เห็นหลายท่านตื่นเต้นและแชร์ข้อมูลการแต่งตั้งผู้นำเหล่าทัพใหม่ของสิงคโปร์ที่อายุไม่มากนัก และแถมโปรไฟล์สุดหรู การศึกษายอดเยี่ยม วันนี้เราเลยจะมาเล่าให้ฟังว่า การเลื่อนตำแหน่งและระบบบังคับบัญชาของกองทัพสิงคโปร์เป็นอย่างไร และทำไมมันจึงมีประสิทธิภาพสูงที่ทำให้กองทัพสิงคโปร์เป็นหนึ่งในกองทัพที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกใบนี้ทั้งใบ และเปรียบเทียบกับบ้านเรา มีจุดดีจุดด้อยอย่างไรบ้างครับ
การจะมาเป็นทหารในกองทัพสิงคโปร์นั้นแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ เพราะทุกคนที่สมัครมาเป็นทหารประจำการนั้นจะต้องผ่านการฝึกเหมือนกันในโรงเรียนเดียวกันคือ Specialist Cadet School หรือโรงเรียนฝึกนายทหารชั้นประทวน และจบมาเป็นนายทหารชั้นประทวน ส่วนนักเรียนนายทหารชั้นประทวรที่มีผลการเรียนในระดับสูงเท่านั้นที่จะได้รับเลือกให้ไปเรียนใน Officer Cadet School หรือโรงเรียนนายร้อยของสิงคโปร์เพื่อจบมาเป็นนายทหารสัญญาบัตร
สำหรับการเรียน นายทหารชั้นสัญญาบัตรในระดับร้อยเอก เรือเอก หรือเรืออากาศเอก จะเรียนแยกกันที่โรงเรียน SAF Advanced Schools ตามแต่ละเหล่า ซึ่งสอนหลักสูตรเทียบเท่าหลักสูตรผู้บังคับกองร้อย นายทหารชั้นต้น และผู้บังคับฝูงของไทย แต่สำหรับการเรียนในโรงเรียนเสนาธิการของนายทหารยศพันตรีและพันโท จะต้องเรียนรวมกันที่ Goh Keng Swee Command and Staff College ซึ่งเป็นโรงเรียนเสนาธิการร่วมเหล่าของสิงคโปร์ เนื่องจากกองทัพสิงคโปร์ต้องการให้ทั้งสามเหล่าทัพปฏิบัติการร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์
กองทัพสิงคโปร์กำหนดอายุการเกษียณไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับยศไหน ถ้าคุณเป็นสิบเอกลงมา อายุที่จะเกษียณ์คือ 45 ปี จ่าสิบตรีจนถึงพันตรีจะต้องเกษียณเมื่ออายุ 50 ปี และพันโทขึ้นไปจะเกษียณที่อายุ 55 ปี ซึ่งในกรณีที่กองทัพเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อกองทัพ ก็สามารถขยายอายุการเกษียณได้อีก 5 ปี ระบบนี้จะทำให้กองทัพมีคนใหม่ ๆ ที่อายุไม่มากนักขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพอยู่เสมอ และในทางกลับกัน คนที่มีความสามารถต่ำกว่าและไม่สามารถก้าวขึ้นมาในตำแหน่งสูง ๆ ได้ก็จะถูกบังคับให้เกษียณเร็ว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกองทัพในแง่ของการลดกำลังพลในตำแหน่งสูง ลดค่าใช้จ่าย เปิดตำแหน่งว่างให้กำลังพลอื่นสามารถเติบโตได้ และทำให้กำลังพลที่ถูกบังคับเกษียณยังมีอายุการทำงานเหลือมากพอที่จะไปเริ่มต้นอาชีพใหม่ได้โดยไม่ลำบากเกินไปนัก
เช่นเดียวกับกองทัพในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ รัสเซีย หรือยุโรป สิงคโปร์ไม่มีผู้บัญชาการเหล่าทัพหรือ Commander in Chief เพราะผู้นำเหล่าทัพคือเสนาธิการเหล่าทัพหรือ Chief of Army/Air Force/Navy ดังนั้นหัวหน้าเหล่าทัพจะไม่มีสิทธิในการตัดสินใจเอง แต่จะใช้ระบบ Joint Chief of Staffs หรือคณะเสนาธิการร่วมกองทัพสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่รวมของเสนาธิการเหล่าทัพซึ่งจะขึ้นตรงต่อประธานาธิบดีสิงคโปร์ โดยคณะเสนาธิการร่วมกองทัพสิงคโปร์ประกอบไปด้วย
- รัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงทุกตำแหน่ง
- ปลัดกระทรวงกลาโหม
- เสนาธิการกองทัพสิงคโปร์
- เสนาธิการกองทัพบก
- เสนาธิการกองทัพอากาศ
- เสนาธิการกองทัพเรือ
- สมาชิกอิสระที่ประธานาธิบดีแต่งตั้งขึ้นตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี
ซึ่งจะทำหน้าที่ในการตัดสินใจทั้งหมดเกี่ยวกับกองทัพสิงคโปร์ จะเห็นได้ว่าเมื่อต้องทำการโหวต จะมีสมาชิกที่เป็นพลเรือนมากกว่าทหารประจำการเสมอ เพื่อรักษาหลักการของ Civilian Control หรือหลักการที่พลเรือนจะควบคุมทหารเท่านั้น และให้รัฐบาลสามารถควบคุมกิจการของกองทัพสิงคโปร์ได้อย่างเต็มที่
และจากโครงสร้างนี้ ทำให้กองทัพสิงคโปร์จะมีพลจัตวาเพียง 13 คน พลตรี 3 คนซึ่งก็คือเสนาธิการของแต่ละเหล่าทัพ และมีพลโทแค่ 1 คนคือเสนาธิการกองทัพสิงคโปร์ซึ่งคล้ายกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสิงคโปร์ และไม่มียศพลเอกที่มีดาว 4 ดวงแต่อย่างใด
การเลือกเสนาธิการของแต่ละกองทัพของสิงคโปร์จะเลือกโดยประธานาธิบดี ตามคำปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ต้องมาปรึกษาสภากลาโหมซึ่งประกอบไปด้วยรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกลาโหม เสนาธิการกองทัพสิงคโปร์ เสนาธิการกองทัพบก เสนาธิการกองทัพอากาศ และเสนาธิการกองทัพเรือ เสนาธิการของแต่ละเหล่าทัพจะมีอายุการทำงานอย่างน้อย 3 ปีก่อนเกษียณเพื่อความต่อเนื่องในการทำงาน
อ่านทั้งหมดนี้ลองเทียบกับประเทศไทยและนึกภาพตามก็ได้ครับ เพราะเราจะเห็นว่าไม่มีใครอยากรู้ว่าเสนาธิการเหล่าทัพของสิงคโปร์จบโรงเรียนรุ่นไหน เพราะไม่มีใครสนใจเรื่องนี้ ทุกอย่างว่ากันตามยศ ประสบการณ์ โปรไฟล์ และความสามารถในการบริหารเท่านั้น ไม่ต้องสนใจรุ่นหรืออาวุโสแบบไทย และไม่ต้องสนใจว่าใครจะจบจากโรงเรียนเตรียมทหารหรือโรงเรียนนายร้อยหรือไม่หรือจบรุ่นไหน เพราะทุกคนจบโรงเรียนเดียวกันมาทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากไทยที่มีทั้งการสอบผ่านโรงเรียนเตรียมทหารและโรงเรียนนายร้อย รับตรงจากพลเรือน หรือเลื่อนขึ้นมาจากนายทหารชั้นประทวน ซึ่งทำให้เกิดประเพณีที่ต้องการให้ผู้นำเหล่าทัพต้องจบโรงเรียนเตรียมทหารหรือโรงเรียนนายร้อยเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้นำกองทัพจะกระจุกตัวอยู่เพียงแค่คนกลุ่มเดียว และต้องนำรุ่นมาพิจารณาในการเลื่อนตำแหน่ง ไม่ใช่ประสบการณ์หรือความสามารถเป็นหลัก
การแต่งตั้งผู้นำกองทัพที่มีวาระการทำงานที่ยาวนานอย่างน้อย 3 ปีทำให้เกิดความต่อเนื่องด้านการบริหาร ซึ่งแตกต่างจากกองทัพของไทยที่ทุกวันนี้ตำแหน่งผู้นำกองทัพกลายเป็นตำแหน่งสมบัติผลัดกันชม เพราะผู้นำกองทัพมักจะมีอายุการดำรงค์ตำแหน่งแค่ 1 – 2 ปีเท่านั้น และในเมื่อผู้นำกองทัพมีอำนาจตัดสินในได้เองเบ็ดเสร็จ เมื่อเปลี่ยนผู้นำกองทัพก็จะมีการเปลี่ยนนโยบายเสมอ ทำให้การบริหารไม่ต่อเนื่อง และมักเกิดการที่คนใหม่รื้อสิ่งที่คนเก่าทำอยู่ตลอดเวลา
การเกษียณอายุที่เร็วของสิงคโปร์ก็ทำให้ผู้นำกองทัพจะอายุน้อยเสมอ ซึ่งส่งผลให้กองทัพสามารถเปลี่ยนแปลงทันโลกได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้นำเหล่าทัพก็มักจะถูกเลือกจากนายทหารที่มีความสามารถ และได้ทุนไปเรียนในมหาวิทยาลัยดี ๆ ทั้งในสิงคโปร์และต่างประเทศ ถูกส่งไปฝึกหรืออบรมในหลักสูตรสำคัญ ๆ เสมอ ทำให้ผู้นำเหล่าทัพได้คนที่มีคุณภาพ เมื่อผู้นำเหล่าทัพเกษีษณไปแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ก็มักจะส่งไปอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ในรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลเพื่อนำความรู้ความสามารถไปใช้ต่อในกิจการอื่น ๆ ของรัฐ แต่เรื่องนี้ก็มีข้อเสียและได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นการไม่ยุติธรรมที่บางตำแหน่งถูกสงวนไว้สำหรับนายพลที่เกษียณจากกองทัพสิงโปร์เท่านั้น ซึ่งจะทำให้กลายเป็นทหารสิงคโปร์ที่ก็เป็นข้าราชการเหมือนคนอื่นมีความได้เปรียบมากกว่าข้าราชการอื่น
อีกด้านหนึ่ง เราจะเห็นว่าผู้บัญชาการทหารของไทยจะมีอำนาจสูงมาก สามารถสั่งการทุกอย่างในกองทัพได้ด้วยตัวเอง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมีอำนาจน้อยเพราะการสั่งการในแต่ละกองทัพนั้น ผู้บัญชาการทหารบก ทหารเรือ หรือทหารอากาศ สามารถทำได้เองเป็นส่วนมากไม่ต้องสนใจผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วมองว่ามีความเสี่ยง เพราะการทหารถือเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องความเป็นความตายของชาติ และส่งผลกระทบมากเกินกว่าจะปล่อยให้ผู้บัญชาการคนเดียวมีอำนาจทำทุกอย่าง จึงเลือกที่จะไม่มีระบบผู้บัญชาการเหล่าทัพ แต่ให้มีเพียงเสนาธิการเหล่าทัพที่ไม่มีอำนานตัดสินใจมากนัก การตัดสินใจทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับคณะเสนาธิการร่วมกองทัพ และผู้บัญชาการสูงสุดก็จะเป็นผู้นำประเทศไม่ว่าประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี เพื่อรับประกันว่าพลเรือนจะมีอำนาจควบคุมทหารและมองภาพรวมได้ดีกว่ากองทัพดำเนินการเอง สิงคโปร์ก็เช่นเดียวกัน
สำหรับประเทศไทยที่กองทัพไม่ต้องการให้พลเรือนเข้ามาแตะต้อง ทำให้ยากมากที่จะเกิดการปฏิรูป เพราะกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ล้วนเป็นผู้นำกองทัพ และตามธรรมชาติ รวมถึงความอนุรักษ์นิยมขั้นสูงของกองทัพ คงไม่มีใครยอมปฏิรูปองค์กรให้ตนเองต้องเสียประโยชน์ หรือยอมให้บุคคลภายนอกทำการเปลี่ยนแปลง ด้วยข้ออ้างว่าไม่มีใครรู้เรื่องทหารดีเท่าทหาร ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ทหารเป็นเพียงข้าราชการคนหนึ่งที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ถูกเลือกมาจากประชาชนเท่านั้น
ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่ว่าสิงคโปร์เป็นประเทศร่ำรวย แต่เป็นเรื่องของการออกแบบระบบที่ดี ทั้งนี้ อาจจะพูดได้ว่าคนละประเทศ บริบทของแต่ละประเทศก็ต่างกัน ดังนั้นระบบจะต่างกันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ซึ่งก็ใช่ แค่เมื่อเรามองไปที่กองทัพสิงคโปร์ที่ทุกคนในภูมิภาคนี้ยอมรับว่าเป็นกองทัพอันดับหนึ่งทั้งในแง่เทคโนโลยีและความสามารถ ก็แปลว่าระบบที่ดีมีผลในการสร้างกองทัพที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน ในเมื่อสิงคโปร์มีระบบที่ดี ก็ไม่แปลกที่จะมีกองทัพที่ดีกว่าคนอื่นครับ