กองทัพอากาศเข้าให้ข้อมูลกรรมาธิการทหารกรณี F-16 ตกที่ชัยภูมิ

วันนี้ คณะกรรมาธิการทหารสภาผู้แทนราษฎรได้เชิญกองทัพอากาศเข้าชี้แจงและให้ข้อมูลในกรณีเครื่องบินขับไล่ F-16 ของกองทัพอากาศประสบอุบัติเหตุตกในจังหวัดชัยภูมิ

โดยหนึ่งในสมาชิกของกรรมาธิการทหาร นายเกษมสันต์ มีทิพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล – Move Forward Party ได้โพสในเฟสบุ๊คส่วนตัวใจความว่า

“เบื้องต้น F16 ลำดังกล่าวใช้งานมาแล้ว 6,000 กว่าชั่วโมงบิน เป็นเวลาเฉพาะในประเทศไทย 40 กว่าปี และได้ปลดประจำการไปแล้วแต่ได้นำมารวมฝูงเพื่อใช้งานแบบซ่อมกินตัวต่อ ถือว่าลำบากมากๆสำฟรับการคัดเครื่องที่ยังคงสภาพการใช้งานเพื่อฝึกนักบิน วันดังกล่าวนักบินได้ฝึกการสู้รบแบบพันตู้หรือดอกไฟล์ท และนักบินได้สูญเสียความรู้สึกในการควบคุมเครื่องไปชั่วขณะ”

โดยการชี้แจงของกองทัพอากาศระบุว่า นักบินทำการบินฝึกที่ระยะสูง 18,000 ฟุต เป็นการฝึกสู้รบทางอากาศ ก่อนที่เครื่องจะหักหัวลงมาและนักบินสละเครื่องที่ระยะสูง 2,400 ฟุต ความเร็ว 530 น็อต เครื่องบินลำนี้มีอายุการใช้งาน 6,009.7 ชั่วโมง อายุการใช้งานเครื่องยนต์ 3,588.3 ชั่วโมง นักบินมีชั่วโมงบินรวม 782 ชั่วโมง เป็นชั่วโมงบินกับ F-16 จำนวน 491.3 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ตามเอกสารของกองทัพอากาศที่แจกให้กรรมาธิการทหารพบว่า กองทัพอากาศได้วิเคราะห์สาเหตุของอุบัติเหตุเบื้องต้นว่าเป็นไปได้สามกรณีคือระบบออกซิเจนผิดปกติ ชุดปรับแรงดันหรือ G-Suit ผิดปกติ และสุขภาพนักบินผิดปกติ โดยมีรายงานว่า ก่อนขึ้นบินตรวจสอบแล้วพบว่าระบบออกซิเจนทำงานปกติ แต่ต้องตรวจสอบกับซากเครื่องต่อไป ในส่วนของสุขภาพนักบินนั้นพบว่าก่อนขึ้นบิน นักบินนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารตามปกติ ไม่มีอาการเจ็บป่วย ไม่มีการทานยา ผลเลือดหลังบินไม่พบสารเสพติด แอลกอฮอล์ และสิ่งผิดปกติอื่น นักบินได้เข้าตรวจสุขภาพที่สถาบันเวชศาสตร์การบินของกองทัพอากาศ ซึ่งผลตรวจปกติ


จากข้อมูลที่ TAF มีนั้น เครื่องบิน F-16ADF ลำที่ตกนี้ได้รับการปรับปรุงยืดอายุตามแผน Falcon Up/Star แล้ว การที่เครื่องบินมีอายุการใช้งาน 6,000 ชั่วโมง แปลว่ายังเหลือชั่วโมงที่ใช้งานได้อีกถึง 2,000 ชั่วโมงตามแผนการปรับปรุง แม้จะมีอายุมาแล้ว 40 ปีก็ตาม ซึ่งโดยเฉลี่ยตามการคำนวณแล้ว เครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศใช้งานอยู่ที่ราว 100 ชั่วโมงบินต่อปีเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชั่วโมงบินของเครื่องยังใช้งานได้อีกหลายปี

ดังนั้นปัญหาของ F-16ADF ในฝูง 102 เดิม และ F-16A/B ในฝูง 103 ปัจจุบันนั้นจึงไม่น่าใช่ประเด็นเรื่องโครงสร้างของเครื่องบิน แต่น่าจะเป็นเรื่องระบบ Avionic ที่เก่าและอะไหล่หายากขึ้น และกองทัพอากาศไม่ได้ทำการปรับปรุง F-16 ที่ประจำการในกองบิน 1 อาจจะเนื่องจากขาดงบประมาณหรือต้องการจัดหาเครื่องบินใหม่เพื่อความคุ้มค่าในการใช้งาน จึงเลือกปลดประจำการเครื่องบินออกไป ดังนั้นสาเหตุที่ปลดประจำการก็น่าจะเป็นสาเหตุของการซ่อมบำรุงระบบ Avionic มากกว่าจะเป็นเพราะโครงสร้างเครื่องบินเก่า

ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อชี้ชัดว่าสาเหตุของอุบัติเหตุในครั้งนี้เกิดจากอะไร แต่ค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ได้เกิดจากปัญหาของโครงสร้างหรือเครื่องยนต์ของเครื่องบินครับ

โพสนี้ในเพจของเรา

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.