาศไทยนั้นไม่ใช่การที่สหรัฐอเมริกาไม่ขายให้ เพราะ F-35 ถูกออกแบบมาให้เป็นเครื่องบินสำหรับส่งออกและขายให้ชาติพันธมิตรอยู่แล้ว ดังนั้นใครที่บอกว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่ขายให้ไทยนั้นถือว่าวิเคราะห์ผิดพลาดและไม่ตรงกับข้อเท็จจริงมาก การที่ Lockheed Martin เสนอแต่ F-16 Block 70 ให้กับกองทัพอากาศไทยนั้นเป็นเหตุผลด้านการตลาดมากกว่าเหตุผลด้านการเมือง เพราะ Lockheed Martin รู้อยู่แล้วว่า ณ ระดับราคาตอนนี้ของ F-35 ถ้าเสนอ F-35 มา กองทัพอากาศไทยก็ไม่สามารถจัดหาได้อยู่ดี ซึ่งไม่ใช่การไม่ขายให้ แต่คือการรู้จักลูกค้าและประเมินภาวะตลาดว่าลูกค้าจะสามารถซื้อเครื่องบินอะไรได้มากกว่า

แม้ว่าคำสั่งซื้อของกองทัพอากาศสหรัฐนั้น ราคาต่อลำจะเริ่มลดลงมาต่ำกว่า 100 ล้านเหรียญแล้ว แต่ราคาที่ขายให้กับต่างประเทศนั้นยังคงสูงกว่า 100 ล้านเหรียฐอยู่ โดยเมื่อพิจารณาจากคำสั่งซื้อที่มีการลงนามแล้วของประเทศลูกค้านอกกลุ่มผู้พัฒนานั้น พบว่ามีราคาราว 143 ล้านเหรียญ (โปแลนด์) จนถึง 160 ล้านเหรียญ (เกาหลีใต้) ซึ่งยังมีราคาเกือบสองเท่าของราคาเครื่องบินยุค 4.5 อย่าง F-16 Block 70 หรือ Gripen E/F ที่ราคาอยู่ที่ราว 80 ล้านเหรียญสหรัฐ

ราคาค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติภารกิจ ซึ่ง F-35 มีต้นทุนตกอยู่ที่ราว 35,000 เหรียญต่อชั่วโมง หรือราว 1 ล้านบาทต่อชั่วโมง ซึ่งราคานี้แพงกว่า F-16 Block 70 ที่มีราคาต่อชั่วโมงราว 10,000 เหรียญต่อชั่วโมงหรือราว 3 แสนบาท หรือ Gripen E/F ที่มีราคาราว 7,500 เหรียญหรือราว 2 กว่าแสนบาท นั่นหมายถึงสำหรับเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 อย่าง F-35 จำนวน 12 ลำ ที่มีชั่วโมงบินต่อลำราว 120 ชั่วโมงนั้น กองทัพอากาศจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติภารกิจที่ราว 1.5 พันล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว ซึ่ง 1.5 พันล้านบาทนี้ แทบจะเป็นราคาค่าใช้จ่ายในภารปฎิบัติภารกิจของเครื่องบินขับไล่ทั้ง 5 ฝูงในกองทัพอากาศไทย


ดังนั้นโอกาสที่กองทัพอากาศไทยจะจัดหา F-35 มาใช้งานได้คือจะต้องรอการผลิต F-35 ให้มีจำนวนมากพอที่ราคาต่อตัวจะลดลงมาได้ และการพัฒนาระบบการซ่อมบำรุงและส่งกำลังบำรุงให้มีราคาถูกลงกว่าในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐและชาติพันธมิตรกำลังดำเนินการเพื่อกดราคาตรงนี้อยู่ ดังนั้นก็สอดคล้องกับที่ผู้บัญชาการทหารอากาศที่กล่าวว่า การจัดหา F-35 ถ้าจะเกิดขึ้นก็จะไม่ใช่ในเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน

แต่ผู้บัญชาการทหารอากาศให้แนวคิดว่า แม้จะยังไม่มีความคิดในการจัดหาเครื่องบินขับไล่ในสมัยที่ดำรงตำแหน่ง แต่ก็จะเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ แต่ก็มีคำพูดที่น่าสนใจคือกองทัพอากาศต้องการจัดหาเครื่องบินที่มีคุณภาพ เพราะเครื่องบินที่ไม่มีคุณภาพจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เครื่องบินที่มีประโยชน์จะเป็นเครื่องบินที่มีคุณภาพเท่านั้น

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.