ช่วงนี้มีประเด็นเกี่ยวกับการ #ค้ามนุษย์ กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง จากการอภิปรายในสภาเกี่ยวกับประเด็นของการทำคดีค้ามนุษย์และการลี้ภัยของพลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์หลังจากเชื่อว่าได้รับแรงกดดันจากการทำคดีโรฮิงญา
เรื่องประเด็นพลตำรวจตรี ปวีณนั้นน่าจะมีหลายท่านพูดกันเยอะแล้ว แต่เมื่อพูดถึงโรฮิงญา มีประเด็นเล็ก ๆ อีกประเด็นหนึ่งที่อาจจะลืมกันไป แต่ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญและได้รับการจับต่อมองในระดับนานาชาติ ก็คือประเด็นที่กองทัพเรือเคยฟ้องเว็บไซต์ภูเก็ตหวานข้อหาหมิ่นประมาทและความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากกรณีที่เว็บไซต์ตีพิมพ์ข้อความจากรายงานข่าวรางวัลพูลิเซอร์ของรอยเตอร์ที่เปิดเผยกระบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญาในประเทศไทย ซึ่งเชื่อมโยงถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร ข้าราชการระดับสูงหลายคน
เว็บไซต์ภูเก็ตหวานเป็นของ Alan Morison ชาวออสเตรเลียบรรณาธิการ และชุติมา สีดาเสถียรผู้สื่อข่าว โดยเลือกฟ้องจากบทความในเว็บไซต์ภูเก็ตหวานซึ่งอ้างอิงข้อความจากรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ชื่อ Thai authorities implicated in Rohingya Muslim smuggling network ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 25ที่ตีแผ่ผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับจากเครือข่ายการนำชาวโรฮิงญาออกจากเมียนมาร์ โดยกองทัพเรือมองว่า ข้อความที่บอกว่า
“The Thai naval forces usually earn about 2,000 baht per Rohingya for spotting a boat or turning a blind eye, said the smuggler, who works in the southern Thai region of Phang Nga (north of Phuket) and deals directly with the navy and police”
Reuters Special Report – Thai authorities implicated in Rohingya Muslim smuggling network
นั้นเป็นการหมิ่นประมาท จึงฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทและเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งข้อความเท็จ ทำให้กองทัพเรือได้รับความเสียหาย
สิ่งที่ทำให้คดีนี้เป็นที่สนใจก็คือ กองทัพเรือเลือกที่จะฟ้องคดีต่อเว็บไซต์ข่าวท้องถิ่นที่ทำเพียงอ้างอิงข้อความจากรอยเตอร์ แต่ไม่ฟ้องสำนักข่าวรอยเตอร์ที่เป็นผู้ผลิตบทความดังกล่าว และฟ้องคดีทั้งคดีหมิ่นประมาทและคดี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ทั้งที่ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ระบุว่าห้ามนำบทบัญญัติใน พ.ร.บ. นี้ไปฟ้องร่าวมกับข้อหาหมิ่นประมาท
จำเลยสู้คดีว่ารายงานดังกล่าวเป็นเพียงการอ้างอิงจากรายงานข่าวอื่นเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการทำหน้าที่สื่อมวลชนโดยปราศจากเจตนาสร้างความเสื่อมเสียให้กับกองทัพเรือ และเมื่อกองทัพเรือชี้แจง ก็ยังนำคำชี้แจงมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ซึ่งถือว่าเป็นการให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน
คดีนี้ถูกวิจารณ์เป็นอย่างมากจากองค์กรนานาชาติและรัฐบาลในหลายประเทศ ซึ่งมองว่ากองทัพเรือฟ้องสื่อมวลชนนั้นเป็นการลดทอนสิทธิ์และเสรีภาพของการแสดงออก และเป็นการใช้กฎหมายฟ้องคดีเพื่อปิดปากการทำงานของสื่อมวลชน และเรียกร้องให้กองทัพเรือถอนฟ้องคดีดังกล่าว
สุดท้ายในวันที่ 1 กันยายน 2558 ศาลจังหวัดภูเก็ตได้ตัดสินยกฟ้อง โดยศาลมองว่าข้อความที่จำเลยนำมาเผยแพร่นั้นเป็นเพื่อการนำมาจากรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ ไม่ใช่ความเห็นของตัวเอง ซึ่งได้รับการเชื่อถือและยอมรับทั่วโลก เชื่อว่าสำนกข่าวรอยเตอร์ตรวจสอบข้อเท็จจริงถูกต้องแล้ว จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 328 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา รวมถึงไม่ปรากฎว่าข้อความใดเป็นเท็จ จึงไม่มีความผิดและยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา
รายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ทั้ง 7 บทความเกี่ยวกับโรฮิงญานั้นตีแผ่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงของรัฐบาลเมียนมาร์ต่อชาวโรฮิงญา ความพยายามในการหลบหนีของชาวโรฮิงญาออกนอกประเทศ การรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐไทยจากกระบวนการที่นำชาวโรฮิงญาหนีออกมา และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรงฮิงญาระหว่างอยู่ในประเทศไทย
นอกจากการชี้ให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงของกองทัพเมียนมาร์แล้ว รายงานฉบับนี้ยังตีแผ่พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐของไทยหลายอย่างที่มีทั้งการเรียกรับผลประโยชน์จากขบวนการและการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงค่ายผู้อพยพในประเทศไทย
ผู้เขียนรายงานชุดนี้คือ Jason Szep และ Andrew R.C. Marshall ของสำนักข่าวรอยเตอร์ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์สาขารายงานระหว่างประเทศ (International Reporting) ประจำปี 2557 โดยทุกท่านสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ของรางวัลพูลิตเซอร์ที่ https://www.pulitzer.org/winners/jason-szep-and-andrew-rc-marshall
แต่ในทางกลับกัน รัฐบาลไทยก็เคยแถลงหลายครั้งว่า ไม่มีนโยบายละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญา แม้ว่าไทยจะไม่ยอมรับชาวโรฮิงญาเข้ามาในประเทศ แต่ก็จะให้ความช่วยเหลือเป็นน้ำและอาหาร รวมถึงเชื้อเพลิงให้กับเรือที่ผู้อพยพอาศัยมาได้เดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทาง
แม้ว่าปัจจุบัน ประเทศไทยจะถูกสหรัฐปรับขึ้นพ้นจาก Tier 3 ของรายงานด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการสอบสวนของพลตำรวจตรี ปวีณ ที่แม้จะยังไม่สามารถสอบสวนขยายผลได้ทั้งกระบวนการ แต่ก็สามารถส่งสำนวนกว่าสองแสนหน้า ฟ้องผู้ต้องหากว่า 103 คนได้สำเร็จ
แต่การดำเนินการที่ขาดความต่อเนื่องหลังจากนั้น โดยเฉพาะการล้มเหลวของรัฐบาลไทยในการสอบสวนการค้ามนุษย์ การปกป้องเหยื่อจากการค้ามนุษย์ และรัฐบาลไทยไม่ได้แสดงความพยายามให้เห็นอย่างชัดเจนในความพยายามปราบปรามการค้ามนุษย์ มีการสอบสวนน้อยลง ดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยน้อยลงเมื่อเทียบกับรอบรายงานครั้งแรก แต่กลับมีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานอพยพในประเทศไทยที่มีมากขึ้น และอีกหลายสาเหตุที่เกี่ยวข้อง ทำให้รัฐบาลสหรัฐจัดให้ไทยไปอยู่ในรายงานประเทศที่ต้องจับตาในระดับ Tier 2 อีกครั้งในปี 2021 แสดงให้เห็นว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการค้ามนุษย์ยังคงเป็นประเด็นที่รัฐบาลไทยจะต้องดำเนินการให้จริงจังกว่านี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการค้ามนุษย์ทั้งกรณีชาวโรฮิงญา ไปจนถึงแรงงานต่างชาติที่ทำงานในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประมงที่มีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นระยะ ๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการดำเนินการได้ขนาดนี้โดยปราศจากการรู้เห็นเป็นใจจากเจ้าหน้าที่รัฐ
และถึงแม้จะไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร หรือตำรวจ คนใดที่ทุจริตหรือรับผลประโยชน์จากขบวนการค้ามนุษย์เหล่านี้ แต่ข้อเท็จจริงที่พบว่ามีการนำผู้อพยพหรือแรงงานต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการไทยที่เกี่ยวข้องนั้นล้มเหลวเป็นอย่างมาก
วิธีการเดียวที่หน่วยงานราชการไทยจะเรียกความเชื่อมั่นทั้งจากประชาชนและจากองค์กรนานาชาติ คือการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังในการปราบปรามการค้ามนุษย์ การนำผู้กระทำผิด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากที่เกี่ยวข้องมาลงโทษ ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือยศใหญ่แค่ไหน และการดูแลสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังเท่านั้น จึงจะพอเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้ มิเช่นนั้น เราก็ต้องเผชิญกับการกดดันจากนานาชาติ และทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการค้ามนุษย์อยู่ต่อไป