กองทัพบก เปิดเผยภาพ โดรนขนาดกลางแบบใหม่ D-Eye 04 จาก DTI และ Beihang

นิตยสารข่าวทหารบกของกองทัพบก ปีที่ 31 ฉบับที่ 3 วันที่ 3 พ.ย. 2564 ในคอลัมน์เขี้ยวเล็บกองทัพบกไทย โดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกองทัพบก ได้เผยแพร่บทความเรื่อง การวิจัยและพัฒนาระบบ อากาศยานไร้คนขับ ขนาดกลางของกองทัพบก ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างกองทัพบกและ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ DTI


ภาพที่ปรากฎนั้นแตกต่างจากภาพที่มีการใช้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ก่อนหน้านี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับแบบจำลองและภาพจำลองของ DTI ที่ตั้งแสดงในงาน Defense and Security 2019 โดยเป็นอากาศยานไร้คนขับที่มีลักษณะคล้าย CH-4B รวมกับ Hermes 900 มากขึ้นมาก

นิตยสารข่าวทหารบกของกองทัพบก ปีที่ 31 ฉบับที่ 3 วันที่ 3 พ.ย. 2564

ใน Defense and Security 2019 นั้น เจ้าหน้าที่ประจำบูทของ DTI ได้ให้ข้อมูลกับ TAF ว่าอากาศยานไร้คนขับของ Beihang จะเป็น UAV แบบเพดานบินปานกลาง ระยะเวลาบินนานหรือ MALE (Medium-altitude long-endurance) ของ DTI ที่จะนำเสนอให้กองทัพใช้งาน โดยมีแผนจะเจรจากับบริษัท Beihang ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนและเปิดโรงงานผลิตอากาศยานไร้คนขับในประเทศไทยอีกด้วย โดยมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่าง DTI บริษัท Beihang UAS Technology และบริษัท PYN International ในเดือนพฤษภาคม 2563

ในเดือนมิถุนายน 2563 DTI ได้เผยแพร่ชื่อผู้ชนะการเสนอราคาจ้างสร้างระบบเครื่องช่วยฝึกเสมือนจริงสำหรับปฏิบัติภารกิจระบบ UAV โดยวิธีเฉพาะเจาะจง จำนวน 1 ระบบ ในหมวดอุปกรณ์ของอากาศยาน ผู้ได้รับคัดเลือกคือ Beihang UAS Technology ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าทั้งสองหน่วยงานมีข้อตกลงและมีสัญญาระหว่างการ

Beihang UAS Technology เป็นบริษัทลูกของมหาวิทยาลัย Beihang มหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่งที่เน้นการสอนและวิจัยในด้านการบิน โดยมีผลงานคือการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับแบบ BZK-005 เข้าประจำการในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน และขายในต่างประเทศในรุ่นส่งออกคือ BZK-005E ซึ่งต่อมาในสื่อประชาสัมพันธ์ของ DTI เรียกอากาศยานแบบนี้ว่า D-Eye 04


กองทัพบกระบุว่า กองทัพบกมีนโยบายในการพึ่งพาตนเอง โดยประสานความร่วมมือกับ DTI ในการจัดทำโครงการวิจัยระบบอากาศยานไร้คนขับขนาดกลางตามบันทึกข้อตกลงการวิจัยและพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับขนาดกลางสำหรับกองทัพบกซึ่งลงนามในเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งศูนย์การบินทหารบกจะเป็นหน่วยเจ้าของโครงการ และคาดว่าจะเป็นหน่วยผู้ใช้งานเมื่อได้รับมอบตัวอากาศยานไร้คนขับ โดยจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานสำหรับนำมาใช้ในกองทัพบกก่อน

คุณลักษณะของอากาศยานไร้คนขับแบบนี้จะใช้ในภารกิจลาดตระเวน เฝ้าติดตามสถานการณ์ การหาข่าว ค้นหาและระบุที่ตั้งเป้าหมายเพื่อการปรับการยิงปืนใหญ่และอาวุธยิงสนับสนุนอื่น ๆ ในการสนับสนุนหน่วยดำเนินกลยุทธ์ และบินได้ไกลเกินกว่าขอบเขตการปฏิบัติการในระดับกองพล โดยระบุว่าตัวอากาศยานไร้คนขับจะติดตั้งกล้องตรวจการณ์ EO/IR และเรดาร์ SAR

นิตยสารข่าวทหารบกของกองทัพบก ปีที่ 31 ฉบับที่ 3 วันที่ 3 พ.ย. 2564

กล้องตรวจการณ์จะสามารถตรวจจับเป้าหมายได้ในเวลากลางวันและกลางคืนด้วยการถ่ายภาพ ส่วนเรดาร์ SAR จะเป็นเรดาร์ที่ช่วยในการสร้างภาพเมื่อการใช้งานกล้องตรวจการณ์พบอุปสรรค ซึ่งคาดว่าเรดาร์ SAR นี้จะพัฒนาโดย Institute of Electronics of the Chinese Academy of Sciences หรือ IECAS

ทั้งนี้ กองทัพบกจะได้รับระบบอากาศยานไร้คนขับ 1 ระบบในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งประกอบไปด้วยอากาศยานไร้คนขับขนาดกลางจำนวนสองลำพร้อมระบบควบคุมภาคพื้นดิน และคาดว่ายังจะเป็นอากาศยานไร้คนขับที่ทำการผลิตที่ประเทศจีน เนื่องจากยังไม่พบว่าการสร้างโรงงานประกอบหรือผลิตอากาศยานไร้คนขับในประเทศไทยแล้วเสร็จแล้ว

ข่าวทหารบกระบุเพิ่มเติมว่า กระบวนการวิจัยและพัฒนาร่วมระบบอากาศยานไร้คนขับขนาดกลางเริ่มต้นจากการออกแบบ การผลิต การทดสอบและการประเมินผล การซ่อมบำรุง การฝึกอบรมแบบครบวงจร เพื่อให้สามารถขยายผลต่อยอดการผลิตและการซ่อมบำรุงในระดับโรงงานได้ภายในประเทศ และเพื่อเป็นการส่งเสริม อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

นิตยสารข่าวทหารบกของกองทัพบก ปีที่ 31 ฉบับที่ 3 วันที่ 3 พ.ย. 2564

TAF คาดว่า เมื่อดูจากคุณสมบัติของอากาศยานไรัคนขับแบบนี้ที่มีน้ำหนักบรรทุกสูงถึง 150 กิโลกรัม และเมื่ออ้างอิงจากข้อมูลว่า BZK-005 ในกองทัพจีนนั้นสามารถใช้อาวุธปล่อยได้ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ถ้ากองทัพบกต้องการ โดรนติดอาวุธ ในอนาคต ก็สามารถที่จะใช้ BZK-005 หรือ D-Eye 04 แบบนี้ในการปรับภารกิจมาเป็นการติดอาวุธ หรือสามารถจัดหารุ่นติดอาวุธที่เพิ่มขีดความสามารถในการติดอาวุธได้ โดยในบทความของนิตยสารข่าวทหารบกนั้นจะมีการอ้างอิงถึงความต้องการของกองทัพบกในการจัดหาระบบอากาศยานไร้คนขับมาใช้งานในระดับยุทธการด้านการสนับสนุนการรบให้แก่หน่วยดำเนินกลยุทธ์ในเขตปฏิบัติการของกองพลดำเนินกลยุทธ์ขึ้นไป ซึ่งชี้ให้เห็นแนวโน้มความต้องการระบบอากาศยานไรัคนขับขนาดกลางที่จะต้องติดตั้งระบบอาวุธแบบอากาศสู่พื้นที่มีความแม่นยำสูง รัศมีการปฏิบัติการไกล และระยะเวลาในการปฏิบัติการนาน แม้ว่าตามข้อมูลแล้วอากาศยานสองลำแรกจะไม่มีระบบอาวุธมาด้วยก็ตาม

แต่ TAF ก็ตั้งข้อสังเกตุว่า ในอีกไม่กี่ปีนี้ ทั้งสามเหล่าทัพของกองทัพไทยจะใช้อากาศยานไร้คนขับขนาดกลางและขนาดใหญ่จากแหล่งผลิตต่างรุ่นต่างยี่ห้อกันคือ กองทัพอากาศใช้ Dominator ของอิสราเอล กองทัพเรือกำลังเปิดโครงการจัดหามูลค่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้มีการระบุให้จัดหาในประเทศหรือมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย เป็นการจัดซื้อมาใช้งานอย่างเดียว โดยคาดว่าจะเป็นการจัดซื้อ Wing Loong II จาก Chengdu Aircraft Industry Group ของจีน และในตอนนี้กองทัพบกกำลังมีอากาศยานไรัคนขับแบบ BZK-005E หรือ D-Eye 04 จาก Beihang UAS Technology ของจีนเช่นกัน ซึ่งน่าเสียดายที่ทั้งสามเหล่าทัพไมได้มีการประสานงานและทำงานร่วมกัน ทำให้อากาศยานไร้คนขับของทั้งสามเหล่าทัพนั้นใช้งานอะไหล่หรือการฝึกร่วมกันไม่ได้ รวมถึงอาจจะไม่สามารถติดต่อสื่อสารหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างการได้

ซึ่งในกรณีของกองทัพบกและกองทัพอากาศนั้นยังมีบริษัทตัวแทนในประเทศไทยหรืออุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มีขีดความสามารถในการปรับแต่งได้ ทำให้ถ้าต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันผ่านระบบ Datalink ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ในอนาคต แต่สำหรับกองทัพเรือที่ใช้การจัดหาอย่างเดียว ทำให้ยากมากที่จะมีการติดตั้งระบบ Datalink หรือถ้าติดตั้งได้ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการพัฒนาให้กับผู้ผลิตจำนวนมาก ถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่เกิดความร่วมมือขึ้นระหว่างหน่วยงานราชการในประเทศไทย


คุณสมบัติของอากาศยานไร้นักบิน BZK-005E/D-Eye 04 ของกองทัพบก

  • ความยาว 6.4 เมตร
  • ความกว้างปีก 13.4 เมตร
  • ความสูง 2.5 เมตร
  • รัศมีปฏิบัติการสูงสุด 200 กิโลเมตร เมื่อใช้ระบบควบคุมภาคพื้นดิน อาจเพิ่มขึ้นได้ถ้าใช้การควบคุมผ่านดาวเทียม
  • ระยะเวลาปฏิบัติภารกิจสูงสุด 20 ชั่วโมง
  • เพดานบินสูงสุด 25,000 ฟุต
  • ความเร็วเดินทาง 150-180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • น้ำหนักบรรทุกสูงสุด 150 กิโลกรัม
  • น้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 750 กิโลกรัม
  • บินขึ้นลงโดยใช้สนามบิน ระยะทางวิ่งขึ้น 1,300 เมตร
  • ติดตั้งกล้อง EO/IR ถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว
  • ติดตั้งเรดาร์ Synthetic Aperture Radar (SAR)

ขอขอบคุณสมาชิก TAF คุณ นฐนรรค์ มีจั่นเพ็ชร์ ที่แจ้งข่าว ท่านที่สนใจสามารถร่วมพูดคุยในกลุ่มของเราได้ที่ https://www.facebook.com/groups/thaiarmedforce/posts/3090344691210200/

บทความนี้ในเพจของเรา

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.