การบินไทย ทำอย่างไรถึงรอด – สรุปประเด็นจาก TAF MilTalk ใน clubhouse

เมื่อวานนี้ใน clubhouse ของ TAF มีหลายท่านเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหลายท่านที่เป็นทั้งนักบิน ช่าง บล็อกเกอร์สายท่องเที่ยวชื่อดัง หรือแม้แต่ลูกค้าการบินไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อจุดประสงค์เดียวกันคือหาวิธีว่าทำอย่างไรให้ #การบินไทย รอด เราคุยกันสนุกมากตั้งแต่สามทุ่มถึงตี 1 วันนี้ TAF เลยขอสรุปมาให้ทุกท่านฟังสั้น ๆ กันดังนี้ครับ

  1. เราคิดว่าการบินไทยควรจะรอด ไม่ใช่เพราะเป็นแค่สายการบินแห่งชาติ แต่ถ้าไม่มีการบินไทย อุตสาหกรรมการบินของไทยที่มีนักท่องเที่ยวเข้าออกประเทศปีละเกือบ 40 ล้านคน (ก่อนโควิด) จะตกอยู่ในมือต่างชาติแทบจะ 100% โดยเฉพาะการบินระหว่างประเทศ การบินไทยควรจะเป็นบริษัทของคนไทยที่ไปแบ่งส่วนแบ่งเหล่านั้นให้กลับมาตกอยู่ในมือคนไทยบ้าง
  2. แบรนด์การบินไทยยังถือว่าดีอยู่มาก โดยเฉพาะการบริการที่ดีกว่าหลายสายการบินอย่างชัดเจน ภาพลักษณ์ของการบินไทยในสายตาคนทั่วโลกคือแบรนด์เกรดพรีเมียมที่เมื่อใช้บริการแล้วรู้สึกว่าได้รับการบริการดีกว่าหลายการบินหลักหลายสาย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่การบินไทยมีอยู่ในมือของตนเองเช่นกัน และสล็อตการบินทั่วโลกที่ถือเป็นสิ่งที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ของการบินไทยก็ยังถือว่าเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ในการแข่งขันเพื่อสร้างรายได้ได้
  3. แต่ที่การบินไทยมาถึงจุดนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากความผิดพลาดในการบริหารและการทำงาน ซึ่งเป็นปัญหาร้ายแรงที่สั่งสมมานานและไม่เคยได้รับการแก้ไข นโยบาย Open Sky การแข่งขันของสายการบินต้นทุนต่ำ หรือการแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายการเมืองเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ปัจจัยที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งก็คือการบริหารของการบินไทยและคนการบินไทยเองที่ล้มเหลว
  4. ปัญหาหนึ่งที่เด่นชัดก็คือคน การบินไทยมีคนมากเกินไป ทำให้มีภาระด้านเงินเดือนและสวัสดิการจำนวนมากจนเป็นต้นทุนที่ไม่สามารถแข่งขันได้ ก่อนบริษัทเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ การบินไทยมีคน 29,000 คน ซึ่งเยอะมากเกินไป หลังฟื้นฟูกิจการจะลดลงเหลือราว 15,000 คน ซึ่งก็หวังว่าจะเป็นจุดที่ทำให้การบินไทยพอจะดำเนินกิจการไปได้โดยที่ไม่ต้องแบกต้นทุนมากไปนัก แม้ว่าการเอาคนออกครึ่งหนึ่งจะต้องใช้เงินมหาศาลในการจ่ายชดเชยก็ตาม
  5. สหภาพการบินไทย เข้มแข็งเกินไป และปกป้องสิทธิและประโยชน์ของพนักงานมากเกินไป จนลืมไปว่าถ้าบริษัทซึ่งเป็นคนจ่ายเงินเดือนอยู่ไม่รอด พนักงานก็อยู่ไม่รอดเช่นกัน
  6. แบบเครื่องบินและเครื่องยนต์ของการบินไทยมีเยอะเกินไปและหลากหลายเกินไป เครื่องบินที่ใช้ในเส้นทางที่ต้องการน้ำหนักบรรทุกและพิสัยการบินที่คล้าย ๆ กันแต่กลับมีเครื่องหลายแบบ สร้างปัญหาด้านการซ่อมบำรุงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการสต็อกอะไหล่ที่ทำให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากมหาศาลต่อการบินไทย ซึ่งหลังแผนฟื้นฟู การบินไทยจะต้องลดแบบเครื่องบินเหลือ 3 แบบคือ A350-900, Boeing 777-300ER, และ Boeing 787-8,-9 เหลือเครื่องบินไม่เกิน 40 ลำ ยังไม่รวม A320-200 ของไทยสมายด์อีก 20 ลำ ซึ่งก็น่าจะช่วยลดปัญหาตรงนี้ไปได้ แต่จากภาวะโควิด-19 ทำให้ยังไม่รู้ว่าเครื่องบินที่ปลดออกไปแล้วจะขายออกหรือไม่
  7. สำหรับการบินส่งสินค้าหรือ #คาร์โก้ การบินไทยมีแต่การบินส่งสินค้าไปกับเครื่องบินโดยสารเท่านั้น ธุรกิจการส่งสินค้าด้วยเครื่องบินส่งสินค้าโดยเฉพาะยังไม่ทำกำไร ซึ่งเป็นปัญหาของการบินไทยที่ไม่สามารถหาลูกค้าที่เหมาะสมมาเพียงพอเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจนี้ได้
  8. ธุรกิจอาหารของการบินไทยจริง ๆ แล้วมีความสามารถในการแข่งขันได้ ถ้าปรับเรื่องการให้ธุรกินี้สามารถแข่งขันได้จริง และจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนทั่วไปได้จริง ๆ ก็อาจจะช่วยสร้างรายได้ให้กับการบินไทยได้บ้าง แต่ก็ยังถือว่าค่อนข้างน้อย
  9. ณ ปัจจุบันนี้การบินไทยกำลังอยู่ใน #แผนฟื้นฟูการบินไทย มีโครงการเป็นจำนวนมากที่อยู่ในระหว่างพัฒนาเพื่อจะทำให้เกิดรายได้หลังจากแผนฟื้นฟูผ่านการอนุมัติ โดยการบินไทยก็ทราบดีว่าต้นทุนของตนสูงมากจนแข่งขันไม่ได้ ทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์ทั้งตั๋วเครื่องบิน บริการภาคพื้น และอื่น ๆ มีราคาแพงจนไม่มีใครใช้บริการ หรือมีคนใช้บริการเต็มแต่กลับขาดทุน ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งแรกที่ต้องแก้ไข
  10. รัฐบาลไม่มีแผนงานที่ชัดเจนในการสนับสนุน #สายการบิน ของคนไทย ไม่เคยรวมสายการบินของไทยเข้าไปในแผนพัฒนาคมนาคม มีแต่การสร้าง #โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการบินเท่านั้นซึ่งไม่เพียงพอ แต่กลับปล่อยและสนับสนุนให้สายการบินต่างชาติเข้ามาอย่างเต็มที่ โดยไม่มีการสนับสนุนสายการบินของไทย กลับกันเวลาสายการบินของไทยไปยังต่างประเทศ ประเทศนั้น ๆ กลับสามารถกีดกันได้ ในประเด็นนี้รัฐควรทำงานร่วมกับการบินไทยเช่น การวางยุทธศาสตร์ให้การบินไทยทำงานเพื่อเป็นหัวหอกในการพัฒนาประเทศ ร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจเช่น การท่าอากาศยาน หรือรัฐวิสาหกิจของคมนาคมในการวางแผนเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมและสร้างรายได้ไปพร้อมกัน ดังเช่นที่ต่างประเทศทำ
  11. ต้องยุติโควต้ากรรมการบอร์ดที่ใช้คนที่ไม่มีความรู้ด้านธุรกิจมานั่งบริหาร การบริหารสายการบินไม่จำเป็นต้องขับเครื่องบินเป็น แต่ต้องเข้าใจธุรกิจและการแข่งขันทางธุรกิจ บอร์ดที่เป็นทหารไม่มีความรู้ด้านนี้ ทำให้ไม่สามารถผลักดันการบินไทยได้ ที่ผ่านมาก็มีทหารจำนวนมาก โดยเฉพาะ #ทหารอากาศ ผลัดเปลี่ยนเข้ามานั่งเป็นบอร์ดของการบินไทย ซึ่งการบินไทยก็ขาดทุนมาตลอดจนต้องเข้าฟื้นฟูกิจการ
  12. แผนฟื้นฟู ก็มีข้อจำกัดมาก คือไม่มีการลดทุนและไม่มีการ Hair Cut หนี้ มีแต่การเสนอให้แปลงหนี้เป็นทุน ด้วยข้ออ้างของรัฐที่บอกว่าการลดทุนและการ Hair Cut หนี้ของรัฐนั้นทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย ซึ่งมันทำให้การฟื้นตัวยากลำบากมาก และอันนี้อาจเป็นจุดตายอย่างหนึ่งที่ทำให้แผนฟื้นฟูไม่ประสบความสำเร็จ ก็หวังว่าผู้จัดทำแผนจะหาทางออกเอาไว้บ้าง
  13. การบินไทยมักจะถูกมองว่ามีฝ่ายการเมืองและไปเล่นการเมือง ซึ่งทุกคนเห็นว่าเป็นความผิดพลาด แต่ก็ไม่ใช่สาหตุที่เราจะต้องแช่งให้การบินไทยล่มจมไป เพราะถ้าการบินไทยล้มละลายไป สิ่งที่ได้จะมีแค่ความสะใจเท่านั้น ประเทศชาติจะไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ เลย ซ้ำร้าย #อุตสาหกรรมการบิน ของชาติจะตกอยู่ในมือต่างชาติแทบจะ 100% แต่ก็ใช่ว่าการบินไทยจะไม่ต้องปรับปรุงอะไร ทุกคนเชื่อว่าสิ่งที่การบินไทยจะต้องปรับเปลี่ยนนั้น การบินไทยรู้ดีว่าคืออะไร ขึ้นอยู่กับว่าการบินไทยจะกล้าพอที่จะปรับเปลี่ยนหรือไม่ ถ้ากล้าก็รอด
  14. สุดท้าย ทุกคนที่ร่วมพูดคุยกันก็หวังอยากให้การบินไทยกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง และหวังว่าจะสามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเพื่อให้กลับมาประกอบธุรกิจและสร้างกำไรได้ เพื่อให้การบินไทยกลับมาช่วยสร้างประโยชน์ให้เศรษฐกิจของไทยได้อีกครั้งหนึ่ง

โพสนี้ในเพจของเรา

2 thoughts on “การบินไทย ทำอย่างไรถึงรอด – สรุปประเด็นจาก TAF MilTalk ใน clubhouse

  1. ข้อ 4) ผมพูดมา 10 กว่าปีก่อนเกษียณ เคยขึ้นไปพูดในที่ประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่ สมัยนายปิยะสวัสดิ์ แต่ก็ไม่มีใครสนใจ
    จริงๆ การบินไทยมีพนักงานมากกว่า 29,000 คน เพราะมีการจ้าง outsource อีก เกือบหมื่นคน รวมแล้วเป็น 30,000 กว่าคน ทั้งๆ ที่ พนักงาน 29,000 คนต่อเครื่องบิน 100 ลำ ก็มากว่าสายการบินคู่แข่งแล้ว ผมเคยคิดว่า การบินไทยควรเอาคนออกตามที่ นายธรรมนูญ หวั่งหลี เคยจ้างบริษัทต่างชาติมา ทำการศึกษา แล้วมีผลสรุปมาว่า พนักงานทำงานหน้างานมีน้อยกว่าสายการบินอื่น แต่พนักงานออฟฟิศมีมากกว่ามาก ประมาณ 4:1 ให้ปรับเอาพนักงานออฟฟิศออกครึ่งหนึ่ง แต่สุดท้ายกลับต้องมาจ้าง outsource เพิ่ม ปัญหาคือ พนักงานออฟฟิศเกินครึ่ง เข้ามาด้วยระบบอุปถัมภ์ และทำงานไม่เป็น จึงต้องจ้าง outsource มาเพิ่มเพื่อทำงานแทน แต่เมื่อเกิดปัญหา คนที่จะถูกกระทบคือคนทำงาน คนที่ทำงานไม่เป็นไม่มีใครกล้าแตะ ดังจะเห็นได้จาก สมัยนายจรัมพร เข้ามาบริหาร พยายามลดคนที่ทำงานใกล้ตัว แต่โดนอำนาจนอกบริษัทบีบ จนไม่กล้าแตะ
    ปัญหาแบบเดียวกันนี้กำลัง มีผลในการปรับโครงสร้างพนักงานครั้งนี้อีก บริษัทต้องเอาคนออก เพราะลดจำนวนเครื่องบิน และทำตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ แต่ใครจะถูกคัดออก คนที่ทำงานหรือ คนที่มีอำนาจหนุน
    ผู้เข้ามาดูแลควรให้ความใส่ใจตรงนี้ให้มาก มิฉะนั้น สุดท้ายหลังลดคนแล้ว บริษัทจะทำงานไม่ได้ประสิทธิผลตามคาดในแผนฟื้นฟู และจะทำให้ขาดทุนหนักกว่าเดิม

    ถูกใจ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.