หนังสือพิมพ์บางกอกโพสรายงานแหล่งข่าวจากคณะรัฐมนตรีที่ระบุว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนงานให้กองทัพอากาศจัดหาเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ โดยเริ่มจัดหา 4 ลำแรกตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 เป็นต้นไป ใช้งบประมาณ 1.38 หมื่นล้านบาท
โฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนของกองทัพอากาศนี้ได้อยู่ในคำของบประมาณปี 66 ของกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะเสนอต่อสภาพิจารณา และกองทัพอากาศจะได้เตรียมการชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
โดยระหว่างนี้กองทัพอากาศได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษารวบรวมข้อมูลและจัดทำความต้องการของโครงการ โดยมี พลอากาศเอก ธนศักดิ์ เมตะนันท์ รองผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นประธานพิจารณา
โฆษกกองทัพอากาศ
โฆษกกองทัพอากาศกล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการจัดหาเครื่องบินสมรรถนะสูงทดแทน ต้องใช้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงมีความพร้อมสามารถปฏิบัติภารกิจตามแผนป้องกันประเทศได้ ต้องใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 10-12 ปี และจะอยู่ประจำการในกองทัพต่อไปอีกประมาณ 40 ปี
TAF คาดว่าการอนุมัตินี้คือการอนุมัติให้บรรจุโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศเข้าไปในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2566 ซึ่งหมายถึงคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับแผนงานที่กองทัพอากาศเสนอ เพื่อรวมเข้าไปยังร่างกฎหมายที่จะขออนุมัติจากรัฐสภาต่อไป
งบประมาณจำนวน 1.38 หมื่นล้านบาทสำหรับเครื่องบิน 4 ลำ เป็นไปตามที่เราเคยวิเคราะห์ไว้ว่านี่คือโครงการเฟสแรกในจำนวน 2 – 3 เฟสของเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นงบประมาณที่รวมอะไหล่และอุปกรณ์สนับสนุนหรือไม่ และมีการตัดอุปกรณ์ใดใน F-35 ออกไปบ้างหรือไม่ แต่คาดว่าจะไม่รวมการจัดหาอาวุธเข้ามาด้วย โดยเมื่อคิดจากค่าเงินบาทในปัจจุบัน จะเท่ากับว่ากองทัพอากาศต้องการจัดหาเครื่องบินที่ลำละ 105 ล้านเหรียญสหรัฐ
การผูกพันงบประมาณ 4 ปี คือตั้งแต่ปี 2566-2569 น่าจะเป็นการแบ่งจ่ายราวปีละ 3,450 ล้านบาท
TAF สอบถามยังไป Lockheed Martin ซึ่งเป็นผู้ผลิต F-35 โดยคุณ Shorbani Roy หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรประจำทวีปเอเชียของ Lockheed Martin ไม่ได้ให้ความเห็นต่อรายงานข่าวที่กองทัพอากาศไทยประกาศว่าต้องการจัดหา F-35 เข้าประจำการ
“คำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจจัดหา F-35 ของประเทศไทยนั้นควรจะเป็นรัฐบาลไทยเป็นผู้ให้คำตอบ และคำถามเกี่ยวกับการจัดหา F-35 ผ่านโครงการ Foreign Military Sale นั้นควรจะเป็นรัฐบาลสหรัฐเป็นผู้ให้คำตอบ อย่างไรก็ตาม ขอเชิญให้ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับ F-35 เข้าไปหาข้อมูลใน http://www.f35.com ได้”
Shorbani Roy
Saab ซึ่งถูกระบุโดยกองทัพอากาศว่าเครื่องบินขับไล่ Gripen มีราคาแพงกว่า F-35 นั้น ยังไม่ตอบคำถามของ TAF ในขณะที่เราเขียนบทความนี้
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแล้ว ขั้นต่อไปคือการส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยคาดว่าคณะรัฐมนตรีก็จะอนุมัติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2566 ในภาพรวมได้ในมีนาคม 2565 หรืออย่างช้าคือเมษายน 2565
ขั้นตอนต่อไปคือการเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรซึ่งจะพิจารณากันสามวาระ วาระแรกน่าจะพิจารณากันได้ราว ๆ เดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งเมื่อรับหลักการในวาระแรกแล้ว สภาผู้แทนราษฎรก็จะตั้งกรรมาธิการงบประมาณมาพิจารณากันในวาระสอง
วาระสองจะเป็นตัวชี้ชะตา เพราะส่วนใหญ่โครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานราชการจะโดนตัดกันในวาระนี้ อย่างเช่นเรือดำน้ำของกองทัพเรือก็ถูกถอนข้อเสนอของบประมาณในวาระนี้ไปเมื่อในการพิจารณางบปี 2564 และ 2565 โครงการที่ถูกตัดก็จะตกไป งบประมาณที่กันไว้สำหรับโครงการเหล่านั้นก็จะถูกดึงออกไปรวมกันเพื่อแปรญัตติอีกครั้ง ซึ่งอาจนำไปให้กระทรวงอื่น หรือให้เป็นงบกลาง
ผ่านวาระสองก็จะเข้ามาพิจารณาวาระสามในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่จะพิจารณาร่างในภาพรวมและอภิปรายสงวนคำแปรญัตติ ซึ่งน่าจะผ่านไม่เกินเดือนสิงหาคม 2565
หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งไม่มีการแก้ไขเท่าใดนัก ขั้นสุดท้ายคือร่างจะรอลงพระปรมาภิไธยในราวเดือรกันยายนหรืออาจจะล่าช้าไปราวตุลาคม 2565 ซึ่งถ้าผ่าน เมื่อถึงปีงบประมาณ 2566 ก็จะทำการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบ FMS อีกครั้ง
โดยตอนนี้จะต้องมีอีกขั้นตอนหนึ่งที่แยกกันก็คือ กองทัพอากาศต้องยื่น Letter of Request ผ่าน JUSMAG ว่าต้องการจัดหา F-35 ผ่านระบบ Foreign Military Sale หรือ FMS ไปให้สหรัฐพิจารณา และทำการเจรจาข้อมูลทางเทคนิคและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ไทยต้องการ ก่อนที่จะลงนามใน Letter of Offer and Acceptance
ซึ่งทางฝ่ายสหรัฐ ผู้ที่จะพิจารณาว่าจะขาย F-35 ให้ไทยหรือไม่คือกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ และมีกระทรวงกลาโหมของสหรัฐให้ความเห็นควบคู่กัน ถ้ารัฐบาลสหรัฐเห็นด้วยในการขาย ก็จะมีการแจ้งการอนุมัติการขายต่อสภาคองเกรส โดยจะระบุรายละเอียดของอาวุธและอุปกรณ์ที่จะขายให้ไทย รวมถึงมูลค่าสูงสุดที่เป็นไปได้ โดยสภาคองเกรสจะมีเวลา 30 วันที่จะคัดค้าน ถ้าไม่คัดค้าน รัฐบาลสหรัฐก็จะสามารถอนุมัติการขายได้ต่อไป
การขายผ่าน FMS คือการกลไกการขายอาวุธที่กองทัพสหรัฐจะเป็นผู้บริหารโครงการให้ โดยมีค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการ และสามารถร้องขอให้กองทัพสหรัฐฝึกกำลังผลให้กับลูกค้าต่างชาติได้เช่นกัน โดยชาติลูกค้าจ่ายค่าใช้จ่ายในการฝึก ถ้าลูกค้าต้องการ สามารถกู้เงินผ่านกลไกการสนับสนุนการขายอาวุธได้ หรือในกรณีพิเศษ สหรัฐอาจให้เงินอุดหนุนการซื้ออาวุธในสัญญา FMS เป็นการเฉพาะก็ได้เช่นกัน