AT-6: ทำความรู้จักเครื่องบินโจมตีเทอร์โบพร็อบ เพราะมันไม่ใช่เครื่องบินโบราณ

เห็นมีหลายท่านบอกว่าเครื่องบินใบพัดเป็นเครื่องบินโบราณ เทคโนโลยีสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งต่างจากเครื่องบินไอพ่นที่เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า โดยเฉพาะเมื่อมีกรณีการจัดหาเครื่องบินโจมตี AT-6 ความเข้าใจนี้ยิ่งถูกพูดถึงกันมากขึ้น และตามมาด้วยการบอกว่าเครื่องบินบินหลบจรวดไม่ได้บ้าง ใช้โจมตีไม่ได้บ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดเป็นอย่างมาก

วันนี้เราจะมาสอนหลักการพื้นฐานของเครื่องยนต์ใบพัดในสมัยนี้ และเครื่องยนต์ไอพ่นว่ามันแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงเรื่องการป้องกันตัวเองจากระบบป้องกันภัยทางอากาศ และการใช้เครื่องบินโจมตีในภารกิจสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิดว่าเป็นอย่างไรครับ


ต้นกำเนิดเครื่องยนต์ใบพัดและไอพ่น

จริงอยู่ที่ว่าเครื่องบินแบบแรกของพี่น้องตระกูลไรท์เป็นเครื่องยนต์ใบพัด แต่เครื่องยนต์ใบพัดที่เราเห็นในสมัยนั้นแตกต่างจากในสมัยนี้ค่อนข้างมาก เครื่องยนต์ใบพัดในสมัยนี้ไม่ใช่เครื่องยนต์ใบพัดเหมือนในสมัยสงครามโลกอีกแล้ว และจริง ๆ เครื่องยนต์ไอพ่นก็มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกด้วยซ้ำ และแน่นอนว่ามันแตกต่างจากปัจจุบัน

เครื่องยนต์ใบพัดแบบเทอร์โบพร็อบกับเครื่องยนต์ไอพ่นแบบเทอร์โปแฟนมีหลักการการออกแบบเหมือนกันในแง่ของเทอร์โมไดนามิกส์ เพราะทั้งสองแบบนั้นใช้การเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อสร้างกำลังไปขับดันกังหันที่จะส่งกำลังให้กับชุดอัดแรงดันอากาศหรือ Compressor ได้

สิ่งที่ต่างกันก็คือเครื่องยนต์ไอพ่นจะใช้การสร้างกระแสก๊าซเพื่อขับดัน แต่เครื่องยนต์ใบพัดจะใช้ใบพัดที่อยู่ข้างนอกมาตัดอากาศเพื่อสร้างแรงดัน ดังนั้นการมีใบพัดให้เห็นหรือไม่มีให้เห็น ไม่ได้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเครื่องยนต์หรือเครื่องบินเหล่านั้นทันสมัยหรือล้าสมัย

ดังนั้นการเลือกเครื่องยนต์จึงไม่ใช้เลือกเครื่องยนต์ที่คิดว่าดูเท่หรือดูไฮเทค แต่ต้องเลือกเครื่องยนต์ที่เหมาะสมกับการใช้งาน


การใช้อาวุธ

สิ่งที่เราจะสังเกตุได้ก็คือ เครื่องบินโจมตีหลายแบบนั้นมักจะเป็นใบพัด หรือถ้าเป็นไอพ่นก็จะเป็นไอพ่นที่ความเร็วไม่ได้สูงนัก เพราะเครื่องบินโจมตี โดยเฉพาะการสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิดหรือ Close Air Support (CAS) นั้น เครื่องบินที่มีความเร็วต่ำกว่าจะได้เปรียบ เพราะสามารถใช้อาวุธได้แม่นยำมากกว่า ในภาวะที่ฝ่ายเรากับฝ่ายข้าศึกอยู่ห่างกันไม่กี่เมตรแบบนี้ โดยเฉพาะอาวุธจำพวกระเบิดอเนกประสงค์ จรวดไม่นำวิถี หรือปืนกล ซึ่งความสามารถในการบินที่ความเร็วต่ำและเครื่องไม่ Stall ได้จะถือว่าได้เปรียบ ซึ่งถ้าต้องการใช้อาวุธนำวิถีในภารกิจนี้ ไม่ว่าเครื่องบินใบพัดหรือไอพ่นก็สามารถใช้อาวุธนำวิถีได้เหมือนกัน ให้ผลการใช้อาวุธไม่ได้ต่างกัน ไมได้เกี่ยวกับเครื่องยนต์แต่อย่างใด


การป้องกันตัวจากระบบป้องกันภัยทางอากาศ

การบอกว่าเครื่องบินใบพัดบินได้ช้า ไม่สามารถหลบจรวดได้ จึงควรใช้เครื่องบินไอพ่นมากกว่าก็เป็นความเชื่อที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงและเป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะในความเป็นจริงแทบไม่มีเครื่องบินแบบใดที่บินหนีจรวดต่อสู้อากาศยานได้ ถ้าไม่ใช่เครื่องบินจำพวก SR-71 หรือ MiG-25 และต้องบินที่ความสูงที่สูงมาก ไม่ใช่ความสูงต่ำแบบภารกิจโจมตีแบบนี้ เพราะจรวดต่อสู้อากาศยานมีความเร็วสูงมากคือ 2 – 3 มัคขึ้นไป ในขณะที่เครื่องบินขับไล่ไอพ่นที่ทำความเร็วเหนือเสียงสามารถทำความเร็วได้แค่ 1.5 – 1.7 มัคเท่านั้น และไม่สามารถทำความเร็วได้สูงขนาดนี้ในความสูงต่ำ ๆ ได้ ส่วนเครื่องบินโจมตีที่ใช้เครื่องยนต์ไอพ่นแบบ L-39 หรือ Alpha Jet นั้นก็ไม่ใช่เครื่องบินที่ทำความเร็วได้สูงแบบความเร็วเหนือเสียง ไม่ว่าจะเจอจรวดแบบไหนก็หนีไม่ทันทั้งนั้นไม่ว่าจะใบพัดหรือไอพ่น ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ควรที่จะถูกนำมาพูดกัน

หลักการใช้เครื่องบินโจมตีไม่ว่าจะไอพ่นหรือใบพัด โดยเฉพาะในภารกิจการสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด ต้องทำในภาวะที่ฝ่ายเราสามารถครองอากาศได้ หรือใช้เครื่องบินขับไล่กดดันระบบป้องกันภัยทางอากาศของข้าศึกก่อน ถ้ายังครองอากาศได้ไม่เต็มที่ จำเป็นจะต้องมีเครื่องบินขับไล่คุ้มกันทั้งสิ้น ไม่ได้เกี่ยวว่าถ้ามีเครื่องบินโจมตีไอพ่นแล้วจะบินเข้าไปได้เลยไม่ต้องสนใจอะไร

ที่สำคัญ การป้องกันตัวของเครื่องบินไม่ว่าใบพัดหรือไอพ่นนั้น ขึ้นอยู่กับระบบป้องกันตัวเองไม่ว่าจะเป็นระบบรับสัญญาณและแจ้งเตือนเรดาร์ (RWR) ระบบแจ้งเตือนการถูกยิงด้วยจรวด (MAWS) หรือระบบเป้าลวงต่าง ๆ ทั้ง Chaff หรือ Flare ซึ่งขึ้นอยู่ว่าจะติดตั้งบนเครื่องบินลำไหน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นไอพ่นหรือใบพัด เพราะระบบป้องกันตัวเองของเครื่องบินโจมตีใบพัดอย่าง A-29 Super Tucano หรือ AT-6 Wolverine นั้นมีมากกว่าและทันสมัยกว่าเครื่องบินโจมตีไอพ่นบางแบบด้วยซ้ำ ซึ่งในคลิปต่อไป เราจะเล่าให้ฟังถึงระบบป้องกันตนเองของ AT-6


การใช้งานเครื่องบินโจมตีใบพัด

นั่นทำให้ยังมีอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ต้องการเครื่องบินในภารกิจสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิดแบบที่ไม่ได้ใช้อาวุธปล่อยที่มีความแม่นยำสูงยังคงเลือกใช้เครื่องบินโจมตีใบพัดที่เป็นเทอร์โบพร็อบอยู่เช่น AT-802i Air Tracker รุ่นติดอาวุธที่มีใช้งานในกองทัพอากาศจอร์แดน KA-1 Woongbi ของเกาหลีใต้ที่มีประจำการในกองทัพอากาศเกาหลีใต้ เซเนกัล และตุรกี หรือ A-29 Super Tucano ของบราซิลในกองทัพอากาศบราซิล โคลัมเบีย มาลี มอริธาเนีย เลบานอน หรือฟิลิปปินส์ ส่วน AT-6 นั้น นอกจากกองทัพอากาศสหรัฐแล้ว กองทัพอากาศไทยเป็นลูกค้าต่างชาติรายแรก

จริง ๆ การจัดหา AT-6 ที่มีคำถามนั้นเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้และไม่เข้าใจเครื่องบินใบพัดในปัจจุบัน ถ้าสมมุติว่าถอดใบพัดออกและเครื่องไอพ่นเข้าไป อาจจะมีคำถามน้อยกว่านี้มาก ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วมีความแตกต่างกันไม่มากนัก เพราะเครื่องบินใบพัดสมัยนี้ไม่ใช่ลูกสูบดาวสมัยสงครามโลกแล้ว เปรียบเทียบก็เหมือนรถยนต์รุ่นเดียวกันแต่ลงเครื่องดีเซลกับเบนซิน สมรรถนะและการดูแลอาจจะต่างกันนิดหน่อย แต่โดยรวมไม่ต่างอะไรขนาดนั้น

ดังนั้น จะเห็นด้วยกับการซื้อ AT-6 หรือไม่เป็นสิ่งที่แสดงความเห็นกันได้ แต่เลิกดราม่าว่ามันเป็นเพราะเครื่องบินใบพัด เพราะมันแสดงถึงความไม่เข้าใจเทคโนโลยีครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.