ปีที่แล้วมีข่าวค่อนข้างมากเกี่ยวกับกองทัพอากาศ ก็อย่างที่เราทราบกันไปคือ คาดการณ์กันว่าในสมัยผู้บัญชาการทหารอากาศคนที่แล้วนั้นมีการออกมารื้อนโยบาย Purchase and Development ซึ่งเป็นนโยบายที่เน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการมีผู้ประกอบการไทยเข้ามามีส่วนร่วม โดยเน้นที่ไปสามโครงการคือ โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องกันทางอากาศ ระยะที่ 7 (N-SOC C2) งบประมาณ 945 ล้านบาท, โครงการพัฒนาป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ (Ground Based Air Defense: GBAD) งบประมาณ 940 ล้านบาท และโครงการจัดหาทดแทนวิทยุพื้นดิน-อากาศ งบประมาณ 910 ล้านบาท ซึ่งมีการการแก้ไข TOR ตัดบางข้อความออก หรือรื้อการจัดซื้อจัดจ้างบางส่วน รายละเอียดติดตามได้ที่ Link ท้ายบทความ
ทั้งนี้มีข้อมูลว่า ทุกโครงการมีการประกาศการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ บางโครงการมีการทำราคากลางใหม่ บางโครงการใช้ราคากลางเดิมแต่เปลี่ยนวงเงินจัดหา และได้เอกชนต่างประเทศผู้ชนะแล้ว ซึ่งตามข่าวคือ ผู้บัญชาการทหารอากาศให้เร่งรัดการจัดซื้อจัดหาก่อนวันที่ 30 กันยายน 2564 หรือก่อนวาระเกษียณอายุราชการ และมีแพลม ๆ ผู้ชนะมาแล้วเช่น โครงการ GBAD ได้จรวดของอิสราเอล อะไรประมาณนั้น
แต่จนถึงวันนี้ เรายังไม่เห็นประกาศผู้ชนะของโครงการทั้งสามโครงการอย่างเป็นทางการเลย ซึ่งการประกาศผู้ชนะลงเว็บไซต์นั้นเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ไม่ประกาศก็ผิดกฎหมาย ดังนั้นเราจึงเชื่อว่า ข้าราชการของกองทัพอากาศที่ทำหน้าที่ด้านจัดซื้อจัดจ้าง และต้องมีความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.นี้ดี คงไม่ทำผิดกฎหมายเป็นแน่
ดังนั้นก็คงตีความได้ว่า ทั้งสามโครงการยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการจัดหา หรือผู้มีอำนาจยังไม่อนุมัติการจัดหานั่นเอง
ทั้งนี้มีข่าวลือกันว่า ผู้มีอำนาจในการจัดหาคนก่อนนั้น สุดท้ายแล้วไม่กล้าลงนามจัดหา เลยโยนเผือกร้อนให้กับผู้มีอำนาจคนใหม่ หรือมีอีกกระแสหนึ่งบอกว่า จริง ๆ ผู้มีอำนาจก็ลงนามแล้ว แต่ผู้มีอำนาจขั้นสูงขึ้นไปในกระทรวงไม่อยากเล่นด้วย เพราะเกมส์นี้ ถ้าลงนามจนถึงที่สุดแล้ว อาจถือได้ว่าความผิดสำเร็จ และกระบวนการการฟ้องร้องดำเนินคดีที่มีคนจ้องอยู่ก็จะเริ่มดำเนินการทันที โดยไล่ฟ้องคนที่มีลายเซ็นทุกคนในกระบวนการนั่นแหละ ดังนั้นเลยยังไม่มีใครกล้าเอาคอไปพาดเขียง เพราะดูแล้วน่าจะโดนปังตอสับแน่ ๆ แบบอุทธรณ์ลำบาก ไม่รู้จะสู้ยังไงให้รอดคุก ขนาดคนเก่ายังไม่กล้า คนใหม่หรือจะกล้า หรือถึงคนเก่ากล้า แต่คนที่สูงกว่าคนเก่าก็ไม่กล้าอยู่ดี เป็นได้ทั้งนั้น
ซึ่งข่าวลือสองข่าวนี้จริงหรือไม่เราก็ไม่อาจรู้ได้ ดังนั้นก็ฟังหูไว้หูแล้วกัน เพราะยังไม่มีเอกสารให้อ่านกันเหมือนรอบที่แล้ว ดังนั้นรอกันต่อไปว่า จะมีเอกสารหลุดในรอบสองให้ได้อ่านกันอีกหรือเปล่า
จริง ๆ ก็ได้ข่าวมาอีกว่า การรื้อที่ผ่านมา ฝ่ายการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านก็ไม่แฮปปี้ เพราะตอนมา Defense งบประมาณที่สภา กองทัพอากาศก็พูดเสียดิบดีว่าผ่านงบให้ผมเถอะ ผ่านแล้วมีคนไทยได้ประโยชน์ เกิดการจ้างงาน เงินหมุนเวียนในประเทศ ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านฟังแล้วก็เข้าท่า เลยยินดีให้ผ่านกันโดยไม่ตัด เพราะเมื่อเทียบกับเรือดำน้ำกองทัพเรือที่ไม่มีเอกชนไทยได้ประโยชน์ (ยกเว้นบริษัทนายหน้า) มันก็ดูดีกว่ามาก เขาเลยนัดกันไปยำเรือดำน้ำกันอย่างเดียว แต่พอปี 2564 ตอนใช้งบประมาณจริง กลับเขี่ยคนไทยออก เอาฝรั่งเข้า นักการเมืองก็งงสิว่าทำไมพูดอย่างแล้วทำอีกอย่าง พอถึงบางอ้อว่าคนพูดกับคนทำเป็นคนละคนกัน นักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลก็ไม่พอใจ เพราะรู้สึกเหมือนถูกข้าราชการหลอก ก็เลยมีคนจ้องจะเล่นงานเหมือนกันโดยใช้กลไกกรรมมาธิการต่าง ๆ ของรัฐสภา
กรณีนี้ก็คล้าย ๆ การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มนั่นแหละ ที่จู่ ๆ หลังขายซองแล้ว รฟม. กลับเปลี่ยน TOR จากต้องผ่านคุณสมบัติเชิงเทคนิคก่อนแล้วค่อยมาพิจารณาซองราคา และใช้เกณฑ์ราคาตัดสิน กลายเป็นใช้เกณฑ์ราคา 70% เกณฑ์เทคนิค 30% จนกลุ่ม BTS ไปฟ้องศาลปกครอง แล้วฟ้องชนะด้วย ทำให้ รฟม. ต้องยกเลิกการประมูลและเริ่มกระบวนการประมูลใหม่ไปเลย ซึ่งก็ยังไม่กล้าเดินหน้าต่อ เพราะกลุ่ม BTS ใช้ผลการฟ้องนี้ไปฟ้องเรียกค่าเสียหายต่ออีก จนเรื่องคาราคาซังกันแบบนี้แหละ
ยังดีที่ในกองทัพอากาศเขายังไม่ถึงขั้นไปฟ้องศาลปกครองกัน ไม่งั้นป่านนี้หลายคนที่เกษียณแล้ว สงสัยยังต้องขึ้นศาลกันอยู่เลย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ TAF อยากจะบอกก็คือ จะทำอะไรก็ทำสักทาง ถ้ากองทัพอากาศมั่นใจว่าถูกต้อง ผู้มีอำนาจก็ต้องกล้าลงนาม หรือกล้าไปคุยกับผู้มีอำนาจในกระทรวงว่าลงนามได้เลย มั่นใจว่าถูกต้อง การจัดหาจะได้ดำเนินการต่อไปได้ เพราะแม้จะเป็นงบในงประมาณในปี 2564 แต่โดยหลักแล้ว ถ้าการจัดซื้อจัดจ้างยังดำเนินอยู่ เราสามารถกรอกในระบบของกรมบัญชีกลางว่ากระบวนการยังดำเนินอยู่ ไม่ให้งบถูกพับไป แล้วดำเนินการต่อในปี 2565 ซึ่งคุยกับกระทรวงการคลังดี ๆ ก็สามารถยืดระยะเวลาในการดำเนินการได้จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 หรือ 6 เดือนหลังหมดปีงบประมาณเลย
ดังนั้นถ้ามั่นใจว่าถูกต้อง ก็ต้องกล้าลงนาม กล้าดันต่อไปให้สุด เพราะก็กล้าดัน กล้ารื้อ กล้าแก้มาขนาดนี้แล้ว ถ้าสุดท้ายมาถอนคันเร่งในช่วงเข้าเส้นชัยเพราะบอกว่ากลัวผิดกฎหมาย ก็ต้องถามว่า งั้นแปลว่ากระบวนการที่ผ่านมา มันชัดเจนว่าผิดกฎหมายแน่ ๆ ใช่ไหม แล้วถ้าผิด ทำไมถึงกล้าดันมาขนาดนี้
แต่ถ้าสุดท้ายยอมรับได้ว่าถ้าเซ็นแล้วผิดแน่นอน และกระบวนการดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องและผิดกฎหมาย ผู้มีอำนาจในปัจจุบันก็ต้องกล้าสั่งรื้อโครงการ รีเซ็ตใหม่ เปิดประมูลใหม่ให้ถูกต้อง ใช้ TOR และกระบวนการประมูลที่ผ่านการอนุมัติมาแล้ว ไม่ใช่ฉบับรื้อใหญ่ แล้วรีบเซ็น รีบทำให้จบ ก็เชื่อว่าจะผ่านไปได้
แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย ถึงเวลาแล้ว เงิน 3 พันล้านก็จะถูกคืนกลับไปให้กระทรวงการคลังเอาไปใช้อย่างอื่นต่อ ซึ่งจะว่าไปก็ดีเหมือนกัน เพราะเชื่อว่ากระทรวงการคลังคงจะเอาไปใช้กับอย่างอื่นที่เกินประโยชน์ต่อประเทศมากกว่า ยิ่งในภาวะโควิด Omicron กำลังมาใหม่แบบนี้ ไม่รู้จะออกหน้าไหน จะต้องล็อคกันอีกรอบไหมก็ไม่รู้ และก็จะเป็นบทเรียนให้กองทัพอากาศ ในการเสียเงิน 3 พันล้านไปฟรี ๆ แบบไม่ได้อะไรกลับมาเลย เพราะดันรื้อใหญ่ซะไม่เกรงใจ พ.ร.บ. ซะอย่างงั้น
ชายชาติทหาร กล้าทำก็กล้ารับ หรือกล้าแก้ไขให้มันถูกต้อง จะได้เลิกวุ่นวานกันสักที ตอนนี้เข้าสู่ช่วงต่อเวลาแล้ว อย่าให้ยาวไปจนถึงการยิงจุดโทษหรือถูกปรับแพ้เลยครับ
โพสนี้ในเพจของเรา