กองทัพเรือกำลังจะมียานเกราะสำหรับการยกพลขึ้นบกแบบใหม่คือ R600 ของพนัส แอสเซมบลี ซึ่งเป็นยานเกราะที่ออกแบบและผลิตโดยคนไทย และจะเป็นครั้งแรกที่กองทัพไทยจัดหายานเกราะ 8×8 ของคนไทยเข้าประจำการ รวมถึงเป็นครั้งแรกที่จะมียานเกราะสำหรับการยกพลขึ้นบกของคนไทยเข้าประจำการ และถ้ากองทัพเรือจัดหายานเกราะ AAPC ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศและบริษัท ช ทวี จำกัด(มหาชน) เข้าประจำการก็จะทำให้กองทัพเรือมียานเกราะของคนไทยประจำการถึงสองแบบ แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตาม
บทความนี้จะลองวิเคราะห์และเปรียบเทียบว่า ยานเกราะของคนไทยทั้งสองแบบ รวมถึง AAV, BTR-3E1, และ VN-16 ว่าจะมีลักษณะของการใช้งานร่วมกันอย่างไร มีข้อได้เปรียบหรือข้อเสียเปรียบอย่างไรในการใช้ยานเกราะทั้ง 5 แบบนี้ครับ
อนึ่งเพื่อความง่ายในการอธิบาย เราจะขอข้ามเฟสการระดมยิงฝั่งหรือโจมตีฝั่ง และสมมุติให้เป็นการยกพลขึ้นบกทางทะเลเท่านั้น ไม่มีการยกพลขึ้นบกทางอากาศ
R600 ออกแบบมาโดยใช้ยานเกราะ AAV ซึ่งเป็นยานเกราะสายพานสะเทินน้ำสะเทินบกเป็น Benchmark แต่เปลี่ยนจากระบบสายพานเป็นระบบล้อยางที่มีราคาถูกกว่า ซ่อมบำรุงได้ง่ายกว่า แต่ก็แลกมาด้วยการเคลื่อนที่ในน้ำที่ยากกว่า ซึ่งเป็นเทรนเดียวกับสหรัฐอเมริกาที่เปลี่ยนจากยานเกราะ AAV เป็น ACV ซึ่งเป็นยานเกราะล้อยาง
AAV และ R600 จะถูกใช้งานในการยกพลขึ้นบกระลอกแรก ซึ่งเป็นการนำกำลังนาวิกโยธินจากทะเลเดินทางเข้าไปฝั่งเพื่อขึ้นหาด สาเหตุของการใช้งานยานเกราะทั้งสองแบบนี้ก็คือการวางตัวของเรือยกพลขึ้นบก ซึ่งในกรณีของไทยคือเรือ LPD อย่างเรือหลวงอ่างทองและ Type-071E ที่กำลังสั่งต่อใหม่นั้น จะต้องวางตัวให้อยู่ห่างจากฝั่งให้ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีจากอาวุธรักษาฝั่งต่าง ๆ ของฝ่ายข้าศึก แต่ก็ต้องไม่ไกลเกินไปจนทำให้ยานเกราะต้องเดินทางเป็นเวลานานและมีความเสี่ยงที่จะถูกคลื่นลมในทะเลพัดจนทำให้เกิดอุบัติเหตุและจมลงได้ ดังนั้นยานเกราะที่ใช้จะต้องเป็นยานเกราะที่แม้จะไม่ได้มีขีดความสามารถในการลอยตัวในทะเลมากแบบเรือ แต่ก็ต้องมากกว่ายานเกราะทั่วไป ซึ่งก็คือคุณสมบัติของ AAV และ R600 นั่นเอง

โดยหลักการของการยกพลขึ้นบกซึ่งกองทัพเรือไทยนั้น แม้จะใช้ยานเกราะของหลากหลายชาติ แต่ก็ยังยึดถือหลักนิยมและยุทธวิธีของสหรัฐอเมริกาอยู่ แต่ล่าสุดสหรัฐอเมริกามีการปรับหลักนิยมแล้วด้วยการเตรียมยกเลิกหน่วยรถถังของนาวิกโยธินแต่ไปเพิ่มหน่วยจรวดและอากาศยานไร้นักบินแทนเพื่อใช้ในการยึดเกาะซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้จริงสำหรับสหรัฐอเมริกา
สำหรับไทยที่ยังใช้หลักนิยมเดิมนั้น ในตอนนี้สามารถใช้ยานเกราะ VN-16 ในการเพิ่มเติมอำนาจการยิงในเป้าหมายบนฝั่งได้ ซึ่งจะต้องเดินทางจากเรือ LPD ในระลอกแรกร่วมกับ AAV และ R600
เป้าหมายของ AAV และ R600 คือต้องขึ้นถึงฝั่งและปล่อยกำลังพลนาวิกโยธินลงบนหาดเพื่อดำเนินกลยุทธ์ในการสถาปนาหัวหาดให้ได้ ซึ่งต้องการจำนวนของยานเกราะที่มากพอ ตามตัวเลือกการจัดหาแลัว กองทัพเรือมี AAV จำนวน 36 คัน แต่จำนวนที่ใช้งานได้จริงและยังไม่ปลดประจำการนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ราวสิบกว่าคันเท่านั้น ซึ่งเป็นส่งที่กองทัพเรืออาจต้องจัดหางบประมาณมาเพื่อซ่อมทำ AAV ให้กลับมาใช้งานได้เพิ่มขึ้นในอนาคต หรือทำการปรับปรุงให้เป็นมาตรฐาน AAV7A1 RAM/RS ให้เพิ่มมากขึ้นจากจำนวนขั้นต้น 3 คัน หรืออาจทำการจัดหา R600 เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มจำนวนยานเกราะให้มากขึ้น จากที่ปัจจุบันจัดหาเพียง 2 คันเท่านั้น
ถ้าการยกพลขึ้นบกระลอกแรกสำเร็จ ระลอกต่อไปคือการเพิ่มเติมกำลังเพื่อสถาปนาพื้นที่ให้ได้อย่างสมบูรณ์ โดยระลอกที่สองนี้ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้การปล่อยยานเกราะจากเรือ LPD ระยะห่างจากฝั่งไกล ๆ แต่สามารถใช้งานเรือยกพลขึ้นบกเช่นเรือ LCU ชุดเรือหลวงมัตตะโพน ชุดเรือหลวงมันนอก หรือชุดเรือหลวงทองแก้วในการลำเลียงทั้งกำลังพลและยานเกราะเข้าเกยหาดขึ้นฝั่งได้
ซึ่งในระลอกนี้จะเป็นระลอกที่ยานเกราะอย่าง BTR-3E1 และ AAPC มีบทบาท เนื่องจากไม่ได้มีความจำเป็นจะต้องลอยตัวในทะเลจากระยะไกล ส่วนมากแล้วจะไม่ต้องทำการลอยตัวเพราะสามารถลงจากเรือ LCU ที่เข้ามาเกยหาดได้ หรือถ้าเรือ LCU พบสิ่งกีดขวางเข้ามาเกยหายไม่ได้ ก็สามารถปล่อยยานเกราะจากฝั่งในระยะไม่กี่ร้อยเมตรเพื่อลอยตัวขึ้นฝั่งได้ ดังนั้นยานเกราะ BTR-3E1 และ AAPC จึงไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องมีคุณสมบัติในการลอยตัวในทะเลมากเท่า AAV หรือ R600 และทำให้สามารถติดตั้งระบบอาวุธที่มีขีดความสามารถและอำนาจการยิงสูงกว่า AAV และ R600 ได้ เช่นป้อมปืนขนาด 30 มม. ที่จะช่วยเพิ่มเติมอำนาจการยิงสนับสนุนให้กับนาวิกโยธินได้ และทำให้กำลังของฝ่ายเรือที่บนฝั่งนั้นมีอำนาจการยิงมากขึ้น
โดยในปัจจุบันกองทัพเรือมี BTR-3E1 จำนวน 12 คัน ส่วน AAPC นั้นยังมีใช้งาน 1 คัน และอาจมีการจัดหาเพิ่มเติมเป็น 5 คันถ้าสามารถดำเนินการได้ตามแผน
จากสถานการณ์ข้างต้นนี้สรุปได้ว่า ถ้าต้องมีการยกพลขึ้นบกเกิดขึ้น กองทัพเรือจะใช้งานยานเกราะ 5 แบบจาก 4 ชาติคือ AAV จากสหรัฐอเมริกา VN-16 จากจีน R600 และ AAPC จากไทย และ BTR-3E1 จากยูเครนในการปฏิบัติการยกพลขึ้นบก
ข้อดีอาจจะเป็นที่กองทัพเรือมี Platform ที่พิสูจน์ประสิทธิภาพแล้วใช้งานอย่าง AAV ซึ่งมีความน่าเชื่อถือสูง และมีการใช้งานยานเกราะ R600 และ AAPC ที่เป็นยานเกราะที่ผลิตในไทยโดยเกิดจากการวิจัยของคนไทย หรือเป็นการซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศเพื่อมาทำการผลิตในไทย ซึ่งการจัดหาเข้าประจำการถือเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่ต้องชื่นชมและควรสนับสนุน
ข้อเสียอาจจะเป็นการที่กองทัพเรือมียานเกราะที่หลากหลายแบบมากเกินไป และนอกจาก AAV นั้น แต่ละแบบมีจำนวนน้อย ยกเว้น BTR-3E1 ที่แม้จะมีเพียง 12 คัน แต่เป็นรุ่นเดียวกับกองทัพบก การมียานเกราะหลายแบบและมีจำนวนน้อยทำให้การซ่อมบำรุงมีค่าใช้จ่ายสูง อะไหล่ไม่สามารถใช้งานทดแทนกันได้ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมแพงขึ้นมาก การฝึกกำลังพลก็ต้องฝึกแยกกันและทำให้เกิดปัญหาในการฝึกและใช้งานจริงได้ เช่นเดียวกับปัญหาที่กองทัพเรือประสบอยู่ในกองเรือยุทธการที่กองทัพเรือมีแบบอากาศยานและเรือหลากหลายมากเกินไปนั่นเอง