วันนี้โฆษกกองทัพอากาศแถลงเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการศึกษาและจัดทำความต้องการเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ได้กำหนดแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยีเบื้องต้นที่ควรได้รับจากการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนคือ
- มีข้อเสนอให้ทุนการศึกษาแก่ประเทศไทยในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท จำนวนที่เหมาะสม เพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สำคัญ และส่งเสริมการพัฒนาประเทศในภาพรวม
- บุคลากรของกองทัพอากาศควรได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Offset Scholarship) เพื่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ตลอดจนมีขีดความสามารถในการทดสอบการใช้งาน การติดตามผลการใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง และการรับรองมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
- การถ่ายทอดเทคโนโลยีในส่วนของการออกแบบอากาศยานที่สามารถซ่อนพรางจากการตรวจจับด้วยสัญญาณเรดาร์ (Stealth) ทั้งในส่วนการออกแบบอากาศยาน (Aircraft Design) การออกแบบพื้นผิววัสดุของอากาศยาน (Material Design) และการซ่อมบำรุงการซ่อนพราง
- การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการประยุกต์ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) นำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในระบบบัญชาการและควบคุม ในการพิจารณาภัยคุกคาม (Threat Assessment & Analysis) เพื่อให้ระบบบัญชาการและควบคุม มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านงานส่งกำลังบำรุงแบบบูรณาการในการติดตามระบบส่งกำลังบำรุง ระบบการจัดการ, การซ่อมบำรุงพัสดุ ในแบบ Realtime และสามารถนำมาพิจารณาแนวโน้มความต้องการพัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมบำรุงรักษาได้
- การถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านการบินทดสอบอากาศยานที่ทันสมัย และการบินทดสอบอากาศยานไร้คนขับในลักษณะ Manned-Unmanned Teaming (MUM-T) ให้แก่นักบินของกองทัพอากาศ ซึ่งทำหน้าที่ทดสอบสมรรถนะ หรือการทำงานของอากาศยาน
- การถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ในด้านวิเคราะห์และเลือกใช้อาวุธ (Target Weaponeering)
- การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Warfare) รวมถึงการได้รับการเข้าถึงบัญชีความถี่ (EW Library)
TAF ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 ไปเมื่อวันก่อน วันนี้มีการแถลงเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการนี้ คาดการณ์เทคโนโลยีเป้าหมายที่กองทัพอากาศต้องการ และประเด็นการไม่มีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรม
โดยสรุปอีกครั้ง สาขาที่กองทัพอากาศต้องการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีก็คือ เทคโนโลยีการตรวจจับได้ยาก เทคโนโลยีการออกแบบอากาศยาน เทคโนโลยีพื้นผิววัสดุของอากาศยาน เทคโนโลยีซ่อมบำรุงการซ่อนพราง เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในระบบควบคุมและบังคับบัญชา เทคโนโลยีการบูรณาการการส่งกำลังบำรุง เทคโนโลยี Manned-Unmanned Teaming เทคโนโลยีการวิเคราะห์และเลือกใช้อาวุธ และการขอ EW Library
TAF ขอกล่าวเหมือนเดิมว่า กองทัพอากาศทำถูกต้องแล้วในการรายงานให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เนิ่น ๆ และกองทัพอากาศทำถูกต้องแล้วในการขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งดีกว่าที่กองทัพอากาศจะไปซื้อเครื่องบินมาเป็นผู้ใช้อย่างเดียวโดยไม่ได้อะไร
แต่ TAF ก็ยืนยันเหมือนเดิมว่า ประเด็นที่เราเห็นว่าสำคัญก็คือ การให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม นั่นคือการให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเข้ามามีส่วนร่วมนั่นเอง ซึ่งจากการแถลงข่าวในวันนี้ซึ่งเป็นครั้งที่สาม ค่อนข้างชัดเจนว่า กองทัพอากาศไม่ได้เปิดโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ว่าเกี่ยวข้องกับความลับทางทหาร เพราะผู้ตัดสินใจว่าเทคโนโลยีดีเป็นความลับหรือไม่ไม่ใช่กองทัพอากาศ แต่คือประเทศและบริษัทเจ้าของเทคโนโลยี เราไม่สามารถและไม่ควรจะไปคิดแทนว่านี่คือความลับทางทหาร (ของประเทศต้นทาง) จึงไม่ยอมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่ควรทำแบบต่างประเทศทำ นั่นคือให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ส่วนเอกชนจะมีส่วนร่วมได้ในระดับไหน เป็นหน้าที่ของประเทศผู้ขายและบริษัทผู้ผลิตจะประเมินความสามารถและจัดทำสัญญาควบคุมความลับเอง
ถ้ากองทัพอากาศคิดว่าเป็นความลับทางทหารไม่ควรให้เอกชนไทยรู้ นอกจากจะเป็นการตัดโอกาสของภาคอุตสาหกรรมไทยแล้ว ยังเป็นการดำเนินการที่เข้าทำนอง ฝรั่งรู้ได้ คนไทยห้ามรู้ เหมือนในอดีต
ในสมัยที่กองทัพอากาศจัดหาเครื่องบินขับไล่ Gripen จากสวีเดน กองทัพอากาศได้รับทุนการศึกษาทั้งในส่วนของกำลังพลของกองทัพอากาศและนำขึ้นทูลเกล้าถวายฯ ให้เป็นทุนพระราชทาน นอกจากนั้นมีสาขาเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดคือ วิศวกรรมอากาศยาน วิศวกรรมการสื่อสาร เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีวัสดุผสม (Composite Material) สงครามอิเล็คทรอนิกส์ เทคโนโลยี Datalink ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ การสนับสนุนและวัสดุศาสตร์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์การบินและซอฟแวร์
เวลาผ่านมา 10 ปี เราจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่กองทัพอากาศได้มาและยังอยู่ในกองทัพอากาศนั้น มันไม่สามารถที่จะเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมได้ ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดของกองทัพอากาศเสียทีเดียว เพราะกองทัพอากาศอยู่ในฐานะผู้ใช้ ไม่ใช่บริษัทผลิตอาวุธ
ทำไมต้องเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ หรือทำไมต้องเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม? เพราะนี่แนวทางของกระทรวงกลาโหมตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ พ.ศ. 2563-2580 และอยู่ในในยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ที่กำหนดให้รัฐบาลมีหน้าที่ต้องสร้างอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศและพัฒนาสู่การส่งออกต่อไป
ซึ่งถ้ายุทธศาสตร์และแนวนโยบายของกระทรวงกลาโหม ในกฎหมาย และรัฐบาลที่อยู่ในฐานะผู้บังคับบัญชาของกองทัพอากาศกำหนดมาแบบนี้ ก็ยังไม่มีเหตุผลใดที่กองทัพอากาศจะไม่ปฏิบัติตาม
TAF ก็คิดว่ากองทัพอากาศควรให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม คำว่าภาคเอกชนนี่ไม่ได้หมายถึงบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่แต่บริษัทใดก็ได้ของคนไทยที่มีขีดความสามารถ ไม่ชอบบริษัทไหนก็ไม่ต้องเอามา แต่ยังไงก็ควรต้องเอาบริษัทคนไทยเข้ามามีส่วนร่วม เพราะนอกจากจะเจริญกว่าการที่ราชการเก็บเอาไว้เองแล้ว ยังเป็นการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล และเป็นการช่วยภาคเศรษฐกิจของชาติ เพื่อให้เหตุผลมันมีน้ำหนักมากขึ้นในการที่สภาจะอนุมัติงบประมาณให้กับกองทัพอากาศไปซื้อเครื่องบิน
แน่นอนว่าโครงการยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ และเรื่องนี้ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด แม้ตอนนี้กองทัพอากาศจะไม่มีนโยบายให้ภาคอุตสาหกรรมหรือเอกชนเข้าร่วม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตหรือในปีงบประมาณหน้าจะมีไม่ได้ ดังนั้นเราฝากประชาชนทุกคน ถ้าคิดว่าอยากให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศบ้านเราพัฒนา มี Lockheed Martin หรือ BAE Systems เวอร์ชั่นไทย ๆ ก็อยากให้ช่วยกันเรียกร้องให้กองทัพอากาศเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปมีส่วนร่วม เราเชื่อว่าเสียงของประชาชนนี่แหละจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ครับ
โพสนี้ในเพจของเรา