กองทัพเรืออาจเลื่อนเรือดำน้ำ รอบ 4 แล้วจะมีอะไรมาแทน?

มีกระแสข่าวออกมาบอกว่า ผู้บัญชาการทหารเรือตัดสินใจที่จะไม่เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ S26T ลำที่สองและสามให้กับรัฐบาลและรัฐสภาพิจารณาเพื่อของบประมาณในปี 2566 ซึ่งจะถือเป็นครั้งที่ 4 ที่มีการเลื่อนโครงการจัดหาเรือดำน้ำลำที่สองและสามออกไป หลังจากที่เลื่อนครั้งแรกในปี 2563 เนื่องจากรัฐบาลดึงงบประมาณกลับ และอีกสองครั้งที่มีการเลื่อนในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏรหลังจากมีเสียงคัดค้านเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ยังไม่แน่ใจว่ากองทัพเรือจะเสนอโครงการใดที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ให้รัฐบาลและรัฐสภาพิจารณา ซึ่งนอกจากเรือดำน้ำทั้งสองลำแล้ว ยังมีโครงการเรือฟริเกตลำที่สองต่อจากเรือหลวงภูมิพลฯ มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท และโครงการเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลจำนวน 3 ลำ มูลค่า 1 หมื่นล้านบาทที่ยังรอดำเนินการอยู่ หรือโครงการที่มีขนาดเล็กกว่าหลายโครงการ ซึ่งต้องรอความชัดเจนต่อไปในช่วงการเสนอของบประมาณที่เราน่าจะทราบความชัดเจนในเร็ววันนี้

ทางด้านงบประมาณปี 2566 คาดว่าจะลดลงอีกเมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งน่าจะส่งผลให้งบระมาณของกระทรวงกลาโหมลดลงต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 3 นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโคสวิด-19


TAF คิดว่ากองทัพเรือตัดสินใจได้ถูกต้องในการไม่เสนอเรือดำน้ำในตอนนี้

เพราะโครงการเรือดำน้ำกลายเป็นโครงการ “เรียกแขก” ที่เมื่อถูกพูดถึงทีไรจะเรียกเสียงวิจารณ์ได้ทั่วทุกสารทิศ ซึ่งมีทั้งคำวิจารณ์ที่ฟังได้และสมเหตุสมผล และคำวิจารณ์ที่ปราศจากความเป็นจริงหรือข้อเท็จจริง ซึ่งมุมหนึ่งก็เกิดมาจากการขาดการทำความเข้าใจกับประชาชนมาตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อมาทำความเข้าใจช่วงใกล้การพิจารณางบประมาณก็ไม่ทันการแล้ว

การเลื่อนโครงการเรือดำน้ำสองครั้งหลังสุดวาระที่สองของการพิจารณาของกรรมาธิการงบประมาณปี 2564 และ 2565 นั้นทำให้กองทัพเรือ “เสียค่าเลื่อน” ไปมากกว่า 4 พันล้านบาท

ค่าเลื่อนตรงนี้เป็นการเปรียบเทียบ เพราะมันคือการที่งบประมาณของกองทัพเรือถูกยึดไปเข้ากองกลาง หลังจากที่รัฐบาลตัดสินใจถอนข้อเสนอของบประมาณในการจัดซื้อเรือดำน้ำ เนื่องจากทนเสียงวิจารณ์จากประชาชนไม่ไหว เงินที่เตรียมไว้สำหรับซื้อเรือดำน้ำในงวดจ่ายรอบแรกจึงถูกนำไปแปรญัตติเป็นโครงการอื่น ซึ่งถือว่ากองทัพเรือเสียโอกาสในการใช้งบประมาณจำนวนนี้ไปแล้ว จากการสั่งถอยของรัฐบาล

เงินจำนวนนี้ สามารถอัพเกรดเรือได้ลำสองลำเลยทีเดียว

ในมุมหนึ่ง กองทัพเรือก็มองว่า กองทัพเรือควรจะได้จัดหาเรือดำน้ำทั้งสองลำ เนื่องจากกองทัพเรือก็ไปจัดสรรงบประมาณจนสามารถจ่ายค่าเรือดำน้ำได้แล้ว โดยเฉพาะงวดหลังที่ไปเจรจากับจีนจนเงินจ่ายงวดแรกน้อยลงเหลือแค่ 900 ล้านบาท และการที่รัฐบาลอนุมัติให้กองทัพเรือเสนอโครงการนี้เข้าไปให้สภาพิจารณา ก็แปลว่ารัฐบาลเห็นชอบด้วย

แต่กลับกันเมื่อเกิดเสียงวิจารณ์อย่างหนาหู โดยเฉพาะในประเด็นที่ประเทศยังต้องกู้เงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลกลับต้องการซื้อเรือดำน้ำ ทำให้รัฐบาลชิงถอนข้อเสนอออกไปเสียก่อน ถือว่าเป็นการวางแผนที่ผิดพลาดติดกันสองครั้งของกองทัพเรือและรัฐบาล

การเลื่อนในครั้งนี้จึงเหมาะสมแล้ว เพราะถ้าดันทุรังเสนอไป ก็มีแต่เรียกแขกเก่า ๆ กลับมาค้านให้กองทัพเรือเสียเงินฟรี ๆ ไปเหมือนเดิม สู้ไม่ดึงดันแล้วเสนอโครงการอื่นที่พอมีลุ้นได้มากกว่าเข้าไปแทนดีกว่า

และก็ไม่รู้ว่าจะเป็นรายการ “เอาคืน” ของผู้บัญชาการทหารเรือคนปัจจุบันคือพลเรือเอกสมประสงค์ นิลสมัย หรือเปล่า เพราะเคยถูกพลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ ย้ายออกนอกกองทัพเรือมาก่อนที่จะข้ามกลับมารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือได้สำเร็จ และเริ่มมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย จัดโผโยกย้าย หรือแม้แต่ปรับภูมิทัศน์รื้อต้นไผ่ที่ปลูกในสมัยพลเรือเอกลือชัยออก และเป็นที่ทราบกันว่า โครงการเรือดำน้ำเป็นเหมือน Pet Project ของพลเรือเอกลือชัยที่มีความสัมพันธ์อันดีกับทางจีนอยู่แล้ว


ระหว่างนี้ กองทัพเรือจะทำอย่างไรดี

อย่างแรกที่ TAF อยากขอร้องคือ “อย่าเงียบ” แม้จะอดได้เรือดำน้ำ แต่ก็ต้องชี้แจงประชาชนให้ต่อเนื่องว่ากองทัพเรือคิดว่าเรือดำน้ำจำเป็นอย่างไร สำคัญยังไงกับประเทศ อะไรที่เป็นการเข้าใจผิด ต้องพูดเรื่อย ๆ แม้ว่าจะยากที่จะเปลี่ยนก็ต้องทำ เนื่องจากกองทัพเรือแทบไม่เคยพูดเลย เก็บเอาไว้เป็นความลับทางการทหาร ให้ฝ่ายคัดค้านพูดอย่างเดียวจนประชาชนเชื่อหมดแล้ว พอกองทัพเรือเพิ่งมาพูดตอนใกล้ ๆ ก็สายไปแล้ว

TAF ย้ำว่า การจะจัดซื้อยุทโธปกรณ์อะไร ต้องจัดซื้อผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ นั่นคือต้องชี้แจงกับประชาชน เพราะไม่ว่ายุทโธปกรณ์นั้นจะเลอเลิศสักเพียงใด สงครามแรกที่ต้องรบ ก็คือสงครามการเอาชนะใจประชาชนผ่านหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อต่าง ๆ นั่นเอง

ทางทีดีควรชิงพูดก่อนเลยว่าอยากได้อะไร ให้เป็นข่าวก่อนเลยไม่ต้องกลัว เพราะช้าเร็วยังไงก็ต้องเป็นข่าว แต่ถ้าเป็นข่าวด้วยการนำเสนอข้อมูลของเราเอง จะควบคุมได้ง่ายกว่าการมาชี้แจงตอนเกิดเรื่องแล้ว อย่างเช่นการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 ของกองทัพอากาศ ที่ ณ ตอนนี้เสียงด่าน้อยกว่าอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเรือดำน้ำ

หมดเวลาเอาหล่อหรือเล่นบทพระเอกถูกผู้ร้ายเล่นงานแล้ว ต่อไปนี้กองทัพเรือต้องมีแผนการเล่น เซ็ตเกมส์ให้เป็น ครองบอลให้ได้ เพื่อจะทำประตู คือต้องชี้แจงทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง มันต้องใช้เวลาเพราะที่ผ่านมาพูดน้อยมาตลอด แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย ชาตินี้ก็จะไม่มีวันได้กองเรือดำน้ำที่สมบูรณ์สักที

และตอนนี้อาจจะต้องมาคิดจริงจังแล้วว่า ถ้าสุดท้ายจริง ๆ กองทัพเรือได้เรือดำน้ำเพียงแค่หนึ่งลำ จะทำยังไงดี เพราะตอนผู้ผลิตจากจีนมาเสนอก็พูดชัดเจนว่า S26T จะปฏิบัติการได้สมบูรณ์แบบเหนือเรือดำน้ำคู่แข่งนั้น ต้องมีสามลำ ถ้ากองทัพเรือซื้อสองลำ ก็จะขอแถมเพิ่มอีกหนึ่งลำ (หรือจะเรียกว่าขายพ่วงพร้อมกันสามลำก็ได้)

กองเรือดำน้ำก็จะเป็นกองเรือที่มีเรือลำเดียวเหมือนกองเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ ก็ต้องพยายามใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และถ้าได้เรือมาแล้ว ก็เผยแพร่บอกกล่าวบ่อย ๆ ว่าเรือดำน้ำลำเดียวของกองทัพเรือไปทำอะไรบ้าง เพื่อที่คนจะได้เห็นว่า มันใช้ประโยชน์อะไรได้ พอขุดโครงการมาทำใหม่ เสียงค้านจะได้น้อยลงบ้าง


แล้วถ้าไม่ซื้อเรือดำน้ำ จะซื้ออะไร

ในทางอุดมคติแล้ว TAF ก็อยากให้กองทัพเรือใช้เงินไปซื้ออะไรที่คนไทยได้ประโยชน์ เพราะในภาวะวิกฤติแบบนี้ ความมั่นคงอะไรก็ไม่สำคัญเท่าความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจ ถ้าใช้เงินสำหรับความมั่นคงทางการทหารมาสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ ก็จะมีข้ออ้างได้มากขึ้นในการซื้ออาวุธ แบบโครงการ AT-6TH ของกองทัพอากาศ ที่ไม่ถูกนักการเมืองในสภาตัดเงินสักบาท เพราะไปบอกนักการเมืองว่าซื้ออาวุธแล้ว เกิดการจ้างงาน ได้เงินเข้าประเทศด้วย

เรือชุดเรือหลวงภูมิพลจริง ๆ แล้วต้องมีสองลำ ตอนนี้มีมาแล้วหนึ่งลำ อีกลำหนึ่งที่กองทัพเรือมีโครงการจะต่อในประเทศมันก็มีข้ออ้างได้อีกอย่างในแง่ของการเป็นเรือฟริเกตุปราบเรือดำน้ำ ก็พอต่อรองได้ว่า เรือดำน้ำไม่ได้ ก็ควรมีเรือปราบเรือดำน้ำมาให้ใช้งานเพิ่ม

ถ้าสมมุติกองทัพเรือเสนอโครงการต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งหรือ OPV หรือแม้แต่ขอต่อเรือฟริเกตุลำที่สองในประเทศไทย TAF จะช่วยเชียร์ให้ไม่กั๊กแน่นอน เพราะเงินจำนวนมากจะหมุนในประเทศไทย ช่วยทำให้อู่ในประเทศไทยหลายอู่มีงานทำในภาวะแบบนี้ หลังจากที่งานหายไปเป็นจำนวนมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ถือเป็นการรักษาตำแหน่งงานในไทย และส่งเสริมอุตสาหกรรมของไทยด้วย กองทัพก็ได้เรือรบใหม่ด้วย ข้อดีเยอะมาก

หรือจะไปพิจารณาจัดหายานเกราะของคนไทย ซึ่งกองทัพเรือมีอัตราอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น R600 ของบริษัทพนัส แอสเซมบลี First Win ของบริษัทชัยเสรี หรือแม้แต่ AAPC ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ก็ถือว่าใช้ได้เหมือนกัน เพราะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ และตอนนี้มีแต่เรือ รถสะเทินน้ำสะเทินบกมีไม่พอจะใส่ในเรือ

หรือถ้าจะกลับไปเอาโครงการเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลมาทำใหม่ก็อาจจะพอฟังได้ สามารถไปอ้างกับคนให้เงินทั้งรัฐบาลและสภาว่า กองทัพเรือยินดีไม่ซื้อเรือดำน้ำ แต่ก็ขอให้ซื้อเครื่องบินปราบเรือดำน้ำเถอะ ถือว่าแทนกันไป เพราะตอนนี้ไม่มีอะไรไปหาเรือดำน้ำเลย มันก็อาจจะพอฟังขึ้นบ้าง ถ้าจะให้บริษัทคนไทยร่วมบูรณาการณ์ระบบด้วยก็จะดีและได้ผลคล้าย ๆ กับต่อเรือในประเทศไทยเช่นกัน

หมดจากนี้ก็คงเป็นโครงการย่อย ๆ เช่น การจัดหาเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงขนาดใหญ่ 3 ลำ การจัดหายานเบาะอากาศ 2 ลำ หรือการปรับปรุงเรือต่าง ๆ เช่นเรือฟริเกตุ เรือตรวจการณ์ เรือล่าทำลายทุ่นระเบิด เหล่านี้เป็นต้น โครงการเหล่านี้อยู่ในหลัก 3 พันล้านลงมาทั้งสิ้น กองทัพเรืออาจหยิบมาสักโครงการหนึ่งเพื่อเสนอไปก็ได้

แต่ไม่ว่าอย่างไร รอบนี้ต้องคุยกันดี ๆ กับทั้งผู้บังคับบัญชาคือรัฐบาล คนให้เงินคือนักการเมืองในสภา และเจ้าของเงินคือประชาชน ถ้าไม่ยอมคุยให้ครบทุกฝ่าย จะซื้อดินสอสักแท่งก็ยังยากเลยครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.