กองทัพเรือเสนอโครงการปี 66 ต่อเรือในประเทศ 3 ลำ ปรับปรุงเรือเก่า 2 ลำ

มีข่าวว่ากองทัพเรือจะเสนอโครงการจัดสร้างเรือตรวจการณ์ปืน เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง และปรับปรุงเรือชุดเรือหลวงปัตตานีให้รัฐบาลและรัฐสภาพิจารณาเพื่อของบประมาณในปี 2566

ข่าวนี้ถูกเผยแพร่ในคลิปการแถลงผลการปฏิบัติงานตามนโยบายผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ที่ต้องการเห็นผลใน 100 วันแรกของกองเรือยุทธการ กองทัพเรือ ที่ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการให้นโยบายหน่วยขึ้นตรงในการเสนอโครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพในปี 2566 เนื่องจากที่ผ่านมาการเสนอโครงการไม่มีกรอบที่ชัดเจน ทำให้ขาดกระบวนการพิจารณาที่เหมาะสมก่อนการเสนอกองทัพเรือ ซึ่งได้มีการปรับปรุงให้การเสนอโครงการมีความชัดเจนและสอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนากองทัพเรือด้านการเสริมสร้างกำลังรบ พ.ศ. 2560 – 2575

ซึ่งในคลิปได้ปรากฎภาพโครงการที่มีการขออนุมัติในปีงบประมาณ 2566 จำนวนสามโครงการคือ โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ปืน จำนวน 2 ลำ โครงการจัดหาเรือตรวจการไกลฝั่ง จำนวน 1 ลำ และโครงการปรับปรุงขีดความสามารถเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ชุด เรือหลวงปัตตานี จำนวน 2 ลำ


เรือตรวจการณ์ปืนที่คาดว่าจะเสนอโครงการคือเรือชุดเรือหลวงแหลมสิงห์ที่กองทัพเรือจัดหาเข้าประจำการแล้ว 1 ลำในปี 2559 ด้วยงบประมาณ 699 ล้านบาท ในการจัดหาแบบเรือ อุปกรณ์ และวัสดุลในการต่อจากบริษัท มาร์ซัน จำกัด และดำเนินการต่อโดยกรมอู่ทหารเรือตามแนวทางการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ และเป็นแบบเรือที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2561 ชองสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยเรือมีระวางขับน้ำ 520 ตัน ติดตั้งอาวุธปืนเรือขนาด 76/62 OTO Melara จำนวน 1 กระบอก ปืนกลขนาด 30 มม. MIS DS30 จำนวน 1 กระบอก และปืนกลขนาด .50 นิ้วจำนวน 2 กระบอก รวมถึงระบบควบคุมการยิง Mirador ของ Thales อีกด้วย

สำหรับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งนั้นปรากฎภาพเรือชั้น Khareef ของกองทัพเรือโอมาน ซึ่งใช้แบบเรือของบริษัท BAE Systems และเป็นแบบเรือที่ใกล้เคียงกับแบบเรือชั้น River ที่กองทัพเรือต่อเข้าประจำการสองลำคือเรือหลวงกระบี่และเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ แต่มีขนาดใหญ่กว่าคือราว 2,600 ตัน และมีข่าวว่า BAE Systems เสนอแบบเรือนี้ให้กับกองทัพเรือพิจารณาในงาน Defense and Security 2015 ซึ่งกองทัพเรือต้องการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ที่สามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางเช่น S-70B ได้ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการต่อในประเทศโดยบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของกองทัพเรือดำเนินการต่อ คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 6,500 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังมีโครงการปรับปรุงเรือชุดเรือหลวงปัตตานีที่ใช้งานมานานแล้ว แล้วมีข่าวว่าจะทำการปรับปรุงโดยคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 3,500 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นการติดตั้งจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำเพื่อชดเชยการขาดหายไปจากการปลดประจำการเรือชุดเรือหลวงราชฤทธิ์ ปรับปรุงระบบอำนวยการรบ ระบบเรดาร์ และระบบสื่อสารต่าง ๆ


TAF สนับสนุนทั้งสามโครงการนี้ของกองทัพเรือเป็นอย่างยิ่งครับ

ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ TAF มักจะบอกว่าเราไม่เห็นด้วยในการจัดหาอาวุธในโครงการขนาดใหญ่ถ้าโครงการเหล่านั้นไม่ส่งผลให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจของไทยด้วย

แต่ทั้งสามโครงการนี้ เป็นโครงการที่ดำเนินการในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการต่อเรือทั้งสองโครงการที่ใช้แรงงานและทักษะของบุคลากรในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมากองทัพเรือไม่มีโครงการต่อเรือในประเทศเลยมาเป็นเวลาหลายปี หลังจากที่เปลี่ยนไปจัดหาเรือขนาดใหญ่จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพล เรือยกพลขึ้นบกชุดเรือหลวงช้าง หรือเรือดำน้ำ ทำให้อู่ในประเทศขาดงานที่ต่อเนื่อง และทักษะของบุคลากรกองทัพเรือที่สร้างมาก็ขาดช่วงไปอีกครั้ง

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกอย่างที่จะผลิตในประเทศ เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องยนต์ ซอฟแวร์ต่าง ๆ ระบบอาวุธ หรือเหล็กที่้ใช้ในการต่อล้วนเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่การต่อเรือในประเทศจะทำให้เงินส่วนใหญ่ของโครงการอยู่ในประเทศ เพราะค่าใช้จ่ายจำนวนมากของการต่อเรือเกิดขึ้นในกระบวนการต่อคือค่าจ้างแรงงานในการต่อ ซึ่งในกรณีนี้เป็นคนไทยทั้งสิ้น

ในการต่อเรือขนาดใหญ่อย่างเรือ OPV จะต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ซึ่งจะไม่จำกัดอยู่แค่พนักงานของบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด เพราะเราคาดว่าจะเกิดการจ้างงานต่อให้กับอู่ในประเทศหลายอู่เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่กองทัพเรือต่อเรือหลวงกระบี่และเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ และในกรณีนี้เรือ OPV ลำใหม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น จำเป็นต้องใช้แรงงานและเครื่องมือมากกว่าเดิม ซึ่งผลประโยชน์จะอยู่กับกลุ่มอุตสาหกรรมการต่อเรือของไทยไปอีก 2 – 3 ปีเป็นอย่างน้อยอย่างแน่นอน ถือว่าโครงการนี้จะเข้ามาช่วยกู้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมต่อเรือไทยที่ซบเซามาหลายปีได้

หรือเรือหลวงแหลมสิงห์ที่จะต่อจำนวนสองลำ ถ้ากองทัพเรือดำเนินการต่อเอง 1 ลำ ก็สามารถให้เอกชนดำเนินการต่อไปพร้อมกันอีก 1 ลำได้ และสิ่งสำคัญของเรือหลวงแหลมสิงห์ก็คือ แบบเรือนี้เป็นแบบเรือที่คนไทยออกแบบเอง ดังนั้นงบประมาณส่วนใหญ่จะหมุนเวียนอยู่ในประเทศไทยอย่างแน่อน

ทั้งสามโครงการน่าจะรักษาการจ้างงานได้หลายร้อยตำแหน่งในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และจะมีงบประมาณที่ใช้จ่ายหมุนเวียนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านบาทตลอด 2 – 3 ปีข้างหน้า ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจของไทยได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท และทั้งสามโครงการเป็นการใช้งบประมาณในสัดส่วนของของกองทัพเรือเอง ไม่จำเป็นต้องของบประมาณจากส่วนกลางเพิ่ม

TAF จึงไม่เห็นว่าจะมีข้ออ้างใดที่จะไม่ดำเนินการโครงการของกองทัพเรือในปีนี้ รัฐบาลและรัฐสภาไม่ควรตัดงบประมาณของทั้งสามโครงการ เพราะจะเป็นโครงการใช้จ่ายทางทหารที่ส่งผลสองด้านทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจโดยตรง ซึ่งมีความเหมาะสมในการดำเนินการในสถานการณ์ปัจจุบันครับ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.