#กองทัพเรือ ส่งมอบ #อากาศยานไร้นักบิน แบบนารายณ์จำนวน 44 ระบบ

นารายณ์เป็นอากาศยานไร้นักบินแบบสี่ใบพัดหรือ Quad Rotors ซึ่งสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ กองทัพเรือเป็นแกนหลักในการพยายามพัฒนามานานหลายปี โดยในบางช่วงของการพัฒนามีทั้งบริษัทเอกชนอย่าง กษมา เฮลิคอปเตอร์ และหน่วยงานราชการอื่นเช่น สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เข้ามาร่วมทำการพัฒนา

โดยในปัจจุบันซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 นั้น สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ พัฒนาให้มีความเร็วที่สูงขึ้นคือราว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ระยะเวลาปฏิบัติการ 30 นาที ทำการบินได้ไกลราว 1.5-2 กิโลเมตร โดยติดตั้งกล้องทั้งแบบกลางวันและกลางคืน และออกแบบให้สามารถพับเก็บและสะพายหลังได้ รวมถึงมีคอมพิวเตอร์พกพาในกล่องที่บรรจุโปรแกรมควบคุมการบินซึ่งสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือพัฒนาขึ้นเอง สามารถวางแผนการบิน ควบคุมเส้นทางการบิน และดูภาพจากกล้องได้ ซึ่งรวม ๆ แล้วทั้งสามรุ่นของนารายณ์มียอดจัดหาเข้าประจำการราว 100 ระบบ

นี่ถือเป็นเรื่องที่ดีในความพยายามพึ่งพาตนเอง พัฒนาอากาศยานไร้นักบินจนมีมาตรฐานและได้รับการรับรองมาตรฐานยุทโธปกรณ์ และผู้บังคับบัญชาของกองทัพเรือในฐานะหน่วยผู้ผลิตและใช้ และรวมถึงกองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบกในฐานะหน่วยผู้ใช้ใส่ใจและให้ความสำคัญในการจัดหาเข้าประจำการซึ่งรวม ๆ แล้วใช้งบประมาณทั้งหมดราว ๆ 30 ล้านบาท แต่ถ้าจัดหาจากต่างประเทศในจำนวนที่เท่ากัน น่าจะต้องใช้งบประมาณมากกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป ที่สำคัญ 30 ล้านบาทนี้เป็นเงินที่หมุนเวียนอยู่ในประเทศไทย ไม่ได้เป็นการจ่ายเงินออกนอกประเทศทั้งหมดเหมือนการจัดหาจากต่างประเทศ

อากาศยานไร้นักบินระบบนี้มีใช้งานจริงแล้วในกองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก และกองทัพเรือ ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกองกำลังชายแดนเช่น กองกำลังผาเมือง หรือหน่วยนาวิกโยธินที่ทำหน้าที่ตามแนวชายแดน สิทธิบัตรการพัฒนาอยู่ที่กองทัพเรือ ถ้าจะต่อยอดไปมากกว่านี้ TAF เสนอให้กองทัพเรือแต่งตั้งบริษัทเอกชน ไม่ว่าจะเป็นกษมา เฮลิคอปเตอร์ที่เคยร่วมงานกันมา หรือใช้รัฐวิสาหกิจของกองทัพเรือคือบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ในการเป็นตัวแทนจำหน่ายและทำการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เชื่อว่าน่าจะมีโอกาสอีกมากในการขายและส่งออก ซึ่งถ้าทำได้ ก็จะไม่เป็นเพียงแค่การช่วยประหยัดงบประมาณ แต่จะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้กับประเทศไทยอีกด้วยครับ

ขอบคุณภาพจากสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.