MARCUS-B เป็นโครงการพัฒนาอากาศยานไร้นักบินขึ้นลงทางดิ่งของสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ หรือ สวพ.ทร. โดยร่วมมือกับเอกชนในประเทศ และได้เห็นการทดสอบอากาศยานไปบ้างแล้ว และได้นำมาจัดแสดงในงาน Defense and Security 2022 ครั้งนี้ด้วย
เจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือให้ข้อมูลว่า MARCUS ลำแรกได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติระหว่าง 2562-2563 โดยในห้วง 2564 ได้มีการนำไปทดสอบทดลองและสาธิตให้แก่หน่วยผู้ใช้และผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพเรือได้รับชมอยู่หลายครั้ง และได้นำเสนอเข้ารับพิจารณารับรองมาตรฐานงานวิจัยจากคณะกรรมการมาตรฐานยุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือหรือ กมย.ทร. ซึ่งก็ได้รับการรับรองมาตรฐาน กมย.ทร. ปี 2564 แต่มีข้อเสนอแนะว่า หากจะนำเข้าสู่สายการผลิตน่าจะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงให้มีระยะเวลาการบินได้นานมากขึ้น อย่างน้อยเป็นเวลาประมาณ 2 ชม. นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการต่อเนื่อง ซึ่งกองทัพเรือก็ได้เสนอขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ในการพัฒนาโครงการ MARCUS-B ดังนั้นหาก MARCUS-B สามารถบินได้นานขึ้นกว่า MARCUS แบบแรกก็จะสามารถเสนอเข้าสู่สายการผลิตได้
ในส่วนของพันธมิตรกับเอกชนนั้น สวพ.ทร. ร่วมมือกับบริษัทเอกชนสัญชาติไทยคือ SDT Composites และ Oceanus R&D โดยทั้งสามส่วนจะมีการทำงานร่วมกันในทุกขั้นตอน เพียงแต่งานแต่ละขั้นตอนจะมี Team Leader ที่แตกต่างกันออกไปตามความเชี่ยวชาญเฉพาะของแต่ละคน
“การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมภายในส่วนใหญ่แล้วเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของทีมจาก สวพ.ทร. โดยมีทีมงานของ SDT Composites คอยให้ความช่วยเหลือในด้านการดัดแปลงหรือทำชิ้นงานเพิ่มเติมเพื่อการติดตั้งอุปกรณ์ สดุส่วนใหญ่จะเป็น Pre-Preg Carbon Fiber หรือ Dry Carbon ที่ต้องใช้เทคนิคและความชำนาญพิเศษในการขึ้นรูป เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีน้ำหนักเบาและมีความคงทนแข็งแรงมากกว่าการใช้ใยผ้า Carbon แบบธรรมดาที่จะพอพบเห็นใช้งานในอากาศยานไร้คนขับโดยทั่วไป หรือส่วนใหญ่ก็มักใช้เพียงใยแก้วเป็นวัสดุหลัก และเสริมด้วยใย Carbon หรือ Kevlar เป็นส่วนประกอบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะมีต้นทุมที่ถูกกว่าและมีวิธีการขึ้นรูปที่ง่ายกว่า แต่จะมีน้ำหนักมากกว่าและมีความแข็งแรงน้อยกว่า”
เจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือกล่าวเพิ่มเติมการออกแบบของ MARCUS-B มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง โดยมีโจทย์ว่าต้องมีรูปร่างรูปทรงที่แตกต่างไปจาก UAV ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป สมรรถนะด้านการเป็นอากาศยานไร้คนขับอาจไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับรูปทรงอื่น ๆ แต่ทีมงานต้องการสื่อสารให้เห็นถึงการออกแบบจากรูปทรงของนกนางนวล ที่มักพบได้ตามพื้นที่ชายทะเล สื่อให้เห็นถึงการเป็นอากาศยานแบบปีกนิ่งที่ถูกออกแบบมาเป็นการเฉพาะให้ขึ้นลงทางดิ่ง บินเกาะอากาศได้ในย่านความเร็วไม่สูงมาก รองรับลมกระโชกแรงที่เป็นสภาวะปกติตามแนวชายฝั่งและในทะเล แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องการแสดงให้เห็นว่าเป็นผลงานการออกแบบและการสร้างทั้งหมดทุกขั้นตอนภายในประเทศไทยโดยคนไทย
ในด้านของการพัฒนาระบบโปรแกรมควบคุมการปฏิบัติงานนั้น ออกแบบให้ติดตั้งระบบประมวลผลขนาดเล็กหรือ Companion Computer ทำงานควบคู่กับชุดอุปกรณ์ควบคุมการบินอัตโนมัติ (Autopilot) ทำให้สามารถพัฒนาระบบโปรแกรมของตัวเองเพื่อการควบคุมการปฏิบัติงานในเชิงยุทธการ/ยุทธวิธีที่เป็นของตนเอง โดยใช้ชื่อว่า TBACCS หรือ Tactical-Based Aerial Command and Control System เพื่อควบคุม MARCUS ให้ปฏิบัติต่อไปได้ด้วยตัวเองแม้อยู่นอกพื้นที่หรือขอบเขตระยะการสื่อสารของชุดควบคุมภาคพื้น (GCS) และสามารถสลับเปลี่ยนการควบคุมกับชุดควบคุมภาคพื้นอื่นที่อยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการ (Handover) เช่นการปล่อยอากาศยานจากฐานที่ตั้งชายฝั่ง และบินเดินทางจนออกนอกระยะควบคุม เพื่อเดินทางไปขึ้นการบังคับบัญชากับเรือที่กำลังปฏิบัติการอยู่ในทะเล และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจเรือก็สามารถสั่งการให้บินกลับเพื่อมาขึ้นการควบคุมจากชุดปล่อยหรือรับอากาศยานเพื่อนำกลับลงจอด ณ ที่ตั้งบนฝั่ง
สำหรับโอกาสในการเข้าประจำการนั้น เจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือบอกว่า กรมยุทธการทหารเรือน่าจะเป็นผู้ที่ให้คำตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุด แต่โดยรวมแล้ว MARCUS-B สามารถนำไปทดแทนอากาศยานไร้คนขับทางยุทธวิธีของต่างประเทศที่มีประจำการในกองทัพเรือได้หลายแบบ สามารถใช้งานทั้งบนเรือรบและตามเกาะแก่งต่าง ๆ ซึ่งถ้ามีการจัดหาเข้าประจำการ ก็จะมีบริษัทภาคเอกชนของไทยเข้ามาเป็นผู้แทนให้กับทีมงานนักวิจัยในการเข้ามาเป็นคู่สัญญากับกองทัพเรือหรือแม้แต่หน่วยงานอื่นที่มีความสนใจ
“MARCUS และ MARCUS-B ไม่ได้อ้างอิงถึงมาตรฐานทางทหารหรือ Mil Std เพราะการขอรับรองนั้นเป็นการใช้กระบวนการทดสอบรับรองจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เป้าหมายเบื้องต้นของ MARCUS-B คือการผลิตใช้งานได้เองภายในประเทศ มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือหน่วยงานภายในประเทศไทย ดังนั้นคิดว่าการได้รับการรับรองมาตรฐานของ กมย.ทร. จึงเพียงพอแล้ว โดยได้อ้างอิงมาตรฐาน UAV ขนาดต่ำกว่า 150 กก. ของกระทรวงกลาโหมเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดให้มีหลักฐานประกอบว่ามีคุณลักษณะหรือประสิทธิภาพเป็นไปตามเอกสารการออกแบบหรือไม่เท่านั้น แต่ในส่วนของวัสดุหรือชิ้นงานก็จะได้รับการทดสอบจากห้องทดลองเพื่อให้ได้ค่าที่สอดคล้องกับที่ผู้ผลิตวัสดุกำหนดมา ที่ผ่านมาบริษัท SDT Composites ได้มีความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNI) และ กำลังดำเนินการขอรับรองมาตรฐานการตรวจวัดเพิ่มเติมในด้านของวัสดุจากหน่วยงานภาครัฐที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์คุณสมบัติวัสดุอากาศยาน ภายใต้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นต้น”
โพสนี้ในบอร์ดของเรา