TAF On Tour #4 – ตามกองกำลังสุรสีห์ (ทั้งคนทั้งล่อ) ลาดตระเวนชายแดนไทยเมียนมาร์

TAF ตามไปลงพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาร์ถึงฐานปฏิบัติการที่แนวชายแดนและแนวพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศ ร่วมลาดตระเวนกับชุดเฉพาะกิจทหาร ทหารพราน และตชด. เพื่อป้องกันการลักลอบข้ามแดนและขนยาเสพติด ชมการสาธิตการทำงานของกองกำลังสุรสีห์ตามแผนการป้องกันประเทศตามแนวชายแดน รวมถึงดูล่อตัวไม่เล็กไม่ใหญ่แบกของให้พี่ทหาร ตามมาชมกันเลยครับ


เรามาที่กองพลทหารราบที่ 9 ซึ่งเป็นหน่วยเตรียมกำลังสำหรับกองกำลังสุรสีห์ที่ดูแลชายแดนภาคตะวันตกไล่ตั้งแต่จังหวัดตาก กาญจนบุรี เพชรบุรี จนถึงราชบุรี ซึ่งสถานการณ์โดยทั่วไปก็มีทั้งการดูแลแนวชายแดนที่มีทั้งพื้นที่ที่ปักปันเขตแดนแล้ว และพื้นที่ทับซ้อนที่ยังไม่ได้ปักปันเขตแดน และการขนถ่ายและลำเลียงยาเสพติด รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้ภารกิจในการดูแลชายแดนเพื่อป้องกันการหลบหนีเข้าเมืองมีมิติเพิ่มขึ้นในการป้องกันโรคอีกด้วย

ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 บอกว่า ภารกิจในการดูแลแนวชายแดนจะแบ่งเป็นสามมิติคือต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้นน้ำคืองานด้านการข่าวในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งมีทั้งการหาข่าวการเตรียมการขนคนเข้าประเทศไทยตั้งแต่ฝั่งเมียนมาร์ รวมถึงประสานกับกองทัพเมียนมาร์และชนกลุ่มน้อยที่มีการแลกเปลี่ยนข่าวกันเสมอ

กลางน้ำคือการดูแลแนวชายแดนด้วยการจัดกำลังลาดตระเวนตามช่องทางธรรมชาติและช่องทางผ่านแดนชั่วคราวต่าง ๆ ซึ่งจะมีการจัดกำลังร่วมกับทหารพรานที่เป็นกำลังประจำถิ่นดูแลแนวชายแดนอยู่แล้ว รวมถึง ตชด. ที่เป็นหน่วยที่มีอำนาจจับกุม

ปลายน้ำก็จะเป็นการระบุที่หมายของการลักลอบเข้าเมืองว่าไปยังจังหวัดใดบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับข้อมูลจากชาวบ้านและฝ่ายปกครอง ที่ทำให้สามารถระบุตัวผู้นำพาแรงงานและพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดต่าง ๆ ได้

วันนี้เราเดินทางไปตามแนวชานแดนและด่านตรวจต่าง ๆ ในจังหวัดกาญจนบุรีและราชบุรี เพื่อพูดคุยและดูการสาธิตการลาดตระเวนป้องกันแนวชายแดนจากกำลังพลที่ประกอบกำลังเป็นชุดลาดตระเวนซึ่งมีทั้งฝ่ายตำรวจและทหาร รวมถึงดูจุดที่ยังมีหลักฐานของการนำคนเข้ามาพักแรมเพื่อเดินทางต่อไปยังจุดหมายด้วย

ภูมิประเทศส่วนมากนั้นเป็นป่าสลับเมือง คือจากถนนหลวงหรือตัวหมู่บ้าน เดินไปนิดหน่อยก็จะเข้าไปยังพื้นที่ป่าแล้ว ซึ่งผู้ลับลอบเข้าเมืองหรือคนที่ลำเลียงยาเสพติดก็จะใช้การเดินทางลัดเลาะไปตามแนวป่าสลับกับแนวพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน ซึ่งต้องใช้การข่าวในการวางกำลังป้องกันและจับกุม ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีทั้งจับกุมได้และมีทั้งหลุดรอดออกไปได้

ในการลาดตระเวนในปัจจุบันนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องมีการเพิ่มความระมัดระวังเข้าไปอีก โดยกำลังพลจะไม่สามารถเข้าใกล้ผู้ลักลอบเข้าเมืองได้ และจะต้องมีกำลังพลอีกคนหนึ่งที่ต้องใส่ชุด PPE เพื่อเข้าไปตรวจคัดกรองโควิด-19 ซึ่งถ้าพบก็จะต้องส่งตัวไปรักษาและกักตัวยังพื้นที่ที่สาธารณสุขจังหวัดกำหนดไว้ การลาดตระเวนทุกวันนี้จึงเหมือนกับในหนังซอมบี้ยังไงอย่างงั้น

สำหรับท่านที่ชื่นชอบอาวุธปืนก็คงจะสังเกตุปืนว่าเป็น Galil ACE N23 ซึ่งเป็นปืนที่กองทัพบกจัดหามาลงที่กองพลทหารราบที่ 9 ที่นี่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะต้องมีการเปลี่ยนหรือสร้างความคุ้นเคยใหม่สำหรับกำลังพลที่เคยใช้ Tavor มากน้อยขนาดไหน รวมถึงระบบส่งกำลังบำรุงที่ตัวปืนมีชุดลูกเลื่อนและอุปกรณ์หลักต่างจากคนอื่น ส่วนทหารพรานเรายังเห็นถือปืน M16A1 เป็นส่วนใหญ่ครับ


นอกจากการลาดตระเวนแล้ว เรายังไปเยี่ยมฐานปฏิบัติการส่วนหน้าแบบประชิดแนวชายแดนหลายฐาน โดยหลายฐานปฏิบัติการจะตั้งอยู่ประชิดแนวชายแดนตามช่องทางธรรมชาติ เช่นในกรณีนี้คือช่องทางตะโกบนซึ่งแนวรั้วไม้ไผ่นี้ก็คล้าย ๆ แนวชายแดนนั่นเอง

ตอนนี้การข้ามแดนยังไม่สามารถทำได้อย่างเสรีนักเนื่องจากภาวะโควิด 19 บางช่องทางจึงมีการปิดเอาไว้ แต่ก็มีบางช่องทางที่ยังเป็นพื้นที่ทับซ้อน ยังไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ จึงยังไม่สามารถปิดกั้นด้วยการวางรั้วได้ ทำให้มีการใช้การตั้งฐานปฏิบัติการในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งทางฝ่ายเมียนมาร์ก็มีการตั้งฐานปฏิบัติการในจุดเดียวกันเช่นกัน

อย่างวันนี้ที่คณะของเราไปเยี่ยมฐานปฏิบัติการของทหารพรานตรงช่องตะโกปิดทองซึ่งมีฐานทหารพรานของไทยและทหารเมียนมาร์ตั้งอยู่คู่กัน เราก็ได้พบกับทหารเมียนมาร์ซึ่งโดยรวมแล้วทางฝั่งฐานของทหารเมียนมาร์มีความกดดันมากกว่าฐานของไทย เพราะสถานการณ์ในเมียนมาร์เกิดการสู้รบระหว่างกำลังของรัฐบาลทหารและชนกลุ่มน้อยเสมอ จึงทำให้เราเห็นทหารเมียนมาร์กำลังปรับปรุงฐาน นำไม้ไผ่มาเหลาให้แหลมและเสริมกำแพงหลายชั้น ซึ่งยังต่างจากฝั่งไทยที่มีแค่รั้วไม้ไผ่ชั้นเดียว ถือว่าชิวได้มากกว่า

แต่แม้กระนั้นความเป็นอยู่ของทหารพรานในพื้นที่ก็ยังไม่สู้ดีนัก ทั้งน้ำที่หายาก ไฟฟ้าที่ใช้โซล่าเซลล์ อาหารการกินแม้จะได้รับเสมอจากการส่งกำลังบำรุง แต่ TAF ก็รู้สึกว่าจริง ๆ แล้วเรามีทางที่จะดูแลกำลังพลของเราที่อยู่แนวหน้าจริง ๆ แบบนี้ให้ดีกว่านี้ โดยเฉพาะในแง่ความเป็นอยู่ การหลับนอน หรืออาหารการกิน เพราะเขาเหล่านั้นต่างเป็นผู้เสียสละอยู่ลำบากตามแนวชายแดน


ด้วยสภาพทางที่ค่อนข้างทุรกันดาร และบางพื้นที่เป็นพื้นที่ภูเขา ทำให้ที่นี่มีการใช้สัตว์ต่างในการลำเลียงอาวุธ อาหาร หรือเครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งแต่ก่อนเราอาจจะรู้จักกองพันสัตว์ต่างที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงคงจะคุ้นเคยกับการแบกปืนและกระสุนด้วยล่อในภาคเหนือ แต่จริง ๆ แล้วกองทัพบกไทยเรานั้นมีการใช้สัตว์ต่างในหลายพื้นที่ เช่นที่หมวดบรรทุกต่างของกองกำลังสุรสีห์ในพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรีนั่นเอง

สัตว์ต่างที่นี้เป็นล่อซึ่งมีทั้งหมดราว 20 กว่าตัว โดยได้รับการฝึกจากเชียงใหม่และลำเลียงมาปฏิบัติภารกิจที่นี่ โดยปกติแล้วล่อจะมีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3-16 ปีก่อนจะนำปลด ซึ่งสาเหตุที่ต้องมีการใช้ล่อก็เนื่องจากความต้องการจุดเด่นของม้าและลามาประกอบเข้าด้วยกัน ทำให้ได้เป็นล่อที่ฝึกได้ รับคำสั่งได้ แต่มีความแข็งแรงและอดทน

โดยรวมแล้วชุดปฏิบัติการที่ไปกับล่อนั้นก็จะมีล่อราว 6 ตัว 1 ตัวสามารถบรรทุกของได้ตั้งแต่ 80-100 กิโลกรัมถ้าเดินตามถนน หรือถ้าเดินขึ้นเขาในภูมิประเทศก็จะบรรทุกได้ 60-80 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าบรรทุกได้หนักเป็นสองถึงสามเท่าเมื่อเทียบกับคนเลยทีเดียว

ระยะทางที่เดินนั้นบางทีแม้จะไม่ได้ไกลมาก แต่หนทางทุรกันดารและเป็นพื้นที่สูงชัน รถไม่สามารถเข้าถึงได้ การใช้ล่อจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า โดยในการเดินนั้นก็จะมีทั้งชุดนำหน้า ชุดจูงล่อ และชุดระวังหลัง คอยเดินประกบกันไป ถ้าระยะทางไกลก็จะกำหนดจุดพักทั้งคนและล่อ เช่นอาจจะพักทุก 1 ชั่วโมง เป็นต้น

ล่อค่อนข้างเชื่องและได้รับการฝึกมาจากแหล่งเดียวกันคือกองพันสัตว์ต่างที่เชียงใหม่ และสามารถบรรทุกสิ่งของได้หลากหลาย รวมถึงสามารถประยุกต์ด้วยการเทียมเปลลำเลียงคนเจ็บได้โดยใช้ล่อ 1 หรือ 2 ตัว ถือว่าเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก ก็ต้องขอขอบคุณล้อทุกตัวที่ช่วยเราทำงานแบกของหนักไปส่งยังฐานตามแนวชายแดนให้สามารถดำเนินภารกิจในการดูแลชายแดนต่อไปได้ครับ


วันนี้เราพาทุกท่านไปดูการปฏิบัติงานตามแนวชายแดนทั้งคนและสัตว์ที่ทำหน้าที่ดูแลชายแดนของเราอยู่ หวังว่าจะเป็นมุมมองใหม่ ๆ ให้กับทุกท่านได้เห็นว่าการปฏิบัติงานจริงตามแนาวชายแดนนั้นเป็นอย่างไร ทั้งบรรยากาศ กำลังพล รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ TAF ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามแนวชายแดนครับ

TAF ขอขอบคุณ

  • สำนักงานเลขานุการกองทัพบก
  • กองกำลังสุรสีห์
  • กองพลทหารราบที่ 9

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.