กองทัพเรือพบปัญหาเครื่องยนต์ MTU ของเรือดำน้ำ S26T หลังจากที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรมหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยออกมาเปิดเผยประเด็นดังกล่าว
โดยนายยุทธพงศ์ได้กล่าวขอบคุณผู้บัญชาการทหารเรือที่ตัดสินใจเลื่อนการเสนอขอซื้อเรือดำน้ำลำที่สองและสามออกไป และเปิดเผยว่าในปัจจุบันเรือดำน้ำลำแรกที่กำลังต่ออยู่นั้นประสบปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ที่ทางประเทศผู้ผลิตคือเยอรมนียังไม่ออกใบอนุญาตส่งออกหรือ Export License ทำให้ยังไม่สามารถสั่งซื้อและติดตั้งเครื่องยนต์ลงในเรือดำน้ำได้ ซึ่งทำให้การส่งมอบเรือดำน้ำให้กับกองทัพเรือไทยล่าช้าออกไป
แหล่งข่าวกล่าวกับ TAF ว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แต่ถือเป็นปัญหาระหว่างอู่ต่อเรือของจีนและผู้ผลิตเครื่องยนต์ในเยอรมนี ซึ่งกองทัพเรือมีสัญญากับอู่ต่อเรือของจีนเท่านั้น การจัดหาเครื่องยนต์เป็นหน้าที่ของอู่ไปดำเนินการให้ได้ตามสัญญาที่ลงนามไว้กับกองทัพเรือ ซึ่งถ้าดำเนินการล่าช้าก็สามารถกำหนดค่าปรับได้
“ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องปกติในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ตรงนี้กองทัพเรือยังไม่ได้รับความเสียหายเพราะเรืออยู่ในระหว่างการต่อ ความล่าช้าในการส่งมอบเรือถ้าเป็นผลมาจากภาวะโควิด-19 ก็สามารถยกเว้นค่าปรับได้ แต่ถ้ามาจากสาเหตุอื่นก็อาจต้องมีการกำหนดค่าปรับ”
“ทั้งนี้ กองทัพเรือมีนโยบายรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ ถ้าซัพพลายเออร์ดำเนินการไม่ได้ก็ถือว่าทำผิดสัญญา เพราะตอนลงนามในสัญญาทางอู่จีนก็ยืนยันว่าสามารถจัดหาเครื่องยนต์จากเยอรมนีได้ ถ้าแก้สัญญาไปใช้เครื่องยนต์อื่นทันทีอาจทำให้กองทัพเรือเสียประโยชน์” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ ในสัญญากำหนดให้อู่ต่อเรือของจีนจัดหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำยี่ห้อ MTU เพื่อติดตั้งกับ S26T ของกองทัพเรือ ซึ่งเลือกเป็นเครื่องยนต์ที่ผลิตในเยอรมนีเท่านั้น ไม่ได้เลือกเครื่องยนต์ MTU ที่้จีนได้ลิขสิทธิ์ในการผลิตที่ประเทศจีน
แหล่งข่าวกล่าวว่าในปัจจุบันคณะกรรมการตรวจการจ้างของกองทัพเรือยังคงประชุมกับอู่ต่อเรือของจีนเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยจะพยายามยึดตามสัญญาที่ลงนามกันเอาไว้ และถ้าอู่ต่อเรือเจรจากับทางเยอรมนีให้ออก Export License มาติดตั้งเครื่องยนต์ในจีนไม่สำเร็จ ก็อาจพิจารณาทางเลือกอื่นเช่น ติดตั้งเครื่องยนต์นอกประเทศจีน หรือมาติดตั้งในประเทศไทยและทำการทดสอบในประเทศไทยเลย คล้ายกรณีของการต่อเรือชุดเรือหลวงนเรศวรที่กองทัพเรือมาทำการติดตั้งอุปกรณ์และระบบอาวุธของตะวันตกในประเทศไทยหลังจากที่ต่อเรือในจีนแล้ว
“แต่ทั้งหมดนี้ยืนยันว่ากองทัพเรือรักษาผลประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ เพราะรู้ดีว่าประชาชนจับต่อโครงการเรือดำน้ำของกองทัพเรืออยู่ ดังนั้นไม่มีนโยบายอุ้มซัพพลายเออร์อย่างแน่นอน ขอให้ประชาชนมั่นใจได้” แหล่งข่าวกล่าว
ต่อไปนี้คือความเห็นของ TAF
จริง ๆ แล้วเราคิดว่ากองทัพเรือเลือกได้ดีด้วยซ้ำที่เลือกเครื่องยนต์ MTU ของเยอรมนีมาติดตั้งกับ S26T เพราะกองทัพเรือมีความคุ้นเคยกับเครื่องยนต์ MTU อยู่แล้ว ดังนั้นจะง่ายกว่าในด้านความคุ้นเคยและการซ่อมบำรุง รวมถึงคุณภาพของเครื่องยนต์ MTU ก็อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว
ที่ผ่านมา Rolls-Royce เจ้าของบริษัท MTU ประกาศตั้ง Joint Venture กับบริษัท China Yuchai International ของจีนทำการผลิตเครื่อง MTU ในจีนมาตั้งแต่ปี 2017 แล้ว และกำหนดให้เครื่อง MTU ที่ขายในอาเซียนผลิตจากโรงงานในจีนด้วย
TAF ไม่แน่ใจว่ากองทัพเรือเลือกเครื่องยนต์รุ่นไหนใส่กับ S26T และไม่แน่ใจว่าเครื่องรุ่นนี้ผลิตในโรงงาน MTU จีนได้หรือไม่ และจะสามารถปรับสายการผลิตโรงงานในจีนมาผลิตเครื่องยนต์ MTU ที่ใช้ในเรือดำน้ำได้หรือไม่ แต่ถ้าจะแก้ไขสัญญาด้วยการให้ใช้ MTU ที่ผลิตในโรงงานในจีน เราก็คิดว่าไม่น่าเกลียด เพราะนี่คือโรงงานของ MTU ที่ร่วมทุนกับจีน ไม่ใช่จ้างจีนผลิต ดังนั้นคุณภาพและมาตรฐานก็น่าจะเท่ากับโรงงานของ MTU ในเยอรมนีอยู่แล้ว
ดังนั้นถ้าไม่ได้ Export License เครื่องยนต์ MTU ที่ผลิตในเยอรมนีจริง ๆ การขอ Export License เพื่อซื้อเครื่องยนต์ MTU ที่ผลิตในจีนจากโรงงานร่วมทุนของ MTU เองน่าจะเป็นทางออกที่ดีครับ