ไม่ว่าจะเป็นเพราะยุทธศาสตร์ของประเทศไทยกำหนดไว้ เป็นความบังเอิญ หรือแค่นายหน้าค้าอาวุธเป็นผู้ผลักดันก็ตาม แต่ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่ดำเนินนโยบายจัดหาอาวุธจากทั้งสหรัฐและจีน เป็นที่เดียวในโลกที่ยานเกราะ Stryker ของสหรัฐปฏิบัติการคู่กับยานเกราะ VN-1 ของจีน หรือเรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวรที่ต่อในจีน แต่ติดตั้งจรวดของสหรัฐ หรือฐานบินของเครื่องบินขับไล่ F-16 ที่ผลิตในสหรัฐได้รับการป้องกันภัยทางอากาศจากจรวด KS-1C ที่ผลิตในจีน แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาวุธของจีนจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในกองทัพไทย เนื่องจากมีประสิทธิภาพดีในราคาที่ไม่แพง แต่โดยองค์ประกอบ หลักนิยม และแนวคิดในการปฏิบัติภารกิจนั้น กองทัพไทยยังคงอ้างอิงแนวคิดของกลุ่ม NATO หรือแนวคิดของสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก
และนั่นทำให้เรายังเห็นการจัดหาอาวุธของสหรัฐอเมริกาเข้ามายังประเทศไทยอยู่บางรายการ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะนอกจากกองทัพไทยก็รู้สึกลึก ๆ ว่า แม้อาวุธของสหรัฐจะมีราคาแพงกว่า แต่ก็ได้ประสิทธิภาพที่ดีมากในระดับโลก และผ่านการพิสูจน์ตนเองในสมรภูมิมาแล้ว ยังต้องการจัดหาเพื่อรับแนวคิดและหลักนิยมใหม่ ๆ ที่สหรัฐมีการพัฒนาตลอดเวลามาเพื่อปรับใช้ในกองทัพไทย
เมื่อถอยกลับมามองในภาพใหญ่จะพบว่า กองทัพไทยและสหรัฐมีการฝึกร่วมกันระหว่างสองประเทศกว่า 200 การฝึกต่อไป ซึ่งรวมถึงการฝึก Cobra Gold ที่ถือเป็นการฝึกทางทหารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ นายทหารทั้งระดับประทวนไปจนถึงระดับสัญญาบัตรระหว่างกันทั้งในการฝึกและการปฏิบัติการจริง
จนเมื่อกองทัพอากาศไทยประกาศแผนการในการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 ซึ่งถือเป็นเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 ที่ดีที่สุดแบบหนึ่งของโลกจากสหรัฐอเมริกา ทำให้การจัดหาอาวุธจากสหรัฐกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง สิ่งหนึ่งที่กองทัพอากาศยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 ก็คือความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้กองทัพอากาศสามารถจัดหาเครื่องบินที่ต้องการได้ในที่สุด
นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ให้ความเห็นต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐ บทบาทการสนับสนุนบริษัทอเมริกันในการนำเสนอยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพไทย ทำไมกระบวนการการขายยุทโธปกรณ์แบบ Full Package Approach จึงแตกต่างจากประเทศอื่น รวมถึงความร่วมมือกับไทยในฐานะพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียของสหรัฐฯ ในด้านต่าง ๆ
นี่จะเป็นครั้งแรกที่เราจะได้ฟังจากปากของเจ้าหน้าที่ของทางการสหรัฐฯ ว่า ในมุมมองของสหรัฐฯ เพราะเหตุใดทั้งสองประเทศจึงถือเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดระหว่างกัน
อุปทูตรักษาการฯ ไมเคิล ฮีธ กล่าวว่า
“สหรัฐฯ และไทยเป็นหุ้นส่วนกันมายาวนานในด้านยุทโธปกรณ์ เราเป็นพันธมิตรในสนธิสัญญา และบริษัทอเมริกันนำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัย ผ่านการทดสอบ และเชื่อถือได้มากที่สุด” (The United States is Thailand’s partner of choice for defense equipment. We are treaty allies and U.S. firms offer the most advanced, proven, and reliable technology.)
อุปทูตรักษาการฯ ไมเคิล ฮีธ
เหตุผลสนับสนุนหนึ่งของสถานทูตสหรัฐฯ ก็คือ พบปะของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยและสหรัฐฯ เพียงแค่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเยือนไทยของ พลเรือเอก จอห์น ซี. อากีลีโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ เมื่อเดือนตุลาคมปี 2564 ซึ่งถือเป็นบุคลากรระดับสูงของสหรัฐอีกคนหนึ่งที่เข้าพบกองทัพและรัฐบาลไทย หรือการที่ พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย เลือกเดินทางเยือนสหรัฐฯ เป็นประเทศแรกนับตั้งแต่ที่เข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งได้พบกับ พลเอก มาร์ก เอ. มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของกองทัพสหรัฐฯ และ ดร .อีไล เอส. แรตเนอร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฝ่ายกิจการความมั่นคงภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ร่วมสำหรับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และโอกาสในการเสริมสร้างพันธไมตรีระหว่างสหรัฐฯ กับไทย รวมถึงการปฏิบัติการร่วมกันของทั้งสองกองทัพ และการเยือนไทยของนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐที่เกือบจะเกิดขึ้นเมื่อเดือนก่อน แต่ต้องยกเลิกในนาทีสุดท้ายเพราะพบว่าสมาชิกของคณะที่เดินทางมาด้วยติดโควิด-19

“นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสสหรัฐฯ ได้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เวนดี้ เชอร์แมน และเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ ยังได้เยือนไทยเมื่อปีที่ผ่านมาด้วย ซึ่งเน้นย้ำความสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนในหลากหลายมิติของเรา รวมไปถึงความร่วมมือเกือบทุกด้าน ตั้งแต่ด้านสุขภาพ การศึกษา ไปจนถึงการค้า” (Other senior U.S. officials, such as Deputy Secretary of State Wendy Sherman and U.S. Ambassador to the United Nations Linda Thomas-Greenfield, prioritized visits to Thailand in 2021, which underscores the importance of our multifaceted partnership that includes cooperation in nearly every sector, from health to education to trade.)
อุปทูตรักษาการฯ ไมเคิล ฮีธ
แน่นอนว่าการจัดหาอาวุธเป็นเสมือนสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าประเทศผู้ซื้อและผู้ขายมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมากเพียงพอจนเกิดการไว้ใจที่จะอนุญาตให้ประเทศผู้ซื้อใช้เทคโนโลยีที่ถือว่ามีความสำคัญของความมั่นคงของประเทศผู้ขาย และในประเทศทุนนิยมที่ใช้ระบบการค้าเสรีเต็มรูปแบบอย่างสหรัฐฯ ผู้ผลิตอาวุธทั้งหมดจึงเป็นภาคเอกชนที่มีขีดความสามารถสูงเพียงพอที่จะแข่งขันกันเพื่อตอบสนองความต้องการของกองทัพสหรัฐและชาติพันธมิตรได้ ส่วนรัฐบาลสหรัฐฯ นั่นไม่สามารถสนับสนุนบริษัทใดบริษัทหนึ่งได้เป็นพิเศษ จึงไม่อาจกล่าวถึงบริษัทใดเป็นการเฉพาะได้ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ จะทำหน้าที่สนับสนุนการขายอาวุธเหล่านั้นทั้งในแง่ของการประสานงาน การอนุญาต ไปจนถึงการเชื่อมต่อผู้ผลิตและผู้ซื้อเข้าด้วยกัน
“ประเด็นที่สำคัญประการหนึ่งคือ รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากการจำหน่ายยุทโธปกรณ์ให้กับพันธมิตรต่างชาติ” (It is important to note that the U.S. government makes no profit from the sale of U.S. defense articles to our foreign partners.)
อุปทูตรักษาการฯ ไมเคิล ฮีธ
“หน่วยงานของไทยตัดสินใจโดยพิจารณาความต้องการด้านยุทโธปกรณ์ของตน เราทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างฝ่ายไทยและหน่วยงานของสหรัฐฯ ที่ทำงานกับธุรกิจในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ บริษัทด้านยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ แข่งขันกันเสนอราคาเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของหน่วยงานของพันธมิตรมากที่สุด” (Our Thai counterparts make their own decisions on their equipment needs. Our role is to serve as a liaison between our Thai partners and U.S. agencies who work with the defense industry. American defense companies competitively bid to provide solutions that best meet partner needs.)
อุปทูตรักษาการฯ ไมเคิล ฮีธ
รัฐบาลสหรัฐฯ จะมีขั้นตอนในการอำนวยความสะดวกในการขายยุทโธปกรณ์เหล่านั้น ด้วยการที่ประเทศพันธมิตรต้องร่างข้อกำหนดและความต้องการเทคโนโลยีว่ามีความต้องการอะไรบ้าง
“จากนั้นก่อนการพิจารณาอย่างเป็นทางการ ประเทศที่ต้องการซื้อยุทโธปกรณ์จะได้รับข้อเสนอจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เกี่ยวกับอุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ ที่สามารถเลือกได้ในราคาที่แตกต่างกันเพื่อให้ตรงตามความต้องการของตน” (Prior to official review, potential customers engage with the U.S. Department of Defense to provide the foreign partner with multiple equipment options at various price points to fit their service needs.)
อุปทูตรักษาการฯ ไมเคิล ฮีธ
แม้กระบวนการการแข่งขันในการประมูลจะเป็นหน้าที่ของบริษัทเอกชน แต่ถ้าบริษัทของสหรัฐได้รับเลือก ก็จะเริ่มขั้นตอนการขอซื้ออย่างเป็นทางการ โดยเริ่มจากประเทศพันธมิตรที่เป็นลูกค้าต้องทำจดหมายขอราคาและยุทโธปกรณ์พร้อมส่งมอบ (Letter of Request for Price and Availability) เพื่อยื่นต่อรัฐบาลสหรัฐฯ โดยจะต้องระบุชัดเจนถึงขีดความสามารถและชนิดของยุทโธปกรณ์นั้น ๆ ที่ต้องการ
ซึ่งคำร้องขอนี้มิใช่การทำสัญญาซื้อ แต่เป็นเงื่อนไขเพื่อใช้ประเมินว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะยินยอมให้เทคโนโลยีนี้แก่พันธมิตรหรือไม่ (the “Availability” piece) และถ้ายินยอมรัฐบาลสหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับบริษัทผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ (OEM) หรือบริษัทคู่ค้าภายนอก (Third-party Vendor) เพื่อประเมินราคาของโครงการนั้น ๆ

และนี่คือสิ่งที่ทำให้การจัดหายุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ แตกต่าง เพราะสหรัฐฯ ใช้แนวคิด “วิธีการจำหน่ายแบบเต็มรูปแบบ” (Full Package Approach) ในการขายยุทโธปกรณ์ใด ๆ ใหักับชาติพันธมิตร ตัวอย่างเช่นการขายเครื่องบินขับไล่ 1 ลำ นั้น สหรัฐจะไม่ขายเพียงเครื่องบินตัวเปล่า ๆ แต่จะรวมถึงอะไหล่และอุปกรณ์สนับสนุนต่าง ๆ ที่จะต้องมีจำนวนเพียงพอเพื่อทำให้เครื่องบินจะสามารถปฏิบัติการไปได้อีกอย่างน้อย 2 ปี และรวมถึงการฝึกกำลงพลที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการจ้างบริษัทผู้ผลิตทำการฝึก หรือจ้างกองทัพสหรัฐทำการฝึก ซึ่งถ้าเลือกอย่างหลัง ลูกค้าก็จะได้ประสบการณ์และเทคนิคที่กองทัพสหรัฐนำไปใช้และประสบความสำเร็จมาแล้วทั่วโลก
“ลูกค้าจะไม่เพียงแค่ซื้ออุปกรณ์ไปชิ้นหนึ่งเท่านั้น เช่น อากาศยาน แต่ได้รับสินค้าแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรม การให้การสนับสนุน และซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ดังกล่าวเป็นเวลาอย่างน้อย 2 – 3 ปีแรก Full Package Approach นี้ถือเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าถึงการใช้งานได้อย่างยั่งยืนและสามารถทำการซ่อมบำรุงได้หลังการขาย และเพื่อแสดงถึงการที่เรามั่นใจในคุณภาพของเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำของเรา” ( This means that customers are not only purchasing a piece of equipment, such as an aircraft, but the entire capabilities package, which includes training, support and sustainment of the equipment for at least the first 2-3 years. This Full Package Approach ensures the customer is able to sustainably operate and maintain the equipment after the sale and demonstrates how we stand behind the quality of our advanced technology.)
อุปทูตรักษาการฯ ไมเคิล ฮีธ
“การจำหน่ายยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ ทุกชิ้นเกิดขึ้นหลังจากกระบวนการตัดสินใจและการดำเนินการตามนโยบายเดียวกัน โดยมีหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ หลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานความร่วมมือด้านความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และสำนักงานกิจการการเมืองและการทหารของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นอกจากนี้ ในแทบทุกการจำหน่าย รัฐสภาสหรัฐฯ จะมีส่วนในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบด้วย” (The sale of any U.S. defense equipment follows a consistent decision making and policy process. The process involves multiple U.S. government agencies, such as the Defense Security Cooperation Agency at the U.S. Department of Defense and the Bureau of Political and Military Affairs at the U.S. Department of State. In most cases, the sales are subject to Congressional review and approval.)
อุปทูตรักษาการฯ ไมเคิล ฮีธ
การจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐจึงมิใช่แค่การเสนอขายเทคโนโลยีขั้นสูงและมอบการสนับสนุนเรื่องการฝึกอบรมและการบำรุงรักษาเท่านั้น แต่จำเป็นจะต้องมีขั้นตอนที่โปร่งใสทั้งต่อลูกค้าต่างประเทศ และสาธารณชนด้วย เพราะสหรัฐจะเปิดเผยรายละเอียดการขายให้กับรัฐสภาสหรัฐฯ และทุกคนทั่วโลกรู้ว่าสหรัฐฯ กำลังจะขายอะไรให้กับใคร เป็นจำนวนเท่าไหร่ มีอุปกรณ์ใดบ้าง และมีมูลค่าที่เป็นไปได้สูงสุดเท่าไหร่ เช่นที่เราผ่านตาเสมอในเว็บไซต์ของหน่วยงานความร่วมมือด้านความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
ในการจัดซื้อนั้น ประเทศพันธมิตรสามารถเลือกระบบการจัดหาได้สองแบบ ทั้งการจำหน่ายตรงเพื่อการพาณิชย์ (Direct Commercial Sales) ซึ่งเป็นการจัดซื้อโดยตรงกับบริษัทผู้ผลิต โดยชาติพันธมิตรที่เป็นลูกค้าบริหารโครงการและติดต่อเจรจากับผู้ผลิตเอง ซึ่งเหมาะสำหรับชาติที่มีประสบการณ์ในการบริหารโครงการ หรือต้องการเงื่อนไขพิเศษกับสัญญาการสั่งซื้อ เช่น การจัดหาเครื่องบินฝึก T-6 และโจมตีแบบ AT-6 ของกองทัพอากาศ ที่เป็นการจัดหาโดยตรงกับผู้ผลิต และเจรจาขอให้ผู้ผลิตร่วมมือกับบริษัทของไทยในการดำเนินการผลิต หรือการจำหน่ายผ่านโครงการช่วยเหลือทางทหารแบบ FMS (Foreign Military Sales) ซึ่งสามารถมอบให้กองทัพสหรัฐเป็นผู้บริหารโครงการให้ หรือสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่ใช้สำหรับการจัดซื้อในโครงการได้ เช่น การจัดหาเฮลิคอปเตอร์โจมตี AH-6i ของกองทัพบก ซึ่งกองทัพบกสหรัฐบริหารโครงการให้ และนักบินและช่างอากาศยานได้รับการฝึกจากสหรัฐฯ โดยตรง

แต่ก็มีประเด็นสำคัญอีกหลายประเด็นที่จะถูกพิจารณาในการขายยุทโธปกรณ์ใด ๆ โดยเฉพาะข้อสงสัยที่ว่า ไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับจีนในหลายระดับนั้น จะมีผลต่อการพิจารณาอนุญาตขายยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ ให้ไทยหรือไม่
“FMS และ Direct Commercial Sales มีการกำกับดูแลในหลายระดับชั้น การพิจารณาการขายทั้งหมดจะดำเนินการแบบเดียวกันโดยไม่คำนึงถึงความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่สาม” (FMS and Direct Commercial Sales are subject to multiple layers of oversight. These considerations are consistently applied to all sales regardless of third-party affiliations.)
อุปทูตรักษาการฯ ไมเคิล ฮีธ
ตามข้อมูลของหน่วยงานความร่วมมือด้านความมั่นคงระบุว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะแสดงเจตจำนงค์ในการขายอาวุธให้กับชาติพันธมิตรได้ถ้าเข้าเงื่อนไขที่กำหนด เช่น การขายนั้นช่วยให้เพิ่มความมั่นคงให้กับสหรัฐฯ และสนับสนุนสันติภาพของโลก ชาติพันธมิตรที่เป็นลูกค้าไม่ได้ใช้จ่ายงบประมาณทางทหารมากเกินไป ไม่ได้สนับสนุนการก่อการร้าย ไม่เคยละเมิดข้อตกลงการขายและใช้งานกับสหรัฐ ไม่เป็นผู้ผลิตยาเสพติด ค้ามนุษย์ ใช้ทหารเด็ก หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
คำถามก็คือ ประเทศไทยมีสถานะอย่างไรในสายตาของสหรัฐ อุปทูตรักษาการฯ ไมเคิล ฮีธ ทิ้งท้ายว่า
“ไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของเราในเอเชีย เราเป็นหุ้นส่วนในสนธิสัญญาทางการทูตมากว่า 188 ปี และเป็นพันธมิตรในสนธิสัญญาความมั่นคงมา 67 ปี ความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อไทยในฐานะพันธมิตรทางการทหารและความมั่นคงยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง” (Thailand is one of our oldest partners in Asia. We have been diplomatic treaty partners for over 188 years and security treaty allies for 67 years. The United States commitment to Thailand as a defense and security ally is unwavering)
อุปทูตรักษาการฯ ไมเคิล ฮีธ
โพสนี้ในเพจของเรา