เพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจาก #รัสเซีย บุก #ยูเครน ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์เกิดขึ้นอย่างฉับพลันไปทั่วยุโรปตะวันออก และจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องไปอีกนานและต่อเนื่องนั่นคือ
- แม้รัสเซียจะออกมาระบุว่าสวีเดนและฟินแลนด์จะต้องพบกับหายนะอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนถ้าเข้าร่วมกับ NATO แต่ล่าสุดในสวีเดน ผลโพลทุกสำนักระบุว่าประชาชนสนับสนุนให้เข้าร่วมกับ NATO เนื่องจากกังวลว่ารัสเซียจะทำสงครามกับตนเอง ซึ่งเมื่อสองวันก่อนมีเหตุการณ์ที่รัสเซียส่งเครื่องบินล้ำน่านฟ้าสวีเดนจนสวีเดนต้องส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นสกัดกั้น
- แม้นายกรัฐมนตรีซานน่า มารินของฟินแลนด์จะกล่าวว่ายังไม่มีนโยบายเข้าร่วมกับกลุ่ม NATO แต่ประชาชนขาวฟินแลนด์เข้าชื่อ 5 หมื่นชื่อยื่นญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาเปิดอภิปรายว่าฟินแลนด์ควรเข้าร่วมกลุ่ม NATO หรือไม่ โดยผลการสำรวจความเห็นของชาวฟินแลนด์ระบุว่าประชาชนชาวฟินแลนด์ส่วนใหญ่พร้อมเทคะแนนสนับสนุนให้กับการเข้าร่วม NATO
- จอร์เจียร์ที่ถูกรัสเซียบุกโจมตีและแบ่งแยกดินแดนบางส่วนออกไปด้วยสาเหตุคล้ายกับการบุกยูเครนในปี 2008 ลงนามในหนังสือสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยนายกรัฐมนตรีอิรักลี่ การีบาสวิลลี่กล่าวว่า วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ ผมได้ลงนามในใบสมัครเข้าร่วมสหภาพยุโรปในนามของจอร์เจีย
- มอลโดวว่า ประเทศที่มีชายแดนติดกับยูเครน และสงครามห่างจากตนเองไปไม่กี่กิโลเมตร ลงนามในใบสมัครเข้าร่วมสหภาพยุโรปเช่นกัน ประธานาธิบดีมาเรีย แซนดรู ของมอลโดว่ากล่าวว่า เวลาที่เหมาะสมคือตอนนี้ มอลโดว่าลงนามอย่างเป็นทางการในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ประชาชนชาวมอลโดว่าจะทำงานหนักเพื่ออนาคตที่มีเสถียรภาพและรุ่งเรืองในสหภาพยุโรปและในครอบครัวของรัฐยุโรป
- โคโซโวซึ่งแยกตัวออกมาจากเซอร์เบียประกาศว่า รัฐบาลจะเร่งกระบวนการในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก NATO และร้องขอให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในโคโซโวทันที
แม้ยุโรปจะไม่มีข้อตกลงที่ว่าจะปกป้องประเทศสมาชิกที่ถูกโจมตีในลักษณะเดียวกับกลุ่ม NATO แต่ภายใต้สนธิสัญญา Lisbon ของสหภาพยุโรปนั้น ส่วนหนึ่งคือการเพิ่มบทบาทการป้องกันตนเองให้กับประเทศยุโรป โดยกำหนดให้ประเทศยุโรปมีนโยบายด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศไปในทางเดียวกัน เพิ่มความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ และเปิดโอกาสให้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อประโยชน์ในด้านการทหาร
ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวในการแถลงต่อรัฐสภาของสหรัฐหรือ State of the Union ว่า การบุกยูเครนของรัสเซียในครั้งนี้ส่งผลให้ประเทศตะวันตกจับมือกันแน่นขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งถือว่าเปลี่ยนไปจากยุคประธานาธิบดีทรัมป์ที่ต้องการถอนสหรัฐอเมริกาจากการสนับสนุนพันธมิตร
ซึ่งนี่อาจจะเป็นผลที่ไม่คาดคิด รัสเซียอาจจะบุกยูเครนบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าตะวันตกจะเพียงแค่ประณามและไม่ทำอะไร และเป็นการส่งสัญญาณให้กับประเทศอดีตสหภาพโซเวียตอื่น ๆ ไม่กล้าที่จะออกห่างรัสเซีย
แต่กลับกลายเป็นว่ารัสเซียกำลังพบกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัย ประเทศในยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชียหลายประเทศจับมือกันแน่นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่แล้ว และประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรกับรัสเซียหรือเคยถูกรัสเซียรุกรานอย่างมอลโดว่าหรือจอร์เจียก็ตัดสินใจได้ไม่ยากว่าต้องการออกห่างจากรัสเซียให้มากที่สุดและเร็วที่สุด
ไม่ว่าจะอย่างไร ภูมิรัฐศาสตร์โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง และครั้งนี้อาจจะเร็วขึ้นกว่าเดิม