จีนอาจมอบเรือดำน้ำ ชั้น Song ให้กองทัพเรือ ฟรี 2 ลำ ข้อดีข้อเสียคืออะไร ควรรับหรือไม่

สองสามวันที่ผ่านมามีข่าวว่า นอกจากการที่ทางการจีนเสนอข้อเสนอให้กับกองทัพเรือไทยในการมอบเรือดำน้ำชั้น Ming จำนวน 2 ลำแล้ว กองทัพเรือไทยยังได้รับข้อเสนอในการมอบเรือดำน้ำชั้น Song จำนวน 2 ลำอีกด้วย

วันนี้ TAF จะลองมาวิเคราะห์กันว่า ข้อเสนอนี้คืออะไร ข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร และจะเกิดอะไรขึ้นถ้ากองทัพเรือรับหรือไม่รับข้อเสนอนี้ครับ


Ming, Song, Yuan, S26T แต่ละแบบคืออะไรกันแน่

Type-035 Ming เป็นเสมือนเรือดำน้ำที่เป็นจุดกำเนิดของเรือดำน้ำที่จีนพัฒนาเอง ซึ่งเรือชั้นนี้เป็นการลอกแบบเรือชั้น Project 633 Romeo หรือ Type-033 นำมาปรับปรุงและออกแบบใหม่ในหลายจุด ทำให้มีความแตกต่างจาก Type-033 เดิม เรือชั้นนี้มีหลายรุ่น แต่เวลาเรียงตามรุ่นใหม่และรุ่นเก่าจะไม่ได้เรียงตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ โดยไล่ตั้งแต่เก่าไปถึงใหม่คือ Type-035, Type-035A, Type-035G และ Type-035B

หลังจากนั้นจึงมีการพัฒนา Type-039 Song ขึ้นมาโดยใช้การออกแบบตัวเรือดำน้ำแบบใหม่คือรูปหยดน้ำ รวมถึงมีระบบอาวุธและระบบสนับสนุนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น โดยมีรุ่นย่อยคือ Type-039, Type-039G, และ Type-039G1

จีนยังแตกการออกแบบไปโดยใช้แบบแผนเดิมแต่เพิ่มขนาดของเรือขึ้นเพื่อรองรับระบบ AIP จึงถูกจัดเป็นชั้นใหม่คือ Type-039A Yuan ซึ่งมีรุ่นต่าง ๆ คือ Type-039A, Type-039AG, Type-039B, และ Type-039C

ซึ่งเรือชั้น Yuan นั้นถูกออกแบบรุ่นย่อยสำหรับการส่งออกคือ S20 ซึ่งเป็นเรือชั้น Yuan ที่มีขนาดเล็กกว่า และไม่มีระบบ AIP มาในเบื้องต้น แต่ลูกค้าสามารถเลือกติดตั้ง AIP ได้ถ้าต้องการ ส่วนเรือชั้น S26 เป็นเรือที่คุณสมบัติเข้าใกล้เรือชั้น Yuan ในกองทัพจีนมากที่สุด และมีระบบ AIP มาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว


ในตอนเจรจาเรื่องแบบเรือดำน้ำระหว่างกองทัพเรือไทยและทางการจีนนั้น จีนเสนอเรือชั้น Song ให้กับกองทัพเรือไทยในขั้นต้น แต่กองทัพเรือไทยยืนยันว่าต้องการเรือชั้น Yuan ที่ทันสมัยกว่าเท่านั้น และต้องการรุ่นที่ใกล้เคียงกับ Yuan ที่ประจำการในกองทัพเรือจีนมากที่สุด แต่มีเสียงคัดค้านจากกองทัพเรือจีนที่เกรงว่าการส่งออกเรือชั้น Yuan ที่ถือว่ามีความทันสมัยและเป็นกำลังหลักของกองเรือดำน้ำดีเซล/ไฟฟ้าของจีนให้ไทยอาจทำให้เทคโนโลยีของจีนหลุดไปถึงมือประเทศตะวันตกได้ โดยเฉพาะไทยที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ แต่รัฐบาลปักกิ่งต้องการแข่งขันทางยุทธศาสตร์กับสหรัฐและต้องการให้ไทยเปลี่ยนมาเป็นพันธมิตรกับจีน จึงปฏิเสธคำคัดค้านของกองทัพเรือจีนและอนุมัติขายเรือ S26 ให้กับไทย พร้อมทั้งใช้งบประมาณอุดหนุนอู่ต่อเรือของจีนให้สามารถต่อเรือดำน้ำดีเซล/ไฟฟ้าที่มีระบบ AIP ได้ถึงสามลำในราคาของเรือดำน้ำที่ไม่มี AIP แค่สองลำ เรือ S26 จึงได้รับการคัดเลือกจากกองทัพเรือไทยให้เป็นผู้ชนะอย่างที่เราทราบกันดี

ดังนั้นข้อเสนอของการมอบเรือดำน้ำชั้น Song ให้กับกองทัพเรือไทย จึงเป็นการมอบเรือดำน้ำคนละรุ่นกับเรือดำน้ำที่ไทยสั่งซื้อและกำลังรอรับมอบ แม้ว่าระบบอาวุธและระบบสนับสนุนบางอย่างจะคล้ายกันก็ตาม


ที่ผ่านมา จีนใช้การมอบเรือดำน้ำมือสองให้เพื่อสร้างอิทธิพลและตอบแทนความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่นในกรณีของเมียนมาร์ที่จีนมอบเรือดำน้ำ Type-035B ให้กับกองทัพเรือเมียนมาร์ โดยเชื่อกันว่าเพื่อแลกกับการสร้างฐานทัพเรือและฐานส่งกำลังบำรุงของจีนในเมียนมาร์ ดังที่ปรากฎในภาพถ่ายดาวเทียม

ในกรณีของไทย ถ้ามีการเสนอมอบเรือดำน้ำมืองสองให้กับไทยนั้น อาจจะมาจากเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งคือ การที่อู่ต่อเรือของจีนยังไม่ได้รับ Export License ของเครื่องยนต์ MTU จากเยอรมนีเพื่อติดตั้งกับเรือดำน้ำ S26T ของกองทัพเรือไทยที่กำลังต่ออยู่ในขณะนี้ และยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการเจรจากันอยู่ระหว่างอู่ของจีนและผู้ผลิตเครื่องยนต์ในเยอรมนี

ตามกฎหมายและข้อสัญญานั้น การที่อู่ต่อเรือของจีนไม่สามารถส่งมอบเครื่องยนต์ MTU ที่ผลิตในเยอรมนีมาติดตั้งให้กับกองทัพเรือไทยได้ อาจถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กองทัพเรือไทยสามารถยกขึ้นมาอ้างเพื่อขอยกเลิกสัญญาการต่อเรือดำน้ำ S26T หรืออาจมีค่าปรับได้ทั้งจากความล่าช้าและจากเครื่องยนต์ที่ไม่ตรงตามข้อกำหนดในสัญญา

เครื่องยนต์ MTU นั้นเป็นเครื่องยนต์ที่จีนเลือกติดตั้งกับเรือดำน้ำดีเซล/ไฟฟ้าของตนทั้งชั้น Song และ Yuan แต่ก็มีโครงการพัฒนาเครื่องยนต์ของตนเองเพื่อติดตั้งในเรือรุ่นที่ต่อในภายหลังเช่นกัน แต่แม้เยอรมนีจะอนุญาตให้จีนติดตั้งเครื่องยนต์ MTU กับเรือดำน้ำของตน การต่อเรือเพื่อส่งออกให้ประเทศที่สามก็จำเป็นต้องขออนุญาตใหม่ ซึ่งในกรณีนี้ไทยและปากีสถานกำลังประสบปัญหาเดียวกันคือเยอรมนียังไม่ออก Export License ให้กับเครื่องยนต์ MTU ที่จะติดตั้งใน S26 และ S20 ตามลำดับ

แม้ว่าจุดยืนของกองทัพเรือไทยคือขอให้อู่ต่อเรือของจีนปฏิบัติตามสัญญาในการจัดหาเครื่องยนต์ MTU มาติดตั้งให้กับ S26T แต่ถ้าอู่ต่อเรือจีนไม่สามารถจัดหามาได้ ในท้ายที่สุดอู่ต่อเรือจีนจำเป็นที่จะต้องเจรจากับกองทัพเรือไทยเพื่อแก้ไขสัญญาเพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพเรือไทยยกเลิกสัญญา

ในทางกลับกันถ้ากองทัพเรือไทยไม่ยกเลิกสัญญา ก็จำเป็นจะต้องยินยอมแก้ไขสัญญาไปใช้เครื่องยนต์แบบอื่นเช่น เครี่องยนต์ที่จีนผลิตเอง ซึ่งอาจจะนำมาสู่การตั้งคำถามทั้งจากกระทรวงกลาโหม คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุของกรมบัญชีกลาง หรือคณะรัฐมนตรีที่จะต้องเป็นผู้พิจารณาว่าจะยินยอมให้มีการแก้ไขสัญญาหรือไม่ เพราะในกรณีนี้มีกฎหมายระบุไว้ว่า การแก้ไขสัญญาต้องไม่ทำให้ทางราชการเสียประโยชน์

TAF คิดว่าการที่จีนเสนอเรือดำน้ำมือสองจำนวนสองลำให้ อาจเพื่อเป็นการสร้างเหตุผลให้ไทยยินยอมแก้ไขสัญญามาใช้เครื่องยนต์จีน ถ้าสุดท้ายไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ MTU มาได้จริง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการยกเลิกสัญญาไปทั้งหมด


แต่ทั้งนี้มีอีกประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ แม้ว่าจีนจะยินดีส่งมอบเรือชั้น Song ให้ไทยฟรี แต่ในเมื่อเรือชั้น Song นั้นใช้เครื่องยนต์ MTU ของเยอรมนี (ต่างจากเรือชั้น Ming ที่ใช้เครื่องยนต์ของจีนเอง) ก็หมายความว่าสุดท้ายจีนก็ต้องกลับไปขอ Export License จากเยอรมนีในการส่งมอบให้ไทย ตามข้อตกลงผู้ใช้สุดท้ายหรือ End-user Agreement อยู่ดี

นี่ก็จะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณา เพราะถ้าเยอรมนีไม่ออก Export License ของเครื่องยนต์ MTU บนเรือชั้น Song ในเปลี่ยนผู้ใช้จากจีนเป็นไทย จีนก็ไม่สามารถมอบเรือชั้น Song ให้กับไทยฟรีได้อยู่ดี หรือถ้าไทยและจีนมอบและรับมอบโดยไม่สนใจ Export License ก็อาจทำได้ แต่อาจต้องเผชิญกับการถูกตัดการสนับสนุนอะไหล่จาก MTU ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกองทัพเรือไทยอย่างมหาศาลเนื่องจากเครื่องยนต์ MTU เป็นเครื่องยนต์หลักที่ใช้ในเรือรบกว่าครึ่งของกองทัพเรือไทย


แต่ถ้าสมมุติประเด็นนี้สามารถแก้ไขได้ ก็จะเกิดคำถามใหม่ก็คือ เรือชั้น Song ที่ไทยได้รับมอบจะเหลืออายุการใช้งานอีกกี่ปี ทั้งตัวเรือและแบตเตอร์รี่ของเรือ

อย่างที่เราทราบกันดีในเอกสารที่หลุดออกมาจากการประมูลเสนอขายเรือ S26T ให้กับกองทัพเรือไทยนั้น เราพบว่าเรือชั้น Yuan มีอายุการใช้งานของตัวเรือที่ 25 ปี ซึ่งคาดว่าเรือชั้น Song ก็ไม่ต่างกัน และแบตเตอร์รี่ที่ใช้นั้นมีอายุเพียง 200 รอบการชาร์ต ซึ่งแตกต่างจากเรือดำน้ำของประเทศอื่นที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 1,000 รอบการชาร์ตขึ้นไป

เรือชั้น Song ลำแรกของจีนเข้าประจำการในปี 2006 ซึ่งเมื่อรวมเวลาที่ปล่อยเรือลงน้ำและการทดสอบแล้ว ทำให้ตอนนี้เรือลำแรกจะมีอายุเกือบ ๆ 20 ปี อาจเป็นไปได้ว่าอีกไม่กี่ปี ตัวเรืออาจจะหมดอายุแล้ว จีนซึ่งมีศักยภาพในการต่อเรือสูงจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องซ่อมทำเพื่อยืดอายุ แต่สามารถปลดประจำการและต่อเรือใหม่เข้าประจำการได้เลย และสามารถนำเรือมามอบให้กับกองทัพเรือไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือและช่วยแก้ปัญหาการต่อเรือของไทยได้ โดยกองทัพเรือไทยก็สามารถใช้เรือชั้น Song ไปได้อีก 4 – 5 ปีก่อนตัวเรือหมดอายุ นอกจากนั้นยังเป็นการให้กองทัพเรือไทยฝึกใช้งานเรือดำน้ำบนเรือรุ่นเก่าเพื่อหาประสบการณ์ ซึ่งดีกว่าการใช้เรือรุ่นใหม่ในการฝึก และเป็นสิ่งที่กองทัพเรือทั่วโลกที่เริ่มมีเรือดำน้ำมักจะทำกัน

แต่นั่นหมายถึงถ้ากองทัพเรือไทยเมื่อรับมาใช้งานแล้วอาจใช้งานได้ไม่นานก็จำเป็นต้องเข้ารับการปรับปรุง ซึ่งการปรับปรุงเพื่อยืดอายุตัวเรือนั้นอาจต้องใช้เงินหลายพันล้านบาท เช่นถ้าเทียบกับการที่กองทัพเรือบังคลาเทคจัดหาเรือชั้น Type-035G มือสองจำนวน 2 ลำเข้าประจำการ ก็เป็นการลงทุนปรับปรุงจำนวน 250 ล้านเหรียญหรือราว 7,500 ล้านบาทเพื่อให้เรือสามารถใช้งานได้นานขึ้นก่อนรับมอบเข้าประจำการ

คำถามคือ ถ้ากองทัพเรือรับมอบเรือชั้น Song มาใช้งาน ในอีก 4 – 5 ปี กองทัพเรือจำเป็นต้องลงทุนอีกไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทเพื่อเปลี่ยนแบตเตอร์รี่และปรับปรุงยืดอายุของตัวเรือออกไป ซึ่งนี่เป็นงบประมาณที่ไม่อยู่ในแผนของกองทัพเรือมาก่อน ดังนั้นอาจมีปัญหาในการต้องตัดโครงการอื่นมาเพื่อลงทุนกับการปรับปรุงเรือดำน้ำอีกครั้ง


และอีกประเด็นที่สำคัญก็คือ แม้ว่าการรับมอบเรือดำน้ำชั้น Song จำนวน 2 ลำ เมื่อรวมกับเรือดำน้ำ S26T อีก 1 ลำ (ไม่ว่าเป็นเครื่องยนต์ยี่ห้ออะไร) ก็จะทำให้กองทัพเรือมีเรือดำน้ำ 3 ลำ ซึ่งถือว่าครบตามจำนวนที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้แล้ว

มันจะกลายเป็นดาบสองคมหรือไม่ ถ้ากระทรวงกลาโหม คณะรัฐมนตรี หรือแม้แต่สภาผู้แทนราษฎรมองว่า ในเมื่อกองทัพเรือมีเรือดำน้ำครบสามลำแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องจัดหาเรือดำน้ำ S26T ลำที่สองและสามอีกต่อไป จึงอาจตัดสัดส่วนงบประมาณที่เตรียมไว้สำหรับเรือดำน้ำลำที่สองและสามไปให้โครงการอื่น หรือแม้แต่ให้เหล่าทัพอื่นใช้งาน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้กองทัพเรือมีเรือดำน้ำที่ทันสมัยเพียง S26T ลำเดียวเท่านั้น และกลายเป็นการตัดโอกาสในการมี S26T ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากกว่าทั้งสามลำไปหรือไม่

และแม้ว่าไทยจะได้รับมอบเรือชั้น Song แล้ว จีนก็ไม่สามารถบังคับให้ไทยสั่งซื้อเรือ S26T ลำที่สองและสามในอนาคตได้ เพราะสุดท้ายคนจ่ายเงินคือไทย ถ้าไทยไม่มีเงินจ่าย สัญญาการจัดหาก็จะไม่เกิด แม้ว่าจะได้เรือดำน้ำชั้น Song ฟรีซื้อใจไปแล้วก็ตาม หรือถ้าในสัญญาการรับมอบเรือดำน้ำชั้น Song ฟรีนั้น จะระบุให้เป็นการลงนามสัญญาซื้อเรือดำน้ำ S26T ลำที่สองและสามไปด้วยทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลและรัฐสภา ก็จะเป็นสัญญาที่ลงนามไม่ได้ เนื่องจากผิดกฎหมายและระเบียบงบประมาณของไทย ดังนั้นการรับมอบเรือชั้น Song ไม่การันตีใด ๆ ว่ากองทัพเรือจะได้เรือ S26T ลำที่สองและสามอย่างที่คาดหวังไว้


ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่กองทัพเรือต้องพิจารณาให้ดี เพราะไม่ว่าจีน รัสเซีย ยุโรป สหรัฐ หรือใครก็ตาม ไม่มีใครทำอะไรโดยไม่หวังผล และไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ อย่างที่สำนวนทางเศรษฐศาสตร์พูดว่า There is no such thing as a free lunch

เช่นเดียวกับกรณี F-35 ที่มีการกล่าวว่าเพราะสหรัฐต้องการให้ไทยอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐจึงยอมขายให้ในราคาถูก แต่ยังไม่ชัดว่าสิ่งที่ไทยจะต้องแลกนั้นคืออะไร และไทยจะรับได้หรือไม่ เช่นเดียวกันในกรณีนี้ จีนอาจจะมอบเรือชั้น Song เพื่อขอให้ไทยแก้ไขสัญญาและไม่ยกเลิกสัญญาของเรือ S26T แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีแค่นี้หรือไม่ ถ้ามีเงื่อนไขอื่นเช่น การขอใช้ฐานทัพเรือไทยเป็นฐานการส่งกำลังบำรุง หรืออาจจะมากกว่านั้น ไทยจะรับได้หรือไม่

ยังไม่รวมความเสี่ยงที่ว่าอีกไม่กี่ปีไทยอาจต้องลงทุนหลายพันล้านบาทเพื่อปรับปรุงยืดอายุเรือชั้น Song ทั้งสองลำซึ่งจำเป็นต้องหางบประมาณมาสนับสนุน หรืออาจทำให้รัฐบาลหรือรัฐสภาตัดงบประมาณในการซื้อเรือชั้น S26T ลำที่สองและสามออกไป ตรงนี้กองทัพเรือต้องเจรจากับทั้งรัฐบาลและรัฐสภาให้ดี

เพราะสุดท้ายทุกอย่างอาจจะดูดี การได้เรือดำน้ำมาฟรีสองลำ แม้ประสิทธิภาพอาจจะไม่เท่า S26T แต่ก็ไม่ต่างกันมากนักนั้น แต่ TAF ก็คิดว่าเหรียญมีสองด้าน เราจะรับผลเสียของมันได้หรือไม่

ถ้ากองทัพเรือคิดว่ารับได้ และการรับเรือดำน้ำชั้น Song จะทำให้สุดท้ายแล้วไทยจะมี S26T ครบทั้งสามลำเช่นเดียว อาจจะรับเรือชั้น Song มาใช้งานก่อนเพื่อฝึก เมื่อ S26T ได้รับมอบครบทั้งสามลำแบบมีเครื่องยนต์ MTU ก็สามารถปลดประจำการเรือชั้น Song ออกไปได้ ไม่ต้องทำการปรับปรุงยืดอายุ ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี

แต่ถ้ารับมอบมาแล้ว กองทัพเรืออาจต้องปรับไปใช้เครื่องยนต์อื่นที่ผิดไปจากที่จีนใช้เอง หรือต้องลงทุนปรับปรุงยืดอายุเรือชั้น Song ออกไป หรือแม้แต่ทำให้กองทัพเรือไมได้จัดหา S26T ให้ครบสามลำ ก็เป็นสิ่งที่น่ากังวล

เพราะสำหรับ TAF แล้ว เราคิดว่า การพยายามให้ไทยมี S26T ครบสามลำน่าจะเป็นทางเลือกที่มั่นใจได้มากกว่าครับ

โพสนี้ในเพจของเรา

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.