Bird Strike คืออะไร ทำไมถึงทำเครื่องบินตกได้? มารู้จักการบินชนนกและความพยายามหลีกเลี่ยงการชนเจ้าเวหาตัวจริงอย่างนกกันดีกว่า

กรณีเครื่องบินขับไล่ F-5F ของกองทัพอากาศ ประสบอุบัติเหตุตกเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการเปิดเผยถึงสาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดที่ทำให้เครื่องบิน F-5F ที่เหลือชั่วโมงบินเยอะและเพิ่งปรับปรุงมาใหม่ประสบอุบัติเหตุตกก็คืออาจจะเป็นการบินชนนกหรือ Bird Strike โดยนักบินให้ข้อมูลว่าระหว่างบินเหมือนชนวัตถุแข็งขนาดใหญ่และมีเลือดกระจาย ประกอบกับบินมาในระดับต่ำคือ 500 ฟุตที่ความเร็วสูงราว 400 น็อต เครื่องไม่สามารถควบคุมได้ จึงพยายามบังคับเครื่องหลบที่ชุมชนและดีดตัวออกขณะเครื่องหงายท้อง

Bird Strike เป็นเหตุการณ์ที่พบได้บ่อยครั้งในการบิน โดยคาดการณ์กันว่าในวงการการบินพลเรือนแล้ว มีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับการซ่อมเครื่องบินที่เกิดจาก Bird Strike ถึงปีละเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ในสหรัฐอเมริกาเอง FAA รายงานว่ามีกรณี Bird Strike ราว ๆ ปีละ 13,000 กรณีเลยทีเดียว


กรณี Bird Strike แรกของโลกเกิดขึ้นกับ Orville Wright หนึ่งในสองพี่น้องตระกูล Wright ที่เป็นผู้คิดค้นเครื่องบินเป็นครั้งแรก โดยเขาบินชนนกขณะบินเหนือทุ่งข้าวโพด อีกกรณีหนึ่งที่มีชื่อเสียงในช่วงแรก ๆ คือกรณีที่นักบินชาวฝรั่งเศส Eugene Gilbert ถูกเหยี่ยวตัวเมียตัวใหญ่บินเข้ามาโจมตีขณะบินเครื่องบิน Bleriot XI เหนือเทือกเขาพิเรนีสในปี 1911 ขณะเข้าแข่งขันการบินจากปารีสไปยังแมดริด เขาใช้ปืนสั้นยิงไล่นก แม้จะยิงไม่โดน แต่ก็ทำให้มันหนีไปได้

Portrayal of Eugène Gilbert’s encounter with an eagle during the 1911 Paris to Madrid air race by Achille Beltrame

Bird Strike ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือกรณีการตกของเครื่องบิน L-188 ของสายการบิน Eastern Air Lines ในสหรัฐอเมริกา โดยเครื่องตกหลังจากชนกับนกไม่นานหลังบินขึ้นจากสนามบิน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 66 คนจากผู้โดยสาร 72 คน จนทำให้หลังจากนั้น FAA จึงต้องออกข้อกำหนดในการออกแบบเครื่องบินเพื่อให้ทนการชนนกให้ได้มากที่สุด


ในปัจจุบัน การออกแบบเครื่องยนต์มีข้อกำหนดมากมายเพื่อให้เครื่องยนต์ทนต่อ Bird Strike โดย FAA กำหนดว่า เครื่องยนต์จะต้องทนต่อการที่นกน้ำหนัก 1.8 กิโลกรัมที่บินเข้าไปในเครื่อง โดยเครื่องต้องสามารถทำการปิดตัวเองได้อย่างสมบูรณ์โดยไม่ก่ออันตรายต่ออากาศยาน นอกจากนั้น โครงสร้างของเครื่องบินจะต้องทนต่อการชนนกน้ำหนักตัว 1.8 กิโลกรัมได้ แพนหางระดับต้องทนต่อการชนนกน้ำหนัก 3.6 กิโลกรัมได้ กระจกห้องนักบินจะต้องทนต่อการชนนกน้ำหนัก 1.8 กิโลกรัมโดยไม่แตกออกมาได้

แต่ในกรณีที่ชนนกที่ใหญ่กว่านั้น หรือชนนกเป็นฝูง อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่ออากาศยานหรือเครื่องยนต์จนสร้างความเสียหายได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชนนักมักเกิดขึ้นในช่วงบินขึ้นหรือร่อนลง ซึ่งเป็นช่วงที่ถือว่าวิกฤตของการบินอยู่แล้ว เนื่องจากเครื่องมีความสูงและมีกำลังขับไม่มากนัก

ซึ่งหลายครั้ง แม้ว่าเครื่องบินจะมีหลายเครื่องยนต์ แต่ถ้าเครื่องยนต์บางส่วนชนเข้ากับนก ก็อาจทำให้เครื่องเสียเสถียรภาพทางการบินอย่างฉับพลันจนเครื่องตกได้ เช่นในกรณีเครื่องบิน E-3 ของกองทัพอากาศสหรัฐที่ชนเข้ากับนกจนเครื่องยนต์สองเครื่องด้านซ้ายเสียกำลังระหว่างบินขึ้น และตกลงไม่ไกลจากสนามบินในฐานทัพอากาศ Elmendorf ส่งผลให้ลูกเรือทั้ง 24 คนเสียชีวิต

นอกจากการออกแบบเครื่องยนต์แล้ว ยังมีความพยายามอีกหลายอย่างเช่น การจัดตั้งหน่วยไล่นกบริเวณรอบท่าอากาศยานด้วยการใช้เสียงหรือสารเคมีต่าง ๆ ที่นกไม่ชอบ รวมถึงมีการศึกษาเส้นทางการอพยพและแหล่งที่อยู่ของนกเพื่อแจ้งให้นักบินรับทราบและหลบเลี่ยงการบินในบริเวณนั้น เช่นในกรณีของกองทัพสหรัฐซึ่งมีการพัฒนาระบบแจ้งเตือนอันตรายจากสัตว์ปีกหรือ US Military Avian Hazard Advisory System (AHAS) โดยใช้ข้อมูลจากเรดาร์ตรวจจับนกต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนการบินและคาดการณ์การบินของนกล่วงหน้า 24 ชั่วโมง เพื่อใช้ในการวางแผนภารกิจการบินต่าง ๆ ให้สามารถหลีกเลี่ยงการชนนกได้


แต่ด้วยความพยายามทั้งหมดนี้ เราก็ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงการบินชนนกได้ 100% ซึ่งทำให้มีกรณีการชนนกทั่วโลกรายงานเข้ามาเป็นพัน ๆ กรณีต่อปี ส่งผลเสียไม่เพียงแต่ทรัพย์สินหรือชีวิตของมนุษย์ แต่ยังทำให้จำนวนประชากรของนกลดลงด้วย ซึ่งก็คือการบินชนนกไม่เป็นผลดีต่อใครเลยไม่ว่าคนหรือนก

กรณีที่น่าจะมีชื่อเสียงที่สุดของ Bird Strike คงหนีไม่พ้นเครื่องบิน Airbus A320 ของสายการบิน US Airways เที่ยวบินที่ 1549 ซึ่งบินขึ้นจากท่าอากาศยาน LaGuardia ในนิวยอร์ก โดยเครื่องบินบินชนฝูงนกหลังจากบินขึ้นได้เพียงไม่กี่นาที ที่ความสูงเพียง 3,199 ฟุต เครื่องยนต์ทั้งสองเสียหายอย่างสิ้นเชิง นักบินพยายามนำเครื่องบินกลับไปยังท่าอากาศยาน แต่ความสูงและความเร็วของเครื่องบินมีไม่มากพอจนทำให้กัปตันของเครื่องคือ Chesley Sullenberger ตัดสินใจนำเครื่องร่อนลงที่แม่น้ำ Hudson การลงจอดเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ และผู้โดยสารทั้งหมดได้รับการช่วยเหลือจากทั้งเรือเฟอร์รี่และหน่วยกู้ภัยทางน้ำใกล้เคียงจนรอดชีวิตทั้งหมด

ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัดสัน สายการบิน US Airways เที่ยวบินที่ 1549

กรณีนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Miracle on the Hudson ใครอยากสัมผัสเรื่องราวนี้ ตามไปดูภาพยนต์เรื่อง #Sully ใน #Netflix ได้ครับ Clint Eastwood กำกับ และ Tom Hank แสดงเป็นกัปตัน Sully หนังดีมาก ๆ ขอแนะนำครับ

โพสนี้ในเพจของเรา

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.