Komsomolskaya Pravda ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์แล็ปลอยด์ในรัสเซียที่สนับสนุนรัฐบาลลงข่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยอ้างจากแหล่งข่าวในกลาโหมรัสเซียถึงยอดสูญเสียทหารรัสเซียในยูเครน และบทความอยู่ได้ไม่นานก็ลบข่าวนี้ทิ้งไป และออกแถลงการณ์ว่าเว็บไซต์ถูกแฮ็ค
ไม่รู้ว่าเว็บไซต์จะถูกแฮ็คจริง หรือเป็นข้อมูลจริงแต่เผลอนำมาเขียนโดยไม่ได้ปรึกษารัฐบาลรัสเซียที่กำลังคุมสื่ออย่างเข้มข้นอยู่ในขณะนี้ แต่ก็ถือว่าน่าสนใจ เพราะหนังสือพิมพ์ฉบับนี้สนับสนุนและลงข่าวในด้านบวกของรัฐบาลรัสเซียมาโดยตลอด จึงทำให้ยอดผู้เสียชีวิตนี้ควรจะถูกนำมาวิเคราะห์ต่อว่า เกิดอะไรขึ้นกับกองทัพรัสเซียในยูเครน

โดยยอดการสูญเสียทั้งหมดคือ ทหารเสียชีวิต 9,861 นาย และบาดเจ็บ 16,153 นาย ซึ่งเท่ากับมีกำลังพลที่ต้องออกจากการรบแล้ว 26,014 นาย หรือเฉลี่ย สัปดาห์ละ 8,671 นาย หรือวันละ 1,238 นาย
ทั้งนี้ หน่วยข่าวกรองจองชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาประเมินการสูญเสียของรัสเซียไว้ที่ เสียชีวิตราว 7,000 นาย บาดเจ็บราว 21,000 นาย ซึ่งเท่ากับมีกำลังพลที่ต้องออกจากการรบแล้ว 28,000 นาย หรือเฉลี่ย สัปดาห์ละ 9,333 นาย หรือวันละ 1,333 นาย
คำว่าสูญเสีญในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเสียชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการสูญเสียกำลังรบออกจากสมรภูมิซึ่งอาจจะมาจากสาเหตุทั้งการเสียชีวิต บาดเจ็บ หรือความไม่พร้อมในแง่ใดก็ได้
มีการประเมินว่ารัสเซียส่งทหารมารบในยูเครนครั้งนี้จำนวน 190,000 นาย กำลังหลักคือ กองพันชุดรบ (Battalion Tactical Group: BTG) จำนวน 115-120 BTG โดยแต่ละ BTG มีกำลังพลราว 600-800 นาย คิดเป็นจำนวนสูงสุด 96,000 นาย (ตามการจัดของกองทัพรัสเซียนั้น รัสเซียมีกำลังทั้งหมด 170 BTG เมื่อปลายปี 2021 แปลว่าสงครามนี้ใช้ไป 70% ของ BTG ทั้งหมด)
ถ้ายอดสูญเสียกำลังพล 26,000 นาย จะหมายถึงกำลังจำนวนถึง 32 BTG หายออกไปจากการรบ ซึ่งคิดเป็น 27% จากทั้งหมด
แต่ถ้าคิดเฉลี่ยทหารที่สูญเสียแล้วนำไปเฉลี่ยเท่ากันในทุก BTH (ซึ่งข่าวกรองของสหรัฐอเมริการะบุว่ารัสเซียส่งกำลังที่เตรียมไว้ที่แนวชายแดนเข้าไปในยูเครนหมดแล้ว) แปลว่าจะมีการสูญเสีย 216 นาย หรือ 27% ต่อ BTG ซึ่งแปลว่าเกือบ 1 ใน 3 ของหน่วย ทำการรบไม่ได้แล้ว (ถ้าคิดแบบเทียบง่าย ๆ คือ กำลัง 1 หมวด จะเหลือแค่ 2 หมู่ จาก 3 หมู่ เท่านั้นที่ทำการรบต่อไปได้)
ในหน่วยทหารนั้น ไม่จำเป็นจะต้องทำให้กำลังพลหรือยุทโธปกรณ์ของทั้งหน่วยสูญเสียไปทั้งหมด แต่ถ้าทำให้สูญเสียไปในระดับหนึ่ง หน่วยนั้นก็จะปฏิบัติการรบต่อไม่ได้ เนื่องจากไม่มีกำลังพลหรือยุทโธปกรณ์ที่จะใช้ในหน้าที่ต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งหลายหน้าที่จะส่งผลต่อขีดความสามารถในการปฏิบัติการ เช่น ถ้ากองพันทหารราบสูญเสียหมวดส่งกำลังบำรุงหรือหมวดต่อสู้รถถังไป กองพันทหารราบนั้นอาจจะปฏิบัติการรบต่อไม่ได้เพราะองค์ประกอบในการปฏิบัติการรบไม่ครบถ้วน ซึ่งอาจจะต้องถอนตัวออกมาเพื่อรอกำลังเสริมเข้ามาเพิ่มเติมจนครบก่อนที่จะกลับไปปฏิบัติการรบต่อ ซึ่งช่วงเวลานี้แปลว่ากำลังรบทั้งกองพันทหารราบจะหายออกไปจากการรบโดยสิ้นเชิง
ดังนั้น เราจะมองเพียงแค่ยอดกำลังรบทั้งหมดหรือยุทโธปกรณ์ทั้งหมดไม่ได้ เราจำเป็นจะต้องมองว่า การสูญเสียในระดับใดจะทำให้ขีดความสามารถในการรบของหน่วยทหารไปจนถึงทั้งกองทัพหมดลง ซึ่งตัวเลขตรงนี้จะแตกต่างกันไปทั้งจากการประเมินหรืออัตราการจัด แต่ส่วนมากตัวเลขก็จะอยู่ระหว่าง 10%-40% ของกำลังทั้งหมด
สมมุติคิดว่าการจัด BTG แบบรัสเซียนั้น ถ้าสูญเสียกำลังพล 40% แล้วจะปฏิบัติการรบต่อไม่ได้ แปลว่าจะมี 81 BTG จาก 120 BTG (67% หรือ 2 ใน 3) ที่ดำเนินการบุกต่อไม่ได้จนกว่าจะมีการหยุดจัดกำลังใหม่หรือรวมหน่วยที่ยังเหลือเข้าด้วยกัน แต่แนวรบที่กว้างมากจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควร และการประสานงานต้องดีด้วย
ในสัปดาห์ที่ 4 นี้ การบุกของรัสเซียทุกแนวแทบไม่ขยับยกเว้นที่มาริยูโปวที่จริง ๆ แล้วเป็นแค่การบีบพื้นที่เข้าไปเรื่อย ๆ นอกนั้นกำลังส่วนมากหยุดอยู่กับที่ และมีการปรับยุทธวิธีมาเน้นตั้งรับไม่ให้ยูเครนตียึดพื้นที่คืนได้ และทำการระดมยิงใส่เมืองต่าง ๆ เพื่อทำลายขวัญกำลังใจและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของเมือง แต่รัสเซียก็มีเสียพื้นที่ไปหลายจุด เช่น ตะวันตกของเคียฟหรือตะวันออกของโอเดสซา
เท่าที่มีข้อมูลนั้น รัสเซียยังไม่มีการเรียกกำลังพลเพิ่ม แต่มีการย้ายกำลังจากบางจุดไปเพิ่มเติม เช่น จากอาร์เมเนียและซีเรีย และมีขอให้ชาติอื่นส่งกำลังเข้ามาช่วย เช่น ซีเรียและเบลารุส
ซึ่งการมองภาพนี้อาจจะเป็นการตอบคำถามได้ว่า แม้ว่ากองทัพรัสเซียจะได้เปรียบมากทั้งจำนวนและคุณภาพ แต่ทำไมการรุกคืบของรัสเซียถึงแทบจะหยุดสนิทมาเกือบสองสัปดาห์แล้ว และภาพอาจจะชัดเจนมากขึ้นเมื่อมองดูตัวเลยการสูญเสียรถถังเท่าที่มีหลักฐานยืนยันจากภาพถ่ายจากเว็บไซต์ oryxspioenkop.com ที่ 266 คัน ซึ่งแม้ว่าจะคิดเป็นเพียงราว 10% ของรถถังทั้งหมดที่รัสเซียมีในประจำการ แต่ถ้าใช้หลักการเดียวกันคือคิดว่าถ้า BTG สูญเสียกำลังไปส่วนหนึ่งก็อาจจะปฏิบัติการรบต่อไม่ได้ ก็น่าจะเป็นอีกคำตอบหนึ่งว่าทำไมการรุกของรัสเซียถึงแทบจะหยุดนิ่งแบบนี้
และยิ่งเวลาผ่านไป ตัวเลขการสูญเสียก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะทำให้ศักยภาพในการรบน้อยลงไปเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกันจนกลายเป็น War of Attrition หรือสงครามที่แข่งกันว่าใครจะสูญเสียช้ากว่ากัน ซึ่งในกรณีนี้รัสเซียจะเสียเปรียบยูเครนเนื่องจากยูเครนได้รับการสนับสนุนทั้งอาวุธและเงินช่วยเหลือจากชาติตะวันตกอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นปัจจัยไปสู่ความสำเร็จในสงครามครั้งนี้ของรัสเซียก็คือ การที่รัสเซียต้องป้องกันเส้นทางการส่งกำลังบำรุงให้ได้ ลดการสูญเสียจากการซุ่มโจมตีของยูเครนที่เริ่มใช้เทคนิคแบบสงครามกองโจรมากขึ้นเรื่อย ๆ ให้ได้ พยายามป้องกันและรักษากำลังและพื้นที่ที่ยึดครองได้ รวมถึงเพิ่มเติมกำลังและยุทโธปกรณ์ที่เสียไปให้เร็วกว่าที่เป็นอยู่เพื่อให้รัสเซียยังคงสามารถยึดพื้นที่และเมืองได้ในขณะที่ยังได้เปรียบอยู่
ซึ่งความได้เปรียบเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะอย่างที่รัฐมนตรีต่างประเทศของตุรกีซึ่งเป็นตัวกลางในการเจรจากล่าวว่า ประธานาธิบดีเซเลนสกี้พร้อมเจรจา แต่ประธานาธิบดีปูตินยังไม่พร้อมเจรจา เพราะต้องการให้รัสเซียได้เปรียบก่อน แต่ถ้ารัสเซียไม่สามารถปรับแผนและปรับกำลังได้ ยิ่งเวลาผ่านไป ความได้เปรียบก็จะเสียไปเรื่อย ๆ และรัสเซียอาจต้องขึ้นโต๊ะเจรจาในสภาวะที่ไม่เป็นใจ หรืออาจถูกบังคับให้ดึงสงครามให้ยาวออกไปเรื่อย ๆ จากหลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือน ซึ่งอาจทำให้รัสเซียต้องสูญเสียทั้งกำลังรบและเศรษฐกิจมากไปกว่านี้ก็ได้