กองทัพอากาศสรุปการจัดหา T-50TH เพิ่ม 2 ลำ ล็อตสุดท้าย

กองทัพอากาศไทยสรุปการจัดหาเครื่องบินฝึกขับไล่ขั้นต้นหรือ Lead-In Fighter Trainer แบบ T-50TH จำนวน 2 ลำ ตามโครงการจัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น (ระยะที่ 4) มูลค่าโครงการ 2,360 ล้านบาท

โครงการนี้เลื่อนมาจากปี 2563 ที่คณะรัฐมนตรีเรียกงบประมาณคืนไปจากปัญหาโควิด-19 แต่ยังได้รับงบประมาณตามพ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 โดยเป็นการจัดหาแบบเฉพาะเจาะจงจากบริษัท KAI เกาหลีใต้ ผู้ผลิต T-50TH จากโครงการในระยะก่อน

T-50TH เป็นเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่เพื่อเตรียมจะไปบินกับเครื่องบินขับไล่จริง โดยกองทัพอากาศจัดหามาทดแทน L-39ZA/ART ที่ปลดประจำการไปจากฝูงบิน 401 ในบทบาทเดียวกัน ซึ่ง ณ ตอนเข้าแข่งขันนั้นมีเครื่องบินที่เข้าแข่งขันคือ M-346 ของ Leonardo ประเทศอิตาลี T-50 ของ Korean Aerospace Industry จากประเทศเกาหลีใต้ และ L-15 จาก Hongdu Aviation Industry Corporation จากประเทศจีน และสุดท้ายเป็น T-50 จากเกาหลีใต้ที่เอาชนะไปได้

การจัดหาในโครงการนี้แบ่งเป็นสี่ระยะ โดยจัดหา T-50TH ในระยะที่ 1 จำนวน 4 ลำในปี 2558 ระยะที่ 2 จำนวน 8 ลำ ในปี 2560 ในระยะที่ 3 เป็นสัญญาปรับปรุงเครื่องบินเพื่อติดตั้งเรดาร์ EL/M-2032 ระบบ RWR และระบบเป้าลวงในปี 2562 และระยะสุดท้ายคือโครงการที่เพิ่งสรุปการจัดหาไปนี้ที่เป็นการจัดหาจำนวน 2 ลำ ลดจากเดิม 4 ลำ ซึ่งรวมทั้ง 4 ระยะจะทำให้กองทัพอากาศไทยมีเครื่องบินแบบ T-50TH จำนวน 14 ลำ

T-50TH ของกองทัพอากาศไทยในปัจจุบันขีดความสามารถเทียบเท่ากับเครื่องบินขับไล่เบา โดยแม้จะไม่มีระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ แต่ติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิง Elta EL/M-2032 ซึ่งทำการยิงจรวดอากาศสู่อากาศพิสัยกลางแบบ AIM-120 AMRAAM ได้ และคาดว่ากองทัพอากาศไทยจะทำการปรับปรุงซอฟต์แวร์ควบคุมการบินให้รองรับการใช้งานจรวด AIM-120 AMRAAM ในเร็ว ๆ นี้ สำหรับจรวดระยะใกล้เป็นการใช้จรวดแบบ IRIS-T ที่จะเป็นจรวดมาตรฐานของกองทัพอากาศไทย รวมถึงสามารถปรับปรุงเพื่อให้ติดตั้งกระเปาะชี้เป้าแบบ Sniper ซึ่งมีใช้งานกับ F-16 eMLU ฝูง 403 ได้เช่นกัน ส่วนระบบแจ้งเตือนเรดาร์และเป้าลวงต่าง ๆ นั้นคาดว่าจะเป็น ALE-47 CMDS ของ BAE Systems

ทั้งนี้ ทาง KAI ได้วางแผนการพัฒนา T-50 อย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกที่ต้องพบกับคู่แข่งที่มีราคาเครื่องบินถูกกว่าอย่าง JF-17 ของจีนและปากีสถานหรือ Tejas ของอินเดียสำหรับในภารกิจเครื่องบินขับไล่เบา หรือ M-346, Yak-130, L-15, และ T-7 ของ Boeing และ Saab ที่กำลังพัฒนาอยู่ โดยเน้นไปที่ระบบอาวุธสำหรับเป็นทางเลือกในภารกิจขับไล่และโจมตีเบา เช่น การพัฒนาเรดาร์ AESA X-band ของ Hanwha ซึ่งจะติดตั้งบน KF-21 และมีแผนจะติดตั้งกับ FA-50 ด้วย เป็นต้น แต่สำหรับกองทัพอากาศไทย คาดว่าจะไม่มีการปรับปรุงขนาดใหญ่ใด ๆ ในอีก 10 ปีนับจากนี้

ปัจจุบัน T-50TH ประจำการในฝูงบิน 401 กองบิน 4 ตาคลี ซึ่งทดแทนเครื่องบินฝึกแบบ L-39ZA/ART ที่ปลดประจำการไป ใช้ในภารกิจฝึกบิน และสามารถใช้ในภารกิจโจมตีและขับไล่เบาได้อีกเช่นกัน

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.