นายกไทยเยือนซาอุดิอาระเบียครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ฟื้นความสัมพันธ์สองประเทศหลังคดีเพชรซาอุ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี

ทั้งสองฝ่ายยืนยันความตั้งในการสะสางปัญหาและอุปสรรคที่คั่งค้างระหว่างกันเพื่อนำมาสู่การปรับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ รวมถึงแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นต่าง ๆ และหารือความร่วมมือทวิภาคีระหว่างสองประเทศที่จะเริ่มฟื้นฟูขึ้น โดยเริ่มจากการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตระหว่างกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเมื่อกว่า 30 ปีก่อน

การเยือนครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของไทย หลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศขาดจากกันจากคดีจารกรรมเพชรของราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียโดยแรงงานไทย


คดีเพชรซาอุคือคดีเขย่าโลกซึ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบียขาดสะบั้นลงเป็นเวลาหลายสิบปี ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยอย่างประเมินค่ามิได้ และยังส่งผลต่อไทยในการไม่ได้รับการสนับสนุนจากซาอุดิอาระเบียซึ่งถือเป็นมหาอำนาจในโลกอาหรับอีกด้วย

เรื่องเกิดขึ้นจากนายเกรียงไกร เตชะโม่ง พนักงานทำความสะอาดในพระราชวังของราชวงศ์ซาอุทำการขโมยเครื่องเพชรจำนวนมากในเดือนสิงหาคม 2532 และทำการโจรกรรมครั้งใหญ่ในเดือนธันวาคม 2532 ระหว่างที่เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด บิน อับดุล อซิซเสด็จแปรพระราชฐานไปพักผ่อน โดยหนึ่งในเครื่องเพชรจำนวนมากที่ขโมยมานั้นเชื่อว่ามีเพชร Blue Diamond ขนาด 50 กะรัตจากเหมือง Cullinan ในแอฟริกาใต้รวมอยู่ด้วย และรีบหนีกลับประเทศไทยทันที

เขาเดินทางกลับมายังจังหวัดลำปางบ้านเกิด และทำการแยกเครื่องเพชรแต่ละอันออกเป็นชิ้นส่วน และทยอยขายให้กับร้านอัญมณีของนายสันติ ศรีธนะขันฑ์ เมื่อทางการซาอุดิอาระเบียรู้ตัวว่าเครื่องเพชรถูกขโมยจึงประสานมายังรัฐบาลไทยเพื่อติดตามเครื่องเพชรคืน โดยกรมตำรวจในขณะนั้นตั้งพลตำรวจโทชลอ เกิดเทศให้เป็นหัวหน้าชุดติดตาม รวมถึงนายโมฮัมเหม็ด ซาอิด โคจา ทูตซาอุดิอาระเบียก็ทำการว่าจ้างทีมสืบสวนเพื่อสืบหาด้วยตัวเองอีกด้วย

การสอบสวนของกรมตำรวจนำมาสู่การจับกุมนางเกรียงไกรและซักทอดไปยังร้านอัญมณีของนายสันติ แต่เกิดเหตุการณ์ภรรยาและลูกของนายสันติ ศรีธนะขันฑ์ ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต แต่จากการสอบสวนต่อมาพบว่าเป็นการสังหารและจัดฉากให้เหมือนกับอุบัติเหตุด้วยฝีมือของทีมสอบสวนของพลตำรวจโท ชลอ เพื่อบีบให้นายสันติคืนเพชรที่ซื้อมา จนทำให้พลตำรวจโท ชลอถูกจับกุมและศาลตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับการลดโทษเรื่อยมาจนออกจากเรือนจำในปี 2558

นอกจากนั้นยังมีกรณีนักการทูตซาอุดิอาระเบียสามคนถูกสอบสังหาร และนายโมฮัมหมัด อัลลูไวรี่ นักธุรกิจและสมาชิกราชวงศ์ซาอุดิที่เดินทางมาสอบสวนการหายไปของเครื่องเพชรด้วยตัวเองนั้นถูกอุ้มหายตัวไป แม้ต่อมาจะมีการสั่งฟ้องตำรวจที่เชื่อว่าเกี่ยวข้อง แต่สุดท้ายศาลฎีกาก็ยกฟ้องเนื่องจากขาดหลักฐาน


ทั้งหมดนี้ทำให้ทางการซาอุดิอาระเบียไม่พอใจ เพราะแม้ว่าการถูกสังหารของนักการทูตซาอุดิอาระเบียทั้งสามคนอาจมีสาเหตุมาจากการลอบสังหารของกลุ่มหัวรุนแรงชาวอาหรับที่อาศัยสถานการณ์ในช่วงนั้น แต่การหายตัวไปของอัลลูไวรี่ก็ยังไม่ถูกคลี่คลาย และทางการซาอุดิอาระเบียเห็นว่าทางการไทยไม่ดำเนินการอย่างจริงจังในคดีต่าง ๆ มากพอ โดยเฉพาะการวิจารณ์บทบาทของตำรวจไทยของนายโมฮัมเหม็ด โคจา ว่าคดีที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในประเทศไทยและตำรวจไทยใหญ่กว่ารัฐบาลไทย ซึ่งรัฐบาลซาอุดิอาระเบียตัดสินใจตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ ยกเลิกวีซ่าการทำงานของแรงงานไทยจำนวนมาก และส่งผลให้ไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาทนับตั้งแต่นั้น ยังไม่รวมถึงการที่ไทยเสียการสนับสนุนจากซาอุดิอาระเบียในเวทีโลกอีกด้วย

การให้สัมภาษณ์ของนักการทูตซาอุดิอาระเบียหลายครั้งในช่วงหลังชี้ว่าการเสียชีวิตของอัลลูไวรี่และนักการทูตสามคนที่ไม่ได้รับการคลี่คลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ของซาอุดิอาระเบียและไทยไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ และเป็นสาเหตุที่สำคัญยิ่งกว่าเพชรจำนวนมาก ซึ่งรวมถึง Blue Diamond ที่ยังหาไม่พบด้วยซ้ำ

แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของซาอุดิอาระเบียที่ทำให้เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ได้รับการแต่งตั้งเป็นมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดิอาระเบีย และถูกมองว่าเป็นผู้นำตัวจริงของซาอุดิอาระเบีย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านในประเทศเช่น การดึงซาอุดิอาระเบียที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมทางศาสนาสุดโต่งเข้ามาหาแนวคิดสายกลางมากขึ้น การปฏิรูปเศรษฐกิจที่ต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมัน การเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เริ่มพูดคุยกับประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้งกับซาอุดิอาระเบียมากขึ้น (ยกเว้นอิหร่าน) ทำให้เป็นโอกาสของไทยในการพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ

ในปี 2559 นายกรัฐมนตรีแห่งบาห์เรนเป็นตัวแทนเจรจาระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของซาอุดิอาระเบียระหว่างการประชุม ACD ในกรุงเทพ ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ๆ ที่ผู้นำระดับสูงของทั้งสองประเทศได้พบปะพูดคุยกัน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ส่งสัญญาณว่าซาอุดิอาระเบียกำลังพิจารณามุมมองความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างสองประเทศ

นายกรัฐมนตรีของไทยได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของซาอุดิอาระเบียอีกครั้งในการประชุม G20 ที่เมืองโอซาก้าเมื่อปี 2562 จนนำมาสู่การเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย ตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศของซาอุดิอาระเบียเมื่อปี 2563 และกรุยทางสู่การเยือนซาอุดิอาระเบียของนายกรัฐมนตรีไทยในที่สุด

โพสนี้ในเพจของเรา

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.