วิเคราะห์ยุทธวิธีของรัสเซีย พลาดตรงไหน ทำไมยังยึดยูเครน ไม่ได้

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าถ้าเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ชัยชนะน่าจะตกอยู่ในมือของรัสเซียค่อนข้างแน่ เนื่องจากความแข็งแกร่งของกองทัพรัสเซียที่สูงกว่ายูเครนอย่างมีนัยยะสำคัญ แม้คุณภาพจะดีกว่าจำนวน แต่ในบางทีจำนวนก็มีคุณภาพในตัวเอง และสำหรับรัสเซียในตอนนี้ มีทั้งคุณภาพและจำนวน ดังนั้นให้วิเคราะห์ยังไง ถ้าใครจะบอกว่ารัสเซียจะยึดพื้นที่ไม่ได้เลยสักเมตรก็คงเป็นไปไม่ได้

แต่ในทางกลับกัน เมื่อรัสเซียเปิดสงครามกับยูเครน จำนวนและคุณภาพที่มากกว่าของรัสเซียกลับไม่สามารถปิดเกมส์ได้เร็วอย่างที่ทุกคนคาดคิด หรือแม้แต่รัสเซียก็ไม่คาดคิด เมืองที่สำคัญที่สุดเมืองหนึ่งของยูเครนคือเมืองคาร์คิฟซึ่งเป็นเมืองวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมที่ทุกคนคาดว่าน่าจะตกอยู่ในมือของรัสเซียภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เนื่องจากเมืองอยู่ไม่ห่างจากชายแดนรัสเซียและภูมิภาคโดเน็กส์และลูฮาน แต่จนถึงตอนนี้ แม้รัสเซียจะยังคงความได้เปรียบ แต่เมืองก็ยังไม่ตกไปอยู่ในมือของรัสเซียอย่างสมบูรณ์

ยังไม่นับการสูญเสียของฝ่ายรัสเซียที่ดูแล้วมากกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับว่ารัสเซียมียุทธโปกรณ์ที่ทันสมัยกว่ายูเครน และยุทธวิธีต่าง ๆ ก็ดูแล้วน่าจะยังใช้ได้ผล แต่การสูญเสียเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินลำเลียงไปมากกว่าสิบลำ เฮลิคอปเตอร์อีกหลายสิบลำ รถถังและยานเกราะหลายร้อยคัน ไปจนถึงหน่วยพลร่ม VDV ที่มีชื่อเสียงของรัสเซียก็ยังประสบปัญหาและถูกตีในหลายแนวอย่างที่ไม่ควรจะเป็น รวมถึงมีทหารรัสเซียเสียชีวิตแล้วมากกว่าหนึ่งพันคน การรุกคืบเป็นไปได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น และยังไม่สามารถครองอากาศได้อย่างเต็มที่

เมื่อเทียบกับกรณีที่คล้าย ๆ กันของมหาอำนาจที่ทำสงครามกับประเทศศที่เล็กกว่าอย่างสหรัฐและพันธมิตรทำสงครามอ่าวเปอร์เซียในครั้งแรกเพื่อปลดปล่อยคูเวตที่ถูกอิรักยึดครอง ซึ่งตอนนั้นอิรักมีสถานะเป็นกองทัพที่ติด Top Ten ของโลก แต่ยอดสูญเสียของรัสเซียในสามวันแรกของสงครามแซงหน้ายอดสูญเสียของสหรัฐและพันธมิตรทั้งหมดในสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกไปแล้ว

TAF จะวิเคราะห์ยุทธวิธีบางส่วนของรัสเซียว่ามีอะไรบ้าง และอะไรคือจุดที่คิดว่าถ้ารัสเซียทำได้ดีกว่านี้ ก็จะสามารถยึดยูเครนได้เร็วกว่านี้และสูญเสียน้อยกว่านี้


  1. แผนยุทธการการรุกของรัสเซียไม่มีอะไรผิดพลาด

กระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักรเผยแพร่ Defense Intelligent เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจากข่าวกรอง รัสเซียจะบุกเป็นสามแกน (Three Axis of Attack) จากทางใต้ ทางตะวันออก และทางเหนือจากเบลารุส โดยกำลังจากไครเมียและชายแดนตะวันออกของยูเครนจะมาเจอกันที่เมืองดนีโปร และกำลังทางเหนือจะเข้ายึดกรุงเคียฟในเฟสแรก เฟสสองกำลังที่มารวมกับที่ดนีโปรและกำลังอีกส่วนจากไครเมียจะข้ามแม่น้ำดนีเปอร์เพื่อรุกข้ามยูเครนไปทางตะวันตก

ซึ่งดูแล้วถือเป็นแผนที่ค่อนข้างสมเหตุสมผลแล้ว เพราะแผนนี้จะทำให้กองกำลังของรัสเซียไม่ต้องพะวงหลัง ลดการสับสนในการเปิดแนวรบ สามารถรวมอำนาจการยิงให้มหาศาลเพื่อเข้าตีและยึดพื้นที่ได้ง่าย และทำยูเครนเสียความได้เปรียบในการป้องกันตัวเองไป


  1. รัสเซีย หรือแม้แต่คนทั้งโลก ประเมินยูเครนต่ำไป

แม้ว่าเรื่อง Ghost of Kyiv จะดูเหมือนเป็นข่าวลือมากกว่าเรื่องจริง แต่จนถึงจุดนี้ต้องยอมรับว่ากองทัพยูเครนทำได้ดีกว่าที่คิดไว้ค่อนข้างมาก ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กองกำลังรัสเซียที่ได้รับคำยืนยันจากการข่าวว่าเมื่อเข้าไปในยูเครนแล้วจะพบกับการต้อนรับของชาวยูเครนที่ต้องการให้รัสเซียเข้ามาปลดปล่อย

แน่นอนว่ารัสเซียกำลังยึดพื้นที่ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ในบางวัตถุประสงค์ย่อยของสงครามก็ยังทำไม่สำเร็จเช่น การยึดเมืองคาคิฟเพื่อเดินหน้าต่อไปยังดนีโปรของรัสเซียซึ่งต้องควรจะยึดได้ง่ายกว่านี้ ก็ยังพบว่ากองทัพยูเครนสามารถวางแนวตั้งรับได้อย่างดีและมีระเบียบวินัย หรือในแนวรบทางเหนือที่แม้ว่ากรุงเคียฟน่าจะถูกยึดได้ภายในเวลาไม่กี่วันนี้ แต่ก็ต้องถือว่าช้ามากกว่าที่ควรจะเป็นมาก และรัสเซียประสบกับการสูญเสียที่มากกว่าที่ควรจะเป็นมาก

ที่สำคัญคือ รัสเซียยังไม่สามารถครองอากาศได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งที่รัสเซียใช้ทั้งเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินโจมตีทำการโจมตีกวาดระบบป้องกันภัยทางอากาศและระบบเรดาร์แจ้งเตือนของยูเครนไปได้มาก แต่ก็ยังปรากฏการสูญเสียกำลังทางอากาศอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะการสูญเสียเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบินลำเลียงหลายลำที่ทำให้พลร่มรัสเซียเสียชีวิตไปค่อนข้างมาก
สิ่งเหล่านี้ทำให้รัสเซียต้องปรับแผน จนถึงต้องเรียกกำลังเสริมและเพิ่มเติมกำลัง เพราะแนวการรบที่ควรจะเป็นระนาบเดียวกันกลับเกิดการเหลื่อมกัน กำลังบางส่วน บางหน่วยรัสเซียสามารถเคลื่อนที่ไปได้ไกล แต่ก็ไม่มีกำลังสนับสนุนเนื่องจากกำลังสนับสนุนบางส่วนยังติดการต้านทางของยูเครนอยู่ เป็นต้น


  1. แผนยุทธการของรัสเซียอาจจะดี แต่ยุทธวิธีล้าสมัยหรือไม่

รัสเซียเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ ดังนั้นยุทธวิธีการเคลื่อนกำลังของรัสเซียจะพึ่งพายานยนต์และอากาศยานเป็นส่วนใหญ่ เช่นการใช้ทหารราบบรรทุกยานเกราะ การใช้เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงพลติดอาวุธ หรือใช้เครื่องบินลำเลียงส่งกำลังพลทางอากาศ

ยุทธวิธีหนึ่งของรัสเซียคือการใช้เครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์จำนวนมากเป็นหัวหอกกรุยทางทำลายระบบป้องกันภัยทางอากาศและยิงเปิดทางเพื่อส่งกำลังพลลงเพื่อเข้ายึดพื้นที่ หรือใช้เครื่องบินลำเลียงส่งพลร่มลงตามจุดสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามบินต่าง ๆ เพื่อยึดสนามบินเป็นสนามบินส่วนหน้าเพื่อที่จะให้เครื่องบินลำเลียงของรัสเซียนำกำลังส่วนใหญ่มาเพื่อเปิดแนวรบทางบกต่อ

แต่ในทางปฏิบัติ กองทัพรัสเซียกลับพบการต่อต้านหลายครั้ง เฮลิคอปเตอร์ส่วนใหญ่ไปถึงเป้าหมายได้ แต่มีบางส่วนที่ถูกจรวดต่อสู้อากาศยานยิงตกซึ่งสร้างความสูญเสียให้กับกำลังพลที่โดยสารมา เครื่องบินลำเลียงก็ถูกยิงตกบางส่วน กำลังพลที่ลงไปได้หลายส่วนสามารถยึดเป้าหมายได้ แต่อีกหลายส่วนก็พบกับความสูญเสียและไม่สามารถยึดเป้าหมายได้

สิ่งสำคัญก็คือ แม้รัสเซียจะทำถูกในการวางแผนเพื่อยึดครองพื้นที่เหล่านั้นด้วยกำลังทางอากาศและกำลังส่งทางอากาศ แต่รัสเซียยังไม่สามารถกดดันหรือลดขีดความสามารถของกองกำลังที่ป้องกันสนามบินหรือเป้าหมายทางทหารเหล่านั้นได้มากพอ ทำให้หลายครั้งแม้จะยึดได้แล้ว กลับต้องพบกับความสูญเสียจากการตีโต้จนต้องล่าถอยออกไป ซึ่งในเมื่อเป็นพื้นที่แนวหลัง ทำให้ยังไม่มีกำลังทางบุกอื่นมาสนับสนุน และเมื่อการยึดสนามบินที่ควรจะกลายเป็น Staging Area ของกำลังส่วนใหญ่ของรัสเซียยังไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ปฏิบัติการโดยรวมยังไม่บรรลุผลเท่าที่ควร


  1. รัสเซียมีข้อจำกัดในการปฏิบัติการตอนกลางคืน

สำหรับประเทศมหาอำนาจ ปฏิบัติการตอนกลางคืนจะถือเป็นกุญแจสำคัญไปสู่ชัยชนะ เนื่องจากประเทศเล็ก ๆ มักจะมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการกลางคืนต่ำ แต่สำหรับในยูเครน ดูเหมือนรัสเซียจะไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติการกลางคืนมากเท่าที่ควร และหลายครั้งมีเพียงการยิงปืนใหญ่ปูพรมหรือการใช้ขีปนาวุธโจมตีตอนกลางคืนหรือเช้ามืดเพื่อเคลียร์ทางก่อนกำลังทางบกจะเข้าตีในเวลาเช้า ซึ่งไม่แน่ใจว่าเพราะอะไรปฏิบัติการตอนกลางคืนของรัสเซียจึงน้อยอย่างผิดสังเกต หรืออาจเป็นเพราะอุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติการตอนกลางคืนของรัสเซียยังไม่พร้อมก็เป็นได้


  1. หน่วยสนับสนุนและการส่งกำลังบำรุงเกิดปัญหา

ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งระบบการส่งกำลังบำรุงยังมีปัญหา หรือพบการต่อต้านที่ไม่คาดคิดจากยูเครน เราจึงเห็นบางครั้งที่รัสเซียสามารถรุกไปข้างหน้าได้ แต่หน่วยยิงสนับสนุนตามไม่ทัน หรือหน่วยส่งกำลังบำรุงยังไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

สำหรับยูเครน ในหลายกรณีนั้น ยูเครนพร้อมที่จะถอยทัพเพื่อรักษายุทโธปกรณ์เอาไว้ หรือถ้ารักษายุทโธปกรณ์ไม่ได้ก็ถอยเพื่อรักษาชีวิตทหาร ซึ่งแม้จะทำให้รัสเซียสามารถรุกคืบได้ แต่ก็ไม่สามารถทำลายกำลังของยูเครนลงได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งการที่ยูเครนมีระบบอาวุธแบบพกพาจำนวนมากเช่นจรวดต่อสู้รถถังหรือจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า ทำให้มีโอกาสหลายครั้งที่ยูเครนสามารถตีโต้และสร้างความเสียหายให้กับกำลังที่กำลังเคลื่อนที่ของรัสเซียในขณะที่เคลื่อนที่และรุกไปข้างหน้าได้


  1. รัสเซียไม่ได้เตรียมรับมืออาวุธแบบพกพาอย่างเพียงพอ

บางครั้งที่เราจะเห็นยานเกราะถูกทำลายพร้อมกับกำลังพลทั้งคัน บางครั้งเราเห็นรถถังที่ถูกยิงทำลายจากด้านบน ซึ่งค่อนข้างแน่ชัดว่าเกิดจากผลงานของจรวดที่ประเทศ #NATO ส่งให้อย่าง #Javelin หรือ #NLAW ซึ่งจริง ๆ รัสเซียก็ทราบอยู่แล้ว แต่น่าสังเกตุคือ ยานเกราะบางส่วนยังไม่ได้เตรียมการป้องกันจรวดที่ใช้การทำลายจากด้านบนอย่าง Javelin มากพอ จึงทำให้กลายเป็นว่าหลายครั้ง Javelin มีผลงาน ทั้งที่ขีดความสามารถของเทคโนโลยีทางทหารของรัสเซีย ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะป้องกัน Javelin ตั้งแต่ต้น


ทั้งหมดนี้เป็นบางส่วนของสิ่งที่ TAF เชื่อว่ารัสเซียน่าจะทำได้ดีกว่านี้ และถ้าทำได้ดีกว่านี้ การรุกรานยูเครนก็จะง่ายกว่านี้และสูญเสียน้อยกว่านี้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่ารัสเซียจะเอาชนะยูเครนไม่ได้ เพราะ TAF ยังเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว ถ้าพูดในมิติของการทหาร อย่างไรเสียยูเครนก็น่าจะต้องพ่ายแพ้แก่รัสเซีย เพียงแต่ชัยชนะของรัสเซียในครั้งนี้อาจจะเป็นชัยชนะที่ช้ากว่าที่ควร สูญเสียมากกว่าที่จำเป็น ทุลักทุเลมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จริง ๆ แล้วน่าจะป้องกันได้ด้วยการพัฒนายุทธวิธีที่ดีกว่านี้

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.