Social Media และสถานีโทรทัศน์ของเมียนมาร์เผยแพร่ภาพเรือดำน้ำชั้น Ming หรือ Type-035B ของกองทัพเรือจีนที่เดินทางมาถึงเมียนมาร์ ซึ่งได้รับชื่อว่า UMS Minye Kyawhtin (ตามชื่อพระเจ้ามังกะยอดินแห่งราชวงศ์ตองอู) ถือเป็นเรือดำน้ำลำที่สองของกองทัพเรือเมียนมาร์ต่อจากเรือชั้น Kilo หรือ UMS Minye Theinkhathu ที่ได้รับมอบจากอินเดียเมื่อไม่กี่ปีก่อน ซึ่งเมื่อรวมกับเรือดำน้ำชั้น Kilo มือหนึ่งที่อาจมีการจัดหาจำนวนสองลำและจะได้รับมอบในปี 2025 นั้น จะทำให้เมียนมาร์มีกองเรือดำน้ำที่แข็งแกร่งถึง 4 ลำเลยทีเดียว
Type-035B เป็นเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าของจีนซึ่งพัฒนามาจากเรือดำน้ำชั้น Type-033 หรือ Project 633 Romeo ของโซเวียต โดยรุ่นแรกประจำการในช่วงปี 1975 ส่วนรุ่น B ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดเริ่มประจำการในปี 2000 จนถึงปัจจุบัน โดยมีประจำการในกองทัพเรือจีนจำนวน 5 ลำ
ทั้งนี้ กองทัพเรือจีนได้มอบเรือดำน้ำมือสองให้กับประเทศอื่นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการทหาร โดยมอบเรือดำน้ำชั้น Type-035G ให้กับบังคลาเทศจำนวน 2 ลำมาแล้วเมื่อไม่กี่ปีก่อน และการที่กองทัพเรือจีนกำลังเริ่มทะยอยปลดประจำการเรือดำน้ำ Type-035B เพื่อนำเรือดำน้ำชั้นใหม่กว่าอย่าง Type-039A เข้าประจำการ ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่จีนจะนำไปมอบให้กับกองทัพเรือต่างประเทศเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์และสร้างอิทธิพลทางทหาร
Type-035B ซึ่งเป็นรุ่นใหม่กว่ามีขีดความสามารถในการยิงจรวดจากท่อตอปิโดว์ได้ โดยเรือมีอยู่ 6 ท่อยิงตอปิโดว์ที่หัวเรือ และ 2 ท่อท้ายเรือ บรรจุตอร์ปิโดได้ 14 ลูก ซึ่งหมายถึงสามารถบรรจุจรวดได้หลายลูกเช่นกัน โดยไม่ชัดเจนว่าเมียนมาร์จะได้รับจรวดหรือไม่และได้รับรุ่นใด แต่ถ้าเทียบเรือดำน้ำจีนที่ต่อช่วงเดียวกัน คือเรือชั้น Song นั้น จรวดที่ยิงได้ คือ YJ-82 (C-801 รุ่นยิงจากเรือดำน้ำ) หรืออาจจะอัพเกรดมาใช้จรวด CM-708UNB เหมือนเรือดำน้ำ S26T ของไทย ซึ่งมีขีดความสามารถยิงฝั่งได้ ระยะยิงไกล 290 กิโลเมตร
เนื่องจากการสร้างขีดความสามารถในด้านเรือดำน้ำต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 – 15 ปี สำหรับประเทศที่ไม่เคยมีเรือดำน้ำ มักจะเลือกจัดหาเรือดำน้ำมือสองจากต่างประเทศเพื่อทำการฝึกกำลังพล สร้างประสบการณ์ในการใช้งาน รวมถึงพัฒนาหลักนิยมและเทคนิคต่าง ๆ เพื่อนำความรู้ไปกำหนดความต้องการในการจัดหาเรือดำน้ำมือหนึ่งที่จะเป็นเรือดำน้ำที่ใช้งานจริงอีกครั้ง การจัดหาเรือดำน้ำมือสองของเมียนมาร์ก็น่าจะเป็นไปในแนวทางเดียวกันนี้
Type-035B จะเป็นเรือดำน้ำลำที่สองต่อจากเรือชั้น Kilo ซึ่งน่าจะเพียงพอในการสร้างขีดความสามารถด้านเรือดำน้ำและใช้งานในระยะสั้นและระยะกลางต่อไป โดยเมียนมาร์กำลังจัดหาเรือดำน้ำชั้น Kilo ใหม่จากรัสเซียจำนวนสองลำ ซึ่งเมื่อได้รับมอบแล้ว ก็อาจทำให้เมียนมาร์มีเรือดำน้ำรวมกันถึง 4 ลำเลยทีเดียว และจะเป็นเรือที่มีขีดความสามารถสูงกว่าเรือ Type-035G ของกองทัพเรือบังคลาเทศที่เมียนมาร์มีปัญหาขัดแย้งด้านพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลและเกิดความตึงเครียดหลายครั้ง
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของดุลอำนาจทางทหารระหว่างไทยและเมียนมาร์ ซึ่งพิจารณาจากทัพเรือภาคที่ 3 ของไทยที่ดูแลพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน
แม้ว่าเมื่อเทียบเรือ Type-035B ของเมียนมาร์กับเรือ S26T ของไทยนั้นจะพบว่าเรือ S26T ของไทยทันสมัยกว่าอยู่สองรุ่น เพราะ Type-035 ชั้น Ming ถูกพัฒนามาเป็น Type-039 ชั้น Song และพัฒนาต่อมาเป็น Type 039A ชั้น Yuan ซึ่งเป็นพื้นฐานของ S26T ของไทย และเมื่อพิจารณาว่าเรือชั้น S26T มีขีดความสามารถใกล้เคียงกับเรือชั้น Kilo ของรัสเซีย ก็แปลว่าเรือชั้น Ming ของเมียนมาร์มีเทคโนโลยีเก่ากว่าพอสมควร
แต่ทั้งนี้ ภารกิจในการค้นหาและต่อต้านเรือดำน้ำนั้นไม่ใช่ภารกิจหลักของเรือดำน้ำดีเซล-waahk การจะค้นหาและต่อต้านเรือดำน้ำจะใช้อากาศยานและเรือผิวน้ำเป็นหลัก ซึ่งเรือที่มีระบบปราบเรือดำน้ำที่ทันสมัยนั้นล้วนวางกำลังในฝั่งอ่าวไทยทั้งสิ้น ในฝั่งอันดามันมีเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชุด คำรณสินธุ 1 ลำ ติดตั้งโซนาร์ DSQS-21 และเรือชุดกระบุรี 1 ลำ ติดตั้งโซนาร์ SJD-5 และคาดว่าไม่ได้รับการปรับปรุง และไม่แน่ใจสภาพของโซนาร์ แต่มีข่าวว่ากองทัพเรืออาจพิจารณาส่งเรือชุดรัตนโกสินทร์ 1 ลำ ซึ่งติดตั้งโซนาร์ DSQS-21 ไปวางกำลังในฝั่งอันดามันปีหน้า
สำหรับอากาศยานนั้น กองทัพเรือไม่มีอากาศยานลาดตระเวนทางทะเลหรือ MPA ที่มีขีดความสามารถในการปราบเรือดำน้ำใช้งานหลังจากปลดประจำการ P-3T ไปแล้ว อากาศยานปราบเรือดำน้ำที่ใช้งานได้มีเพียง เฮลิคอปเตอร์ S-70B จำนวน 6 ลำ แต่ติดตั้งอุปกรณ์ Dipping Sonar ที่ใช้ในการค้นหาเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ
ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างไทยและเมียนมาร์ค่อนข้างต่ำ ทำให้ยังไม่ต้องกังวลมากนักในเร็ว ๆ นี้
ในกรณีสมมุติที่มีความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ เมื่อพิจารณาว่าการจะไล่ล่าทำลายเรือดำน้ำนั้นต้องใช้เรือผิวน้ำและอากาศยานเป็นหลัก ทำให้การส่งเรือดำน้ำไปวางกำลังที่อันดามันอาจไม่ได้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการไล่ล่าทำลายเรือดำน้ำมากนัก การส่งเรือผิวน้ำที่สามารถปราบเรือดำน้ำหรืออากาศยานไปจะได้ประโยชน์มากกว่า
แต่การวางกำลังเรือดำน้ำในพื้นที่ทัพเรือภาค 3 อาจส่งผลในทางอื่นคือ มีผลเชิงรักษาสมดุลกำลังรบในภาพรวม ซึ่งเป็นการกดดันการวางกำลังของเมียนมาร์ในกรณีที่เกิดความขัดแย้ง ให้ต้องระวังเรือดำน้ำของไทย
ทั้งนี้ สิ่งที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการค้นหาและปราบเรือดำน้ำให้กับกองทัพเรือได้อย่างแท้จริงก็คือเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลและเรือหลวงภูมิพลลำที่สอง ซึ่งการจัดหาเรือหลวงภูมิพลลำที่สองมีแนวโน้มความเป็นไปได้ต่ำกว่าเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลที่กองทัพเรืออาจจะของบประมาณจัดหาอีกครั้งในปี 2566 ซึ่งต้องตามกันต่อไปกว่าจะสำเร็จหรือไม่