ถอดรหัส “#ทหารอเมริกัน” มาฝึกอะไรกับ “ทบ.ไทย”

ตามที่ ศบค. แถลงว่า กองทัพบกกำลังจะจัดการฝึกร่วมกับ #กองทัพสหรัฐ โดยให้ทหารสหรัฐจำนวนกว่า 100 นายเข้ามาฝึกในประเทศไทย และเริ่มกระบวนการกักกันโรคในพื้นที่ทางเลือกกักกันโรคแห่งรัฐ (Alternative State Quarantine: #ASQ) ที่โรงแรม Conrad และ Anantara Siam ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ถึงความเหมาะสมของการจัดการฝึกในช่วงเวลานี้ว่ามีความจำเป็นเพียงใด แม้ #กองทัพบก จะยืนยันว่าการฝึกร่วมกับสหรัฐนั้น “มีความจำเป็น” และ “เลื่อนไม่ได้” ก็ตาม

ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับกิจกรรมการฝึกและพื้นที่การฝึกที่จะดำเนินการ มีเพียงชื่อการฝึกเท่านั้น ดังนั้น TAF จะลองวิเคราะห์จากชื่อการฝึกว่าทหารอเมริกันกับ #ทหารไทย เขามาฝึกอะไรกัน

ตามข้อมูลจาก ศบค. นั้น จะมีกำลังพลของสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมการฝึกดังนี้

  • การฝึก SFAB SMEE จำนวน 71 นาย มาจากเกาะกวม
  • การฝึก Balance Torch จำนวน 32 นาย มาจากฐานทัพอากาศโยโกตะของสหรัฐในญี่ปุ่น
  • การฝึก HMA Ex จำนวน 4 นาย มาจากฐานทัพสหรัฐในญี่ปุ่น (ไม่ทราบฐานทัพ)
  • การฝึก Vector Balance Torch จำนวน 3 นาย มาจากฐานทัพสหรัฐในญี่ปุ่น (ไม่ทราบฐานทัพ)

เราขอคาดเดาการฝึก ดังนี้

  • SFAB SMEE

เป็นตัวย่อของคำศัพท์ทางทหาร โดย #SFAB มาจาก Security Force Assistance Brigade หรือกองพลน้อยสนับสนุนความมั่นคง ส่วน #SMEE มาจากคำว่า Subject-Matter Expert Exchange หรือการแลกเปลี่ยนความชำนาญในหัวข้อเฉพาะ

เราคาดว่าน่าจะเข้ามาฝึกร่วมกับกองทัพบกในส่วนของการจัดตั้งกองพลน้อยชุดรบของยานเกราะ Stryker หรือ SBCT (Brigade Combat Team) ซึ่งจากการที่เราไปติดตามการฝึกของ Stryker ในการฝึก Hanuman Guardian มาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เมื่อครั้งยังไม่มีการระบาดใหญ่ ก็ได้รับข้อมูลว่าช่วงกลางและปลายปีนั้น สหรัฐและไทยจะมาการฝึกร่วมกันอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่าความรู้ที่กองทัพบกไทยได้รับไปนั้น มีการนำไปฝึกจนชำนาญมากน้อยเพียงใด เราจึงคิดว่าอาจจะเป็นการฝึกของหน่วยนี้

  • Balance Torch และ Vector Balance Torch

ปกติแล้วรหัสการฝึก Balance Torch นั้นจะเป็นการฝึกของ #หน่วยรบพิเศษ ของไทยกับหน่วยรบพิเศษของสหรัฐในสาขาวิชาการรบพิเศษต่าง ๆ ตามแต่ละเหล่าทัพ ซึ่งจะมีรหัสการฝึก Balance Torch ของตนเอง กรณีของ Vector Balance Torch อาจจะเน้นไปที่การต่อต้านการก่อการร้าย โดยในกรณีนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการฝึกด้านการรบพิเศษ

  • HMA Ex

มาจากคำว่า Humanitarian Mine Action Exercise ซึ่งเป็นการฝึกด้านการ #เก็บกู้ทุ่นระเบิด ในเชิงมนุษยธรรม โดยปกติแล้วการฝึกในลักษณะนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และความชำนาญ รวมถึงเทคโนโลยีด้านการเก็บกู้ #ทุ่นระเบิด ระหว่างไทยและสหรัฐ และมักจะรวมไปถึงการฝึกเก็บกู้ทุ่นระเบิดในสถานที่จริง เนื่องจากตามแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นยังมีทุ่นระเบิดที่หลงเหลือจากสงครามเป็นจำนวนมาก


ดังนั้นเมื่อพิจารณาข้อมูลดังนี้ TAF ก็ยังไม่เห็นเหตุผลและความจำเป็นจนถึงขั้นที่ “เลื่อนไม่ได้” ตามที่กองทัพบกกล่าว และเรามีข้อคิดเห็นดังนี้

  1. การฝึก SFAB SMEE นั้นมีผลต่อการจัดตั้งและประกาศความพร้อมรบของหน่วยยานเกราะ #Stryker โดยตรง ซึ่งยังไม่มีความเร่งด่วนในการประกาศความพร้อมรบ เพราะรถ Stryker นั้นเป็นยานเกราะที่ใช้สำหรับการรบตามแบบ ยังไม่ได้ใช้งานในพื้นที่จริงเช่น สามจังหวัดชายแดนใต้ และสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่มีเค้าลางของสงครามเกิดขึ้น ดังนั้น การเลื่อนออกไปสัก 1 ปี ไม่น่าจะกระทบต่อแผนป้องกันประเทศหรือขีดความสามารถของการป้องกันประเทศมากเท่าไหร่

    แต่ถ้ายืนยันว่ามีความสำคัญ และต้องการจัดตั้งชุด SBCT ให้ได้โดยไม่เลื่อนแผนการ ก็อาจจะปรับเป็นการขอให้สหรัฐส่งที่ปรึกษาทางทหารและครูฝึก ซึ่งจะใช้กำลังพลไม่กี่นาย แทนที่จะส่งกำลังพลเข้ามาในระดับ 1 กองร้อย ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่ามากกว่าเช่นนี้
  1. การฝึกภายใต้รหัส Balance Torch นั้นมีการฝึกต่อเนื่องมานานทุกปีอยู่แล้ว ประกอบกับสถานการณ์ความมั่นคงปัจจุบัน จึงไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการคงการฝึกเอาไว้ และสามารถเลื่อนได้อีก 1 ปี โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถของกองทัพ
  2. ถ้าจะมีการฝึกในระดับที่ “เลื่อนไม่ได้” จริง ๆ การฝึก HMA Ex นี้น่าจะเข้าเกณฑ์มากที่สุด เพราะปัญหาทุ่นระเบิดตามแนวชายแดนค่อนข้างรุนแรง และมีประชาชนได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดจนพิการเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการฝึกนี้ใช้กำลังพลจากสหรัฐไม่มากนัก คือใช้เพียง 4 นาย ความเสี่ยงยังไม่สูงเท่า ดังนั้นถ้าการฝึกนี้จะไม่เลือนก็พอฟังขึ้นเพียงการฝึกเดียว
  3. ทหารสหรัฐส่วนหนึ่งมาจากฐานทัพสหรัฐในญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่งมีประเด็นเรื่องความหย่อนยานในการป้องกันโรคจนชาวญี่ปุ่นได้รับผลกระทบติดเชื้อไปหลายคน กลับกันกองทัพบกไทยก็เพิ่งส่งทหารไปฝึกที่ฮาวายจำนวน 150 คน และพบว่าติดเชื้อกลับมาถึง 9 คน คิดเป็น 6% ของกำลังพล เราจึงกลัวว่าทหารสหรัฐชุดนี้น่าจะมีผู้ที่ติดเชื้อมาค่อนข้างแน่
  4. ศบค.และรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า การฝึกทางทหารต่าง ๆ นั้นควรเลื่อนออกไปก่อน และก็มีการเลื่อนการฝึกออกไปเป็นจำนวนมากจากจำนวนกว่า 200 การฝึกต่อปีที่ไทยทำการฝึกกับสหรัฐ โดยการฝึก Cobra Gold เป็นการฝึกใหญ่สุดท้ายก่อนที่โควิด-19 จะระบาดหนัก และหลังจากนั้นการฝึกใหญ่ ๆ และการฝึกย่อย ๆ อย่าง Cope Tiger หรือ CARAT และ Hanuman Guardian ก็เลื่อนออกไปทั้งสิ้น

    แต่ทำไมกองทัพบกกลับยืนยันจะจัดการฝึกนี้ ซึ่งค่อนข้างชัดเจนกว่า ขัดกับนโยบายของรัฐบาลและ ศบค.? ทั้ง ๆ ที่เมื่อพิจารณาแล้ว ก็ยังไม่เห็นความจำเป็นเด่นชัดขนาดที่ถ้าเลื่อนจะส่งผลร้ายแรงต่อประเทศ

  1. การที่ ศบค. มีแนวทางอนุญาตให้ชาวต่างชาติบางกลุ่ม รวมถึงคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศได้และต้องผ่านกระบวนการกักตัวใน #StateQuarantine นั้น เป็นเพราะการเป็นคนไทยมีสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ในการเข้าสู่ราชอาณาจักรไทย ส่วนชาวต่างชาติที่มีความจำเป็นในการทำงานในประเทศ ก็มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งเมื่อผ่าน State Quarantine แล้ว ความเสี่ยงแม้จะยังมีอยู่ แต่เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้นั้นคุ้มค่า

แต่การฝึกทางทหารในลักษณะนี้ ศบค. มีนโยบายให้เลื่อนไปก่อน แปลว่า ศบค. และรัฐบาลพิจารณาแล้วว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับนั้น ยังไม่คุ้มค่าเพียงพอ จึงออกนโยบายเลื่อนการฝึกมา แต่ทำไมกองทัพบกจังไม่ปฏิบัติตามนโยบายนี้ ทั้ง ๆ ที่พิจารณาแล้ว ประโยชน์ที่ได้ยังไม่เพียงพอและคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

  1. อีกทั้งการดำเนินการในลักษณะนี้ยังเป็นการทำให้กำลังพลของกองทัพบกพบกับความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น และถ้ามีการติดเชื้อแฝง กำลังพลอาจนำไปติดกับครอบครัว ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อรอบสองได้
  2. และที่สำคัญก็คิอ กองทัพบกมีบทเรียนมาแล้วในการไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และยืนยันที่จะจัดการแข่งขันชกมวย จนนำมาสู่การเป็นหนึ่งในสองเหตุการณ์ Super Spreader ของประเทศ ที่เพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อแบบก้าวกระโดดจนนำมาสู่ความจำเป็นในการประกาศปิดเมือง และส่งผลต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง

    การเพียงแค่พูดว่า “ถ้าเกิดปัญหาจากการฝึกนี้ กองทัพบกยินดีรับผิดชอบ” นั้นไม่เพียงพอ เพราะกองทัพบกไม่สามารถรับผิดชอบผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนถ้ามีการระบาดรอบสองได้อย่างแน่นอน ยกเว้นกำลังพลของกองทัพบกยินดีที่จะไม่รับเงินเดือนไปราว 1 ปี และนำงบประมาณเหล่านั้นกลับมาช่วยเหลือประชาชนทั้งหมด ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง
  1. ยิ่งกรณี #ทหารอิยิปต์ ที่เพิ่งเกิดขึ้น ยิ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีช่องว่างและช่องโหว่ของระบบและมาตรการ และถือเป็นอีกครั้งที่ประชาชนต้องได้รับผลกระทบ แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยังมีช่องว่าง แต่ทำไมต้องเพิ่มความเสี่ยงและทดสอบกระบวนการอีกครั้งด้วยการจัดการฝึกที่น่าจะเสี่ยงยิ่งกว่ากรณีทหารอิยิปต์
  2. กรณี #สนามมวย มีคำอธิบายว่าเป็นเรื่องเก่าไม่ควรไปพูดถึง กรณีทหารอิยิปต์มีคำอธิบายว่าเป็นความผิดพลาดซึ่งต้องเรียนรู้ร่วมกัน

    คำถามคือเรายังเรียนรู้กันไม่พออีกหรือ? ประชาชนเสียสละเป็นอย่างมากทั้งเสรีภาพ เศรษฐกิจ และหน้าที่การงาน เราคนไทยรับฟังและเชื่อรัฐบาลในทุกมาตรการที่รัฐออกมา จนประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการควบคุมโรค ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของคนไทยและรัฐบาลที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อร่วมมือกัน เราก็ทำได้

    แต่ทำไมกองทัพบกต้องฝืนด้วยการไม่สนใจนโยบายเลื่อนการฝึกของรัฐบาล? เราไม่เห็นความจำเป็นมากขนาดนั้น

TAF ขอวิงวอนให้กองทัพบกเห็นใจประชาชนที่ต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อป้องกันโรค ด้วยการยกเลิกและเลื่อนการฝึกเสีย

หรือถ้าไม่เห็นใจประชาชน ก็ควรเห็นแก่รัฐบาล ที่อุตส่าห์กำหนดนโยบายมาแล้ว ด้วยการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และเลื่อนการฝึกเสีย

เพราะถ้าเกิดข้อผิดพลาดมา กองทัพบกรับผิดชอบไม่ไหวแน่นอนครับ/TAF

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.