อินโดนีเซียลงนามเป็นพันธมิตรด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศกับฝรั่งเศสมูลค่าหลายแสนล้านบาท จัดหา Rafale เรือดำน้ำ อาวุธภาคพื้นดิน และดาวเทียมทางทหาร พร้อมความร่วมมือและการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บริษัทอินโดนีเซีย

รัฐบาลอินโดนีเซียลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลฝรั่งเศสในสัญญาจัดหาเครื่องบินขับไล่ Rafale จำนวน 42 ลำ และจัดหาเรือดำน้ำ Scorpene สองลำ รวมถึงดาวเทียมทางทหาร และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความร่วมมือทางอุตสาหกรรมหลายรายการกับบริษัทของอินโดนีเซียมูลค่าหลายแสนล้านบาท

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอินโดนีเซียและฝรั่งเศส

ในจำนวนเครื่องบินขับไล่ Rafale ทั้ง 42 ลำ จะเป็นการลงนามจัดหาจำนวน 6 ลำในล็อตแรก อีก 36 ลำจะทะยอยจัดหาในภายหลัง รวมถึงระบบอาวุธ อุปกรณ์สนับสนุน อะไหล่ การฝึกต่าง ๆ และเครื่องฝึกจำลองการบิน และ Dassault ผู้ผลิตยังลงนามกับ PT Dirgantara ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจผลิตอากาศยานของอินโดนีเซียในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซ่อมบำรุง และปรับปรุง Rafale ที่จะประจำการในอินโดนีเซียและประเทศอื่น ๆ

ปัจจุบันกองทัพอากาศอินโดนีเซียมีเครื่องบันขับไล่ F-16 จำนวน 33 ลำ และ Su-27/30 จำนวน 16 ลำ ซึ่งอินโดนีเซียยกเลิกการจัดหา Su-35 จากรัสเซียเนื่องจากกังวลผลกระทบของกฎหมาย CAATSA ของสหรัฐที่อาจคว่ำบาตรประเทศที่ให้การสนับสนุนและจัดหาอาวุธจากรัสเซีย เกาหลีเหนือ และอิหร่าน จึงเปลี่ยนมาจัดหา Rafale ซึ่งถือเป็นพันธมิตรของชาติตะวันตกแทน

นอกจากนั้นยังมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจในการร่วมพัฒนาและจัดหาเรือดำน้ำชั้น Scorpene จำนวน 2 ลำ โดยเป็นการลงนามระหว่าง Naval Group ซึ่งเป็นผู้ผลิตของฝรั่งเศสและ PT PAL รัฐวิสาหกิจต่อเรือของอินโดนีเซีย และรวมถึงการจัดหาระบบอาวุธและอะไหล่ที่เกี่ยวข้อง

จากโศกนาฏกรรมของเรือดำน้ำ KRI Nanggala ทำให้มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนให้รัฐบาลจัดหาเรือดำน้ำที่ทันสมัยและปลอดภัยต่อกำลังพลของอินโดนีเซียให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาอินโดนีเซียลงนามจัดหาเรือดำน้ำชั้น Jang Bogo จากเกาหลีใต้ซึ่งมีพื้นฐานมาจากเรือดำน้ำ U209 ของเยอรมนีจำนวน 6 ลำ โดยเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและร่วมพัฒนาที่จะทำให้อินโดนีเซียสามารถต่อเรือดำน้ำในประเทศได้ การจัดหาเรือดำน้ำ Scorpene ในครั้งนี้ทำให้อินโดนีเซียจะได้รับเทคโนโลยีการต่อเรือดำน้ำที่ทันสมัยและมีความร่วมมือกับอู่ของ Naval Group ที่มีประสบการณ์สูงในการต่อเรือดำน้ำขายทั่วโลก

นอกจากนี้ยังมีการลงนามระหว่าง Nexter System ของฝรั่งเศสและ PT Pindad ของอินโดนีเซียในการร่วมผลิตระบบอาวุธและกระสุนภาคพื้นดิน รวมถึง Thales Alenia Space ของฝรั่งเศสกับ PT LEN ของอินโดนีเซียในการร่วมพัฒนาและจัดหาดาวเทียมทางทหารอีกด้วย


การลงนามในครั้งนี้ถือเป็นการข่าวดีอีกครั้งของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของฝรั่งเศสหลังจากที่ถูกทางการออสเตรเลียยกเลิกสัญญาการจัดหาเรือดำน้ำชั้น Attack และเปลี่ยนไปลงนามในพันธมิตร AUKUS เพื่อพัฒนาเรือดำน้ำนิวเคลียร์กับสหรัฐและสหราชอาณาจักรแทน

ด้านประธานาธิบดีเอ็มมานุเอล มาครองของฝรั่งเศสก็ทวิตแสดงความยินดีว่า “Rafale 42 ลำ อินโดนีเซียเลือกอุตสาหกรรมของฝรั่งเศส องค์ความรู้ของบริษัทของฝรั่งเศสกว่า 400 แห่งและพนักงานหลายพันคนที่ออกแบบ Rafale ได้รับการยอมรับในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก นี่จะเป็นก้าวใหม่เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับพันธมิตรของเรา”

ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของทั้งสองประเทศจะทำให้อินโดนีเซียก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอาเซียน โดยอินโดนีเซียมีแนวทางที่ชัดเจนในการให้ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซียเป็นผู้นำในการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยกองทัพอินโดนีเซียให้การสนับสนุนภาคเอกชนอย่างเต็มที่ทั้งการจัดหา การเป็นคู่สัญญา รวมถึงการสร้างข้อได้เปรียบให้กับบริษัทของอินโดนีเซียในการแข่งขันกับบริษัทต่างชาติ โดยในปัจจุบัน มีอาวุธกว่า 1 ใน 3 ที่วิจัย พัฒนา หรือผลิตในอินโดนีเซียเองเข้าประจำการในกองทัพ รวมถึงกองทัพจะเลือกบริษัทอินโดนีเซียก่อนบริษัทต่างชาติถ้าต้องแข่งขันกัน

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดของอินโดนีเซียซึ่งพบกับฟลอเรน พาร์เล่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของฝรั่งเศสกล่าวว่า “ผมหวังว่าการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศในครั้งนี้จะไม่มุ่งแต่การจัดหาอาวุธเท่านั้น แต่จะรวมถึงการพัฒนาและการผลิตร่วมกัน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการลงทุนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ”

รัฐบาลอินโดนีเซียมีความตั้งใจที่จะก้าวเป็นผู้นำของอาเซียนทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร จากความมั่นคงทางการเมืองที่มีมาอย่างยาวนานจากการที่กองทัพอินโดนีเซียที่พัฒนาความเป็นมืออาชีพและถอยห่างจากการเมือง ซึ่งสร้างการยอมรับจากประชาชนจนประชาชนให้การสนับสนุนกองทัพอย่างมากในปัจจุบัน รวมถึงเศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่กำลังเติบโตและก้าวหน้าด้านนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาด้านประชาธิปไตยของอินโดนีเซียที่มั่นคงทำให้สร้างบรรยากาศในการลงทุนและดึงดูดเม็ดเงินจากทั้งภายในอินโดนีเซียเองและต่างชาติอย่างต่อเนื่อง

โพสนี้ในเพจของเรา

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.