The Drive เผยแพร่เรื่องราวของอดีตนักบิน F-4G และ OV-10A ที่ชื่อ Danno ซึ่งเคยมาฝึกให้กับนักบินของกองทัพอากาศไทย และภารกิจลับของกองทัพอากาศไทยในการทิ้งระเบิดโรงงานผลิตยาเสพติดในพม่า
Danno เล่าเรื่องราวว่าเขาเป็นนักบิน OV-10 ที่มีชั่วโมงบิน 810 ชั่วโมง และเคยปฏิบัตภารกิจนอกประเทศสองครั้งกับฝูงบินสนับสนุนทางอากาศที่ 27 (27th Tactical Air Support Squadron) ของฐานทัพอากาศ George ใน California และฝูงบินสนับสนุนทางอากาศที่ 19 ในโอซาน เกาหลีใต้ รวมถึงมีชั่วโมงบินกับ OC-10C ของกองทัพอากาศไทย 50 ชั่วโมงบินอีกด้วย โดยก่อนหน้านั้นเขาบิน F-4G ในภารกิจ Wild Weasel หรือการบินทำลายระบบป้องกันภัยทางอากาศของข้าศึกมาก่อน
ในฝูงที่เขาอยู่นั้นจะมีทั้งนักบินจบใหม่และนักบินที่มีประสบการณ์ โดยนักบินจบใหม่มักจะทำหน้าที่ร่วมกับกองทัพบกในฐานะผู้ควบคุมอากาศยานหน้าภาคพื้นดิน (First Assignment Forward Air Controllers: FAFAC) ซึ่งจะต้องไปวางกำลังร่วมกับกองทัพบกอย่างน้อยปีละสองครั้งเพื่อทำหน้าที่ประสานงานการสนับสนุนทางอากาศให้กับหน่วยของกองทัพบก ส่วนนักบินที่มีประสบการณ์กว่าก็จะทำหน้าที่บิน OV-10A ในภารกิจควบคุมอากาศยานหน้าบนอากาศ
เขาเป็นผู้นำทีมฝึกทางทหาร (Military Training Team: MTT) มายังประเทศไทยเพื่อฝึกนักบิน OV-10C ของกองทัพอากาศไทยในภารกิจการควบคุมอากาศยานหน้าหรือ Forward Air Control ระหว่างเดือนกุมพาพันธ์ถึงมีนาคมปี 2530 ตามคำร้องขอของกองทัพอากาศไทยที่ยังไม่ค่อยมีความชำนาญในด้านนี้มากนัก เพราะกองทัพอากาศไทยมักจะใช้ OV-10C ในภารกิจต่อต้านการก่อความไม่สงบ และค่อนข้างกังวลกับภารกิจในการเป็นผู้ควบคุมอากาศยานหน้าซึ่งได้รับมอบหมายในการฝึก Cobra Gold โดยในทีมประกอบไปด้วยนักบินจำนวน 3 คนที่มาฝึกให้กับนักบินไทย ซึ่งพวกเขาจะประจำอยู่ที่กองบิน 41 เชียงใหม่
ทีมเตรียมการฝึกให้กับนักบินไทยทั้งภาคพื้นดินและภาคอากาศ โดยไม่มีใช้อาวุธทางอากาศเนื่องจากไม่สามารถจัดตารางเวลาของสนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศได้ โดยจะฝึกการจำลองการสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิดแทน ส่วนกองทัพอากาศไทยจัดนักบินจำนวน 5 – 6 คนที่ภาษาอังกฤษดีที่สุดมาเข้ารับการฝึก

เขาทำการบินในตำแหน่งนักบินหลัง และฝึกการบรรยายเป้าด้วยหลักการ 9 บรรทัด (Nine-line Brief) เพื่อส่งข้อมูลเป้าให้กับเครื่องบินขับไล่ ที่ในบางครั้งกองทัพอากาศไทยจะส่ง F-5E จากกองบิน 1 มาฝึกการสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิดร่วมกันโดยเฉพาะ แต่ไม่ได้มีการทิ้งระเบิดจริงตามเหตุผลที่กล่าวไป เขาพบว่าต้องปรับเปลี่ยนการฝึกเล็กน้อย โดยใช้แทกติกการบินในภาวะที่มีภ้ยคุกคามต่ำ และนำทางเครื่องบินขับไล่เข้าไปยังเป้าหมายตรง ๆ และให้ข้อมูลเฉพาะบรรทัดที่ 4 – 8 ของ 9 บรรทัด โดยใช้เป้าหมายจำลองเป็นหมู่บ้านหรือวัดที่โบสถ์สีทองเห็นได้ง่ายจากบนอากาศ
เขาพบว่านักบินไทยจำลองการทิ้งระเบิดตรงเป้าและพลาดเป้าบ้าง บางครั้งก็มองไม่เห็นเป้าหมายตามที่ส่งข้อมูลให้ ซึ่งอาจจะมาจากการที่ OV-10C ไม่สามารถยิงจรวดควันเพื่อกำหนดเป้าได้หรือปัญหาด้านภาษาอังกฤษ เขาเสนอกับผู้ช่วยทูตทหารของสหรัฐในกรุงเทพให้จำลองการฝึกด้วยการทดลองจำลองการดำทิ้งระเบิดลงบนหลังคาโบสถ์ ซึ่งผู้ช่วยทูตทหารปฏิเสธ แต่นักบินไทยอยากลองดู
ข้อแตกต่างระหว่าง OV-10C ของไทยและ OV-10A ของสหรัฐนั้นมีไม่มากนัก รุ่นของไทยอาจขาดอุปกรณ์บางอย่างเช่น ไม่มีระบบดับเพลิงในกรณีที่เครื่องยนต์ถูกไฟไหม้ แต่สมรรถนะของเครื่องนั้นเหมือนกัน
หลังจากการฝึกผ่านไปสองสัปดาห์ สถานกงศุลสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยก็เชิญพวกเขาไปพบ ซึ่งกงศุลสหรัฐอเมริกาประจำเชียงใหม่ประชุมกับเขาพร้อมกับสายสืบของสำนักงานปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐ (US DEA) ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประธานาธิบดี Ronald Reagan ประกาศสงครามกับยาเสพติด ซึ่งมุ่งเป้าหมายไปที่พ่อค้ายาโคลัมเบีย แต่พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำก็มีการผลิตฝิ่นและเฮโรอีนจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลไทยได้รับแรงกดดันมหาศาลจากสหรัฐให้จัดการการขนยาเสพติดในพื้นที่
สายสืบแจ้งว่าจำเป็นต้องย้ายพวกเขาออกจากพื้นที่เชียงใหม่ชั่วคราว เนื่องจากเชียงใหม่เป็นที่พักของพ่อค้ายารายใหญ่บางคน และกองทัพอากาศไทยกำลังเตรียมการโจมตีโรงงานยาเสพติดในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตได้ การที่มีทหารสหรัฐอยู่ในจังหวัดอาจทำให้ถูกตีความได้ว่ากองทัพสหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ว่าจะเป็นเพียงการมาฝึกก็ตาม ซึ่งทางสายสืบไมได้ให้รายละเอียดอะไรเกี่ยวกับภารกิจของกองทัพอากาศไทย แต่เขาก็มั่นใจว่านักบินไทยที่เริ่มจะสนิทกันแล้วจะบอกรายละเอียดกับเขา
พวกเขากลับมายังฝูงบินและได้รับการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ฝูงว่าจะต้องพักการฝึก 4 วันเพราะมีภารกิจ ซึ่งทำให้เขาแอบถามนักบินไทยคนหนึ่งที่บอกเขาว่าการโจมตีจะใช้เครื่องบิน OV-10C จำนวน 4 ลำ ติดระเบิด Mk.82 ขนาด 500 ปอนด์ลำละสองลูก เพื่อทิ้งระเบิดใส่โรงงานผลิตเฮโรอีนลึกเข้าไป 10 กิโลเมตรในประเทศพม่าหรือเมียนมาร์ในปัจจุบัน

นักบินสหรัฐถูกส่งไปพักผ่อนที่กรุงเทพ 4 วันก่อนจะกลับมาที่เชียงใหม่ ซึ่งจากการที่การฝึกถูกเว้นไป 4 วัน ทำให้ต้องมีการปรับการฝึกกันเล็กน้อยเขาถามนักบินไทยว่าผลของภารกิจเป็นอย่างไร ซึ่งนักบินไทยได้แต่ชูนิ้วโป้งเป็นสัญลักษณ์ แต่เขาก็บอกว่าเขาไม่รู้ว่านักบินไทยบินเข้าไปทิ้งระเบิดในพม่าจริง ๆ หรือแค่ทิ้งระเบิดตามแนวชายแดนหรือในป่าในประเทศไทยเพื่อให้ดูเหมือนว่าปฏิบัติภารกิจแล้ว และก็ไม่มีใครบอกข้อมูลภารกิจกับเขาเพิ่มเติมหลังจากนั้น และเขาก็ทำการฝึกต่ออีก 1 สัปดาห์จึงจบภารกิจกลับไปยังสหรัฐ
หลังจากนั้นเขาก็ได้มาประจำการในเกาหลีใต้อยู่พักนึง และได้รับคำร้องขอให้กลับไปทำการฝึกให้กับกองทัพอากาศไทยอีกครั้ง โดยครั้งนี้ระบุตัวเลยว่าต้องเป็น Danno ซึ่งเขายินดีอย่างยิ่งที่จะกลับมาฝึกยังประเทศไทย และครั้งนี้เขาจะมาคนเดียวอีกด้วย ซึ่งเมื่อเขากลับมาก็พบว่าผู้บังคับฝูงคนเก่านั้นไปปฏิบัติภารกิจที่บ้านร่มเกล้าและถูกยิงตกจนถูกจับตัวไปยังลาว (นาวาอากาศโท สมนึก เยี่ยมสถาน – TAF เพิ่มเติม) และเขาก็ทำการฝึกจนจบภารกิจก่อนที่จะกลับไปยังสหรัฐอเมริกา ก่อนที่เขาจะลาออกจากกองทัพอากาศสหรัฐในเดือนธันวาคมปี 2532

บทความนี้เรียบเรียงโดย TAF ภาพทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของเจ้าของเรื่องราวนี้ และเรื่องต้นฉบับเป็นลิขสิทธิ์ของ The Drive โดยสามารถอ่านบทความเต็มได้ที่
โพสนี้ในกลุ่มของเรา
ไอ้นี่แหละ Tom Tom Where you go last night? ตัวจริง ในเพลง เวลคัมทูไทยแลนด์ 2530
ถูกใจถูกใจ