TAF ASEAN Insight #3 – เครื่องบินขับไล่ FTC-2000G ของกัมพูชา และเปรียบเทียบกับ F-5TH ไทยและ Yak-130 ลาว

ปีนี้ ชาติในอาเซียนชาติหนึ่งจะได้รับมอบ FTC-2000G ลำแรก ที่จัดหาจากจีน ตามรายงานข่าวนี้ระบุว่าการส่งมอบจะเสร็จสิ้นภายใน 2 ปี หรือปี 2021-2023 ไม่มีการระบุจำนวนที่จัดหาว่ากี่ลำ แต่มีกระแสข่าวว่าน่าจะเป็นการจัดหาจำนวน 6 ลำ

ลูกค้าชาตินี้เป็นใครไม่มีการเปิดเผย แต่เมื่อดูที่เมียนมาร์มี Yak-130 ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ในระดับใกล้เคียงกัน และถ้าเมียนมาร์จะจัดหาเครื่องบินขับไล่จากไปจีน ก็น่าจะเป็น JF-17 เพิ่ม หรือเครื่องบินขับไล่อย่าง Su-30SME จากรัสเซียที่ชุดแรกมีแค่ 6 ลำเท่านั้น หรือลาวที่เพื่งจัดหา Yak-130 ราว 10 ลำ ซึ่งถือว่าลาวได้เลือกแบบเครื่องบินหลักของตนไปแล้ว

ดังนั้น เป็นไปได้สูงว่าจะหมายถึงกัมพูชา ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยด้วยภาพว่ามีการส่งนักบินไปฝึกที่ประเทศจีน โดยเริ่มเรียนตั้งแต่เป็นศิษย์การบิน และช่วงหลังนี้จีนเป็นผู้สนับสนุนอาวุธรายใหญ่ให้กัมพูชา


ทั้งนี้ เรายังไม่ทราบรายละเอียดของอุปกรณ์ที่จะติดตั้งกับเครื่องบินของกัมพูชาในชุดนี้ แต่โดยรวมแล้ว FTC-2000G สามารถติดตั้งเรดาร์ AESA อย่าง LKF-601E ได้ และใช้ร่วมกับจรวดอากาศสู่อากาศระยะกลางแบบ PL-12 (SD-10) ที่บรรทุกไปได้ 2-4 นัด หรือ แต่ก็อาจไม่จำเป็นต้องเลือกเรดาร์รุ่นนี้ เพราะสามารถเลือกรุ่นที่ราคาถูกลงได้ทั้ง MSA ปกติ หรือ PESA ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับที่ติดตั้งในเครื่องบินฝึก L-15B

สเปคของเรดาร์ LKF-601E

ความน่ากลัวของ FTC-2000G อยู่ที่อาวุธอากาศ-สู่-พื้น ที่หลากหลาย เช่น จรวดต่อต้านเรดาร์ CM-102 สำหรับใช้ในการทำลายฐานยิงจรวดพื้นสู่อากาศเช่นเดียวกับ AGM-88 HARM ของสหรัฐ นอกจากนั้นยังมีจรวดอากาศสู่พื้น C-704KD ซึ่งนำวิถีด้วยอินฟาเรดที่มีระยะยิงไกลราว 30 กิโลเมตร มีขีดความสามารถในการทำลายยานเกราะหรือสิ่งปลูกสร้างได้ รวมถึงจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำ C-705KD ที่มีระยะยิงไกลกว่า 100 กิโลเมตร และยังมีระเบิดนำวิถี / ระเบิดร่อนนำวิถีในตระกูล FT อีกหลายรายการ

ทั้งนี้ FTC-2000G เป็นเครื่องบินรบขนาดเบา (LCA) เทียบเคียงได้กับ FA-50PH (ฟิลิปปินส์) T-50TH (ไทย) F-5TH (ไทย) T-50i (อินโดนีเซีย) Yak-130 (เมียนมาร์กับลาว) หรือ Hawk 200 (มาเลเซียกับอินโดนีเซีย) เมื่อนับในชาติอาเซียนด้วยกัน ซึ่ง FTC-2000G มีประสิทธิภาพสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน เมื่อพิจารณาระบบเรดาร์ที่มีตัวเลือกเรดาร์ประสิทธิภาพสูงที่สุดในบรรดาเครื่องบินรบขนาดเบาทั้งหมดถ้าเลือกติดตั้งเรดาร์ LKF-601E มีอาวุธให้เลือกหลากหลาย และมีราคาไม่แพง แต่มีจุดอ่อนในแง่สงครามอิเล็กทรอนิกส์


เมื่อเทียบกับ F-5TH หรือ T-50TH ของไทยแล้ว เรดาร์ LKF-601E มีประสิทธิภาพสูงกว่า โดย LKF-601E สามารถตรวจจับเป้าหมายที่เป็นเครื่องบินขับไล่ได้ราว 170 กิโลเมตร ติดตามได้พร้อมกัน 15 เป้าหมาย ถ้าเป้าหมายมีขนาดใหญ่ก็สามารถตรวจจับได้ที่ราว 200 กิโลเมตร ในขณะที่เรดาร์ EL/M-2032 ที่แม้จะมีระยะตรวจจับที่ไกลกว่า คือสามารถตรวจจับเป้าหมายที่เป็นเครื่องบินขับไล่ได้ราว 220 กิโลเมตร แต่ไม่ใช่เรดาร์ ASEA แบบ LKF-601E ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า

F-5TH ยังมีข้อจำกัดในการติดตั้งอาวุธอากาศสู่พื้น เพราะแม้จะมีขีดความสามารถในการบรรทุกอาวุธด้วยน้ำหนักที่มากกว่า แต่มีความหลากหลายของอาวุธน้อยกว่าคือ มีเพียงระเบิดนำวิถี Lizard III และ GBU-12 เท่านั้นที่เป็นอาวุธนำวิถีที่มีใช้งานในปัจจุบัน ต่างจาก FTC-2000G ที่มีความหลากหลายมากกว่า

แต่ในส่วนของจรวดอากาศสู่อากาศ ในระยะเกินสายตา F-5TH และ FTC-2000G จะสูสีกัน เนื่องจากจรวดทั้ง i-Derby ของ F-5TH และ SD-10 ของ FTC-2000G มีระยะยิงไกลพอกันคือราว 100 กิโลเมตร ส่วน T-50TH นั้นยังไม่สามารถติดตั้งจรวดอากาศสู่อากาศพิสัยกลางได้ ณ ตอนนี้ด้วยซ้ำ แต่ในส่วนของจรวดระยะใกล้นั้นจรวด IRIS-T ของ F-5TH ดูจะมีภาษีดีกว่า PL-9 ของ FTC-2000G ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับหมวกบินติดศูนย์เล็งบน F-5TH

แต่ข้อได้เปรียบที่ชัดเจนคือระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งชุดสงครามอิเล็กทรอนิกส์และกระเปาะ Sky Shield ของ F-5TH นั้นมีความทันสมัยกว่า FTC-2000G ค่อนข้างมาก จึงสามารถใช้ความเหนือกว่าของระบบสงครามอิเล็กทรอนิส์สร้างข้อได้เปรียบในการปฏิบัติงานเช่น การรบกวนเรดาร์หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ FTC-2000G ให้ใช้งานไม่ได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการอยู่รอดของ F-5TH ได้

FTC-2000G

แต่เมื่อเทียบกับ Yak-130 ของกองทัพอากาศลาวแล้ว FTC-2000G ดูจะมีภาษีดีกว่าหลายช่วงตัว เพราะถ้าลาวเลือก Yak-131 รุ่นโจมตีที่มีการติดตั้งเรดารื Oca มาด้วยนั้น ตัวเรดาร์นอจากจะทันสมัยน้อยกว่า LKF-601E ของจีนแล้ว ยังมีระยะตรวจจับใกล้กว่าคือราว 85 กิโลเมตร และติดตามได้พร้อมกัน 8 เป้าหมายเท่านั้น นอกจากนั้น Yak-130 ยังเป็นเครื่องบินที่บินได้ต่ำกว่าความเร็วเสียง ผิดจาก FTC-2000G ที่ทำความเร็วเหนือเสียงได้ 1.5 มัค ซึ่งถือเป็นงานยากมากของลาวในการที่จะพัฒนากำลังรบทางอากาศให้มีศักยภาพทัดเทียมกับกัมพูชา

โดย ณ ตอนนี้ เรายังไม่เห็นเครื่องบินลำแรกของกัมพูชาเปิดเผยออกมา ซึ่งในอนาคตถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติมเราจะนำมาเสนอต่อไปครับ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.