วันนี้โฆษกกองทัพอากาศ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ และได้กำหนดความต้องการให้มีเครื่องบินขับไล่ที่มีคุณภาพและมีเทคโนโลยีล้ำสมัย
โดยเครื่องบินขับไล่โจมตีที่ต้องการต้องมีขีดความสามารถของการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (Network Centric Operations) มีการบริหารจัดการข้อมูลอัตโนมัติร่วมกับระบบตรวจจับของกองทัพไทยและฝ่ายพลเรือนได้อย่างสมบูรณ์ มีขีดความสามารถโจมตี ต่อต้านทางอากาศ ปฏิบัติกิจเฉพาะพิเศษ ลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ เพิ่มระยะการปฏิบัติการทางอากาศ และการควบคุมการปฏิบัติทางอากาศที่มีประสิทธิภาพ และต้องเป็นเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 มีคุณลักษณะ 5 ประการ คือ Stealth, Super Cruise, Sensor Fusion, Super Maneuverable และ Synergistic Integrated Avionics
นอกจากนั้น ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติของเครื่องบินที่ต้องการคือ
- เป็นเครื่องบินที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทางทหาร (Military Standard) มาตรฐานจากองค์กรการบินสากล หรือองค์กรมาตรฐานของประเทศผู้ผลิต
- เครื่องบิน ระบบต่าง ๆ และอุปกรณ์ที่ติดตั้งใช้งาน ต้องผลิตโดยใช้มาตรฐานทางทหาร และผ่านการพิสูจน์การใช้งานแล้ว มีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีการใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วไป
- สามารถผลิตและนำส่งให้แก่กองทัพอากาศในกรอบงบประมาณและตามห้วงระยะเวลาการจัดหา
- มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินขับไล่โจมตีและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่บุคลากรของกองทัพอากาศ
- บุคลากรของกองทัพอากาศควรได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Offset Scholarship) เพื่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
ต่อไปนี้คือความเห็นและการวิเคราะห์ของ TAF
ดูจากสเปคและหลักเกณฑ์พิจารณาแล้ว ชัดเจน 100% ว่าเป็นการเลือกแบบ F-35 แล้วอย่างแน่นอน เพราะเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 ที่มีขายในปัจจุบันคือ F-35 ของสหรัฐอเมริกา Su-57 ของรัสเซีย และ FC-31 ของจีน แต่เครื่องบินที่จะปฏิบัติงานร่วมกับ Sensor ของกองทัพอากาศได้ก็มีเพียง F-35 เท่านั้น
เรื่องราคา งบประมาณ ความเป็นไปได้ในการได้รับงบประมาณนั้น TAF เคยกล่าวไปหลายครั้งแล้ว เราจึงขอข้ามประเด็นนี้ไปสู่ประเด็นเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี
อย่างที่ TAF ย้ำมาเสมอนั้นก็คือ การขอการตอบแทนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขอการถ่ายทอดเทคโนโลยี การตอบแทนทางอุตสาหกรรม หรือความร่วมมือต่าง ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับการจะซื้อเครื่องบินกี่ลำแบบที่หลายคนพูด เพราะซื้อมากก็ได้มาก ซื้อน้อยก็ได้น้อย ลดหลั่นตามมูลค่าไป แต่ประเด็นสำคัญคือต้องขอ ถ้าไม่ขอไม่มีทางได้ และอย่าคิดเองว่าเขาจะไม่ให้
ประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่เราต้องตีความตามคำแถลงของกองทัพอากาศ ซึ่งถือว่าน่าเชื่อถือ และเป็นจุดยืนอย่างเป็นทางการของกองทัพอากาศก็คือ
- หลักเกณฑ์ที่กำหนดนั้นเป็นการขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) เท่านั้น
สองสิ่งนี้ต่างกัน เพราะการถ่ายทอดเทคโนโลยีบางอย่างไม่ใช่การตอบแทนการจัดซื้อ อย่างเช่นเทคโนโลยีการซ่อมบำรุงและปฏิบัติงาน ซึ่งไม่ว่าจะซื้ออะไรหรือซื้อแบบไหน ประเทศผู้ผลิตต้องมาสอนให้ประเทศผู้ใช้งานซ่อมให้เป็นอยู่แล้ว ดังนั้นการสอนให้ซ่อมเครื่องบินเป็น จะไม่ถือว่าเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการตอบแทนการจัดหา แต่จะเป็นการฝึกอบรมมากกว่า
หรือการขอ API หรือเครื่องมือที่สามารถทำให้ประเทศผู้ใช้เพิ่มเติมอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าไปได้ ก็จะถือเป็นการร้องขอเครื่องมือเพื่อการใช้งาน ไม่ใช่การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อตอบแทนการจัดหาเช่นกัน
ถ้าเทคโนโลยีการซ่อมที่ถือว่าเป็นการตอบแทนการจัดหา ควรจะเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้ใช้สามารถซ่อมบำรุงและปรับปรุงได้เอง ซึ่งจะมีระดับของเทคโนโลยีที่สูงกว่า
เทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดเช่น เทคโนโลยีระบบ Datalink เทคโนโลยี Aviation Software หรือเทคโนโลยีวิศวกรรมการบิน ที่น่าจะเป็นเทคโนโลยีเป้าหมายของกองทัพอากาศที่จะร้องขอนั้น สามารถตีเป็นมูลค่าได้ และต้องมาดูในรายละเอียดอีกครั้งว่าจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีในหัวข้อใดและในลักษณะใด
- การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบุคลากรกองทัพอากาศ ไม่ใช่การให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (Defense Industrial Participation) มีส่วนร่วม
ข้อความของกองทัพอากาศชัดเจนวาเป็นการขอถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบุคลากรของกองทัพอากาศ ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่าเป็นข้าราชการของกองทัพอากาศเท่านั้นที่มีสิทธิ์จะได้รับเทคโนโลยีหรือมีส่วนร่วมในโครงการ นั่นก็คือไม่มีภาคเอกชนเข้าร่วมนั่นเอง
จริง ๆ ตั้งแต่เปลี่ยนผู้บัญชาการทหารอากาศ คำว่า #อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่ถูกพูดถึงเยอะมากในช่วง 3 – 4 ปีก่อน กลับลดลงจนแทบไม่เหลือในปัจจุบัน ซึ่งอาจหมายถึงการที่กองทัพอากาศกลับไปสู่ยุควิจัยแบบราชการ คือได้เทคโนโลยีมา พัฒนาอยู่ในกองทัพ และไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มหรือใช้ได้เต็มศักยภาพ
ทุกประเทศที่จัดหา F-35 ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมวิจัยหรือไม่ และได้รับการตอบแทนทางอุตสาหกรรม ต่างมีบริษัทเอกชนในประเทศมีส่วนร่วมทั้งสิ้น เพราะกองทัพหรือรัฐบาลของแต่ละประเทศ มีบทบาทเป็นเพียงผู้ใช้และผู้สนับสนุนอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่อยู่ในฐานะผู้เล่นในอุตสาหกรรมเอง ซึ่งกองทัพไทยก็เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีที่ได้มาจาก Gripen มีหลายด้าน แต่ส่วนมากกองทัพอากาศเลือกเก็บเอาไว้เอง ซึ่งเวลาผ่านมาสิบปี ก็เห็นได้ชัดว่า อุตสาหกรรมการบินของประเทศที่พัฒนาก็เป็นการพัฒนาด้วยบริบทของตัวเอง ไม่ใช่การพัฒนาจากโครงการนี้ และกองทัพอากาศก็พัฒนาในแง่ของทักษะการใช้งานและการพัฒนาบางส่วนที่ไม่เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมเท่านั้น นำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ไม่ได้ ไปขายไม่ได้ ไปส่งออกไม่ได้ เพราะกองทัพอากาศไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรม ไม่สามารถสร้างมูลค่าให้กับสิ่งที่ทำได้
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ว่าเกี่ยวข้องกับความลับทางทหาร เพราะผู้ตัดสินใจว่าเป็นความลับหรือไม่ไม่ใช่กองทัพอากาศ แต่คือประเทศและบริษัทเจ้าของเทคโนโลยี เราไม่สามารถและไม่ควรจะไปคิดแทนว่านี่คือความลับทางทหาร (ของประเทศต้นทาง) จึงไม่ยอมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่ควรทำแบบต่างประเทศทำ นั่นคือให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ส่วนเอกชนจะมีส่วนร่วมได้ในระดับไหน เป็นหน้าที่ของประเทศผู้ขายและบริษัทผู้ผลิตจะประเมินความสามารถและจัดทำสัญญาควบคุมความลับเอง
ถ้ากองทัพอากาศคิดว่าเป็นความลับทางทหารไม่ควรให้เอกชนไทยรู้ นอกจากจะเป็นการตัดโอกาสของภาคอุตสาหกรรมไทยแล้ว ยังเป็นการดำเนินการที่เข้าทำนอง ฝรั่งรู้ได้ คนไทยห้ามรู้ เหมือนในอดีต
อย่างเช่นฟินแลนด์ ที่ไม่ใช่ผู้ร่วมลงทุนวิจัยและเพิ่งซื้อ F-35 ไป 64 ลำ นอกจากเงื่อนไขที่จะให้บริษัทของฟินแลนด์ได้มีส่วนร่วมในการซ่อมบำรุง F-35 ทั่วโลกแล้ว ยังให้บริษัทเอกชนฟินแลนด์มีส่วนร่วมในการผลิตชิ้นส่วนด้านหน้าของเครื่องบิน อุปกรณ์ต่าง ๆ และอุปกรณ์ทดสอบและซ่อมบำรุง ซึ่งสำหรับประเทศไทยที่ซื้อแค่ 4 เครื่อง อาจจะขอเพียงให้บริษัทไทยมีส่วนร่วมในการรับซ่อมบำรุง F-35 ทั่วโลกในบางอุปกรณ์ หรือผลิตชิ้นส่วนพื้นฐานบางชิ้นส่วนที่มูลค่าไม่สูงก็เป็นไปได้แล้ว
- ไม่แน่ชัดว่า Offset Scholarship ในความหมายของกองทัพอากาศคืออะไร
อันนี้น่าจะเป็นการบัญญัติศัพท์ใหม่ของกองทัพอากาศ อาจตีความได้ว่าเป็นการขอทุนเพื่อเรียนปริญญาโทหรือเอก หรือหลักสูตรการฝึกอบรมนั่นเอง ซึ่งที่ผ่านมากองทัพอากาศมักจะขอทุนในลักษณะนี้มาให้กำลังพลของตนเองอยู่เสมอ ซึ่งอันนี้ก็ไม่ได้ผิดอะไร แค่ศัพท์ไม่คุ้นเพราะคาดว่าจะเป็นการบัญญัติศัพท์ใหม่สำหรับงานในลักษณะนี้โดยเฉพาะต่อไปเท่านั้นเอง
- แล้วกองทัพอากาศควรจะทำอย่างไร
ใขณะนี้ที่โครงการอยู่ในขั้นเริ่มต้น ยังไม่ทราบว่าจะได้งบประมาณหรือไม่ ดังนั้นยังพอมีเวลาที่กองทัพอากาศจะปรับเปลี่ยนรูปแบบของโครงการ และสื่อสารออกมาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งกองทัพอากาศทำถูกต้องแล้วที่สื่อสารเจตจำนงค์ของตนตั้งแต่ต้น เพราะในบริบทของสังคมไทย ข้อมูลชุดเดียวกันเดียวกัน การพูดก่อนคือการพูดข้อเท็จจริง แต่พูดทีหลังกลายเป็นการแก้ตัว แบบที่เกิดขึ้นกับโครงการเรือดำน้ำของกองทัพเรือ
กองทัพอากาศก็ทำถูกแล้วเช่นกัน ที่ระบุความต้องการในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสร้างผลตอบแทนจากการซื้ออาวุธบ้าง ไม่ใช่เพียงแต่เอาเงินสดไปซื้อแล้วเอามาใช้ก็จบกัน
แต่ถ้าจะได้ผลมากขึ้น คือการที่ควรจะมีภาคเอกชนและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเข้าร่วม ซึ่งจริง ๆ แล้วนี่คือนโยบายของกระทรวงกลาโหมด้วยซ้ำที่กำหนดให้กองทัพส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและภาคเอกชนไทย ดังนั้นการให้เอกชนไทยมีส่วนร่วมจึงเป็นหน้าที่ของกองทัพอากาศที่ต้องทำ เพราะเป็นนโยบายของกระทรวงกลาโหม
คำว่าเอกชน หรืออุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ไม่ได้หมายถึงบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และถ้าจะให้พูดกันตรง ๆ เอกชนก็ไม่ได้หมายถึง R V Connex อย่างเดียว ประเทศไทยยังมีบริษัทที่มีขีดความสามารถอีกมาก ถ้าไม่ชอบ R V Connex ก็ไม่ต้องเชิญมา ให้เชิญบริษัทอื่นที่อาจมีขีดความสามารถน้อยกว่าแต่มีศักยภาพในการพัฒนาได้เช่นกันเข้ามาร่วม
ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้าจะให้เหมาะสมและโปรงใส่ ก็ควรจะจัดการแข่งขันเพื่อหาเอกชนที่มีขีดความสามารถมาแข่งขันกัน และเลือกตามเงื่อนไขที่เป็นธรรม แต่ถ้ากลัวว่าสุดท้าย R V Connex จะได้ไปอีกเพราะไม่มีใครเก่งเท่า ก็ใช้วิจารณญาณเลือกเอาก็ได้ เพราะสุดท้ายคนไทยก็ได้อะไรบ้าง ยังดีกว่าใช้วิจารณญาณคัดเอกชนไทยออกและจ่ายเงินให้ฝรั่งอย่างเดียว
บ้านเรามีกลไกมากมาย ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทั้งชมรมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ชมรมผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน หรือสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย ซึ่งพวกเขาเหล่านี้พร้อมจะแนะนำบริษัทที่มีศักยภาพให้กองทัพอากาศพิจารณาอยู่แล้ว เพราะประเทศไทยผลิตชิ้นส่วนอากาศยานส่งออกปีหนึ่งมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้นมีศักยภาพแน่นอน
การที่ภาคเอกชนไทยจะได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ จะเป็นการสร้างข้ออ้างที่ดีว่า ในภาวะวิกฤตโควิดที่ประเทศชาติต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ แทนที่จะนำเงินไปใช้ในการบรรเทาวิกฤตเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลก็ยินดีที่จะให้กองทัพอากาศซื้อเครื่องบินรบ เพราะจะมีภาคเอกชนไทยมีโอกาสสร้างรายได้และรักษาตำแหน่งงานจากโครงการนี้ ซึ่งแนวทางนี้ ส.ส.ทั้งพรรคฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านปัจจุบันพูดในการอภิปรายหลายครั้งว่า ถ้ามาแบบนี้ ภาคการเมืองก็พร้อมสนับสนุน
ดังนั้นยังเหลือเวลาอีกหลายเดือนที่กองทัพอากาศจะปรับจูนโครงการได้ ก็หวังว่าจะปรับให้โครงการไปเป็นในแนวทางที่ประเทศไทย ซึ่งหมายถึงทุกภาคส่วน ไม่ใช่แต่กองทัพอย่างเดียว ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดครับ
โพสนี้ในเพจของเรา