UPDATE: ภาพแรกของ Camcopter S-100 ของกองทัพเรือไทย

สมาชิกของ TAF คุณ Khenes Phaiwal ได้แชร์ภาพด้านล่างนี้มายังกลุ่มของ TAF (ต้นฉบับถูกลบเป็นแล้ว) เป็นภาพอากาศยานไร้นักบิน Camcopter S-100 ของกองทัพเรือไทยทะเบียน 1425 ซึ่งน่าจะแสดงว่าเข้าประจำการที่ฝูงบิน 104 กองบิน 1 กองการบินทหารเรือ ที่ในอดีตเป็นฝูงบินขับไล่โจมตีที่ใช้งานเครื่องบินแบบ A-7 ซึ่งข้อมูลจากเลขหาง คาดว่ากองทัพเรือน่าจะจัดหาเข้าประจำการสองระบบ รวม 6 ลำ

TAF สอบถามเพิ่มเติมไปยังโฆษกกองทัพเรือและได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

ระบบอากาศยานไร้คนขับแบบ Schiebel CAMCOPTER® S-100 ตามโครงการจัดหาระบบอากาศยานไร้คนขับของกองทัพเรือ

โดยจะมีการรับมอบภายในปี 2563 เพื่อนำไปประจำการในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือตามจังหวัดชายทะเลและเกาะต่าง ๆ ในภารกิจการลาดตระเวนตรวจการณ์ทางอากาศสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือและการรักษาความมั่นคงทางทะเล

ซึ่ง S-100 นี้จะเป็นระบบอากาศยานไร้คนขับขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งแบบแรกของกองทัพเรือ (VTOL) ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ที่เตรียมไว้หรืออุปกรณ์รองรับเพื่อการส่งขึ้นบินและการกู้คืนอากาศยาน เครื่องสามารถทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน ภายใต้สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยด้วย อีกทั้งสามารถปฏิบัติการได้ไกลในระยะ 200 กิโลเมตร ลำตัวคาร์บอนไฟเบอร์และไททาเนียมให้กำลังตัวเครื่องมีน้ำหนักเบา น้ำหนักบรรทุก 34 กก. รวมถึงเพดานการบินที่สูงถึง 5,500 เมตร สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง 10 ชั่วโมง นอกจากนำทางด้วยระบบ GPS หรือการนำทางด้วยตนเองแล้ว S-100 ยังสามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถใช้งาน GPS ได้เช่นกัน

ปัจจุบัน S-100 ได้ความสนใจจากหลายประเทศในการจัดหาเช่น เยอรมัน จีน UAE รัสเซีย ซึ่งหนึ่งประเทศอาเซียนที่จัดหาเข้าประจำการแล้ว คือ เมียนมา ที่มีการเปิดเผยผ่านสื่อในประเทศ

พลเรือโท เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ

TAF คาดว่าขีดความสามารถของ S-100 Camcopter ของกองทัพเรือไทยจะมีดังต่อไปนี้

  • ติดตั้ง Image-based เรดาร์หรือกล้อง PT-8 Oceanwatch ของ Overwatch Imaging ตรงส่วนหัว (ใช้กล้องสแกนบนผิวน้ำ แล้วใช้ซอฟต์แวร์ AI ช่วยค้นหาเป้าขนาดเล็ก พร้อมทั้งระบุพิกัดให้ กล้องมีระยะตรวจจับ 75 กิโลเมตร)
  • ติดตั้งกล้อง EO/IR แบบ MX-10 ของ WesCam ใต้ลำตัว (เหมือนที่ติดตั้งบนเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์)
  • ติดตั้งระบบ AIS receiver รับข้อมูลแสดงตนของเรือพาณิชย์
  • ติดตั้งระบบ Datalink wideband สำหรับส่งภาพกลับไปยังเรือแบบเรียลไทม์
  • ติดตั้งระบบช่วยลงจอด Harpoon deck capture (กองทัพเรือติดตั้งระบบ Heligrid บนดาดฟ้าบินบนเรือแต่ละลำเกือบหมดแล้ว) ซึ่งจะเป็นเข็มแทงลงไปยังช่องว่างตรงลานจอดเฮลิคอปเตอร์ของเรือ ทำให้ลงจอดได้ที่สภาพทะเลที่แปรปรวนจนถึง Sea State 5

ตามข้อมูลเดิมระบุว่า S-100 Camcopter ที่กองทัพเรือไทยจัดหาจากออสเตรียนั้นจะเข้าประจำการในปี 2020 โดยเป็นครั้งแรกที่กองทัพเรือไทยจะมีขีดความสามารถในการใช้งานอากาศยานไร้นักบินแบบขึ้นลงทางดิ่ง

“กับกองทัพเรือไทย เราได้รับสัญญาการจัดหาสำหรับการใช้งานทางทะเลขนาดใหญ่ที่จะเพิ่มเข้าไปยังรายชื่อลูกค้าของเราที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ Camcopter S-100 ได้รับว่าไว้วางใจในฐานะเป็นระบบอากาศยานไร้นักบินที่น่าเชื่อถือและพิสูจน์ความสามารถแล้ว โดยเฉพาะในทะเล นั่นทำให้เรานำหน้าผู้ผลิตรายอื่นในกระบวนการจัดหา” Hans Georg Schiebel ประธานของ Schiebel Group กล่าว

โดยกองทัพเรือจัดหา Camcopter S-100 จำนวน 2 ระบบ มูลค่าราว 600 ล้านบาท

2 thoughts on “UPDATE: ภาพแรกของ Camcopter S-100 ของกองทัพเรือไทย

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.