ไม่ว่า #กองทัพอากาศ ไทยจะซื้อ F-35 ได้ราคาถูกอย่างที่ผู้บัญชาการทหารอากาศพูดไว้จริงหรือไม่ (เพราะถ้าจริงก็ดีมาก ๆ) แต่สิ่งหนึ่งที่กองทัพอากาศไม่สามารถขอลดราคาได้ สหรัฐอเมริกาไม่สามารถช่วยกองทัพอากาศไทยได้ เพราะแม้แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังพยายามแก้ปัญหาอยู่ นั่นคือค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการต่อชั่วโมงของ F-35 ที่สูงถึง 33,000 เหรียญ หรือเท่ากับโยน Honda Civic ตัวท็อปทิ้งไป 1 คันต่อการบิน 1 ชั่วโมง
โดยปกติ กองทัพอากาศสหรัฐตั้งเป้าหมายที่จะให้นักบินขับไล่ของกองทัพอากาศสหรัฐมีชั่วโมงบินที่เหมาะสมราว 19-21 ชั่วโมงต่อเดือน หรือ 228-252 ชั่วโมงต่อปี ในปีที่ผ่านมากองทัพอากาศสหรัฐทำได้ที่ 17.6 ชั่วโมงต่อเดือน หรือ 211 ต่อปี ซึ่งกองทัพอากาศสหรัฐกล่าวว่ายังไม่เพียงพอที่จะทำให้นักบินมีขีดความสามารถที่เหมาะสม
ปัญหาสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ชั่วโมงบินของนักบินกองทัพอากาศสหรัฐลดลงเนื่องจากอากาศยานที่ใช้มีอายุมากขึ้น ต้องทำการซ่อมบำรุงมากขึ้น และสัญญาค่าซ่อมบำรุงอากาศยานแบบใหม่ที่ทำกับเอกชนนั้นเป็นสัญญาแบบ Performance based ซึ่งคิดราคาตามชั่วโมงบินที่ใช้จริง ยิ่งบินมาก ยิ่งจ่ายมาก และค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงอากาศยานแบบใหม่ ๆ มีราคาแพง
การมาถึงของ F-35 ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก เพราะแม้เพนตากอนจะประสบความสำเร็จในการเจรจาลดราคาตัวเปล่าของเครื่องบิน (Fly-away cost) ลงจนค่อนข้างน่าพอใจแล้ว คือมีราคาราว 80 ล้านเหรียญต่อลำ แต่ค่าใช้ยังไม่ประสบความสำเร็จในการลดลงก็คือค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการ การซ่อมบำรุง และโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายต่อชั่วโมงบิน ซึ่งสหรัฐอเมริกาเรียกโดยรวมว่า Sustainment cost
จากคำของบประมาณของกองทัพสหรัฐเพื่อใช้ในปี 2022 กองทัพอากาศสหรัฐต้องตัดชั่วโมงบินโดยรวมของนักบินทั่วกองทัพอากาศจากปี 2020 ที่ 1.33 ล้านชั่วโมง 1.24 ล้านชั่วโมงในปี 2021 และเหลือ 1.15 ล้านชั่วโมงในปี 2022 โดยให้เหตุผลว่าต้องการนำงบประมาณใช้ไปในการซ่อมบำรุงและสนับสนุนระบบอาวุธต่าง ๆ และแม้กระนั่น กองทัพอากาศสหรัฐก็ยังประสบปัญหาค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเกินงบประมาณไปถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
ในรายงานของ Government Accountability Office (GAO) หรือสำนักงานผู้ตรวจการของรัฐบาลที่รายงานต่อคณะกรรมาธิการทหารของสภาคองเกรสซึ่งนำมาจากสำนักงานร่วมของโครงการ F-35 นั้นให้ตัวเลขที่น่าตกใจกว่านั้น โดยเฉพาะกับ F-35 เพราะมีการเปิดเผยว่าค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการของ F-35A สูงกว่าตัวเลขที่ตั้งเอาไว้กว่า 47% คือสูงถึง 7.8 ล้านเหรียญสหรัฐต่อลำต่อปี เทียบกับตัวเลขเป้าหมายที่ 4.1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อลำต่อปี ทั้งที่ตัวเลขความพร้อมรบของ F-35 ทุกรุ่นยังไม่สูงนัก (แม้ว่าจะดีขึ้นบ้างก็ตาม) คือความพร้อมในการบินอยู่ที่ 69% และความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจครบทุกภารกิจอยู่ที่ 39% ซึ่งนั่นหมายถึง F-35 จำนวน 100 ลำ จะมีเพียง 39 ลำเท่านั้นที่พร้อมปฏิบัติการรบ หรือถ้าคิดเฉพาะ F-35A ก็มีความพร้อมปฏิบัติภารกิจครบทุกภารกิจเพียง 54% ซึ่งหลุดจากเป้าหมายที่ 72% ของกองทัพอากาศสหรัฐ

GAO สรุปว่าเพนตากอนจำเป็นหาทางลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการให้ได้โดยเร็ว เพราะมิเช่นนั้นอาจจำเป็นต้องตัดลดจำนวนการสั่งซื้อ F-35 ลง เพื่อไม่ให้โครงการต้องใช้เงินจนเกินเป้าหมายมากไปกว่านี้ เพราะในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายทั้งหมดตั้งแต่ค่าจัดซื้อ ค่าปฏิบัติการ จนถึงปลดประจำการในปี 2080 สูงถึง 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือ 56 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐที่เคยประเมินไว้
ทางด้าน Lockheed Martin ซึ่งเป็นผู้ผลิตแถลงว่า 5 ปีทีผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จในการลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการลงได้ 40% เหลือ 33,000 เหรียญต่อชั่วโมง และมีเป้าหมายที่จะลดลงจนเหลือ 25,000 เหรียญต่อชั่วโมงภายในปี 2025
แต่ปํญหาก็คือ ค่าใช้จ่ายจะลดลงได้ ต้องเป็นการทำสัญญาพิเศษให้ Lockheed Martin ซ่อมบำรุงอากาศยานให้เท่านั้น ถ้าเป็นการซ่อมบำรุงเองของกองทัพหรือว่าจ้างบริษัทอื่น ค่าใช้จ่ายก็อาจไม่ลดลงได้มากเท่านี้
สำหรับกองทัพอากาศไทย แม้นักบินของกองทัพอากาศไทยจะไม่ได้มีชั่วโมงบินต่อปีมากเท่ากับนักบินของกองทัพอากาศสหรัฐ แต่ก็ถือว่า การมาของ F-35A ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า F-16AM/BM และ Gripen สองถึงสามเท่าจะส่งผลต่อความพร้อมรบและงบประมาณของกองทัพอากาศอย่างแน่นอน
เพราะถ้าใช้ตัวเลขของ GAO เป็นตัวคิดคำนวณ กองทัพอากาศไทยจะต้องจ่ายเงินค่าบำรุงรักษาและค่าปฏิบัติการที่ 257 ล้านบาทต่อลำต่อปี ในการจัดซื้อ 4 ลำแรก จะต้องจ่ายราว 1,028 ล้านบาทต่อปี หรือ 2,056 ล้านบาทต่อปีถ้าจัดหา 8 ลำ และถ้าจัดซื้อเต็มฝูง 12 ลำ จะต้องใช้งบประมาณถึง 3,084 ล้านบาทต่อปี
ตัวเลขนี้แทบจะเป็นตัวเลขที่กองทัพอากาศจ่ายค่าซ่อมบำรุงให้กับฝูงบินขับไล่ได้แทบทุกฝูงของประเทศไทย
หรือถ้าลองคิดเฉพาะค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการต่อชั่วโมง โดยใช้ตัวเลขของ Lockheed Martin มาเป็นฐานในการคิดคือ 33,000 เหรียญหรือ 1.089 ล้านบาทต่อชั่วโมงในปี 2021 และกำหนดให้ F-35 ของกองทัพอากาศไทยบินเพียงเดือนละ 5 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละราว 1.25 ชั่วโมง หรือ 60 ชั่วโมงต่อปี บวกภารกิจอื่น ๆ เช่นการลาดตระเวนในกรณีที่เกิดเหตุความขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน การบินขึ้นสกัดกั้นอากาศยานที่ไม่ระบุสัญชาติ หรืองานพิธีต่าง ๆ ให้อีกปีละ 10 ชั่วโมง รวมเป็น 70 ชั่วโมง จะได้ตัวเลขที่กองทัพอากาศไทยต้องจ่ายคือ 76 ล้านบาทต่อลำต่อปี
ดังนั้น F-35 จำนวน 4 ลำจะต้องจ่าย 304 ล้านบาทต่อปี 8 ลำจะต้องจ่าย 609 ล้านบาทต่อปี หรือ 12 ลำจะต้องจ่าย 912 ล้านบาทต่อปี สำหรับเครื่องบินแค่ฝูงเดียวซึ่งในกรณีนี้เป็นการคิดในกรณีที่กองทัพอากาศไทยว่าจ้าง Lockheed Martin ซ่อมบำรุง
และแม้ Lockheed Martin ตั้งเป้าที่จะลดค่าใช้จ่ายลงเหลือ 25,000 เหรียญหรือ 8.25 แสนบาทต่อชั่วโมงในปี 2025 และก็น่าจะลดลงอีกได้เล็กน้อยเมื่อนับจนถึงปี 2028 ซึ่งเป็นปีที่คาดว่ากองทัพอากาศไทยจะได้รับมอบเครื่องบินเข้าประจำการ แต่ทั้งหมดนี้ อยู่บนพื้นฐานที่ว่า กองทัพอากาศไทยต้องว่าจ้าง Lockheed Martin ซ่อมบำรุงให้เท่านั้น
แต่ถ้าต้องการซ่อมบำรุงเอง อาจจะใช้งบประมาณมากกว่านี้ ซึ่งในทางกลับกัน การว่าจ้าง Lockheed Martin ซ่อมบำรุงจะทำให้ช่างของไทยไม่มีขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงเอง ซึ่งก็จะส่งผลต่อความพร้อมรบถ้าปีไหนที่ไม่มีงบประมาณว่าจ้าง
ทั้งหมดนี้คือเรื่องนี้กองทัพอากาศต้องพยายามแก้ปัญหาถ้าจัดหา F-35 เข้ามา เพราะของดีไม่มีคำว่าถูก
F-35 คือหนึ่งในเครื่องบินรบที่ดีที่สุดในโลก ดังนั้นเราต้องมั่นใจว่าจะมีทรัพยากรและงบประมาณเพียงพอจะใช้งานได้ เพราะมิเช่นนั้นเราจะใช้งานมันได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ กองทัพอากาศอาจจำเป็นต้องของบประมาณจากรัฐบาลและรัฐสภาเพิ่มขึ้น ถ้าไม่ได้รับงบประมาณ ก็ต้องดึงงบประมาณที่มีอยู่มาใช้ และถ้า F-35 เพียง 1 ฝูง ต้องดึงทรัพยากรจากทุกฝูงบินไม่ว่าจะเป็นฝูงขับไล่ โจมตี ลำเลียง เฮลิคอปเตอร์ หรือ VIP มาเพื่อซ่อมบำรุง ก็อาจจะทำให้ความพร้อมรบโดยรวมของกองทัพอากาศลดต่ำลงได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในกรณีของกองทัพอากาศออสเตรียและ Eurofighter Typhoon มาแล้วครับ