TAF เขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อแย้งบทความใน Thairath Plus – ไทยรัฐพลัส วันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ชื่อบทความว่า “กองทัพอากาศไทยจัดหาเครื่องบินรบ แต่ไม่ได้ใช้รบจริงๆ”
การแสดงความเห็นถือเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย นั่นหมายถึงเราไมได้แย้งว่าไทยรัฐ Plus ไม่ควรแสดงความเห็น แต่เราแย้งว่าบทความนี้ใน ไทยรัฐ Plus มีข้อเท็จจริงผิดพลาด ซึ่่งการวิเคราะห์จากข้อเท็จจริงที่ผิดพลาดหรือเป็นเท็จ ก็ย่อมทำให้การวิเคราะห์หรือแสดงความเห็นนั้นผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เช่นที่นักกฎหมายพูดว่า ต้นไม้พิษย่อมให้ผลไม้พิษ
ซึ่งในกรณีนี้ ต้นไม้ที่เกิดจากความเท็จ ก็ย่อมให้ผลไม้ที่ที่เป็นเท็จเช่นกัน
ประเด็นที่เราจะแย้งก็คือ ผู้เขียนบทความดังกล่าวระบุว่า ปัญหาการลักลอบข้ามแดน การค้ายาเสพติด และการค้ามนุษย์นั้น การใช้เครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ
จริง ๆ แล้วข้อความนี้ถูกต้อง เพราะการเอา AT-6 ไปทิ้งระเบิด 500 ปอนด์ใส่ผู้ลักลอบค้ายาเสพติดนั้นเป็นเรื่องที่เกินเหตุไป เปลืองเกินไปด้วย แต่ปัญหาก็คือ การระบุของผู้ผลิตว่า AT-6 สามารถใช้ในภารกิจการป้องกันการค้ามนุษย์หรือค้ายาเสพติดนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะมีใครเอาเครื่องบินไปทิ้งระเบิดแค่อย่างเดียว เพราะสามารถใช้ในภารกิจตรวจการณ์ด้วยกล้องตรวจการณ์ได้ ซึ่งจริง ๆ ต้นบทความนี้ ผู้เขียนก็เขียนเองว่า AT-6 มีกล้องตรวจการณ์อินฟาเรดอยู่แล้ว ถ้าผู้เขียนบทความนี้คุ้นเคยกับการปฏิบัตการทางทหารสักนิดก็จะทราบได้ว่า ในโลกปัจจุบันนี้ การเอาเครื่องบินโจมตีไปทิ้งระเบิดโรงงานยาเสพติดมักเกิดขึ้นในอเมริกาใต้ ที่ที่ขบวนการค้ายาเสพติดมีเครื่องบินเล็ก มีรถเกราะ และถึงขั้นมีเรือดำน้ำเอาไว้ใช้ขนยาเสพติด
แต่ในพื้นที่แถบอาเซียนที่เว็บไซต์ไทยรัฐ Plus ระบุว่าผู้เขียนบทความมีความเชี่ยวชาญนั้น ไม่ปรากฎการเอาเครื่องบินไปทิ้งระเบิดโรงงานยาเสพติดในรอบสิบปีที่ผ่านมานี้ แน่นอนในอดีตนั้นมีแน่ แต่มันไม่ใช่ปัจจุบันนี้ ดังนั้นการตั้งสมมุติฐานว่าจะต้องเอาเครื่องบินโจมตีไปทิ้งระเบิดคาราวานขนยาเสพติดหรือค้ามนุษย์ จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงครึ่งนึง
อีกข้อความหนึ่งที่จริง ๆ ถูกต้องบางส่วนในตัวมันเองแต่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงของการปฏฺบัติภารกิจก็คือ กล้องตรวจการณ์ใช้ได้แต่ภูมิประเทศที่เปิดโล่งและกว้างใหญ่เท่านั้น เช่นทะเลทราย ชายฝั่ง ทุ่งนา ซึ่งกล้องตรวจการณ์มันไม่สามารถเจาะทะลุใบไม้ของป่าได้จริง ๆ
แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถใช้กล้องตรวจการณ์ในพื้นที่ป่าได้เลย เพราะไม่เช่นนั้นเราก็ไม่ควรจะจัดหา UAV ลาดตระเวนหรือเฮลิคอปเตอร์ลาดตระเวนมาใช้งาน เนื่องจากป่าไม้แม้จะอุดมสมบูรณ์ แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถปกคลุมพื้นดินได้ 100% ยังมีช่องว่างที่ทำให้แสงลอดเข้ามาได้ ซึ่งนั่นก็คือเป็นโอกาสในการใช้กล้องตรวจการณ์เช่นกัน
กล้อง MX-15 หรือกล้องแบบอื่น ๆ ไม่ว่าของประเทศอะไร มีกรณีการใช้งานจริงในพื้นที่ป่าไม้จำนวนมาก เช่นถ้ากลับไปยังอเมริกาใต้ที่กองทัพประเทศต่าง ๆ ก็ใช้กล้องตรวจการณ์ในลักษณะนี้บินตรวจการณ์ได้เช่นกัน
อีกกรณีหนึ่งคือการติดตามเป้าหมาย ถ้าเราใช้การข่าวเข้าร่วม เราสามารถที่จะติดตามขบวนคาราวานยาเสพติดหรือรถผู้ต้องสงสัยที่ขนแรงงานเภื่อนเข้าประเทศได้ ซึ่งเป็นภารกิจของอากาศยานแบบนี้หรือพวก UAV อยู่แล้ว ดังนั้นจะบอกว่าใช้ไม่ได้เลยนั้นไม่ตรงกับความจริงเสียทีเดียว และถ้าบอกว่าใช้ไม่ได้จริง ๆ เราก็ไม่ควรซื้อ UAV มาใช้งานแล้ว
แต่ถ้าจะบอกว่าข้อความที่แล้วที่บอกว่าพื้นที่ชายแดนเป็นป่าทึบ กล้องถ่ายไปก็ไม่เห็นอะไรเป็นความจริงทั้งหมดล่ะก็ ผู้เขียนก็ไม่ควรบอกว่า ชายแดนภูเขาสูงและป่าทึบแบบนี้ ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์มากกว่า
TAF ยังนึกไม่ออกว่าทำไมผู้เขียนบทความนี้ถึงสรุปแบบนี้ เพราะในกรณีนี้ เฮลิคอปเตอร์ไม่ได้ต่างจากเครื่องบินเลย ถ้าไม่มีกล้อง เฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินโจมตีก็ต้องใช้ตามนุษย์ดูเหมือนกัน จะมองเห็นไม่เห็นก็ลักษณะเหมือนกัน ถ้าติดกล้อง กล้องที่ติดบนเฮลิคอปเตอร์หรืออากาศยานก็สเปคเดียวกัน จะมองเห็นหรือมองไม่เห็น มันก็เกิดขึ้นเหมือนกัน
คือไม่เข้าใจว่าทำไมผู้เขียนถึงไปสรุปว่าพื้นที่แบบนี้ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์มากกว่า เพราะถ้าเทียบกับความเป็นจริงแล้ว นึกไม่ออกจริง ๆ ว่าเพราะอะไรถึงสรุปแบบนั้น จะบอกว่าเพราะเฮลิคอปเตอร์บินนิ่ง ๆ บนอากาศมันก็ไม่ใช่ข้อได้เปรียบอะไร เพราะการบินนิ่ง ๆ มันไมได้ช่วยให้มองเห็นง่ายขึ้นเลยโดยเฉพาะเมื่อมองผ่านกล้องที่สามารถล็อคจุดที่เราสนใจได้อยู่แล้ว อากาศยานปีกตรึงสามารถบินบนรอบเป้าหมายที่สนใจได้ อะไรมันก็ไมได้ต่างกัน
หรือจะบอกว่าเพราะเฮลิคอปเตอร์บนลอยตัวต่ำ ๆ เป่าใบไม้ให้กระจายได้มันก็ดูตลกไปนิด หรือจะบอกว่าเฮลิคอปเตอร์สามารถลงจอดที่ไหนก็ได้ไม่ต้องมีสนามบินก็ไม่ใช่อีก เพราะในป่าทึบแบบที่ผู้เขียนบทความบอกนั้น ก็ไม่มีเฮลิคอปเตอร์อะไรลงได้อยู่ดี หรือถ้าจะบอกว่าเอาไว้ส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษโรยตัวกลางป่าไปยิงกับพ่อค้ายาแบบในหนังมันก็ไม่ใช่เงื่อนไขที่จะบอกว่าไม่ควรใช้อากาศยานต้องใช้แต่เฮลิคอปเตอร์เท่านั้น
เพราะในภารกิจค้นหา โดยเฉพาะภารกิจค้นหาและกู้ภัยนั้น ถ้าเราไม่คุ้ยเคยกับปฏิบัติการแบบนี้ เราก็จะเห็นแต่เฮลิคอปเตอร์หย่อนคนหรือตะกร้ามารับคน แต่จริง ๆ แล้วปฏิบัติการแบบนี้คือจะต้องร่วมมือกันระหว่างอากาศยานและเฮลิคอปเตอร์ เพราะอากาศยานมีความเร็วสูงกว่าเฮลิคอปเตอร์ โดยหลักการคือเราจะต้องส่งอากาศยานเข้าไปในพื้นที่ก่อนให้เร็วที่สุดเพื่อค้นหาและระบุตำแหน่งของเป้าหมายไม่ว่าเป้าหมายจะเป็นอะไรก็ตาม แล้วเฮลิคอปเตอร์ที่บินช้ากว่าค่อยตามไป และหลังจากนั้นจะทำอะไรก็ทำแล้วแต่ภารกิจ จะส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษหรือหน่วยกู้ภัยลงก็ได้
เพราะปฏิบัติการจริง ๆ มันเป็นแบบนี้ เลยมีคนเขาพัฒนาเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งแบบ V-22 มาใช้งาน เพื่อให้สามารถขึ้นลงได้แบบเฮลิคอปเตอร์ แต่บินได้เร็วแบบอากาศยาน
อารมณ์มันก็เหมือนกับเวลารถชนมีคนเจ็บ กู้ภัยก็มักจะส่งคนขี่มอเตอร์ไซต์ฝ่ารถติดเข้าไปยังที่เกิดเหตุก่อน เพื่อให้การปฐมพยาบาลเบื้อนต้นได้ทัน Golden Minutes ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ประสบภัย ก่อนที่รถพยาบาลหรือรถกู้ภัยจะตามมาทีหลัง แต่เรามักจะเห็นตามภาพข่าวคือรถกู้ภัยมาถึงแล้ว เราเลยเข้าใจว่าใช้แต่รถกู้ภัยอย่างเดียว
ซึ่งก็นั่นแหละ การที่ผู้เขียนไม่มีความเชี่ยวชาญในปฏิบัติการการบิน การทหาร หรือการค้นหาและช่วยชีวิต แต่กลับมาวิเคราะห์ มันก็เลยทำให้วิเคราะห์ผิดพลาดไปแบบนี้ และประกอบกับสิ่งที่น่าตำหนิที่สุดของบทความนี้คือการพาดหัวข่าวแบบ Mislead ว่ากองทัพอากาศไทยจัดหาเครื่องบินรบแต่ไม่ได้ใช้รบจริง ๆ ก็ยิ่งทำให้บทความนี้ยิ่งดูแย่เข้าไปใหญ่ เพราะมันไม่มีข้อบ่งชี้ใด ๆ จากบทความนี้เลยว่าใช้รบจริงไม่ได้ บทความก็ยังบอกอยู่ด้วยซ้ำว่าสามารถติดอาวุธอะไรได้บ้าง ดังนั้นเนื้อหาบทความกับชื่อบทความก็ขัดแย้งกันเองตั้งแต่ต้นแล้ว
แต่ก็เอาเถิดครับ ถือว่าผิดพลาดแค่วิเคราะห์ผิดเพราะไม่ทราบข้อเท็จจริงในงานด้านนี้ ถือว่าอยู่ในระดับที่พอทน ก็ยังดีที่ไม่ได้มาวิเคราะห์ว่าเครื่องบินใบพัดเป็นเครื่องบินสงครามโลก ไม่มีใครใช้แล้วในปัจจุบัน
เพราะถ้าวิเคราะห์แบบนั้น เราจะอัพเกรดบทความนี้ของไทยรัฐ Plus จากบทความที่วิเคราะห์ผิดเพราะไม่เข้าใจข้อเท็จจริง กลายเป็นบทความที่วิเคราะห์ผิดเพราะวิเคราะห์ไม่เป็นแทน
จริง ๆ ถ้าอยากหาความรู้ ก็สามารถเข้ามาอ่าน TAF ได้บ่อย ๆ แต่อย่าก๊อปไปเหมือนครั้งที่แล้วที่ไทยรัฐออนไลน์ก็อปบทความของเราไปนะครับ มันไม่ดี
หมายเหตุ: ขอบคุณสมาชิก TAF คุณ Bhak Watthanachatkanan ที่แจ้งข่าว ผู้ที่สนใจสามารถร่วมพูดคุยในประเด็นนี้ได้ที่โพสในกลุ่มของเราที่ https://www.facebook.com/groups/thaiarmedforce/posts/3103249413253061/
โพสนี้ในเพจของเรา