Summary
- F-35 ราคา 80 ล้านเหรียญที่ #กองทัพอากาศ บอกเป็นราคาตัวเปล่าไม่รวมอะไหล่และอาวุธ และเป็นราคาที่กองทัพสหรัฐซื้อ กองทัพต่างชาติจะซื้อแพงกว่า
- การซื้อ #เครื่องบินขับไล่ ซื้อแค่ตัวเปล่าไม่ได้ ต้องซื้ออะไหล่ อุปกรณ์ การฝึก รวมถึงอาจต้องซื้ออาวุธด้วย ซึ่งปัจจุบันราคา F-35 ทั้งแพ็คเกจขายที่ลำละ 145 ล้านเหรียญสำหรับลูกค้า FMS
- ไม่เป็นความจริงที่ F-35 มีราคาถูกกว่าเครื่องบินรุ่นก่อนอย่าง F-16 เพราะ F-16 ราคาตัวเปล่าลำละ 54 ล้านเหรียญเท่านั้น
- ต้องนำราคาเครื่องบินบวกอุปกรณ์เทียบกับเครื่องบินบวกอุปกรณ์ อย่าเทียบราคาตัวเปล่ากับราคาเครื่องบินบวกอุปกรณ์
คำอธิบายของผู้บัญชาการทหารอากาศที่บอกว่า F-35 ราคาไม่แพงแล้ว คือมีราคาไม่เกิน 80 ล้านเหรียญเท่านั้น จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะราคา F-35 ลดลงจากลำละเกือบ 200 ล้านเหลือเพียง 80 ล้านเหรียญในล็อตการผลิตที่ 14 ของกองทัพสหรัฐ เนื่องจากจำนวนการผลิตที่มากขึ้นทำให้เกิด Economic of Scale เพียงแต่เรื่องจริงมีมากกว่านั้นที่กองทัพอากาศและผู้บัญชาการทหารอากาศยังไม่ได้ให้ข้อมูลมา
เพราะราคา 80 ล้านเหรียญคือราคาตัวเปล่าหรือ Fly-away Cost เท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่กองทัพอากาศสหรัฐจัดซื้อโดยตรงจากผู้ผลิตอย่าง Lockheed Martin และกองทัพสหรัฐก็ลงทุนหลายหมื่นล้านเหรียญไปกับการวิจัยเครื่องบินรุ่นนี้ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่กองทัพสหรัฐจะซื้ออาวุธได้ราคาถูกที่สุด
แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นลูกค้าต่างชาติที่ไม่ได้ร่วมวิจัย และจะต้องจัดหาผ่านโครงการ Foreign Military Sale หรือ FMS ราคาจะไม่ได้เท่านี้แน่นอน
ที่สำคัญคือ นี่คือราคาตัวเปล่า หมายถึงราคาเครื่องบินอย่างเดียว ไม่รวมอะไหล่ อุปกรณ์สนับสนุน โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และรวมถึงค่าใช้จ่ายการฝึกใด ๆ ทั้งสิ้น แปลว่าถ้าจ่ายราคานี้ ซื้อเครื่องบินได้อย่างเดียว ไม่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติการได้ พูดง่าย ๆ คือซื้อมาแต่บินไม่ได้นั่นเอง
ถ้าจะให้บินได้ต้องจ่ายเท่าไหร่?
เราจะลองเทียบง่าย ๆ กับประเทศอื่นที่ไม่ได้ร่วมวิจัยและเพิ่งจัดหาผ่านโครงการ FMS ไปอย่างโปแลนด์และฟิลแลนด์ที่เพิ่งลงนามจัดหาไปในปี 2563 และ 2564 ตามลำดับ ซึ่งทำให้ราคาจะไม่หนีจากกองทัพอากาศไทยถ้าสามารถจัดหาได้ภายในปี 2566 โดยทั้งสองประเทศจัดหา F-35 ได้ในราคาไล่เลี่ยกันคือราคาเฉลี่ยลำละ 145 ล้านเหรียญ ซึ่งรวมอาวุธ อุปกรณ์สนับสนุน โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และรวมถึงค่าใช้จ่ายการฝึกเข้าไปด้วย นั่นคือซื้อมาแล้วใช้งานได้ บินได้ รบได้นั่นเอง
ถ้าสมมุติจะไม่ซื้ออาวุธ ซื้อแต่เครื่องบินและอะไหล่อย่างเดียว ราคาก็จะอยู่ในระดับ 120 – 130 ล้านเหรียญสหรัฐต่อลำ นั่นหมายถึงราคาตัวเปล่า 80 ล้านเหรียญ ต้องบวกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมากเพื่อให้เครื่องบินใช้งานได้นั่นเอง
ดังนั้นสำหรับกองทัพอากาศไทย แม้ว่าจะซื้อเครื่องบิน F-35 ได้ในราคา 80 ล้าน แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกราว ๆ 40 – 50 ล้านเหรียญต่อลำสำหรับอะไหล่และอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงการฝึกเพื่อให้เครื่องบินทำการบินได้นั่นเอง
อีกประเด็นหนึ่งคือ การที่ผู้บัญชาการทหารอากาศกล่าวว่าราคาของเครื่องบินรุ่นเก่าอย่าง Gripen หรือ F-16 นั้นแพงกว่า F-35 แล้ว ก็ต้องพิจารณาให้ดีกว่าผู้บัญชาการทหารอากาศ นำราคาเดียวกันมาเปรียบเทียบกันหรือไม่
เพราะถ้าใช้กรณีของ F-16 เป็นตัวเปรียบเทียบ ถ้านำราคาตัวเปล่าของ F-16 มารวมกับค่าอะไหล่และอุปกรณ์ ไปเทียบกับราคาตัวเปล่าอย่างเดียวของ F-35 นั้น ราคาไม่หนีกันแน่นอน แต่ถ้าเทียบกับราคา F-35 พร้อมอะไหล่และอุปกรณ์ ราคาจะยังแพงกว่ามาก ดังนั้นเราต้องเอาราคาเดียวกันมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งการบอกว่าราคาของเครื่องบินอย่าง F-16 หรือ Gripen รุ่น C/D แพงกว่า F-35 เป็นการเทียบที่ไม่ถูกต้อง
อีกทั้ง ปัจจุบันกระทรวงกลาโหมสหรัฐได้กำหนดราคา Baseline ของ F-16 ที่จะขายให้กับต่างประเทศไว้แล้ว โดยมีราคาตัวเปล่าอยู่เพียงลำละ 54 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบแล้ว ถูกกว่า F-35 ที่มีราคาตัวเปล่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐอยู่ดี ไม่ได้แพงกว่า F-35 อย่างที่ผู้บัญชาการทหารอากาศแถลง

TAF ไมได้บอกว่า F-35 ไม่ดี
กลับกัน F-35 คือเครื่องบินที่ดีที่สุดในโลกที่กองทัพอากาศไทยจะสามารถซื้อได้ ณ ตอนนี้ ถ้ากองทัพอากาศไทยมี F-35 ก็จะทำให้เกิดความได้เปรียบทางเทคโนโลยีอย่างมหาศาลจริง ๆ
และ TAF ก็ยอมรับว่า กองทัพอากาศทำถูกต้องแล้วในการประกาศความตั้งใจในการจัดหามาให้ประชาชนรับทราบและถกเถียงก่อน ซึ่งถือว่ามีความเหมาะสมและถือเป็นการให้เกียรติประชาชน ไม่ใช่ไปแอบเซ็นเงียบ ๆ โดยประชาชนไม่รู้ มารู้อีกทีก็คือข่าวจากสื่อต่างประเทศเหมือนเหล่าทัพอื่น หรือต้องรอให้มีคนค้านก่อนค่อยพูด เพราะการพูดก่อนคือการชี้แจง แต่การพูดทีหลัง แม้จะพูดเหมือนกันมันกลายเป็นการแก้ตัว ความน่าเชื่อถือจะลดลง
แต่เราก็คิดว่ากองทัพอากาศต้องส่งสัญญาณและให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างครบถ้วน แม้ว่าที่พูดนี้จะถือว่ามากแล้ว แต่ก็ควรพูดให้หมด และพูดให้ถูกต้องตรงประเด็น รวมถึงให้ข้อมูลที่รอบด้าน อย่าบอกข้อมูลบางส่วนและเก็บข้อมูลบางส่วนเอาไว้ไม่ยอมบอกประชาชน
เพราะโลกสมัยนี้ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะหาข้อมูลมาเปรียบเทียบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทัพอากาศกำลังจัดหาเครื่องบินจากสหรัฐ ซึ่งประเทศสหรัฐและยุโรปมีข้อกำหนดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อป้องกันการทุจริต บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ต้องชี้แจงข้อมูลให้กับนักลงทุนทราบอยู่แล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากองทัพอากาศได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลให้จัดหา F-35 จริง ๆ รัฐบาลสหรัฐก็ต้องแจ้งต่อสภาคองเกรสเพื่อให้สภาคองเกรสรับทราบ ซึ่งเอกสารการแจ้งจะมีรายละเอียดครบถ้วนทั้งหมดอยู่แล้ว
ดังนั้นจึงไม่เป็นประโยชน์ถ้าจะบอกข้อมูลเพียงบางส่วน หรือจงใจบอกข้อมูลด้านเดียวที่อาจจะชักจูงให้สาธารณชนเข้าใจผิดได้ และมันจะกลายเป็นจุดที่ทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยโจมตีกองทัพอากาศได้ และจะส่งผลเสียทำให้โครงการถูกกระแสคัดค้านจนไม่ผ่านการพิจารณาอยู่ดีครับ
บทความนี้ในเพจของเรา